12 ข้อคิดปลอบประโลมใจในวันที่ท้อ เหนื่อย และอยากกลับบ้าน จากหนังสือ ยังไม่ทันเข้างาน ก็อยากกลับบ้านแล้ว

1) หลายครั้งที่มีแต่ความกังวลระหว่างเดินทางกลับบ้าน
ให้คิดซะว่า ‘การก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ต้องมีความหมายอะไรสักอย่างกับตัวเราในอนาคตอย่างแน่นอน’
2) เมื่อจะลาออก ก็มักต้องเจอคำถามว่า “แล้วจะไปทำอะไรต่อ”
ในช่วงนี้แม้จะตอบตัวเองไม่ได้ 100% และอาจต้องเจอกับความหวั่นไหว ก็จงปลอบตัวเองว่า “I’m fine” และยอมรับทางเลือกที่ตัวเองตัดสินใจอย่างเต็มที่
3) การที่งานแรกที่เราทำไม่เหมาะกับตัวเรา ไม่ได้แปลว่าทั้งชีวิตการทำงานเราต้องพังทลาย
ก็เหมือนความรักที่แม้รักแรกของเราจะไม่ใช่รักนิรันดร์ แต่วันหนึ่ง ความรักครั้งใหม่ที่ใช่สำหรับเราจริง ๆ ก็อาจผ่านเข้ามาได้
4) ถ้าจะย้ายงาน เราไม่ควรย้ายจากความรู้สึกว่า “ขอไปที่ไหนก็ได้ ที่ไม่ใช่ที่นี่”
เราควรมีจุดประสงค์ของการย้ายงานที่ชัดเจน ถ้ายังมีไม่ชัดก็ควรไตร่ตรองดูดี ๆ ก่อนจะตัดสินใจย้ายงาน
5) ถ้าได้ลาออกแล้ว ก็ต้องเตรียมใจรับความเสียดายหรือความเจ็บปวดที่แวะมาเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราว
เมื่อถึงเวลานั้น ให้เอาเหตุผลที่ตัดสินใจลาออกมาเป็นเกราะป้องกันตัวเองดี ๆ เหตุผลในใจก่อนเขียนใบลาออกอาจช่วยให้เราผ่านมรสุมความเจ็บปวดไปให้ได้
6) “บริษัทที่ดีกว่า” ย่อมขึ้นกับตัวบุคคล และช่วงเวลา ณ ขณะนั้น
คนเราเปลี่ยนความสนใจและสิ่งที่ให้คุณค่าไปตลอด บริษัทที่ตอบโจทย์เราแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลาจึงแตกต่างกัน บริษัทที่เหมาะกับทุกคนมากที่สุดไม่มีอยู่จริง
7) สิ่งที่ได้เจอเมื่อลาออก
อาจเป็นการตระหนักรู้ว่าบริษัทเดิมที่เคยทำนั้นดีไม่มากก็น้อย แต่ก็ได้เห็นโลกที่กว้างใหญ่ ซึ่งจะไม่มีวันได้เห็น ถ้าไม่ก้าวเท้าออกจากบริษัทเดิม
8) สุดท้ายแล้วคนที่ตั้งหน้าตั้งตามองดูความสำเร็จของเรา ก็คือตัวเราเอง
เมื่อเรา “พิชิต” งานอันหนักหนาสาหัสที่นำพามาซึ่งคืนวันอันโหดร้าย อดหลับอดนอน เคร่งเครียด กัดฟันอดทนขมขื่น มาได้ เราจะภูมิใจในตัวเอง และเต็มอิ่มไปด้วยความปลาบปลื้ม
9) เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
พยายามปล่อยวางในสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้เหมือนเขา มีไม่ได้เหมือนเขา จงยึดมั่นในเส้นทางของตัวเอง และโฟกัสไปกับย่างก้าวของตัวเองเท่านั้น
10) แยกความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์เราออกจากตัวเรา
อย่าเอากระดานไวท์บอร์ดวางอยู่บนหน้าแล้วรับลูกธนูแห่งคำวิจารณ์ที่ยิงมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าใครจะพูดยังไง นั่นก็เป็นเพียงความคิดเห็นของเขา ไม่ใช่สิ่งที่เราเป็นจริง ๆ
11) ตั้งใจฟังเสียงหัวใจตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเกิดความคิดแวบ ๆ ว่า “อาจไม่ใช่ภูเขาลูกนี้นะ”
ซึ่งหมายถึง สิ่งที่เราทำอยู่อาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ จงฟังเสียงของตัวเองให้ดี แล้วเผชิญหน้ากับความคิดแรกอันคลุมเครือแบบตรงไปตรงมา จนกว่ามันจะกระจ่างชัดขึ้น
12) โจทย์ในชีวิตการทำงานนั้น ไม่ใช่โจทย์ที่ได้คำตอบครั้งเดียวแล้วจะจบ
แต่โจทย์จะค่อย ๆ ได้รับการขัดเกลา และแปรเปลี่ยนไปตามประสบการณ์และตัวตนของตัวเราที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเติบโต แม้จะเจอสิ่งที่ใช่ ณ ตอนนี้ แต่อนาคตก็อาจเปลี่ยนอีกได้ “จงอย่าคิดว่า ลดน้ำหนักลงได้ครั้งเดียว แล้วจะไม่ต้องคิดเรื่องนี้อีกตลอดชีวิต”
รีวิวสั้น ๆ
เป็นหนังสือที่ตอบโจทย์คนทำงานรุ่นใหม่ในโลกยุคนี้มาก หนังสือบรรยายความรู้สึกสับสน มึนงง และกดดันแบบถึงขีดสุดจากทั้งสังคม คนรอบข้าง และตัวเอง ทั้งเรื่องการทำงาน ที่กว่าจะเข้าทำงานได้ก็หนักหนาแสนสาหัส แต่พอทำไปสักพักกลับไม่รู้สึกว่ามันไม่ตอบสิ่งที่ตัวเองต้องการซะอย่างนั้น หรือเรื่องการเรียนต่อที่ตั้งเป้าไว้อย่างดิบดี แต่พอเอาเข้าจริงก็ค้นพบว่า มันเป็นแค่การอยากหนีออกจากโลกแห่งความจริงเพียงชั่วคราวเท่านั้น
อ่านจบแล้วอยากหยิบไปให้คนรุ่นพ่อแม่อ่านมาก เพราะเดี๋ยวนี้เหมือนคนต่างวัยจะเริ่มเข้าใจกันน้อยลงเรื่อย ๆ
หนังสือเขียนจากบันทึกชีวิตของหญิงสาวชาวเกาหลีวัยทำงานคนหนึ่ง ที่ต้องทนรับสภาพกดดันของชีวิต และอยากบ่นระบายความในใจออกมาเรื่อย ๆ เธอใช้ชีวิตเหมือนชนชั้นกลางทั่วไป เรียนจบ หางานทำบริษัทดี ๆ งานหนักแทบเป็นบ้า burnout ไปหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ยังต้องกลับมาเจอรถติดเหมือนเดิม
โดยรวมแล้ว เหมาะกับการอ่านในวันที่รู้สึกท้อมาก ๆ เพราะอย่างน้อยเราก็รู้ว่า เราไม่ได้ท้ออยู่คนเดียว แต่คนวัยทำงานในสังคมอื่นก็มีแรงกดดันไม่ต่างกัน นอกจากนี้อ่านแล้วอาจยังช่วยให้เรา ‘เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง’ มากขึ้น เพราะเหมือนผู้เขียนตกผลึกมาให้แล้ว
แม้จะไม่ได้มี howto แก้ปัญหาความเบื่อหน่ายในชีวิต แต่อย่างน้อย ๆ ก็ได้ระบายและรับกำลังใจจากหนังสือเล่มนี้ไปเต็ม ๆ แน่นอน
สนใจสั่งซื้อหนังสือ ยังไม่ทันเข้างาน ก็อยากกลับบ้านแล้ว ได้ที่ร้าน Attorney285
- ผู้เขียน : ว็อนจีซู
- ผู้แปล : ธัชชา ธีรปกรณ์ชัย
- จำนวนหน้า : 312 หน้า
- สำนักพิมพ์ : บลูม พับลิชชิ่ง
- เดือนปีที่พิมพ์ : 2/2022
- ชื่อเรื่องต้นฉบับ : Got A Job Why is Life So Hard?
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่