สารให้ความหวานแทนน้ำตาล แท้จริงแล้วมีประโยชน์หรือโทษต่อสุขภาพ ?

ใกล้มิตรชิดหมอ

ใกล้มิตรชิดหมอ เพจให้ความรู้คู่สุขภาพกายและจิต เสมือนมีหมอเป็นมิตรอยู่ข้างบ้าน

          เชื่อว่าทุกคนรู้ดีนะคะว่าร่างกายของเราสามารถรับน้ำตาลได้ปริมาณที่จำกัดต่อวัน
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

          โดยมีคำแนะนำว่า ในแต่ละวันเราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 24 กรัม (6 ช้อนชา) ในผู้ใหญ่ ในขณะที่เด็ก ๆ และผู้สูงอายุก็ควรบริโภคน้ำตาลน้อยกว่านั้น ในขณะที่อาหารในชีวิตประจำวันของเรามีน้ำตาลแฝงมาในรูปแบบต่าง ๆ เยอะมาก ซึ่งหากเราไม่ได้ระมัดระวังก็จะได้รับน้ำตาลในปริมาณที่เกินคำแนะนำได้นะคะ
          ทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพออกมาในท้องตลาดมากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์หลายอย่างมีการใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล เพื่อลดการรับน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น 
          วันนี้มาชวนคุยเรื่องสารให้ความหวานแทนน้ำตาลกันค่ะ 
          สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียม ที่ได้รับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาว่าสามารถใช้ในอาหารได้ มีดังนี้ค่ะ ซูคราโลส (Sucralose), ขัณฑสกร (Saccharin), แอสพาแตม (Aspatame), นีโอเทม (Neotame), แอดเวนแทม (Advantame) และ อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม (Acesulfame potassium) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มของสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่ไม่ให้พลังงาน 
          นอกจากนี้ยังมีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ซึ่งให้พลังงาน แต่น้อยกว่าน้ำตาล ร่างกายดูดซึมได้ในทางเดินอาหาร แต่ระดับน้ำตาลในเลือดจะขึ้นช้ากว่า บางชนิดจึงสามารถใช้ในผู้ป่วยเบาหวานได้ ให้ความหวานกว่าน้ำตาลทั่วไป 25-100 เท่า ที่รู้จักกันดี เช่น แมนนิทอล, ซอร์บิทอล, ไซลิทอล, อิริทริทอล เป็นต้น
          คราวนี้เรามาดูเกี่ยวกับผลของการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลบ้างนะคะ 

การลดน้ำหนัก

          ในแง่ของการลดน้ำหนักก็มีความคาดหวังว่า การใช้น้ำตาลเทียม หรือสารทดแทนน้ำตาลอาจจะช่วยลดน้ำหนักได้ แต่ว่าประเด็นดังกล่าวก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันนะคะว่าจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ด้วยเหตุว่าเรื่องของสมดุลภายในร่างกายเป็นสิ่งที่ค่อนข้างซับซ้อน มีความเกี่ยวข้องพัวพันกันในหลายระบบ บวกกับน้ำตาลเทียมและสารแทนน้ำตาลเองก็มีหลายกลุ่มหลายชนิดซึ่งแต่ละชนิดมีการเผาผลาญในร่างกายในรูปแบบที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อสมดุลน้ำตาล และจุลินทรีย์ในร่างกายที่แตกต่างกัน 
          ข้อมูล ณ ปัจจุบันพบว่า สารให้ความหวานหรือน้ำตาลเทียม ไม่ได้มีผลต่อ หรือมีประโยชน์ต่อสุขภาพที่เหนือกว่าในแง่ของการควบคุมน้ำหนักและควบคุมระดับน้ำตาล และยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงให้สรุปรวมได้ว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลช่วยลดน้ำหนักได้หรือไม่
          ในทางกลับกัน ข้อมูลในสัตว์ทดลองพบว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลอาจจะมีแนวโน้มสัมพันธ์ในลักษณะที่เพิ่มโรคทางเมตาบอลิซึมและความอ้วน จากการเปลี่ยนแปลงจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีผลต่อความหิวความอิ่ม เปลี่ยนแปลงสมดุลของน้ำตาลในร่างกาย รวมถึงการบริโภคที่มากขึ้น และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยังต้องติดตามข้อมูลต่อไป

การควบคุมน้ำตาลในคนไข้เบาหวาน

          แม้จะมีความเชื่อว่าสารทดแทนน้ำตาลให้ความหวานสามารถใช้ในคนไข้เบาหวานได้ เพราะว่าไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง หรือทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นแบบช้า ๆ หรือบางชนิดเคลมว่าไม่กระตุ้นอินซูลิน แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่พบว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์สนับสนุนความเชื่อมโยงนี้นะคะ ยังต้องรอข้อมูลจากงานวิจัยที่ออกแบบอย่างรัดกุมถึงความสัมพันธ์นี้กันต่อไป รวมถึงการศึกษาเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพในระยะยาวจากการใช้สารเหล่านี้ด้วยค่ะ 
          ดังนั้น แม้จะเป็นน้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ไม่ใช่น้ำตาลจริง ๆ ก็ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และใช้เท่าที่จำเป็นจริง ๆ ด้วยเช่นกันค่ะ 

ความเสี่ยงมะเร็ง

          มีการพูดถึงความเสี่ยงเรื่องของการใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลในปริมาณมากกับโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง จากการรวบรวมข้อมูล ตั้งแต่ปี 2003-2014 จาก 599,741 ราย พบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคน้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลกับ มะเร็งกล่องเสียง, เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งเม็ดเลือดขาวในผู้ชาย แต่แม้พบว่ามีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งบางชนิดแต่ก็ไม่มีหลักฐานที่สามารถสรุปได้ว่า น้ำตาลเทียมจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเหล่านั้นได้ค่ะ

การบริโภคสารให้ความหวานในคนท้อง

          เรามาสนใจในคนท้องบ้างนะคะ ต้องบอกว่าข้อมูลมีน้อยเหลือเกิน น้อยเกินกว่าที่จะสรุปได้ว่ามีประโยชน์หรือมีโทษอย่างไรบ้าง แต่ก็มีรายงานประปรายว่าอาจจะสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด และการคลอดทารกน้ำหนักเกินเกณฑ์ แต่เรายังต้องการการศึกษาคุณภาพสูงเพื่อสรุปผลที่แน่ชัดต่อไปค่ะ 
          โดยสรุปนะคะ ข้อมูล ณ ปัจจุบันยังไม่พบว่าน้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แม้จะไม่ได้มีโทษชัด ๆ แต่ก็ควรบริโภคด้วยความระมัดระวัง ใช้ตามที่จำเป็นนะคะ 
          อย่างหนึ่งที่แน่ชัด คือ การบริโภคสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลเหล่านี้ไม่ได้ช่วยแก้อาการ "ติดหวาน" ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพที่แท้จริงนะคะ และอาจจะทำให้บริโภคและได้รับพลังงานมากเกินความจำเป็น ด้วยความรู้สึกว่า ไม่ได้บริโภคน้ำตาลโดยตรง แต่เป็นน้ำตาลเทียมนั่นเองค่ะ 

          หมอเมษ์

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ใกล้มิตรชิดหมอ
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล แท้จริงแล้วมีประโยชน์หรือโทษต่อสุขภาพ ? อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2566 เวลา 11:05:49 1,673 อ่าน
TOP