รีวิวหนังสือเลิกนิสัยทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง รวมวิธีดี ๆ ที่ช่วยให้ทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้สำเร็จ

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          6 ตัวช่วยในการลาออกจากคนทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง จากหนังสือ เลิกนิสัยทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง
เลิกนิสัยทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง

1) ไม่ทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว

          ลองนึกถึงเหตุการณ์ที่เราอยากชวนเพื่อนมานั่งกินอาหารด้วยกันที่บ้าน แต่พอนึกถึงตอนที่ต้องเตรียมของ ออกไปซื้อวัตถุดิบ ทำอาหาร และกลับมาจัดโต๊ะ เราก็คงจะเหนื่อย และไม่อยากทำ
          วิธีแก้ไขเรื่องนี้ทำได้โดยการ ชวนเพื่อนมาทำกิจกรรมเหล่านั้นด้วยกัน ตั้งแต่ ออกไปซื้อวัตถุดิบ ทำอาหาร จัดโต๊ะ และกินอาหารเย็นด้วยกัน ซึ่งเพื่อนเองก็อาจสนุกไปด้วยเพราะได้มีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น
          ดังนั้นแล้วในสถานการณ์ที่เรารู้ว่ามีโอกาสเกิดความขี้เกียจได้มาก หรือมีความไม่อยากทำสูง พยายามหลีกเลี่ยงการทำสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวคนเดียว และลองใช้ตัวช่วยเรื่องเพื่อนมาช่วยกันทำสิ่งนั้นให้สำเร็จแทน

2) ให้คำสัญญา

          ต่อเนื่องจากการชวนคนอื่นมาทำกิจกรรมร่วมกัน คือการให้พันธสัญญากับสิ่งที่จะทำไปเลย เช่น ถ้าเรานัดหมอไว้แล้ว ถึงจะขี้เกียจแค่ไหน แต่เราก็คงจะไม่เบี้ยวนัด เพราะเรารู้ว่าอีกคนรอเจอเราอยู่
          เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะเรื่องสำคัญ แต่เราอาจบอกกับตัวเอง หรือบอกกับเพื่อนให้ชัดเจนไปเลยว่า เราจะ “ทำสิ่งนี้ วันนี้ เวลานี้ ณ สถานที่แห่งนี้” เพื่อสร้างเป็นพันธสัญญาให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง

3) เขียนจดหมายถึงร่างกาย

          หลายคนใช้ร่างกายอย่างหนักเกินไป จนลืมดูแล กว่าจะรู้ตัวร่างกายตัวเองก็พังไปเสียแล้ว
          ผู้เขียนจึงแนะนำง่าย ๆ ให้เราลองหันกลับมาดูแลร่างกายตัวเองบ้าง วิธีหนึ่งที่แนะนำ คือการ “เขียนจดหมายขอบคุณร่างกาย” ขอบคุณร่างกายที่ช่วยให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น ขอบคุณที่อยู่เคียงข้างกันมาตลอด
          วิธีนี้จะช่วยให้เราหันกลับมาสนใจร่างกายตัวเองมากขึ้น และเปลี่ยนความรู้สึกที่ว่า ร่างกายไม่ใช่ ‘ของตาย’ ของเรา ถ้าเราไม่ดูแล ร่างกายก็คงจะทนทานการใช้งานหนักของเราไม่ไหวเหมือนกัน และแน่นอนว่าถ้าเราหันมาดูแลร่างกายเราดีขึ้น เราก็จะทำงานได้ต่อเนื่องมากขึ้น ประสิทธิภาพงานเราก็จะสูงขึ้นเอง

4) เมื่อเกิดความคิดสะกิดใจแล้ว อย่าไปทำอะไรผัดวันประกันพรุ่ง

          ถ้าเราทำสิ่งที่เรามีแรงบันดาลใจอยู่แล้ว เราจะทำสิ่ง ๆ นั้นได้สำเร็จง่ายขึ้น แต่คำถามคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งไหนที่เรามีแรงบันดาลใจที่จะทำ
          หนังสือแนะนำอย่างชัดเจนว่า แรงบันดาลใจของตัวเรา เกิดจากการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ เท่านั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นจากการอ่านหนังสือเฉย ๆ ได้ บางครั้ง พอเราทำสิ่งต่าง ๆ แล้วรู้สึกสนุก เราก็อาจจะเกิดความชอบหรือเกิดแรงบันดาลใจกับสิ่งสิ่งนั้นอยู่ลึก ๆ
          ในเวลาว่าง ๆ ที่สมองเราคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย แรงบันดาลใจที่ซ่อนอยู่ ก็อาจปรากฏออกมาในรูปของ ‘ความคิดสะกิดใจ’ เช่น อยู่ ๆ ดีเราก็นึกสงสัยถึงเรื่องเรื่องหนึ่ง จนต้องลองเสิร์ชกูเกิ้ลดู หรืออยู่ดี ๆ เราก็นึกอยากทำสิ่งสิ่งหนึ่งขึ้นมากะทันหัน
          เคล็ดลับคือ ถ้าเกิดความคิดสะกิดใจแบบนี้ ให้เราลงมือทำในทันที เพราะนั่นอาจหมายถึงการที่เรามีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งสิ่งนั้นอยู่ลึก ๆ นอกจากการจะได้เริ่มต้นแล้ว การทำสิ่งที่เรามีแรงบันดาลใจเป็นทุนเดิม จะช่วยให้เรามีโอกาสทำมันสำเร็จมากขึ้น
          เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดความคิดสะกิดใจขึ้น จงลงมือทำทันที !

5) วิเคราะห์ความรู้สึกในแง่ลบ

          เวลาเราเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ อาจเกิดความรู้สึกขึ้น 2 ประเภทที่เป็นความรู้สึกด้านลบ คือ รู้สึกว่าเขาไม่ได้เก่งจริง อาจประสบความสำเร็จแค่ดวงเฉย ๆ หรือ รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ที่เราไม่ได้อย่างคนนั้นบ้าง
          ความรู้สึกด้านลบเหล่านี้แท้จริงอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่า เราอินกับเรื่องเรื่องนั้นมาก ๆ เช่น ถ้าเราเห็นคนขึ้นบรรยายได้อย่างเพอร์เฟ็ค แล้วเกิดความรู้สึกทั้ง 2 ข้างต้น นั่นก็อาจเป็นเพราะเราอินกับเรื่องการบรรยายมาก ๆ นั่นเอง
          ดังนั้นการเกิดความรู้สึกด้านลบก็อาจเป็นเพราะ เรามีแรงบันดาลใจด้านนั้นอยู่ลึก ๆ และกำลังรอวันปลดปล่อยมันออกมาก็เป็นได้ ความรู้สึกด้านลบจึงเป็นตัวบ่งชี้ดี ๆ ถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่
          เพียงแต่เราต้องเริ่มจากการกำจัดความรู้สึกด้านลบที่กดทับเราอยู่ก่อน แล้วมุ่งไปที่แรงบันดาลใจที่เรามี ถ้าเราทำได้ เราก็จะเติบโต และทำอะไรก็ตามได้ดียิ่งขึ้น

6) พูดเจตจำนงในใจว่า “ทำ...ได้แล้ว + ขอบคุณ”

          การตั้งเจตจำนงก่อนเริ่มทำอะไร จะทำให้เราเห็นภาพสิ่งที่เราคาดหวังชัดเจนมากขึ้น เราอาจลองพูดในใจดูว่า “ทำ...ได้แล้ว ขอบคุณมากเลยนะ” เช่น ถ้าเราทำงานที่สัมผัสได้ถึงแรงบันดาลใจ เราก็อาจลองพูดกับตัวเองว่า “ฉันหางานที่ได้สัมผัสถึงแรงบันดาลใจได้แล้ว ขอบคุณมากเลยนะ”
          ตามหลักวิทยาศาสตร์ การประกาศเจตจำนงในใจเป็นการหลอกสมองว่า สิ่งนั้นได้เกิดขึ้นไปแล้ว และถูกบันทึกลงในความทรงจำ พอเราเริ่มทำจริง เราก็จะทำสิ่งนั้นได้ราบลื่นขึ้น
          ผู้เขียนแนะนำว่าลองประกาศ ‘เจตจำนงของความสนุก’ เช่น การประชุมวันนี้จะต้องสนุกแน่ ๆ เลย หรือ การเขียนแผนงานจะต้องสนุกแน่ ๆ เลย วิธีนี้ช่วยให้เรารู้สึกสนุกตอนเริ่มประชุม หรือเริ่มเขียนแผนงานจริง ๆ และความสนุกนี่เองจะช่วยทำให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ให้ได้ผลลัพธ์ตามที่หวังมากขึ้น
  • ผู้เขียน : โทโยคาซึ สึรุตะ
  • ผู้แปล : กมลวรรณ เพ็ญอร่าม
  • จำนวนหน้า : 188 หน้า
  • สำนักพิมพ์ : Shortcut
  • เดือนปีที่พิมพ์ : 2/2020
  • แนวหนังสือ : พัฒนาตัวเอง
          สั่งซื้อหนังสือได้ที่ https://bit.ly/3lmpKY5
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รีวิวหนังสือเลิกนิสัยทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง รวมวิธีดี ๆ ที่ช่วยให้ทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้สำเร็จ อัปเดตล่าสุด 10 สิงหาคม 2566 เวลา 12:08:30 5,924 อ่าน
TOP