สรุป 17 ข้อคิด ใช้ชีวิตแบบมีสติ จากหนังสือ Live in Peace ไม่เป็นบ้าไปกับโลก

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          สรุป 17 ข้อคิด ใช้ชีวิตแบบมีสติ จากหนังสือ Live in Peace ไม่เป็นบ้าไปกับโลก
Live in Peace

1. ในโลกวัตถุนิยมที่เราต่างมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

          ความสุขอาจไม่ได้หาได้จากการที่เรารวยขึ้น มีมากขึ้น ได้เลื่อนตำแหน่ง ถูกล็อตเตอรี่ หรือเจอรักแท้ แต่ความสุขอาจเกิดจาก “ความรู้สึกพึงพอใจ” ลึก ๆ ภายในใจเราซึ่งเกิดจากการหลั่งสารเคมีภายในร่างกาย ทั้งโดพามีน เซราโทนิน และออกซิโตซิน

          การควบคุมให้ร่างกายหลั่งสารเคมีเหล่านี้ออกมาอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในโลกที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความสับสนอลหม่านจากสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้การควบคุมเป็นเรื่องยาก สุดท้ายแล้ว เราทุกคนจึงต้องมองหา “ความสงบ” ซึ่งอาจเป็นสิ่งเดียวกันกับ “ความรู้สึกพึงพอใจ” และที่สำคัญคือเราฝึกทักษะนี้ได้

2. เราอาจเหนื่อยกับการวิ่งตาม “สถิติ” ที่ตัวเองอยากสร้างมากเกินไป

          เราวัดคุณค่าของตัวเองผ่านเป้าหมายมากมายที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็น การวิ่งให้ได้วันละ 10 km การควบคุมปริมาณการกินในแต่ละวัน การโพสต์ภาพอวดลงโซเชียลเพื่อเรียกยอดไลค์ ถ้าวันไหนเราทำได้ดี ร่างกายก็จะหลั่งโดพามีนออกมา แล้วเราก็จะรู้สึกพึงพอใจ แต่ถ้าวันไหนทำได้ไม่ครบตามเป้า เราก็จะรู้สึกกับตัวเอง สุดท้ายแล้วเราเองเป็นคนที่ “วัด” และ “ตัดสิน” ตัวเองอยู่ตลอดเวลา
          วิธีแก้จากอาการเสพติดเหล่านี้คือ เราต้องไม่ยึดติดกับ “เป้าหมาย” แต่เปลี่ยนมาอยู่กับ “หลักการ” ของสิ่งที่ทำ โดยสิ่งเหล่านั้นต้องทำให้เกิดความสุขในระยะยาว เช่น ถ้าวันไหนวิ่งไม่ได้ครบ 10 km ก็ไม่เป็นไร วิ่งแค่ 3 km บ้าง 5 km บ้างก็ได้ขอให้มีความสม่ำเสมอ และทำให้เรามีสุขภาพที่ดีในระยะยาว และที่สำคัญคือเราไม่จำเป็นต้องโพสต์โอ้อวดให้ใครรู้ ตัวเราเองที่รู้ก็เพียงพอ ไม่แน่ว่าเราอาจได้พบความสุขที่เย็นใจมากกว่าความตื่นเต้นจากยอดไลค์ที่ได้ในโพสต์ก็เป็นได้ 

3. เราอาจถูกกระตุ้นให้โยกตู้สล็อตแมชชีน อยู่ตลอดเวลา

          มนุษย์เรามีความเป็นนักพนันอยู่ในตัว การเล่นพนันก็เพราะว่าเรามีความตื่นเต้นที่อาจได้เงินมากในครั้งนี้ และอาจได้น้อยในครั้งอื่น แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ตู้สล็อตแมชชีน การโพสต์รูปลงโซเชียลเพื่อหวังไลค์และแชร์ รวมถึงผู้ติดตามต่าง ๆ ก็ใช้หลักการเสพติดแบบเดียวกัน เพราะมันมีการกระตุ้นให้เราคิดว่า รูปที่เราลงไปอาจได้ไลค์เยอะ ถ้ายังไม่ได้ ก็ต้องลงรูปอื่นอีก แต่ถ้าได้แล้ว ก็อยากได้รับความรู้สึกนั้นอีก ก็ยังต้องลงอีกอยู่ดี
          การเล่น IG ก็ไม่ต่างอะไรกัน เพราะมนุษย์ถูกกระตุ้นจากการเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งเหล่านี้สุดท้ายแล้วก็อาจไม่ช่วยเติมเต็มหัวใจเราได้เหมือนหลายคนที่แม้จะมีคนติดตามกว่าหลักหมื่นแล้ว เราก็ยังรู้สึกเปลี่ยวเหงาที่หัวใจอยู่ดี

4. ความกลัวของคนเราไม่ได้มีเพียงแค่ FOMO แต่ยังมี FOBO (โฟโบ) อีกด้วย

  • FOMO = Fear of Missing Out
  • FOBO = Fear of a Better Option
          ความกลัวประเภทนี้คือการกลัวว่าเราจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดจากการตัดสินใจของเราและหลายครั้งมันทำให้เราหยุดชะงัก ไม่กล้าตัดสินใจ เช่น การเลือกหนังใน Netflix ที่หลายคนเสียเวลาเป็นชั่วโมง
          เรื่องนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ล้วนเสพติดความสมบูรณ์แบบ อยากได้ Option ที่ดีที่สุด สุดท้ายก็เลยกลายเป็นคนลังเล ตัดสินใจอะไรไม่ขาด
          แต่จริง ๆ แล้วลึก ๆ มันอาจเกิดจากการที่เราไม่รู้ว่า “ตัวเองต้องการอะไรจริง ๆ” เพราะถ้าเรารู้แล้ว เราก็จะเลือกในสิ่งที่เป็นตัวเองที่สุด และตัดสิ่งที่เหลือออกไปได้ถ้าเป็นแบบนั้น ทางที่ไม่ได้เลือกก็ไม่ได้น่าเสียดายอะไร

5. แกะสลักสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปจากชีวิต

          บทเรียนหนึ่งในการตามหาจิตใจที่สงบ คือเราต้องเริ่มจากการแกะสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปจากชีวิต ชีวิตที่มีอะไรยุ่งเหยิงไปหมด การ “ลด” จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ
          เราต้องรู้จัก “เลือกมี” และ “เลือกเป็น” เลือกมีเฉพาะในสิ่งที่เราอยากมี และเลือกเป็นในบทบาทที่เหมาะกับเราจริง ๆ การเลือกยังรวมไปถึง “เลือกคบ” และให้เวลากับคนที่สำคัญกับเราจริง ๆ
          หลักการนี้คือ การทำให้ชีวิตมีน้อย แต่ได้มาก คือ เน้นการเสพคุณภาพและดื่มด่ำไปกับรสชาติที่เข้มข้นหอมลึก มากกว่าชีวิตที่มีแต่ปริมาณ

6. ปกป้องเวลาไว้สำหรับสิ่งสำคัญ

          เมื่อเราตัดส่วนเกินของชีวิตออกไปแล้วเรายังต้องจัดสรรเวลาให้กับสิ่งที่เหลืออยู่อย่างพอเหมาะ วิธีหนึ่งที่เราต้องทำคือ การปกป้องช่วงเวลาไว้สำหรับสิ่งที่สำคัญจริง ๆ อาจจัดเป็นช่วงเวลาหนึ่งในทุกสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็น การใช้เวลากับครอบครัว การพักผ่อน หรือเวลาในการพัฒนาตัวเอง

7. เพราะโลกนี้ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมาย

          การที่โลกหมุนเร็ว ก็ทำให้เราต้องเร่งความเร็วของตัวเอง ทนอยู่เฉยไม่ได้ อยากจะประสบความสำเร็จเร็ว ๆ  สุดท้ายก็อาจต้อเผชิญกับภาวะ burnout และปัญหาสุขภาพจิต
          นอกจากนี้สภาพการณ์ต่าง ๆ ทั้งจากเรื่องรถติด โรคระบาด มลพิษ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ ทำให้คนเราวิตกกังวลกันมากขึ้น และมีความเครียดที่เพิ่มมากขึ้น มันชวนให้เรากลับมาอยู่ในโหมดสู้หรือหนีอยู่ตลอดเวลา
          นอกจากนี้แล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่โยนความทุกข์มาให้ อาจเปรียบเหมือน “ลูกดอกลูกที่หนึ่ง” ที่ปามาปักอกเรา แต่สิ่งสำคัญกว่า คือเราเองต่างหากที่เป็นคนปัก “ลูกดอกลูกที่สอง” เข้าหาตัวเองซ้ำลงไป มันคือความรู้สึก โกรธ ผิดหวัง ทุกข์ วิตกกังวล หลายคนจึงแทบจะเป็นบ้าไปกับการใช้ชีวิตในโลกใบนี้

8. ลองถอนตัวออกจากโลก

          สุดท้ายแล้วเราต้องหาวิธีที่จะไม่จมปลักไปกับโลกที่กำลังเป็นบ้าใบนี้ เราต้องมีวิธีถอนตัวออกมาจากโลก วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ การฝึกทำสมาธิลองอยู่กับตัวเอง จำกัดและคัดสรร input ลองจัดหาสถานที่และเวลาที่สงบในการพักผ่อนจิตใจ เพราะในบ้านที่สงบ เราจะรู้สึกปลอดภัย คลายความกังวล

9. ลองฝึกเป็นผู้สังเกตการณ์

          ลองฝึกมีสมาธิ สังเกตการณ์สิ่งต่าง ๆ ตามแบบที่มันเป็น ไม่ต้องตัดสินไม่ต้องใส่ความรู้สึกเข้าไป ไม่ต้องมีบวกลบปล่อยให้โลกเป็นไปในแบบของมัน

10. ลงจากเวทีการแสดง

          เราควรลองหา “ห้องส่วนตัว” ที่เราสามารถอยู่ได้ตามลำพังไม่ว่าจะเป็น บ้านของเรา ที่ชายหาด ทะเล บ้านพักตากอากาศ หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ลองอยู่กับตัวเอง โดยไม่ต้องสนใจคนอื่นดู ไม่ต้องสนว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเรา ไม่ต้องสนใจจำนวนไลค์ในโซเชียลมีเดีย ลงจากเวทีการแสดงต่อหน้าคนอื่นบ้าง สุดท้ายแล้วส่งคนที่เราขาดไปในโลกปัจจุบัน อาจเป็นความรู้สึกตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมายืนยัน

11. ฝึกอยู่กับปัจจุบัน ตรงนี้ เดี๋ยวนี้

          นิสัยหนึ่งที่เราควรฝึกคือ การฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบัน พักผ่อนอยู่กับตัวเอง และสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้เต็มที่ หยุดวิ่งหนีอดีต และหยุดวิ่งไล่ตามอนาคต
          ลองฝึกสติให้รับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา สังเกตความคิด ความรู้สึก อารมณ์ อคติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในใจ สมองของเราอาจค่อย ๆ เปลี่ยน และค่อย ๆ รับรู้ประสบการณ์ตรงหน้าได้ดีขึ้น

12. ฝึกจดจ่อทุกวัน

          ฝึกฝนร่างกายและจิตใจให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจ คนที่คุยด้วยตรงหน้า งานที่ทำตรงหน้า หรือธรรมชาติที่กำลังมองอยู่ อาจลองตั้งชื่อให้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นดูถ้าเราโกรธ กังวล เป็นทุกข์ เราก็จะรู้ตัวมากขึ้น วิธีนี้จะทำให้เรามีสมาธิ และลดการเข้าสู่โหมดสู้หรือหนีและทำให้เรารู้สึกว่าโลกปลอดภัยมากขึ้น
          การฝึกจดจ่อนั้นอาจทำควบคู่กันไปกับการฝึกนั่งสมาธิวันละ 2 นาที เป็นการฝึกอยู่กับตัวเอง ให้เกิดความมั่นคงภายใน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นข้างนอกก็ตาม

13. ปรับมุมมองความสุขว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ไขว่ขว้ามา แต่เป็นสิ่งที่เราต้องอ้าแขนรับ

          ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองตรงนี้ เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือแม้แต่ความรัก จะกลายเป็นแค่สิ่งที่เราอยากได้เพียงระดับหนึ่ง แต่ความสุขที่เกิดขึ้น จะอยู่ในใจของเราเองและเรายังถ่ายทอดความสุขนี้ไปให้คนอื่นได้อีกด้วย

14. หาวันใดวันหนึ่งประจำสัปดาห์มาเป็น “วันแห่งสติ”

          ซึ่งจะเป็นวันที่เราจดจ่ออยู่กับตัวเอง ทำทุกสิ่งตรงหน้าอย่างมีสติ ตั้งแต่อยู่บนที่นอน ลุกขึ้นมาแปรงฟัน อาบน้ำ ไปกินข้าว ทำกิจกรรมต่าง ๆ วันนี้จะเป็นวันที่เราอยู่กับความเงียบ อยู่กับตัวเอง ไม่มีสิ่งรบกวน เราอาจได้พบกับความสงบเย็นภายในใจและรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวไปกับทุกกิจกรรมที่ทำตรงหน้า

15. 5 ขั้นตอนในการตอบสนองต่ออารมณ์ลบ

  • ขั้นที่ 1: หยุด – สงบสยบเคลื่อนไหว
  • ขั้นที่ 2: จดจ่อไปที่ลมหายใจ หายใจลึก ๆ เพื่อให้ร่างกายสงบ
  • ขั้นที่ 3: สังเกต จดจ่อที่ร่างกายตัวเองและสังเกตอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น “ฉันรับรู้ถึงอารมณ์โกรธในตัวฉัน”
  • ขั้นที่ 4: ไตร่ตรอง คิดหาเหตุผล และพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ 
  • ขั้นที่ 5: ตอบสนอง หลังจากไตร่ตรองมาอย่างรอบคอบแล้ว

16. ซึมซับความรู้สึกดี ๆ

          เราจะเจือจางความทรงจำร้าย ๆ ได้ ด้วยประสบการณ์ด้านบวก เราจึงต้องหมั่นเติมความรู้สึกบวกให้ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ อาจเริ่มจากการเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่เรามองผ่านให้เป็นความรู้สึกดี ๆ สิ่งรอบตัว ความสำเร็จเล็ก ๆ
          และถ้าเราได้เจอประสบการณ์ที่ดี ให้เราซึมซับมันอย่างเต็มที่อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยนความสนใจไปที่สิ่งใหม่ แต่เราควรค่อย ๆ ซึมซับประสบการณ์นั้นให้ซึมลึกเข้าไปทั้งทางกายและใจ ถ้าเราตั้งใจประสบการณ์และความรู้สึกนั้นจะเข้มข้นมากขึ้น มีค่ามากขึ้น และน่าจดจำมากขึ้น

17. แผ่ความรักให้คนอื่น เพื่อความสุขของตัวเอง

          เพราะความเห็นอกเห็นใจเป็นสภาวะสูงสุดของความสุข
          ค่อย ๆ เริ่มจากเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเริ่มเปลี่ยนแปลงผู้อื่น ถ้าเราทุกคนทำได้มันก็จะค่อย ๆ ขยายวงกว้างไปและสุดท้ายก็อาจช่วยเปลี่ยนแปลงโลกอันเป็นบ้าใบนี้ได้

รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน

          เป็นหนังสือที่นิ้วกลมเขียนโดยใช้เวลาเพียง 3 วัน 5 ชั่วโมง ตอนไปเข้าถ้ำส่วนตัว เช่นเดียวกับตอนที่เขียน Have a nice life ต้องบอกว่าเมื่อเทียบกันแล้ว เล่มนี้ไม่เชิงเป็นหนังสือพัฒนาตัวเอง แต่เป็นกึ่งหนังสือฝึกสติ ฝึกจิตใจให้ผ่อนคลาย ฝึกชีวิตให้ช้าลงกับโลกที่หมุนเร็วและแทบจะเป็นบ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ
          Live in Peace มีคอนเซ็ปต์ที่ล้อมาจาก Rest in Peace ที่เราอวยพรให้ผู้วายชนม์ แต่คำถามคือ การใช้ชีวิตให้สงบสุขนั้นทำได้ยากมาก ในโลกที่ดูเหมือนจะวุ่นวายมากขึ้นเรื่อย ๆ การทำความเข้าใจสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เราแทบเป็นบ้ากับชีวิตตัวเอง และการถอนตัวออกมาจากโลกที่วุ่นวายด้วยการฝึกสติ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
          รู้สึกได้ชัดเจนว่านิ้วกลมทำหน้าที่ประสานเรื่องบ้า ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน กับวิธีปฏิบัติเชิงจิตวิญญาณได้ดีมาก ยอมรับว่าครึ่งแรกของหนังสือ เป็นจิตวิทยา และเป็นเนื้อหาที่ย่อยง่าย เพราะเป็นการอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ครึ่งหลังมีความเป็นจิตวิญญาณ และปรัชญา เริ่มอ่านยากขึ้น และต้องใช้เวลาในการตกผลึกมากขึ้น
          แต่โดยรวมแล้ว ก็ยังคิดว่าเป็นเล่มที่แนะนำให้ทุกคนลองอ่านกันดู เพราะเนื้อหาแฝงข้อคิดสำคัญในการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันไว้หลายข้อ
  • ผู้เขียน: นิ้วกลม
  • จำนวนหน้า: 304 หน้า
  • สำนักพิมพ์: KOOB, สนพ.
  • เดือนปีที่พิมพ์: 2022
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุป 17 ข้อคิด ใช้ชีวิตแบบมีสติ จากหนังสือ Live in Peace ไม่เป็นบ้าไปกับโลก อัปเดตล่าสุด 28 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 18:05:04 3,616 อ่าน
TOP