6 ความเจ็บปวดที่วัยรุ่นทุกคนต้องข้ามผ่าน จากหนังสือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          6 ความเจ็บปวดที่วัยรุ่นทุกคนต้องข้ามผ่าน จากหนังสือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด
เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด

1. นาฬิกาของเรากี่โมงแล้ว

          วัยรุ่นหลายคนที่เพิ่งเรียบจบจากมหาลัย และเริ่มต้นชีวิตทำงาน มักจะคิดกันอยู่เสมอว่าตัวเองผ่านชีวิตมาเยอะแล้ว 
          แต่ถ้าคิดตามหลักนาฬิกาชีวิตที่เปรียบเทียบอายุ 80 ปีในชีวิตคน กับเวลาในหนึ่งวันที่มี 24 ชั่วโมงนั้น เข็มนาฬิกาของคนที่อายุ 24 ปี ก็เพิ่งชี้ที่เวลา 7 โมง 12 นาที ซึ่งเป็นเวลาเช้าตรู่ของเช้าวันใหม่
          เป็นช่วงเช้าของการเริ่มต้นวันหนึ่งวัน ที่หลายคนกำลังออกไปทำงาน ซึ่งเปรียบได้กับวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบมหาลัย และกำลังก้าวเท้าเข้าสู่โลกของการทำงาน
          พวกเขาจึงมีเวลาเหลืออยู่อีกมากที่จะได้เผชิญโลก ที่จะได้ทำงาน สร้างคุณค่าให้กับสังคม 
          ในขณะเดียวกัน สำหรับคนที่อายุ 50 ปี เข็มนาฬิกาชีวิตก็เพิ่งอยู่ที่ประมาณบ่ายสามโมงเท่านั้น ยังมีเวลาเพียงพอที่จะได้ทำในสิ่งที่อยากทำอีกมากก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน
          ข้อคิดที่ได้จากเรื่องเข็มนาฬิกาชีวิตนี้คือ ไม่มีอะไรสายเกินแก้ ไม่มีอะไรมาเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป คนเรายังมีเวลาเหลืออีกมากที่จะได้ลงมือทำ และออกไปใช้ชีวิต

2. เราต่างผลิบานในเวลาที่แตกต่างกัน

          เรื่องการรีบใช้ชีวิต รีบประสบความสำเร็จ นับเป็นค่านิยมที่ครอบงำสังคมสมัยใหม่ และสร้างความกดดันให้วัยรุ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนในวัยเดียวกัน
          แต่แท้จริงแล้ว เราทุกคนอาจมีช่วงเวลาในการประสบความสำเร็จที่แตกต่างกัน เหมือนดอกไม้ที่ผลิบานคนละฤดูกาล
          สุดท้ายแล้วชีวิตคนเรา วัดกันที่งานที่ทำกันเป็นชิ้นสุดท้าย ไม่ใช่งานแรกที่เริ่มทำ
          ความสำเร็จของชีวิตวัดกันที่การทำความฝันให้เป็นจริงในที่สุด ไม่ได้วัดกันที่ใครทำความฝันให้เป็นจริงเร็วกว่าใคร มีหลายคนที่ต้องรอถึงอายุ 50-60 กว่าจะทำความฝันได้สำเร็จ
          เพราะฉะนั้นจงอย่าท้อ มุ่งหน้าทำตามความปรารถนาของเราต่อไป และ เตรียมพร้อมรอวันที่เราจะผลิบาน

3. เราเป็นลูกธนูหรือเรือกระดาษ

          มีนักศึกษาที่เข้าพบอาจารย์บ่อย ๆ อยู่สองกลุ่ม คือกลุ่มลูกธนูกับเรือกระดาษ
          กลุ่มลูกธนู มักจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีแผนการที่เป็นขั้นตอน และใช้ชีวิตด้วยการลงมือทำ เพื่อพาตัวเองไปสู่เป้าหมายอยู่เสมอ ๆ เปรียบเหมือนลูกธนูที่พุ่งทะยานตรงไปที่เป้า
          กลุ่มเรือกระดาษ มีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับกลุ่มแรก เด็กกลุ่มนี้มักจะไม่มีความแน่นอนกับชีวิต ไม่มีเป้าหมายชัดเจน สามารถโคลงเคลงไปมาตามคำแนะนำของคนรอบข้าง เปรียบเหมือนกับเรือกระดาษที่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ
          คำแนะนำที่อาจารย์มักจะเตือนนักศึกษากลุ่มแรกคือ ให้ลอง ‘แง้มประตูหัวใจไว้เล็กน้อย สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น’
          เพราะไม่ว่าเราจะมีแผนการที่ชัดเจนแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วชีวิตมักจะพาเราไปยังจุดที่ไม่ได้คาดคิดไว้เสมอ เราจึงต้องรู้จักปรับตัวและเรียนรู้ที่จะเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา อย่าเพิ่งปิดประตูหัวใจเพียงเพราะว่าเรามีเป้าหมายและแผนการที่ชัดเจนแล้ว
          ในทางกลับกัน เด็กกลุ่มเรือกระดาษ พวกเขาอาจคิดเยอะมากจนไม่อาจตัดสินใจเลือกเดินทางไปในทางใดทางหนึ่งได้ สิ่งที่พวกเขาควรทำจึงเป็นการรับฟังเสียงในใจตัวพวกเขาเองให้ดี ค่อย ๆ ทบทวน และหาคำตอบกับสิ่งที่เขาต้องการให้เจอ 
          แม้เด็กกลุ่มหลังอาจเคลื่อนที่ช้า เมื่อเทียบกับกลุ่มลูกธนู แต่การลงมือทำไปทีละน้อย แล้วค่อย ๆ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นก็คงจะช่วยพาให้พวกเขาไปถึงฝั่งฝันได้เหมือนกัน

4. พื้นไม่ได้ลึกอย่างที่คิด

          ในหลายครั้งเราต้องยอมละทิ้งบางอย่างที่อาจใช้ยึดติดไว้มายาวนาน แม้การปล่อยมือจากมันอาจจะดูน่าหวาดหวั่นเพียงใดก็ตาม
          เปรียบเหมือนการที่เรากำลังเกาะเชือกเส้นหนึ่งไว้ แล้วเมื่อมองลงไปด้านล่างไม่เห็นพื้น เราจึงมักจินตนาการว่าพื้นมันคงจะลึกมาก
          แต่ในความเป็นจริงแล้ว พื้นอาจไม่ได้ลึกอย่างที่คิด การปล่อยมือลงมาจากเชือกอาจทำให้เราเจ็บเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับตายหรือพิการ 
          ความมืดที่เรามองไม่เห็นตอนเกาะเชือกก็เปรียบเหมือนความกลัวในใจเราที่คิดว่าถ้าเราไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการนั้น ชีวิตจะต้องพังพินาศไป แต่หลายครั้งการยอมล้มเลิก แล้วมองหาหนทางใหม่ก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
          ดังนั้นแล้ว เมื่ออายุยังน้อย แม้จะต้องตกลงมาเจ็บ แต่ไม่นานเดี๋ยวก็หาย และจงเชื่อเถอะว่า มีอีกหลายเส้นทางให้เราพร้อมสยายปีกบินขึ้นไปใหม่

5. แม้วันนี้ลำบากจนอยากตาย แต่อาจมีใครหลายคนปรารถนาอยากเป็นเรา แม้เพียงวันเดียว

          ถ้าใครเคยเจอมรสุมชีวิตจนรู้สึกท้อ และไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ ให้ลองมองออกไปบนท้องถนนที่เต็มไปด้วยผู้คนหลายชีวิตที่ลำบากกว่าเรามาก แล้วลองคิดว่าอาจมีอีกหลายชีวิตที่อยากจะมาเป็นตัวเรา แม้จะทำได้เพียงแค่วันเดียวก็ตาม
          เรื่องนี้ให้บทเรียนว่า ในวันที่รู้สึกท้อ รู้สึกหดหู่ ให้ก้มลงมองคนที่ลำบากกว่า แล้วจง ซาบซึ้งกับชีวิตตัวเองที่ได้เกิดมาแบบนี้ แต่ถ้าวันไหนเราอยากได้ดี ให้เงยหน้ามองคนที่อยู่สูงกว่า และ อย่าทะนงตนจนเกินไป

6. มหาวิทยาลัย คือเส้นชัย หรือจุดออกตัว

          หลาย ๆ คนชอบเข้าใจผิดว่า ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ได้ เท่ากับว่าได้กำชัยชนะของเกมชีวิตไปเรียบร้อยแล้ว 
          แต่ความจริงแล้ว มหาวิทยาลัยอาจเป็นเพียงแค่จุดออกตัวเท่านั้น วันรับปริญญาอาจเป็นเพียงวันที่เราต้องเริ่มต้นสู่การต่อสู้ครั้งใหม่
          ชื่อเสียงของมหาลัยอาจมีความสำคัญตอนสมัครเข้าทำงานใหม่ แต่หลังจากนั้นจะเป็นการวัดกันที่ผลงานที่ทำได้ ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอีกต่อไป
          ผู้บริหาร นักธุรกิจ หรือคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากมาย ไม่ได้จบจากมหาลัยที่มีชื่อเสียง แต่เป็นเพราะคนกลุ่มนี้กล้าเสี่ยงกับชีวิตแบบเต็มตัว
          มหาวิทยาลัยจึงเป็นเหมือนสถานที่เตรียมความพร้อมให้ออกไปเผชิญโลกครั้งใหม่ เป็นสถานที่ที่เราจะได้ปลดปล่อยศักยภาพของเราและเตรียมมันให้พร้อมที่จะต่อสู้กับโลกความเป็นจริง
  • แนะนำสั่งซื้อหนังสือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด ได้ที่ร้าน Attorney285
  • https://shope.ee/1ApJwQmhPf
  • ผู้เขียน : คิมรันโด
  • ผู้แปล : วิทิยา จันทร์พันธ์
  • สำนักพิมพ์ : springbooks
  • จำนวนหน้า : 247 หน้า
  • เดือนปีที่พิมพ์ : 2022
  • ชื่อเรื่องต้นฉบับ : Youth, It's Painful
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 ความเจ็บปวดที่วัยรุ่นทุกคนต้องข้ามผ่าน จากหนังสือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด อัปเดตล่าสุด 24 พฤษภาคม 2566 เวลา 14:20:07 21,963 อ่าน
TOP