8 บทเรียนสำหรับคนที่ 'กล้าที่จะมีความสุข' จากหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด 2

1) การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นต้องเริ่มต้นด้วย 'การเคารพในแบบที่ผู้นั้นเป็น'
หรือคือ ‘การใส่ใจในสิ่งที่คนคนนั้นสนใจ’
ตัวอย่างเช่นในการสอนเด็กนั้น เราต้องเริ่มต้นจากการเคารพในสิ่งที่เด็กเป็น เข้าใจว่าตัวตนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน มองตัวเด็กจากมุมของเขา มีความรู้สึกร่วมไปกับเขา และเคารพเขา
วิธีนี้จะทำให้ครูสามารถเข้าถึงตัวตนของเด็กได้ และทำให้เด็กยอมเชื่อฟังครู
2) ปัจจุบันเป็นสิ่งที่กำหนดอดีต
อดีตจริงๆแล้วคือสิ่งที่ถูกเราปรุงแต่งขึ้นให้ตอบเป้าหมายของเราในปัจจุบัน
อดีตจึง ‘ไม่มีตัวตน’ เป็นเพียงสิ่งสมมุติของเราเท่านั้น แนวคิดและการมองโลกของเราในปัจจุบันจึงเป็นตัวคอยกำหนดเรื่องราวในอดีตได้
เพราะฉะนั้นหลักปรัชญาของแอดเลอร์คือไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต สนใจเพียงแต่ว่า ‘จากนี้ไปจะทำอย่างไรต่อไป’ เท่านั้น
3) หลักในการสอนผู้อื่นของแอดเลอร์คือ การไม่ด่า และไม่ชม
เพราะเมื่อมามองย้อนไปถึงพฤติกรรมในการก่อปัญหาของเด็กๆแล้ว เป้าหมายจริงที่พวกเด็กๆก่อปัญหาในชั้นเรียนคือ ‘ความต้องการมีที่ทางเป็นของตัวเองในสังคมที่ตัวเองเป็นสมาชิกอยู่’
การด่าเป็นเพียงแค่วิธีการอันรวดเร็วที่จะเข้าไปควบคุมเด็กเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการสอน
ซึ่งคือการช่วยให้เด็ก ‘พึ่งพาตัวเองได้’
4) การที่จะสอนเด็กในวิธีที่ถูกคือการให้เด็กร่วมมือกับคนอื่น
การชมนั้นเป็นบ่อเกิดของการแข่งขัน และจะทำให้เด็กมองว่าตัวเองอยู่ในสนามแข่งตลอดเวลา มองคนอื่นเป็นคู่แข่ง เป็นศัตรูที่ต้องเอาชนะ
แต่ความเป็นจริงแล้วตามธรรมชาติของมนุษย์นั้น มนุษย์วิวัฒนาการมาได้เนื่องจาก ‘การร่วมมือกันทำงาน’ หรือ ‘การแบ่งงานกันทำ’
การที่จะสอนเด็กในวิธีที่ถูกคือการให้เด็กร่วมมือกับคนอื่น และทำให้ห้องเรียนขับเคลื่อนในระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม ที่คนเรามองคนอื่นแบบเท่าเทียม และร่วมมือกันทำงาน ซึ่งจัดว่าเป็นหัวใจที่ทำให้องค์กรเคลื่อนที่ไปได้
5) ความสุขทั้งหมดในชีวิตคนเรา ล้วนเกิดจากการที่มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ภารกิจของชีวิตมีทั้งด้านการงาน ด้านการเข้าสังคม และด้านความรัก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนมีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของความสัมพันธ์กับผู้อื่น
เพราะตามหลักจิตวิทยาของแอดเลอร์นั้น ‘ความสุขทั้งหมดในชีวิตคนเรา ล้วนเกิดจากการที่มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น’
ในขณะเดียวกันนั้น ‘ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรานั้น ก็ล้วนเกิดมาจากความสัมพันธ์กับผู้อื่นเช่นเดียวกัน’
6) ภารกิจด้านการงาน กับด้านความสัมพันธ์แตกต่างกันที่ ‘ความเชื่อถือ’ และ ‘ความเชื่อใจ’
‘ความเชื่อถือ’ คือการเชื่อในสิ่งที่คนคนนั้นมี คนคนนั้นทำ แต่ ‘ความเชื่อใจ’ คือการเชื่อในสิ่งที่คนคนนั้นเป็น
ซึ่งความเชื่อใจนี้ก็ย้อนกลับไปที่การเริ่มต้นด้วย ‘ความเคารพ’ อีกทีนึง
และสิ่งสำคัญคือเราต้องเป็นฝ่ายเริ่มเชื่อใจอีกฝ่ายก่อน หรือพูดง่ายๆคือ ‘ให้ใจ’ อีกฝ่ายไปก่อน ก่อนที่อีกฝ่ายจะเชื่อใจเรากลับมา
7) ทำภารกิจให้ลุล่วงทั้ง 3 ด้านคือ ด้านการงาน ด้านสังคม และด้านความรัก
ด้านการงานจะทำให้เราเกิด ‘ความสุขกับตัวเอง’ เช่นเมื่อเราทำงานได้สำเร็จลุล่วง
ในขณะที่การทำภารกิจทางสังคม จะทำให้เราเกิด ‘ความสุขของคนอื่น’ หรือ ‘ความสุขต่อส่วนรวม’ ตัวอย่างเช่น เวลาเราเชื่อใจและให้ใจผู้อื่นไปอย่างเต็มร้อย
แต่สุดท้ายแล้วความสุขที่สำคัญที่สุดของมุนษย์คือ ‘ความสุขของเราสองคน’ หรือความสุขที่เกิดจากความรัก เป็นความสุขที่เกิดขึ้นเมื่อเราเปลี่ยนประธานในชีวิต จาก ‘ฉัน’, ‘ผม’ เป็น ‘พวกเรา’ หรือก็คือ ตัวเรากับคู่ชีวิตนั่นเอง
8) การเปลี่ยนประธานของชีวิตในที่นี้จะทำให้เราหลุดพ้นจาก ‘การทำตัวเป็นศูนย์กลางของจักรวาล’
เพราะเมื่อเรายังเด็กนั้น เราเป็นฝ่ายรับทุกอย่างที่พ่อแม่ประเคนให้ เราจึงยึดแต่ความสุขของตัวเอง
เราเลือกไลฟ์สไตล์แบบเด็กๆ เพราะว่าต้องการเป็นที่รักของคนอื่น
การมีความรักคือการที่เรารักคนอื่นก่อน ให้คนอื่น และไม่มองแค่ตัวเอง จึงเป็นวิธีเปลี่ยนไลฟ์สไตล์แบบเด็กๆ เป็นไลฟ์สไตล์ชีวิตที่พึ่งพาตัวเองได้ และเป็นไลฟ์สไตล์ในแบบที่ ‘กล้าที่จะมีความสุข’ ครับ
- ผู้เขียน : คิชิมิ อิชิโร, โคะกะ ฟุมิทะเกะ
- ผู้แปล: อภิญญา เตชะบุญไพศาล
- จำนวนหน้า: 304 หน้า
- สำนักพิมพ์ : Welearn
- แนวหนังสือ : จิตวิทยา, พัฒนาตัวเอง
แนะนำสั่งซื้อหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด 2 ได้ที่ร้าน Attorney285
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่