Toxic Positivity ในวันที่แย่ไม่ต้องคิดบวกกับทุกเรื่องก็ได้

a day

Stay Awake, Stay Inspired.

          Toxic Positivity ในวันที่แย่ไม่ต้องคิดบวกกับทุกเรื่องก็ได้
Toxic Positivity

          ‘เอาน่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป’
          ‘ไม่เป็นไร เรื่องแค่นี้สบายมาก’
          ‘อย่ายอมแพ้ ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้’
          โลกความเป็นจริงอาจจะไม่ได้สวยงามแบบที่เราคิด ในวันที่เราเจอเรื่องแย่ๆ การพยายามมองโลกให้แง่ดีเข้าไว้ จึงเป็นเหมือนทางเลือกหนึ่งให้เราได้ใช้ชีวิตต่ออย่างมีความหวัง จนบางครั้งเราจึงมักบอกคนที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นเพื่อให้มีกำลังใจว่าเรื่องเลวร้ายจะไม่อยู่กับเขาไปตลอด ทุกปัญหาจะผ่านพ้นไปได้ แต่ความจริงแล้วคำพูดปลอบประโลมใจอาจใช้กับทุกเรื่องในชีวิตไม่ได้เสมอไป เพราะความรู้สึกแย่เหล่านั้นยังไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ถูกกดลงไปซ่อนไว้ไม่ให้ใครเห็นเท่านั้นเอง
          Toxic Positivity หรือ ภาวะคิดบวกเป็นพิษ เป็นคำที่ใช้เรียกแนวคิดที่มองโลกในแง่บวกมากเกินไปจนส่งผลเสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาวทั้งกับตัวเองและคนรอบตัว แน่นอนการคิดบวกนั้นไม่ผิดและเป็นสิ่งที่สมควรทำ เพราะเป็นการปรับมุมมองความคิดต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้เรารู้สึกมีความหวังว่าจะผ่านอุปสรรคไปได้
          จากข้อมูลในหนังสือ ‘เพราะไม่สมบูรณ์แบบจึงงดงาม’ เขียนโดย Morefin เล่าว่า ทาลิ ชารอต (Tali Sharot) นักประสาทวิทยาและรองศาสตราจารย์ด้านระบบประสาทการรับรู้แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ยกตัวอย่างภาพการ์ตูนที่เป็นเพนกวินกลุ่มหนึ่งยืนอยู่บนหน้าผา โดยมีหลายตัวที่กระโดดลงมา และมีตัวหนึ่งที่กระโดดลงมาโดยมีร่มชูชีพอยู่ที่หลัง 
          เธอบอกว่าถ้าคุณเป็นเพนกวินที่มองโลกในแง่ร้ายที่เชื่อว่าตัวเองบินไม่ได้ คุณย่อมทำไม่ได้ตลอดไป เพราะหากคุณจะก้าวหน้าในเรื่องอะไรสักอย่างก็ต้องเชื่อก่อนว่าคุณทำได้ แต่ถ้าคุณมองโลกในแง่ดีเกินไปที่เชื่อว่าตัวเองบินได้แล้วกระโดดลงมาเลย คุณก็อาจรู้ว่าตัวเองบินไม่ได้เมื่อหล่นกระแทกพื้น แต่ถ้าคุณเป็นเพนกวินที่มองโลกในแง่ดีแต่พกร่มชูชีพติดหลังไปด้วย ต่อให้ทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้ คุณก็ยังกระโดดลงมาได้อย่างปลอดภัย
          การพยายามที่จะคิดบวกมากจนเกินไป โดยที่ไม่สนใจความจริงที่เกิดตรงหน้าจะทำให้เกิดเป็นปัญหา เช่น การบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร ฉันไม่เศร้า ฉันไม่ได้โกรธ กลายเป็นว่าพยายามปฏิเสธความรู้สึกเชิงลบ และกลบความรู้สึกนั้นเอาไว้ พอถึงวันหนึ่งที่ทนไม่ไหว คนที่เจ็บปวดก็คือเราเอง
          นอกจากนี้ การอดทนกับสิ่งที่ไม่ควรอดทน เช่น ถูกคนอื่นเอาเปรียบก็ยังมองว่าเขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจ หรือแม้กระทั่งมีเพื่อนร่วมงานโยนงานมาให้ก็คิดว่าจะได้ช่วยพัฒนาทักษะให้เราเก่งขึ้น ถูกด่าแต่มองว่าเป็นแรงผลักดัน หรือถูกทำร้ายร่างกายในความสัมพันธ์แต่มองว่าเขาอาจจะปรับปรุงตัวได้ ถึงแม้ไม่ผิดที่จะคิดแบบนั้น แต่ถ้าต้องทนกับเรื่องนี้บ่อยๆ วันหนึ่งก็จะเป็นเราเองที่เจ็บปวดจากความคิดเหล่านั้น ซึ่งมันคงจะดีกว่าถ้าเรารู้เท่าทันและสามารถรับมือกับอารมณ์ด้านลบของตัวเองได้ ด้วยวิธีดังนี้

ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น

          เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้เรามีความรู้สึกลบๆ อย่างผิดหวัง โกรธ เครียด วิตกกังวล หรือแม้แต่หวาดกลัว ให้มองว่าการที่เรามีอารมณ์ความรู้สึกทั้งเชิงบวกและลบนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เรามองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น รู้ว่าสาเหตุของอารมณ์เหล่านี้เกิดจากอะไรและสามารถจัดการได้อย่างไร 

ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง

          การที่เราแสดงอารมณ์ตามความเป็นจริง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เราจัดการกับความรู้สึกลบๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น การร้องไห้ออกมา หรือบอกกับคนอื่นว่าเรารู้สึกเศร้า รู้สึกโกรธ ผิดหวัง เสียใจ เพราะการซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองนั้นเป็นการยอมรับตัวเองในอีกรูปแบบหนึ่ง 

ระบายกับคนใกล้ชิดที่พร้อมจะรับฟังและให้กำลังใจเรา

          การระบายความรู้สึกหรือการพูดคุยกับคนใกล้ชิดที่พร้อมรับฟังจะช่วยให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น หรือการเขียนไดอารีก็เป็นวิธีที่ช่วยให้ความตึงเครียดทางอารมณ์ลดลงได้ ถ้าหากเป็นเรื่องที่อาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ แนะนำให้พูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัด 

ดูแลตัวเองให้ดี

          เราควรดูแลตัวเองให้ดีแม้ว่าจะเจอกับเรื่องเครียดแค่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น การกินอาหารที่อร่อยๆ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย การออกกำลังกาย หรือออกไปพบปะผู้คน การดูแลตัวเองจะทำให้จิตใจของเราได้ผ่อนคลายจากความเครียด และหาหนทางแก้ไขปัญหาได้ตามสถานการณ์ความเป็นจริง

หยุดเล่นโซเชียลฯ บ้าง

          ในโลกออนไลน์เราต่างรู้ดีว่าทุกคนอยากดูดีในสายตาคนอื่น จึงไม่แปลกที่อยากจะนำเสนอแต่ด้านดีๆ แต่การเห็นชีวิตของคนอื่นที่มีความสุขแล้วนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของตนเอง อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกแย่หรือผิดหวังในตัวเองมากขึ้น ดังนั้นการหยุดเล่นโซเชียลและหันมาโฟกัสกับตัวเองก็จะช่วยให้เราไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นและลดความรู้สึกแย่ต่อตัวเองได้
          อย่างไรก็ตาม อะไรที่มากเกินไปก็อาจไม่ดีเสมอไป ทั้งมองโลกในแง่ดีหรือร้ายจนเกินไป ทางที่ดีที่สุดเมื่อเกิดปัญหาเราอาจต้องพยายามมองโลกตามความเป็นจริงทั้งมุมที่จะสมหวังและผิดหวัง เพื่อให้ตัวเองเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ และทำให้เราเข้าใจทั้งตัวเองและคนอื่นมากขึ้น

อ้างอิง

  • นักเขียน : อัญชิสา เรืองโรจน์
  • นักวาดภาพ : banana blah blah
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ a day
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Toxic Positivity ในวันที่แย่ไม่ต้องคิดบวกกับทุกเรื่องก็ได้ อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2567 เวลา 09:45:09 2,543 อ่าน
TOP