เรื่องน่ารู้ของโรคหวัด โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกฤดู

ใกล้มิตรชิดหมอ

ใกล้มิตรชิดหมอ เพจให้ความรู้คู่สุขภาพกายและจิต เสมือนมีหมอเป็นมิตรอยู่ข้างบ้าน

          ทราบไหมคะว่า "หวัด" เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยที่สุด จนอาจจะบอกได้ว่า ไม่มีใครไม่เคยเป็นหวัดนะคะ 

          แม้ว่าหวัดจะไม่ใช่โรคร้ายแรง สามารถหายเองได้ แต่ก็คงไม่มีใครอยากป่วยจริงไหมคะ
          ยิ่งเมื่อป่วยแล้ว เราก็อยากจะหายให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติได้ไม่ต้องมีอาการป่วยมาจำกัดการใช้ชีวิตของเรา
          โรคหวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งหายเองได้ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ยิ่งไปกว่านั้น เราทุกคนยังสามารถติดหวัดกันได้ทุกฤดูตลอดปีอีกด้วย ไม่ว่าจะหน้าร้อนที่เจอทั้งอากาศร้อน มลภาวะและความแตกต่างของอุณหภูมิในแต่ละช่วงเวลา หน้าฝนที่มีความชื้นสูง และหน้าหนาวที่อากาศแห้ง
          วันนี้เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้น เพื่อจะได้ดูแลตัวเองและคนที่เรารักได้อย่างถูกต้องกันค่ะ

โรคหวัดมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส

ซึ่งหายเองได้

          โดยเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคหวัด ได้แก่ Rhinovirus, Adenovirus, Influenza virus และ Enterovirus เป็นต้น ซึ่งสามารถติดต่อกันง่ายมากๆ เพียงแค่สัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อก็สามารถติดหวัดได้แล้วนะคะ ทำให้โรคหวัดพบบ่อยในเด็กๆ ที่อาจจะยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือในคนที่ไม่ได้ระมัดระวังเรื่องสุขอนามัย หรือคนที่ใกล้ชิดคนที่เป็นหวัด
          เมื่อได้รับเชื้อมาแล้วเมื่อพ้นระยะฟักตัวก็อาจจะทำให้เกิดอาการ โดยอาการหลักของโรคหวัด ได้แก่ มีน้ำมูก คัดจมูก และอาจจะมีอาการเจ็บคอร่วมด้วยในบางราย อาการเหล่านี้จะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายจัดการกับเชื้อได้แล้ว
          แม้ว่าการติดเชื้อไวรัสที่ก่อโรคหวัดส่วนใหญ่จะมีอาการน้อย แต่ก็มีการติดเชื้อไวรัสบางกลุ่มที่ทำให้เกิดอาการของโรคติดเชื้อระบบหายใจที่รุนแรง เช่น เชื้อ RSV ที่ทำให้เกิดอาการหลอดลมอักเสบในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เชื้อไข้หวัดใหญ่หรือ influenza viruses ที่ทำให้มีไข้สูงและปวดเมื่อยตัวมากได้ค่ะ
          แม้จะหายเองได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้นะคะ อาการที่ควรเฝ้าระวังเนื่องจากเป็นอาการที่บ่งชี้ว่าคุณอาจกำลังมีภาวะแทรกซ้อนตามมาจากหวัด เช่น ไข้ที่เคยหายไปแล้วกลับมีใหม่ หรือมีอาการปวดหู ซึ่งเป็นอาการของการติดเชื้อในหูชั้นกลาง โดยเฉพาะในเด็กๆ หรือน้ำมูกไหลนานเกิน 10-14 วันที่อาจจะทำให้สงสัยว่ามีไซนัสอักเสบร่วมด้วยค่ะ

การรักษาหวัด

โรคหวัด

          การรักษาหวัด จะเป็นการรักษาตามอาการ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ นะคะ เนื่องจากย่าฆ่าเชื้อจะเป็นยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่หวัดมีสาเหตุหลักมาจากเชื้อไวรัส
          การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รักษาร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างรวดเร็วก็มีส่วนช่วยให้อาการหวัดดีขึ้นนะคะ ทั้งนี้ในระหว่างที่มีอาการควรให้ความสำคัญกับสุขอนามัย โดยเฉพาะการล้างมือ และการใช้ของที่ปนปื้อนสารคัดหลั่งร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดการแพร่เชื้อให้กับคนรอบตัวด้วยค่ะ
          ยาที่ใช้รักษาอาการหวัด ได้แก่ ยาลดน้ำมูก ที่ใช้บ่อย คือ ยากลุ่มต้านฮิสตามีน เช่น Chlorpheniramine Maleate หรือยาที่มีส่วนผสมของยาต้านฮิสตามีนร่วมกับยาลดการคัดจมูก เช่น Brompheniramine Maleate, Phenylephrine Hydrochloride และ Phenylpropanolamine Hydrochloride เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมียาลดไข้ เช่น ยา Paracetamol และยาแก้ไอ ทั้งแบบที่กดการไอ และลดเสมหะ ซึ่งนอกจากจะมียาเม็ดเดี่ยวแล้วยังมียาเม็ดรวมแบบที่มียาซึ่งออกฤทธิ์หลายอย่างร่วมกันด้วยนะคะ เช่น ยาเม็ดรวมที่มีตัวยา Paracetamol, Phenylephrine Hydrochloride และ Chlorpheniramine Maleate ในเม็ดเดียวกัน การเลือกใช้ยา รวมถึงขนาดของยาที่ใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย และไม่ลืมที่จะอ่านคำเตือนบนฉลากก่อนใช้ยาเสมอด้วยนะคะ

มาทำความรู้จักยาที่ใช้บ่อยๆ ในการรักษาหวัดกันนะคะ

          ยาตัวแรก คือ Paracetamol หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Acetaminophen เป็นยาลดไข้ที่ใช้บ่อยมากถึงมากที่สุดในโลก บรรเทาไข้ที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้อย่างดี โดยยาจะมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน ยา Paracetamol จะมีระดับสูงสุดในเลือดที่ 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมงหลังจากกินยานะคะ สาเหตุที่มีการใช้ยาตัวนี้เพื่อแก้ปวดหรือลดไข้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการลดไข้และแก้ปวดค่อนข้างดี รวมถึงมีผลข้างเคียงน้อยหากใช้ในขนาดที่เหมาะสม คือ ไม่เกิน 4 กรัม หรือ 4,000 มิลลิกรัมต่อวันค่ะ
          ยาตัวที่ 2 ที่ใช้บ่อยมากเมื่อเป็นหวัด คือ Chlorpheniramine Maleate หรือบางคนเรียกชื่อย่อว่า CPM เป็นยาต้านฮิสตามีนที่อยู่ในกลุ่ม first generation ช่วยลดน้ำมูกและการคัดจมูก ยาจะเริ่มออกฤทธิ์หลังจากรับประทานประมาณ 30 นาทีและคงอยู่นาน 4-6 ชั่วโมงนะคะ ก็มีผลข้างเคียงคือ ทำให้ง่วงได้ ดังนั้น หลังจากใช้ยากลุ่มนี้จึงควรนอนพัก ไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรนะคะ
          ยาอีกกลุ่มที่ใช้กันบ่อยมาก คือ ยาที่ลดอาการคัดจมูก โดยที่รู้จักกันดี คือ Phenylephrine Hydrochloride ออกฤทธิ์โดยตรงต่อตัวรับในจมูก ลดอาการบวมของหลอดเลือดในจมูกและท่อระบายของเหลวจากหูชั้นใน มักจะใช้ร่วมกันกับยาในกลุ่มต้านฮิสตามีนเพื่อบรรเทาอาการหวัดค่ะ
          คำถามที่มักเกิดเสมอเมื่อต้องมีการใช้ยาหลายตัวร่วมกัน คือ เรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัย นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมียาบรรเทาอาการหวัดในรูปแบบที่เป็นเม็ดยารวม จึงได้รวบรวมข้อมูลการใช้ยาบรรเทาอาการหวัดที่ใช้ร่วมกันบ่อย ๆ เช่น Paracetamol, Chlorpheniramine Maleate และ Phenylephrine hydrochloride มาฝากค่ะ
          จากการตรวจสอบโดยใช้โปรแกรม Drug interactions checker จาก website Drugs.com พบว่า ยาทั้ง 3 ตัวไม่มีปฏิกิริยาต่อกัน สามารถใช้ร่วมกันได้ค่ะ
          ในด้านของข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาแบบเม็ดรวม พบผลการศึกษารายงานว่า ยาเม็ดรวมที่ประกอบด้วยยาทั้งสามตัวข้างต้นมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการหวัดและอาการไข้หวัดใหญ่ได้เมื่อเทียบกับยาหลอกโดยไม่เพิ่มผลข้างเคียงจากการใช้ยา (1) การใช้ยาแบบเม็ดรวมมีข้อดีในมุมของคนที่กินยายาก หรือลดภาระงานในผู้ที่ดูแลคนป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ในแง่ของประสิทธิภาพการรักษาอาจจะไม่ได้แตกต่างกับการใช้ยาแต่ละตัวแยกกัน (2) ทั้งนี้ ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะในคนที่ใช้ยารักษาโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เนื่องจากอาจจะมีปฏิกิริยาต่อกัน และอ่านคำเตือนในฉลากอย่างละเอียดทุกครั้งก่อนใช้ยา

Ref

  1. Picon PD, Costa MB, da Veiga Picon R, Fendt LC, Suksteris ML, Saccilotto IC, Dornelles AD, Schmidt LF. Symptomatic treatment of the common cold with a fixed-dose combination of paracetamol, chlorphenamine and phenylephrine: a randomized, placebo-controlled trial. BMC Infect Dis. 2013 Nov 22;13:556. doi: 10.1186/1471-2334-13-556. PMID: 24261438; PMCID: PMC4222817.
  2. 2.De Sutter AI, Eriksson L, van Driel ML. Oral antihistamine-decongestant-analgesic combinations for the common cold. Cochrane Database Syst Rev. 2022 Jan 21;1(1):CD004976. doi: 10.1002/14651858.CD004976.pub4. PMID: 35060618; PMCID: PMC8780136.

สรุป

          โดยสรุปนะคะ โรคหวัดเป็นโรคที่พบบ่อยและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนตลอดทั้งปี ไม่ว่าฤดูไหนก็ตาม
          แม้สามารถหายเองได้ แต่ก็ต้องมีการดูแลในระหว่างที่มีอาการเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดตามมา โดยการเลือกใช้ยารักษาหวัด จะเป็นการรักษาตามอาการโดยไม่จำเป็นต้องใช้ฆ่าเชื้อ ซึ่งในระหว่างการใช้ยาตามอาการ อาจจะมีการใช้ยาหลายตัวเพื่อบรรเทาอาการหวัดแต่ละอาการ เช่น ลดน้ำมูก ลดการคัดจมูก อาการไข้ อาการไอ เป็นต้น ทั้งนี้ยารักษาหวัดแม้จะมีหลายกลุ่ม แต่ก็สามารถใช้ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย และมีทางเลือกในการใช้ยาแบบเม็ดรวมเพื่อความสะดวกในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ โดยพบว่าประสิทธิภาพการรักษาและความปลอดภัยไม่ได้แตกต่างจากการใช้ยารักษาหวัดตามอาการแบบแยกเม็ด
          นอกจากการรักษาแล้ว การป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโดยการดูแลรักษาความสะอาดส่วนบุคคลยังเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและตัดวงจรการแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรคเหล่านี้ได้ ดังนั้น อย่าลืมให้ความสำคัญกับสุขอนามัยที่ดีด้วยนะคะ
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ใกล้มิตรชิดหมอ
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องน่ารู้ของโรคหวัด โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกฤดู อัปเดตล่าสุด 7 มิถุนายน 2566 เวลา 15:22:49 3,484 อ่าน
TOP