ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม

ใกล้มิตรชิดหมอ

ใกล้มิตรชิดหมอ เพจให้ความรู้คู่สุขภาพกายและจิต เสมือนมีหมอเป็นมิตรอยู่ข้างบ้าน

          ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ 
ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

          ปกติในช่องคลอดจะมีเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นอยู่แล้วนะคะ ซึ่งที่รู้จักดีก็จะเป็นกลุ่ม Lactobacilli (แต่คนละตัวกับในนมเปรี้ยวนะคะ) และแบคทีเรียอื่น ๆ อีกหลายชนิด ทั้งแบคทีเรียตัวที่สร้างประโยชน์และตัวก่อโรค โดยในภาวะที่แบคทีเรียเหล่านี้อยู่ในภาวะสมดุล ทั้งชนิดและสัดส่วนแบคทีเรียเหล่านี้จะอยู่ด้วยกันดี ๆ ไม่ได้สร้างปัญหาใดใด
          ภาวะ Bacterial vaginosis (BV) หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ความจริงแล้วก็ไม่เชิงว่าต้องมีเชื้อแบคทีเรียตัวใหม่เข้ามาในช่องคลอดซะทีเดียวนะคะ ถ้าจะอธิบายให้ตรงกับพยาธิสภาพที่เกิด น่าจะประมาณว่าปัจจัยอะไรบางอย่างที่ทำให้ช่องคลอดเสียสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอดไป
          เมื่อเกิด BV จะมีจำนวนของ Lactobacilli ที่ลดลง และพบแบคทีเรียกลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic bacterial species) เช่น Gardnerella, Prevotella, Mobiluncus และ Bacteroides species ที่เพิ่มขึ้น
          พบว่าประมาณร้อยละ 30 ของสาว ๆ วัยเจริญพันธุ์เกิด BV ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาการ เป็นหลักค่ะ
          โดยปกติช่องคลอดของเรา จะมีต่อมสร้างสารคัดหลั่งหรือตกขาวเพื่อให้ช่องคลอดชุ่มชื้น ซึ่งลักษณะตกขาวที่ปกติจะเป็นเนื้อใส ๆ อาจจะมีเมือกเหนียวปนบ้างในบางช่วงของรอบเดือน ไม่มีกลิ่น และไม่คัน จะมีมากหรือน้อย ก็ขึ้นกับว่าเป็นช่วงไหนของรอบเดือนเช่นกันค่ะ
          แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสมดุลในช่องคลอดจนเกิดภาวะ BV ลักษณะตกขาวจะมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยอาจจะมีลักษณะเหมือนเนื้อสลัดครีม มีกลิ่นเหมือนปลาเน่า (โดยเฉพาะเวลาที่เจอกับสารละลายที่เป็นเบส เช่น จากน้ำอสุจิเวลามีเพศสัมพันธ์แล้วหลั่งใน หรือเลือด) และมีอาการคันร่วมด้วย
          ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะ BV ได้แก่ การสวนล้างช่องคลอด ซึ่งทำให้เกิดการทำลายแบคทีเรียประจำถิ่นสูญเสียสมดุลของช่องคลอด การมีเพศสัมพันธ์กับหลายคน การสูบบุหรี่ และภาวะที่ทำให้ภูมิคุ้มกันเปลี่ยนแปลงไป เช่น การเจ็บป่วย การได้รับยากดภูมิ หรือการใช้ยาฆ่าเชื้อ (หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ยาแก้อักเสบ) แบบไม่มีข้อบ่งชี้และไม่สมเหตุสมผล เป็นต้นค่ะ
          การวินิจฉัย จะวินิจฉัยตามเกณฑ์ของ Amsel criteria โดยจะต้องมี 3 ใน 4 ข้อ ดังต่อไปนี้นะคะ
  1. ค่ากรด-ด่างในช่องคลอด มากกว่า 4.5
  2. มีตกขาวลักษณะเป็น a thin, milky, noninflammatory vaginal discharge
  3. เจอลักษณะของเซลล์ที่เรียกว่า clue cells มากกว่าร้อยละ 20 เมื่อดูผ่านกล้องจุลทรรศน์
  4. ตรวจ Whiff test แล้วได้ผลเป็นบวก คือ มีกลิ่นเหมือนปลาเน่าเมื่อทำการทดสอบด้วยการหยด 10% potassium hydroxide ลงไป
          ถ้าหากว่าคุณแม่ท้องมีภาวะ BV อาจจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด (preterm birth) ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์คลอดก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด (PPROM) และภาวะติดเชื้อในมดลูกหลังคลอด (postpartum endometritis) ได้ โดยความเสี่ยงเหล่านี้จะมีมากขึ้นหากคุณแม่ติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย
          อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดต่ำ การรักษา BV ไม่ได้ช่วยลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด ทำให้ American College of Obstetricians and Gynecologists (2021) and USPSTF (2020) ไม่ได้แนะนำให้ตรวจคัดกรองภาวะ BV ในคุณแม่ที่ไม่มีอาการและความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดต่ำทุกราย ในขณะที่คุณแม่ที่เสี่ยงสูงในการคลอดก่อนกำหนดเอง เช่น เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อนก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าการคัดกรองทุกรายจะได้ประโยชน์หรือไม่
          ดังนั้นในปัจจุบันจึงยังแนะนำให้รักษาเฉพาะคุณแม่ที่มีอาการชัดเจน
          สำหรับยาที่ใช้รักษาในคนท้อง ยาหลักจะเป็น ยากินฆ่าเชื้อ Metronidazole ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน หรือ Metronidazole 0.75% gel ทาในช่องคลอดวันละ 1 ครั้งเป็นเวลา 5 วัน
          และในปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้รักษาคู่นอนที่ไม่มีอาการเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำนะคะ
          โดยสรุป สำหรับภาวะ BV ในคนท้อง ปัจจุบัน ไม่แนะนำเรื่องของการคัดกรองในทุกราย และให้การรักษาเฉพาะในรายที่มีอาการเท่านั้น โดยยารักษาหลัก คือ Metronidazole นั่นเองค่ะ
          หมอเมษ์
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ใกล้มิตรชิดหมอ
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม อัปเดตล่าสุด 18 กรกฎาคม 2566 เวลา 16:07:35 24,489 อ่าน
TOP