7 หลักคิดสำหรับคนอายุน้อย ที่อยู่ในโลกที่มีแต่คนประสบความสำเร็จเร็ว

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          7 หลักคิดสำหรับคนอายุน้อย ที่อยู่ในโลกที่มีแต่คนสำเร็จเร็ว จากหนังสือ Late Bloomers
หนังสือ Late Bloomers สำเร็จได้ไม่เห็นต้องรีบ

1) เทรนด์ของอายุคนกำลังมากขึ้น แต่เทรนด์บูชาคนสำเร็จเร็วก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

          เป็นที่สังเกตเห็นชัดเจนว่า นับวันแนวโน้มที่คนจะชื่นชมเด็กอัจฉริยะ หรือคนที่เฉิดฉายได้ตั้งแต่อายุยังน้อยมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ดารานักแสดง นักร้อง ที่อายุไม่ถึง 20 ปีก็สามารถกลายเป็นดาวเด่นประจำวงการบันเทิงได้แล้ว หรือแม้กระทั่งคนที่ทำเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ก็มักจะมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ
          ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสื่อเองก็ให้ความสนใจกับคนเหล่านี้ โดยเฉพาะกับเรื่องที่พวกเขาประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ผู้เขียนก็บอกว่าจริง ๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะสื่อ แม้แต่บริษัทยุคใหม่ ๆ โดยเฉพาะบรรดาสตาร์ทอับก็มักจะรับคนอายุน้อยเข้าไปทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะเห็นได้จากอายุเฉลี่ยของพนักงานบริษัทที่น้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน 
          หรือแม้แต่ในโซเชียลมีเดีย ถ้ามีคนที่มีความสามารถอะไรสักอย่างหนึ่งตั้งแต่อายุยังน้อยปรากฏตัวขึ้นมา คอนเทนต์ต่าง ๆ ก็จะพรั่งพรูเข้าหาคนเหล่านั้นทันที และคนส่วนใหญ่มักจะชื่นชม มักจะพูดถึงแต่ในทางบวก
          ส่วนตัวผมคิดว่าเทรนด์นี้กำลังมาทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในอเมริกา ในไทยเองก็เช่นกัน ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จอาจได้รับความสนใจน้อยกว่าผู้ประสบความสำเร็จอายุน้อย ๆ

2) ค่านิยมคนสำเร็จเร็ว นำมาซึ่งวิกฤตทางสุขภาพจิต

          ผลเสียที่เกิดขึ้นจากการที่สังคมมีค่านิยมเทิดทูนคนสำเร็จเร็วคือ เรื่องของสุขภาพจิตของคนหมู่มาก คนเหล่านี้คิดว่าจำเป็นต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อที่จะได้เป็นหนึ่งในบรรดาคนสำเร็จเร็ว
          พ่อแม่ผู้ปกครองมากมายส่งเสริมให้ลูกเรียนพิเศษตั้งแต่เด็ก เพื่อพัฒนาทักษะต่าง ๆ และค้นพบความสามารถที่ซ่อนอยู่ จนเด็กหลายคนไม่ได้มีชีวิตวัยเด็กในแบบที่ต้องการ ต้องหมดเวลาไปกับการพัฒนาความสามารถตัวเองที่ทั้งทรหดและน่าเบื่อ
          จึงไม่แปลกเลยที่สมัยนี้ เด็กหลายคนจะพบเจอกับภาวะซึมเศร้า หดหู่ เบื่อโลก และมีปัญหาสุขภาพจิต ในภาพสังคมโดยรวมนั้นจึงกล่าวได้ว่า ความกดดันจากความนิยมชมชอบคนสำเร็จเร็วและการแข่งขันสู่ความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย นำมาซึ่งผลกระทบเชิงลบอันได้แก่ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่น 

3) ข้อสอบไม่ใช่ตัวชี้วัดที่แม่นยำ

          ต้องบอกว่าหนังสือ Late Bloomers เล่าเรื่องวิวัฒนาการของข้อสอบมานานมาก ตั้งแต่เริ่มมีการคิดวัดความสามารถทางไอคิว และมาตราวัดความเก่งในช่วงสงครามโลก เพื่อหาบุคลากรที่มีความสามารถมาป้องกันประเทศ จนถูกใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
          แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้เขียนเชื่อว่าข้อสอบเหล่านี้ได้ถูกแปลงสภาพให้กลายเป็นเครื่องเร่งการแข่งขัน ไม่ใช่เครื่องวัดความสามารถ หรือพัฒนาการการเรียนรู้ในระยะยาวอีกต่อไป
          เพราะเด็กในโรงเรียนทุกคนต่างตั้งใจเรียน และลุ่มหลงในการทำข้อสอบให้ได้คะแนนสูง ๆ จนกระทั่งกลายเป็นเป้าหมายในการเรียนรู้ ข้อสอบจึงไม่สามารถใช้วัดสิ่งที่มันถูกออกแบบตอนแรกได้อีกต่อไป
          คนเขียนจึงสรุปว่า เพราะค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนไป ข้อสอบจึงไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้วัดการพัฒนาการและการสั่งสมทางความรู้ความสามารถอย่างได้มาตรฐาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในโลกนี้ก็ยังไม่มีแบบประเมินที่ใช้วัดพัฒนาการของมนุษย์ ที่มีความสลับซับซ้อนได้อย่างแม่นยำแม้แต่อันเดียว 

4) สิ่งที่ต้องทำในชีวิตที่ไม่สอดคล้องกับนาฬิกาของมนุษย์

          หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างมีความเป็นวิทยาศาสตร์มาก จึงมีการอ้างอิงงานวิจัยเชิงจิตวิทยา และการพัฒนาการทางสมอง
          เรื่องที่ผมชอบมากคือ เรื่องทักษะการบริหารจัดการตัวเองขั้นสูง ซึ่งรวมตั้งแต่ การควบคุมความรู้สึกและปฏิกิริยาโต้ตอบ การวางแผนซับซ้อนและการคาดเดาปัญหา เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เปลือกสมองส่วนหน้าสั่งการ และสมองส่วนดังกล่าวอาจไม่ได้พัฒนาสูงสุดในช่วงอายุ 18-25 ปี ซึ่งเป็นวัยที่คนเราต้องถูกคัดประเมินหลายครั้งหลายหน เช่น ทำข้อสอบ ทำเกรดเฉลี่ย และสมัครงาน 
          สมองส่วนดังกล่าวอาจพัฒนาสูงสุดในช่วงวัยหลังจากนั้น และทักษะการบริหารจัดการตัวเองขั้นสูงมักจะถูกพัฒนาในช่วงอายุ 20 ปลาย ๆ ถึง 30 ต้น ๆ เสียมากกว่า
          ผู้เขียนเล่าให้ฟังถึงชีวิตตัวเองว่า ตัวเขาเองก็เคยเหลวไหลมาก่อน ทั้งที่เรียนจบการศึกษามาอย่างดี แต่กลับไปทำงานที่ได้ค่าแรงต่ำ และเขายังขี้เกียจในการออกไปทำงานอย่างมาก กว่าจะคิดได้ กว่าจะลุกขึ้นมารับผิดชอบตัวเอง ก็ปาไปช่วง 20 ปลาย ๆ ซึ่งตรงกับช่วงที่เขาทำวิจัยมาว่า ทักษะการบริหารจัดการตัวเองจะพัฒนาสูงสุด
          นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้แสดงให้เห็นถึงผลวิจัยที่บอกว่า คนเราจะสามารถพัฒนาทักษะหรือการรู้คิดได้ดีที่สุดในวัยที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
  • เราจะพัฒนาทักษะด้านความเร็วการประมวลผลสูงสุดเมื่ออยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย
  • เราจะมีการพัฒนาการด้านการเรียนรู้และจดจำชื่อใหม่ได้ดีสุดเมื่อต้นวัย 20 ปี 
  • เราจะมีความจำระยะสั้นดีที่สุดเมื่อเราอายุ 25-35 ปี  
  • เราจะมีความสามารถในการจดจำใบหน้าได้ดีที่สุดเมื่อต้นวัย 30 ปี
  • เราจะมีทักษะและความเข้าใจทางสังคมสูงสุดคือเมื่ออายุ 45-55 ปี 
  • เราจะมีการพัฒนาการด้านความรู้ทางภาษาได้ดีที่สุดเมื่ออายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป

5) ความฉลาด 2 แบบ เชาวน์ปัญญาเหลว และเชาวน์ปัญญาแบบตกผลึก

จากงานวิจัยทางด้านสมอง คนเราจะมีความฉลาดแตกต่างกันอยู่ 2 แบบคือ
  1. เชาวน์ปัญญาเหลว (Fluid Intelligence) เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่เจอได้โดยไม่ต้องใช้ความรู้เก่า การใช้ตรรกะและเหตุผล
  2. เชาวน์ปัญญาแบบตกผลึก (Crystalised Intelligence) เป็นการนำความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่สั่งสมอยู่ในตัว ออกมาใช้แก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่เจอ 
          แน่นอนว่าในช่วงเยาว์วัยนั้น คนเรามีเชาวน์ปัญญาแบบเหลวมากกว่า ในขณะที่เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้น เราก็จะมีเชาวน์ปัญญาแบบตกผลึกสูงขึ้นเรื่อย ๆ 
          กล่าวอีกนัยก็คือ แม้ว่าเราอาจสูญเสียความฉลาดแบบหนึ่งไป เมื่ออายุมากขึ้น แต่เราก็มักจะถูกแทนที่ด้วยความฉลาดอีกแบบหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาแทน 
          เรื่องนี้ยังมีผลต่อการรับพนักงานเข้าทำงานในบริษัทอีกด้วย เพราะว่าถ้าบริษัทมัวแต่เอาเด็กใหม่ไฟแรงเข้ามาทำงาน บริษัทก็อาจขาดแคลนคนที่มีเชาวน์ปัญญาแบบตกผลึกมาช่วยแก้ปัญหาได้ 

6) จุดเด่น 6 ข้อของคนสำเร็จช้า

          สำหรับคนที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จในช่วงอายุไม่มากนั้น ก็อาจจำเป็นที่จะต้องพัฒนาจุดแข็งของคนสำเร็จช้าขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการสำเร็จในภายหลังของตน โดยผู้เขียนได้อธิบายไว้ 6 ข้อได้แก่
  1. ความสงสัยใคร่รู้ ที่ต้องมีให้เหมือนเด็ก
  2. ความกรุณา รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น
  3. ความอึด ความไม่ยอมแพ้ เมื่อพบเจอกับอุปสรรค คนสำเร็จเร็วมักจะขาดข้อนี้ไปเพราะว่าทะนงตัว
  4. ความสุขุมเยือกเย็น หรือความนิ่งของอารมณ์เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก 
  5. ความเข้าใจลึกซึ้ง ที่เกิดจากการดึงข้อมูลที่เก็บสะสมไว้มาประมวลผล
  6. ความฉลาดรอบรู้ ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากการสั่งสมของประสบการณ์และองค์ความรู้ต่าง ๆ

7) มุ่งมั่น สร้างบรรทัดฐาน และอย่าลืมย้ายกระถาง

          สุดท้ายคือเทคนิคช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จสำหรับเหล่าบรรดา Late Bloomers ทั้งหลายนะครับ
          เริ่มจากเราต้องช่วยกันสร้างค่านิยมและบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่มีความสุขและไม่เร่งรีบ ค่อย ๆ เติบโต ค่อย ๆ เรียนรู้ชีวิต โดยเริ่มจากการสร้างค่านิยมที่ดีกับตัวเองก่อน เพราะสุดท้ายแล้วความคาดหวังและบรรทัดฐานทางสังคมจะกลายเป็นตัวกำหนดว่าเราจะสำเร็จได้หรือไม่
          นอกจากนี้ เราควรเลือกใช้ความอดทนและมุ่งมั่นไปกับสิ่งที่เป็นความหลงใหลและความมุ่งมั่นในชีวิตของเราจริง ๆ เพราะพลังงานของเรามีจำกัด เราไม่สามารถใช้ความอดทนอันจำกัดนี้ไปกับทุกอย่างได้ มิฉะนั้นเราอาจหมดไฟและล้มเลิกกลางคันเสียก่อน 
          สุดท้ายเรายังควรย้ายกระถางไปยังที่ใหม่ หรือพูดสั้น ๆ ก็คือ ย้ายที่ทำงานใหม่ ย้ายอาชีพใหม่ ถ้าเกิดเราค้นพบว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ใช่ตัวเรา การย้ายกระถางนี้เองจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราพบเจอกับโอกาสและสถานที่ที่เหมาะสมกับเราในการประสบความสำเร็จได้มากขึ้น 
          ความรู้สึกหลังอ่านจบคือเต็มอิ่มมากครับ ข้อมูลแน่นมาก และยังเป็นหนังสือให้กำลังใจชั้นดีด้วย เพราะผมเองก็เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงถูกสังคมกดดันให้รีบประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับที่ผมรู้สึก
          หนังสือเล่มนี้จึงน่าจะเหมาะกับคนที่กังวลและอาจยังเชื่อในค่านิยมของการสำเร็จเร็ว สำเร็จตั้งแต่อายุน้อยอยู่ และน่าจะช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและใช้ชีวิตที่มีความสุขอย่างเหมาะสมกับวัยของตัวเองอีกด้วยครับ
          ขอขอบคุณหนังสือดีๆ จากสำนักพิมพ์ Nation Books นะครับ
  • ผู้เขียน : ริช คาร์ลการ์ด
  • ผู้แปล : อลิสา เฉลยจิตร์
  • สำนักพิมพ์ : เนชั่นบุ๊คส์, สนพ.
  • ชื่อต้นฉบับ : Late Bloomers: The Power of Patience in a World Obsessed with Early Achievement
  • แนวหนังสือ : พัฒนาตัวเอง
          สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่ https://bit.ly/3EAVe47
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 หลักคิดสำหรับคนอายุน้อย ที่อยู่ในโลกที่มีแต่คนประสบความสำเร็จเร็ว อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2566 เวลา 17:13:51 20,777 อ่าน
TOP