10 ข้อคิดจากหนังสือ THE WHY? OF LIFE ชีวิตต้องสงสัย ทำไมคนเราถึงมีพฤติกรรมแบบนี้

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          สรุป 10 ข้อคิด จากหนังสือ THE WHY? OF LIFE ชีวิตต้องสงสัย
THE WHY OF LIFE ชีวิตต้องสงสัย

1. “ความโชคดี” เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก

  1. เรื่องหน้าตาดี ฐานะทางบ้านดี หรือเป็นคนที่มีลักษณะพิมพ์นิยมของสังคม
  2. เรื่องการมองเห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่ในสิ่งเหล่านั้น แล้วตอบรับกับโอกาสนั้น ๆ
          ดังนั้นถ้าเราอยากโชคดีมากขึ้น ก็ต้องหัดมองหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ให้มากขึ้น เตรียมตัวให้พร้อมกับโอกาสนั้น ๆ และลองทำบุญทำทานให้มากขึ้น เพราะสังคมชอบคนใจบุญ จะช่วยเพิ่มลักษณะพิมพ์นิยมให้ตัวเรา

2. อาจเป็นเรื่องยากมากที่จะแยกผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง กับนักสร้างภาพเพราะเรามักมีข้อมูลไม่มากพอ

          การที่เรามีข้อมูลไม่มากพอ หรือมี asymmetric information ระหว่างคนซื้อกับคนขาย ทำให้เราไม่รู้ว่าใครเป็นคนที่มีทักษะจริง และใครคือนักสร้างภาพ สุดท้ายแล้วเราเลยชอบตัดสินคนว่ารู้จริง จากการ “พูดเก่ง” และชื่นชอบคนลักษณะนั้นโดยไม่รู้ตัว
          ส่วนคนที่มีความสามารถจริง ๆ ไม่ชอบการฟันธง และระวังคำพูดตัวเอง สุดท้ายสังคมที่มี asymmetric information ระหว่างคนซื้อกับคนขายมาก ๆ จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างภาพลักษณ์มีมากขึ้น และแรงจูงใจในการสร้างความสามารถที่แท้จริงน้อยลง

3. คนไทยชอบคำนำหน้าชื่อเช่น ดร. เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

          และในสังคมแบบนี้คนจะให้ความสำคัญกับ “การอยู่เหนือคนอื่น” มากกว่าในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ การแสดงออกถึงระดับการศึกษา หรือฐานะทางสังคมจะช่วยให้คนสนใจฟังเรามากขึ้น คนไทยจึงมักแสดงคำนำหน้าชื่อให้คนอื่นเห็นไปทั่ว แม้จะไม่มีประโยชน์ในเชิงการทำงานเลยก็ตาม

4. คนที่พูดโกหกมักเป็นคนที่พูด “กำกวม ไม่ชัดเจน ไม่มีความแน่นอน และแสดงออกถึงความมีเงื่อนไข”

          คนพวกนี้จะใช้ความยืดหยุ่นของคำพูดเช่น ฉันจะทำ ก็ต่อเมื่อคุณทำด้วย เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลง เวลาไม่ทำตามที่พูด
          แต่คนที่พูดจริง ไม่โกหก จะพูดชัดเจน ไม่กำกวม และไม่แสดงออกถึงเงื่อนไขต่าง ๆ

5. ผู้ใหญ่บางคนที่ชอบมองว่าเด็กสมัยนี้ไม่ได้เรื่อง เป็นเพราะความเข้าใจผิดของตัวเอง

          ที่เข้าใจว่า เมื่อตอนตัวเองยังเด็ก เก่งและมีความสามารถเหมือนตัวเองในตอนโตแล้ว ทั้ง ๆ ที่คนส่วนใหญ่ก็มักจะมาพัฒนาความสามารถตอนโตระดับหนึ่ง ตอนเป็นเด็กก็ยังไม่ได้เรื่องเหมือนกัน

6. คนที่เราเคยชอบสมัยเรียน อาจไม่ใช่คนเดียวกับคนที่เราชอบเมื่อโตขึ้น

          เพราะคนเราเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา และใช้ “reference group” หรือคนรอบตัวในการเปรียบเทียบ พอเราโตขึ้น ทำงาน เรามีฐาน reference group ที่ใหญ่ขึ้น การเปรียบเทียบของเราจึงเปลี่ยนไป
          อีกปัจจัยหนึ่งคือ คนเรามักมองหาคนที่มีอะไรคล้ายกัน ชอบอะไรเหมือน ๆ  กัน เวลาไปอยู่ต่างประเทศ เราจึงมักเข้ากับคนไทยคนอื่นง่าย เพราะเราเอาไปเทียบกับเพื่อนต่างชาติที่ไม่มีอะไรเหมือนเราเลย แต่พอกลับมาไทย ก็มักไม่ค่อยได้เจอเหมือนเดิม เพราะเรามีคนที่เหมือนกับเรามากกว่าอยู่ที่ไทย

7. ความจริงแล้วคนเราชอบฟังเรื่องที่เคยฟังมาแล้วมากกว่าการฟังเรื่องใหม่

          เพราะว่าปกติเวลาเรารับข้อมูลใหม่ ไม่มีทางที่สมองของเราจะจดจำและประมวลผลข้อมูลที่ได้รับมาได้ทั้งหมด จึงมีช่องว่าง (gap) อยู่ในชุดข้อมูลเดิม เมื่อได้ฟังข้อมูลเดิมซ้ำอีกครั้ง จึงเป็นเหมือนการเติมส่วนที่ขาดหายไปลงในข้อมูลที่บรรจุไว้ในสมอง เราจึงเข้าใจข้อมูลเดิมได้ดีขึ้น และมักชอบฟังเรื่องเดิมซ้ำเพื่อเพิ่มความเข้าใจเหล่านี้
          จึงไม่แปลกเลยที่บางคนจะชอบหยิบหนังเก่า ๆ มาดูซ้ำ มากกว่าการเลือกดูหนังใหม่

8. ทำไมคนเราถึงกลัวการลาออก ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ชอบงานที่ทำ

          เหตุผลเพราะเรามีความกลัวหลากหลายแบบตั้งแต่
  • กลัวความไม่แน่นอนในอนาคต หรือกลัวการตกงาน มากกว่ากลัวการที่ไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่
  • กลัวการเปลี่ยนใจกับสิ่งที่เราเลือกไปแล้วในอดีต หรือกลัวว่าจะตัดสินใจผิด
  • กลัวเสียดายต้นทุน เวลาและสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทุ่มไปให้งานในปัจจุบัน
  • กลัวเสียหน้า ทำให้รอบข้างผิดหวัง และชีวิตของคนที่ต้องพึ่งพาเราแย่ลง
          วิธีแก้คือ การเปลี่ยนโฟกัสจากด้านลบของการเปลี่ยนแปลง เป็นด้านลบของการที่เราไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าเราไม่ทำเราอาจเสียใจไปตลอด เพราะคนเรามักเสียใจกับสิ่งที่ไม่ได้ทำมากกว่าสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว
          และการที่เราต้องลดการแคร์คนอื่นลง เพราะเรามักคิดไปเองว่ามีคนสนใจเรา (spotlight effect) ทั้งที่จริง ๆ แล้วอาจไม่มีใครสนใจเราเลยก็ได้

9. 4 คำถามที่เราควรถามตัวเองเมื่อเลือกงาน นอกจากเงินเดือน

  1. ต้องเป็นสิ่งที่ชอบ แต่ก็จงจำไว้ว่าความชอบของคนเราเปลี่ยนได้เสมอ สิ่งที่เราชอบในวันนี้อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่เราชอบในอีก 30-40 ปีข้างหน้าก็เป็นได้
  2. ทำแล้วมีความหมาย หรือช่วยเหลือคนอื่นในแง่ใดแง่หนึ่ง
  3. ถ้ามีคนมาแนะนำให้ทำอาชีพอะไร ให้ลองตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงแนะนำแบบนั้น เพราะอาจมีเหตุผลลึก ๆ ที่เขาให้คำแนะนำเราแบบนั้นก็เป็นได้
  4. ลองไปถามคนที่ทำอาชีพที่เราสนใจอยู่ โดยต้องถามถึงความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในการทำงานแต่ละวัน อย่าถามเพียงแค่ความพอใจโดยรวม เราจะได้เข้าใจถึงอาชีพนั้นมากขึ้น

10. ถ้าอยากมีความสุขจริง เราต้องรู้จักบาลานซ์ความสุข 3 แบบ ได้แก่

  1. ความสุขระยะสั้น เช่น อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
  2. ความสุขระยะยาว เช่น ฐานะทางการเงิน งานที่ทำ ความพึงพอใจโดยรวม
  3. ความสุขระยะยาวมาก เช่น ความหมายของชีวิต วัตถุประสงค์ในชีวิตที่เราเกิดมา
รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน
          THE WHY? OF LIFE เป็นหนังสือของอาจารย์ณัฐวุฒิ เผ่าทวี เจ้าพ่อหนังสือพฤติกรรมศาสตร์ที่เคยออกหนังสือมาก่อนแล้วหลายเล่ม ต้องเรียกว่าอาจารย์นำเอาคำอธิบายเชิงพฤติกรรมศาสตร์มาเล่าถึงพฤติกรรมของคนรอบตัวเราได้อย่างแยบยลและคมคาย ทำให้อ่านหนังสืออาจารย์แล้วสนุกมาก ไม่เคยผิดหวังเลย เล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มที่มีเรื่องน่าสนใจและข้อสรุปที่เป็นคำแนะนำของอาจารย์ที่เอาไปใช้ต่อได้จริง หนังสือเล่มเล็กมาก ใครสนใจลองไปหาอ่านกันดูครับ
          ฟังหนังสือเสียง  THE WHY? OF LIFE ชีวิตต้องสงสัย ได้ที่ แอปพลิเคชั่น Storytel
          ตอนนี้หลังอ่านได้ร่วมกับ Storytel มอบข้อเสนอสุดพิเศษสำหรับผู้ติดตามเพจหลังอ่านทุก ๆ อ่าน ฟังหนังสือเสียงบน Storytel ได้ไม่จำกัดในราคา 99 บาท ตลอด 2 เดือนแรก (เพียงเดือนละ 49 บาท) จากเดิม 149 บาท/เดือน สมัครง่าย ๆ แป๊บเดียวเสร็จ ใครสนใจคลิ๊กเลย : https://www.storytel.com/th/th/c/langarnbooksreview
          หรือสั่งซื้อได้ที่ : https://shope.ee/5pYgOGLeZG
  • ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
  • จำนวนหน้า : 144 หน้า
  • สำนักพิมพ์ : SALMON BOOKS
  • เดือนปีที่พิมพ์ : 4/2021 
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 ข้อคิดจากหนังสือ THE WHY? OF LIFE ชีวิตต้องสงสัย ทำไมคนเราถึงมีพฤติกรรมแบบนี้ อัปเดตล่าสุด 15 พฤษภาคม 2566 เวลา 13:28:07 3,491 อ่าน
TOP