11 บทเรียนชีวิตของคนอยากลาออกและคนว่างงาน อ่านก่อนค่อยตัดสินใจ

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          11 บทเรียนชีวิตของคนอยากลาออก และคนว่างงาน จากหนังสือ การลาออกครั้งสุดท้าย

การลาออกครั้งสุดท้าย

1) โตแล้วไม่มีปิดเทอม

          เมื่อเราเริ่มเข้าสู่การใช้ชีวิตจริงๆ เราจะโดนบังคับให้ลงทะเบียนเรียนวิชามากมาย เช่น
  • วิชาทำมาหากิน 
  • วิชาสุขภาพดี
  • วิชาทำให้พ่อแม่มีความสุข
  • วิชาทำให้ครอบครัวรักกัน
  • วิชาเพื่อนที่ดี
  • วิชาความเข้าใจโลก
  • วิชาผจญภัย
  • วิชาสงบสุข
  • วิชาทำเพื่อส่วนรวม
          แน่นอนว่าเราไม่จำเป็นต้องทำวิชาพวกนี้ให้ได้เกียรตินิยม แต่คงไม่มีใครอยากติด F ในวิชาใดๆเลยก็ตาม
          เราจึงตระหนักรู้เรื่องพวกนี้ และจัดสรรเวลาในการเรียนรู้วิชาต่างๆเหล่านี้อย่างเหมาะสม เราถึงจะสอบผ่าน

2) ลองคิดเสมอว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันจะนำไปใช้ต่อในอนาคตได้หรือไม่

          นึกถึงเรื่องราวของเด็กโบกธง จริงอยู่ว่าในโรงเรียน ตำแหน่งเด็กโบกธงอาจมีหน้าที่ให้รับผิดชอบ และเป็นหนึ่งในงานที่น่าสนใจเมื่อมีการจัดกีฬาสี หรือกีฬาโรงเรียน แต่พอจบมาแล้ว คนที่ทำหน้าที่โบกธงจะเอาทักษะที่มีไปทำอะไรต่อ?
          ทักษะ และความสามารถที่เรามีในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าในอนาคตเราจะใช้อะไรจากพวกมันได้บ้าง
          บางครั้งเราต้องหมั่นเรียนรู้ทักษะใหม่ๆอยู่เสมอๆ ให้ก้าวทันโลก
          และแน่นอนว่าบางครั้งเราต้องหมั่นเลือกทักษะที่ใช่ และไม่เลือกทักษะที่ดูไม่น่าจะก่อประโยชน์ในระยะยาว
ทักษะ 3 แบบที่ผู้เขียนแนะนำว่าเราควรฝึก
  1. สร้างทักษะที่เราทำได้เป็นคนแรก
  2. ฝึกทักษะที่มีอยู่ แต่เราทำได้เก่งที่สุด
  3. สร้างทักษะที่แตกต่าง
          จงนึกถึงเด็กโบกธงเข้าไว้

3) จงประหยัด แต่อย่าเกินไปจนชีวิตต่ำกว่ามาตรฐาน

          แน่นอนว่าความประหยัดเป็นบันไดขั้นที่ 2 ไปสู่อิสรภาพ แต่มันต้องถูกนำมาใช้ด้วยหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง
          ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องไม่ประหยัดจนเกินพอดี ส่วนตัวผู้เขียนเล่าถึงขั้นว่า เขาประหยัดในทุกๆเรื่อง แม้แต่การไปกินหมูกระทะกับเพื่อน การไปงานแต่งงานเพื่อน การใส่ซองผ้าป่า
          เรื่องเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดผลเสียในเวลาต่อมา และทำให้เรากลายเป็นคนนิสัยไม่ดี
          ‘ความประหยัดที่ดี คือ การสร้างความพึงพอใจในชีวิตโดยมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด’
          นั่นหมายถึง การกินแต่พอดี อยู่แต่พอดี ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า มีความสุขเต็ม 100 กับไลฟ์สไตล์ที่เลือก ไม่ใช้ชีวิตติดลบจนเกินไป ไปจนถึงการตามหาคนในตำนานตั้งแต่ช่างซ่อมรถ ช่างซ่อมบ้าน จนหมอคู่ใจที่ไว้ใจได้ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
          และที่สำคัญที่สุดคือ การหาเพื่อนคู่ใจที่มีเป้าหมายอยากประหยัดเหมือนกัน

4) บันได 10 ขั้นสู่การมีอิสรภาพ

  • Step 1 : มีหลักคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสร้างคุณค่าในตัวเอง
  • Step 2 : มีหลักคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับความประหยัด
  • Step 3 : เข้าใจกฎแห่งการเข้า-ออกของเงิน เงินเข้ามีหลายช่องทางเช่น รายได้ประจำ ทรัพย์สิน ลิขสิทธิ์ เงินออก ต้องถามตัวเองดีๆว่า เงินออกไปกับสิ่งที่จำเป็นจริงๆรึเปล่า และเงินที่ออกไปจะทำให้เรามีเงินมากขึ้นในอนาคต หรือทำให้เราจนลง
  • Step 4 : หาทรัพย์สินที่เราชอบ และให้ทรัพย์สินทำรายได้แทนเรา
  • Step 5 : รู้จังหวะเวลาในการลงทุน สำหรับการออมเงิน ยิ่งเริ่มออมเร็วยิ่งดี แต่ถ้าการลงทุน ต้องเข้าใจวัฏจักรของเศรษฐกิจ ต้องรู้ว่าเศรษฐกิจมีช่วงขึ้นและลง หาจังหวะเข้าไปลงทุนให้ถูก
  • Step 6 : เลือกเกมที่รู้ว่าเล่นยังไงถึงจะชนะ เราต้องเล่นในเกมที่เป็นของเรา ต้องเข้าใจกฎกติกา โดยเฉพาะในเกมการเงิน
  • Step 7 : สำรวจการใช้เวลาให้เหมือนกับการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
  • Step 8 : ชีวิตที่ดีนั้นตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ เลิกเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะชีวิตของเรามีเป้าหมายของตัวเราเอง ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับใคร แข่งกับตัวเองให้ถึงตามเป้าที่ตั้งไว้ก็พอแล้ว
  • Step 9 : รู้จักชื่นชมกับสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต
  • Step 10 : ประคับประคองชีวิตในทุกๆด้านไปพร้อมๆกัน รวมถึงด้านการเงิน การใช้เวลา ด้านทัศนคติ ด้านการสร้างความรู้ ด้านสุขภาพ ด้านครอบครัวและคนใกล้ชิด

5) อย่าคิดว่าเรากำลังเล่นหุ้น ให้คิดว่ากำลังซื้อธุรกิจ

          เราต้องทำการบ้านดีๆในการเลือกหุ้น อย่าผิดพลาดเหมือนคนส่วนใหญ่ที่แห่เข้าไปซื้อหุ้นกันโดยไม่ศึกษาให้ดีเสียก่อน 
          เรายังต้องเข้าใจด้วยว่าบางจังหวะเวลามีคนที่โลภเกินเหตุ เราต้องระวัง และเราต้องรู้ว่าในบางจังหวะที่คนกำลังกลัวเกินเหตุ เราต้องโลภบ้าง 

6) ว่างงานมันดียังไง?

          มีหลายข้อที่น่าสนใจตั้งแต่ 
  • การไม่ต้องเสียภาษี เพราะรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ 
  • ไม่ต้องโดนเพื่อนร่วมงานนินทา
  • ไม่ต้องโดนหัวหน้าตำหนิ เพราะไล่หัวหน้าออกไปจากชีวิตแล้ว
  • ไม่ต้องรีบตื่นแต่เช้า
  • ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบแก่งแย่งกับคนอื่น แย่งกันใช้รถสาธารณะ แย่งกันหาร้านอาหาร ไม่มีชั่วโมงเร่งด่วนอีกต่อไป
  • ไม่ต้องใส่เครื่องแบบ ไม่ต้องสวมเสื้อผ้ายังได้
  • มีเวลาเหลือเฟือ ไปเดินห้างตอนบ่าย ไปดูหนังตอนกลางวัน ขับรถไปเที่ยวทะเลวันธรรมดาได้

7) ข้อเสียของการว่างงาน

          แน่นอนว่าไม่ใช่มีแต่ข้อดีเท่านั้น เหรียญมี 2 ด้านเสมอ
  • เมื่อไม่มีงานทำ วันหยุดยาวก็จะดูไม่น่าตื่นเต้นอีกต่อไป ไม่มีวันหยุดให้โหยหา
  • ทุกวันกลายเป็นวันปกติ ชีวิตดำเนินไปเรื่อยๆ จนเกิดแต่ความเบื่อ
  • พอมีเวลามากมายเหลือเฟือ สิ่งต่างๆที่ตั้งใจจะทำ ก็ดูไม่ต้องเร่งรีบ ไม่น่าดึงดูดให้ทำอีกต่อไป กองหนังสือที่อยากอ่าน เมื่อรู้ว่าอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะว่างอยู่แล้ว ก็ไม่รู้จะรีบอ่านไปทำไม ทักษะที่อยากพัฒนา ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม เมื่อเป้าหมายไม่ชัดเจน
  • ไม่รู้จะคุยกับใคร เพราะทุกคนยุ่งกับการทำงานกันหมด  
  • คนรอบๆตัวไม่เข้าใจ เดินไปเจอคนในหมู่บ้านก็อาจโดนถามได้ว่า วันนี้ไม่ไปทำงานเหรอ? ทำไมตกงานล่ะ? 
  • พอเบื่อๆมากๆเข้าก็กลายเป็นคนขี้หงุดหงิด จนอาจถึงขั้นซึมเศร้าได้ 
  • อาจทำให้มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เหมือนที่คนแก่หลังเกษียณอายุชอบเป็นกัน 

8) ช่วงเวลาในชีวิตที่เปรียบเหมือน 4 ควอเตอร์ของเกมอเมริกันฟุตบอล

          ควอเตอร์แรก คือตั้งแต่เกิด จนอายุก่อน 30 ใช้เป็นช่วงฟูมฟักชีวิตของตัวเอง เลือกเส้นทางที่จะเติบโตต่อไปในการทำงาน
          ควอเตอร์ที่ 2 คือวัย 30 ถึง 45 ปี เป็นช่วงที่ต่อยอดสิ่งที่ลงหลักปักฐานในช่วงแรก เพื่อสร้างความมั่นคง ในอนาคต
          ควอเตอร์ที่ 3 คือวัย 45 ถึง 60 ปี เป็นช่วงที่เติบโตเต็มที่จากสิ่งที่สั่งสมมา เปรียบดั่งพระจันทร์เต็มดวง
          ควอเตอร์ที่ 4 คือวัยหลังเกษียณอายุ เป็นช่วงที่ค่อยๆเว้าลงอย่างนุ่มนวลจนจบที่ข้างแรม คือเดือนมืดอันงดงาม 
          หลายๆคนนำหน้ามาตั้งแต่ควอเตอร์แรก แต่มาพลาดพลั้งในควอเตอร์สุดท้าย กลับกันบางคนออกตัวช้าแต่ใช้ความมุ่งมั่นพลิกกลับมาชนะที่ควอเตอร์สุดท้ายได้ 

9) จงพักให้เป็นจังหวะหนึ่งในการทำงาน

          เวลาเล่นดนตรี เมื่อสังเกตดูที่ตัวโน้ตดีๆ เราอาจค้นพบได้ว่า มีตัวหยุดพักจังหวะซ่อนอยู่ แต่ปกติเราไม่ค่อยรู้จักเจ้าตัวหยุดพักดังกล่าว เพราะมันกลืนไปกับจังหวะการเล่นของเรา
          ชีวิตการทำงานก็ไม่ต่างอะไรกัน เราต้องรู้จักหยุดพักให้เป็น รวมการหยุดพักเข้าไปกับการบรรเลงชีวิต เพื่อทำให้ดนตรีชีวิตของเราไพเราะและสร้างสรรค์

10) ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนคนอื่น แต่เอาตัวเองให้รอดให้ได้

          คุณใบพัดเล่าว่าพ่อของเขาว่ายน้ำไม่เป็นท่า ไม่ใช่ฟรีสไตล์ ไม่ใช่กบ กรรเชียงกับผีเสื้อก็ไม่ใกล้เคียง แต่พ่อก็ว่ายอย่างนี้มาทั้งชีวิต และไม่เคยหยุดว่าย
          บางทีการจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เราเองก็ต้องไม่หยุดว่าย แม้ท่วงทำนองของเราอาจไม่เหมือนคนอื่น แต่ความอึดและความทรหดนั้นอาจสำคัญกว่า

11) อิสรภาพที่แท้จริงก็คือตอนที่เราถูกขังอยู่ในกรงที่เรารัก

          พ่อของผู้เขียนแม้จะทำงานเป็นลูกจ้างมาทั้งชีวิต มีเงินพอใช้เลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่ก็ไม่เคยหยุดทำงาน
          เขาคิดเสมอว่า เขาคือเถ้าแก่เจ้าของธุรกิจผู้รับผิดชอบในส่วนงานที่ได้รับมอบหมาย เขาทุ่มเทให้กับการทำงานเสมอ
          แม่ของผู้เขียน เป็นแม่บ้านที่คอยดูแลงานบ้านทุกอย่าง แม่คือผู้เสียสละที่ทำให้คนอื่นๆในครอบครัวได้เดินทางไปสู่ฝันของตัวเอง
          ตัวคุณใบพัดผู้เขียน ได้ค้นพบว่า การว่างงานไม่ใช่อิสระในแบบที่ตัวเองคิดเมื่อครั้งเป็นมนุษย์เงินเดือน มันมีความอึดอัดคับใจในแบบของมัน แต่มันก็ทำให้เขาค้นพบว่า เขาชอบงานเขียน และนั่นคือกรงที่เขายินดีจะอยู่กับมันต่อไป
  • ผู้เขียน : ภาณุมาศ ทองธนากุล (ใบพัด)
  • จำนวนหน้า : 304 หน้า
  • สำนักพิมพ์ : a book, สนพ.
  • เดือนปีที่พิมพ์ : 2010
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
11 บทเรียนชีวิตของคนอยากลาออกและคนว่างงาน อ่านก่อนค่อยตัดสินใจ อัปเดตล่าสุด 27 กรกฎาคม 2566 เวลา 14:19:22 28,139 อ่าน
TOP