20 ข้อคิดดี ๆ จากหนังสือ ฉันหมด Passion หรือแค่ยังหามันไม่เจอ

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          สรุป 20 ข้อคิด จากหนังสือ ฉันหมด passion หรือแค่ยังหามันไม่เจอ
ฉันหมด Passion หรือแค่ยังหามันไม่เจอ

1. โดยปกติแล้วมักมีแต่คนบอกว่า เราควรหา passion แต่น้อยคนที่จะเล่าว่าเราควรหา passion เจอได้อย่างไร

         หลายครั้งเส้นทางในการตามหา passion ก็คดเคี้ยวและขรุขระ

2. บางครั้ง passion ก็กลายเป็นเรื่องเลวร้าย และอาจนำเราไปถึงจุดที่

  • เป็นทาสผลประโยชน์และการยอมรับจากผู้อื่น หรือถูกชื่อเสียง เงินทองและยอดผู้ติดตามครอบงำ
  • เรากลายเป็นคนเพิกเฉยต่อชีวิตด้านอื่นที่ไม่ใช่ passion ชีวิตครอบครัวอาจล้มเหลว
  • หมดไฟ เมื่อทุ่มเทให้กับ passion หรือสิ่งที่ชอบมากเกินไป
  • ไม่มีความสุข เพราะไม่ใช่ว่าทุกงานอดิเรกจะทำให้เรามีความสุขเมื่อเปลี่ยนเป็นอาชีพ

3. เราอาจไม่ได้กระตือรือร้นเพื่อมีความสุข แต่เรากระตือรือร้นเพื่อพยายามต่อไปเรื่อย ๆ

         Passion เชื่อมต่อกับโดพามีน สารแห่งความสุขที่หลั่งออกมาเมื่อเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จ โดพามีนจึงทำให้เรากระหายการไล่ตาม และทำให้เราเสพติดความพยายาม จนหมกมุ่นอยู่กับ passion นั้นไปเรื่อย ๆ

4. passion อาจเป็นหลุมหลบภัยให้เราซ่อนตัวจากส่วนที่ขาดหายไปในชีวิต

         มันเป็นได้ทั้งในแง่ดี คือป้องกันไม่ให้เราทำเรื่องแย่ ๆ แต่ก็อาจทำให้เรากลายเป็นคนไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา

5. อย่ายึดติดอยู่กับ passion มากเกินไป เพราะมันจะทำให้เรารู้สึกดีในวูบแรก

         แต่ถ้าเกิดมีปัญหาหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง มันอาจทำให้เรากลายเป็นคนเปราะบางได้ ไม่ต่างอะไรกับเรื่องรักแรกพบ เราจึงควรเปิดใจให้กว้าง ลดมาตรฐานความสมบูรณ์แบบ และเปลี่ยนมันให้เป็นความน่าสนใจในการออกค้นหา

6. การเปลี่ยนความสนใจให้เป็น passion อาจเริ่มจากการมองหาแรงขับเคลื่อนความต้องการพื้นฐาน 3 แบบคือ

  1. ความสามารถ - เป็นความพยายามที่เราจะก้าวหน้าขึ้นไป
  2. อิสระ – การได้ทำในสิ่งที่เป็นตัวเอง
  3. ความผูกพัน - เรามีแนวโน้มที่จะทำสิ่งหนึ่งได้ต่อเนื่อง ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

7. สิ่งสำคัญไม่ใช่การเลือกทำระหว่าง “สิ่งที่อยากทำ” หรือ “สิ่งที่ต้องทำ”

         แต่เป็นการทำไปทั้งสองอย่างพร้อม ๆ กัน โดยเราอาจใช้กลยุทธ์บาร์เบล คือ ด้านหนึ่งของบาร์เบล เป็นลูกตุ้มถ่วงน้ำหนักความเสี่ยงต่ำ-ผลตอบแทนต่ำ (เช่น การทำงานประจำ) แต่อีกข้างเป็นลูกตุ้มถ่วงน้ำหนักความเสี่ยงสูง-ผลตอบแทนสูง (เช่น การลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว หรือการนำงานอดิเรกมาเป็นอาชีพ) กลยุทธ์นี้จะช่วยให้เรากล้าเสี่ยงมากขึ้น และเรารู้ว่าถึงล้มเหลวเราก็จะไม่เป็นไรเพราะมีงานประจำรอรับอยู่

8. เราอาจไปได้ไกลกว่าถ้าค่อย ๆ ไล่ตาม passion ทีละนิด เมื่อเทียบกับการทุ่มสุดตัวแต่แรกเลย

         เหมือนการค่อย ๆ ถ่ายน้ำหนักจากบาร์เบลจากด้านที่ความเสี่ยงต่ำ (งานประจำ) มาเป็นด้านที่ความเสี่ยงสูง (งานอดิเรก – สิ่งที่ชอบ) แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ฝั่งความเสี่ยงต่ำ (งานอดิเรก) เริ่มเติบโตขึ้นแล้ว เราก็จำเป็นที่ต้องเดิมพันและทุ่มสุดตัวให้กับ passion นั้นไปเลย

9. ระวังอย่าให้ตัวเองเข้าสู่สภาวะการมี passion แบบหมกมุ่น

         หรือการผูกคุณค่าของตัวเองไว้กับสิ่งที่เป็น passion จนมากเกินไป ถ้าเราทำ passion นั้นสำเร็จ เราก็จะมีแต่อยากได้ผลลัพธ์ของมัน ตั้งแต่ชื่อเสียง เงินทอง รางวัล ผู้ติดตามมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เหมือนเข้าสู่วงจรแห่งคำสาป แต่ถ้า passion นั้นเกิดล้มเหลวขึ้นมา เราจะผิดหวังอย่างรุนแรง เราอาจเกิดภาวะเครียดและซึมเศร้า และจมอยู่ในกองความทุกข์ 

10. ระวังอย่าให้ passion เป็น passion ที่เกิดจากความกลัวที่จะล้มเหลว

         เพราะถึงแม้เราจะทำตาม passion ได้สำเร็จ เราก็จะไม่มีทางมีความสุขได้เลย เพราะเราก็ยังจะกลัวความล้มเหลวอยู่ดี เราจึงต้องฝึกเอาชนะความกลัว และเปลี่ยนจากการทำเพื่อ “ไม่ให้แพ้” เป็นการทำเพื่อ “ชนะ”

11. จงมองหา passion แบบสอดคล้อง

         ที่เป็น passion ที่เกิดจากความชอบจริง ๆ ของเรา ไม่ใช่เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมาย หรือเพื่อวิ่งหนีความล้มเหลว และเป้าหมายก็อาจปรากฏตัวออกมาเอง เมื่อเราชอบทำในสิ่งนั้นจริง ๆ โดยไม่มีเหตุผลแอบแฝง
         ดั่งคำที่บอกว่า คนที่สนใจความสำเร็จน้อยที่สุดจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด แต่คนที่สนใจความสำเร็จมากที่สุดจะมีโอกาสสำเร็จน้อยที่สุด

12. เป็นธรรมดาที่เราจะตื่นเต้นหลังได้รับชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ หรือผิดหวังเมื่อล้มเหลว

         ให้ใช้เวลา 24 ชั่วโมงต่อจากนั้นในการดื่มด่ำกับความสุข ความปลื้มปิติยินดี หรือความเศร้า และความพ่ายแพ้ จากนั้นก็แค่กลับไปทำ passion ของตัวเองต่อก็เท่านั้น วิธีนี้จะทำให้เรารู้ชัดว่า passion ของเราเกิดจากแรงจูงใจภายใน หรือมาจากแรงจูงใจภายนอก

13. เพ่งความสนใจไปที่การลงมือทำ ไม่ใช่เป้าหมาย

         เป้าหมายเป็นแค่เข็มทิศนำทาง ให้เราโฟกัสอยู่กับสิ่งที่ควบคุมได้ และอ้าแขนรับการเดินทางให้เต็มที่

14. สิ่งสำคัญสุดคือการได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นจากการทำตาม passion

         ไม่ใช่ความสำเร็จ ความล้มเหลว หากแต่เป็นตัวเองที่เก่งขึ้น ฉลาดขึ้นกว่าเมื่อวาน

15. คิดแบบซุปเปอร์แชมเปี้ยนและมองความล้มเหลวอย่างสร้างสรรค์

         อย่าผิดหวังกับความล้มเหลวเมื่อทำตาม passion มากจนเกินไป

16. จงอดทนแม้การทำตาม passion จะยังไม่เห็นผลลัพธ์ใด ๆ เลยก็ตาม

         อาจลองคิดถึงเป้าหมายเป็นครั้งคราวให้เข้าใจว่าทำไมตัวเราถึงจำเป็นต้องอดทน

17. อยู่กับปัจจุบัน และไม่ต้องไปสนใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นสำคัญที่สุดจริง ๆ รึเปล่า

         ปล่อยให้ตัวเองได้ดื่มด่ำไปกับการทำตาม passion ของตัวเองอย่างเต็มที่

18. การใช้ชีวิตตาม passion และการใช้ชีวิตอย่างมีสมดุลอาจเป็นเรื่องขัดแย้งกัน

         เพราะคนเรามีพลังงานและเวลาที่จำกัด ถ้าเราทุ่มเททำเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปแล้ว เราก็จะเหลือพลังงานและเวลาทำเรื่องอื่นน้อยลงแม้แต่ วอเรน บัฟเฟต์ก็ยังมีชีวิตครอบครัวที่แย่ และถูกพูดถึงในเชิงลบจากลูก ๆ ของเขา เพราะเขาหมกมุ่นกับ passion เรื่องการลงทุนมากจนเกินไป ดังนั้นแล้วเราต้องระลึกไว้เสมอว่า การใช้ชีวิตตาม passion อาจทำให้เราต้องเสียสละส่วนอื่นของชีวิตไป

19. สุดท้ายแล้วเราต้องเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้

         เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราอยากใช้ชีวิตตาม passion ของเราจริงหรือไม่ หรือเรายังมีความอยากอย่างอื่นอยู่นอกจาก passion ส่วนตัว
         การเข้าใจตัวเองยังช่วยให้เราวิ่งไล่ตาม passion ได้อย่างรอบคอบ และควบคุม passion และชีวิตของตัวเองได้

20. เมื่อถึงคราวต้องตัดใจจาก passion เราอาจหยุดพักเพื่อคิดทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านมาที่ใช้ไล่ตาม passion นั้น

         จงครุ่นคิดถึงอิทธิพลของ passion และมองหาบทเรียนมาต่อยอดในสิ่งที่ทำต่อไป
รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน
         ถ้าดูแค่ปกหนังสืออาจคิดว่าเป็นหนังสือที่เหมือนหนังสือให้กำลังใจ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะนี่เป็นหนังสือแปลตะวันตกที่นำความรู้เชิงจิตวิทยาในเรื่อง passion มาเล่าให้ฟังอย่างสนุก พร้อมให้บทเรียนสำหรับหลายคนที่อาจหมกมุ่นกับ passion จนทำให้มากเกินไป จนพังทลายชีวิตด้านอื่น ๆ ลง
          ยอมรับว่าหนังสือมีความลึกซึ้งพอควร อ่านไม่ง่าย ต้องค่อย ๆ อ่านแล้วตกผลึกไปในตัวด้วย แต่หนังสือทำบทสรุปประเด็นสำคัญไว้ในแต่ละบท ทำให้อ่านแล้วจับประเด็นสำคัญได้มากขึ้น โดยรวมแล้วจึงเป็นหนังสือที่ไม่น่าเบื่อนัก และความยาวก็ยังไม่มากจนเกินไป
  • แนะนำสั่งซื้อหนังสือ ฉันหมด passion หรือแค่ยังหามันไม่เจอ ได้ที่ร้าน Attorney285
  • https://shope.ee/9UUIY021Nw
  • ผู้เขียน : Brad Stulberg, Steve Magness
  • ผู้แปล : แป้ง ไตรรัตนานุสรณ์
  • จำนวนหน้า : 232 หน้า
  • สำนักพิมพ์ : บิงโก, สนพ.
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
20 ข้อคิดดี ๆ จากหนังสือ ฉันหมด Passion หรือแค่ยังหามันไม่เจอ อัปเดตล่าสุด 3 พฤษภาคม 2566 เวลา 13:50:09 3,054 อ่าน
TOP