The Power of Regret ก้าวไปข้างหน้าสู่ทิศทางที่ถูกต้องด้วย ‘พลังแห่งความเสียดาย’

a day

Stay Awake, Stay Inspired.

          แฮร์รี เอส. ทรูแมน ประธานาธิบดีคนที่ 33 แห่งสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวไว้ว่า
The Power of Regret

          “Never, never waste a minute on regret. It’s a waste of time.” 
         หรือแปลเป็นไทยว่า “อย่าเด็ดขาด อย่านึกเสียดายแม้แต่นาทีเดียว มันเสียเวลา”
          ‘ความเสียดาย’ มักถูกมองว่าเป็นความรู้สึกเชิงลบที่ฉุดรั้งเราไว้ไม่ให้ก้าวเดินต่อไป ทุกคนคงเคยมองย้อนกลับไปและรู้สึกเสียดายกับบางสิ่ง ทั้งสิ่งที่ได้ทำหรือสิ่งที่ไม่ได้ทำ (แต่ส่วนมากเรามักเสียดายในสิ่งที่ไม่ได้ทำ) สิ่งเหล่านั้นตามหลอกหลอนเรา นำพาความเจ็บปวดมาให้เรา เราโทษตัวเองและได้แต่หวังอยากแก้ไขสิ่งต่างๆ นั้น แม้ความจริงเราจะไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้ก็ตาม
          ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีเรื่องให้เสียดายมากขึ้นตาม ทั้งเรื่องเพื่อนที่เคยสนิทแต่ปัจจุบันหายจากกันเพราะขาดการติดต่อ เรื่องที่เคยทำไม่ดีใส่คนใกล้ตัว เรื่องการใช้เวลาไปกับเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์ และอีกหลายๆ เรื่องผิดพลาดที่อยากจะลืมเพื่อจะได้ใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องรู้สึกเสียดายสักที
          แต่วันหนึ่งระหว่างที่ผมเตร็ดเตร่ท่ามกลางดงหนังสือในห้องสมุด ไล่ดูหนังสือไปเรื่อยๆ ในแต่ละชั้น หนังสือหลายเล่มที่สายตาผมกวาดผ่านก็จุดความคิดในหัวเรื่องของความผิดพลาดของตัวเองสมัยก่อนขึ้นมา และผมก็คิดว่าจะมีหนังสือเล่มไหนบ้างที่จะช่วยหาคำตอบบางอย่างที่ตัวเองกำลังสงสัยอยู่ จนสายตาของผมก็ไปหยุดอยู่ที่หนังสือเล่มหนึ่ง ด้วยปกสีฟ้าอมเขียวสะดุดตาตัดกับคำสีเหลืองคำหนึ่งที่ใหญ่แบบตะโกนอยู่บนหน้าปก คำนั้นคือ ‘Regret’ หรือ ‘ความเสียดาย’ ผมจึงใช้เวลาแค่หลักวินาทีตัดสินใจหยิบหนังสือเล่มนั้น และไปเช็กเอาต์ที่เคาน์เตอร์ทันที 

“เมื่ออารมณ์ด้านลบที่เราพยายามหลีกหนี มอบพลังที่ช่วยสร้างอนาคตที่เราต้องการ”

          คำโปรยบนปกหนังสือ The Power of Regret หรือ ‘พลังแห่งความเสียดาย’ โดย แดเนียล เอช. พิงก์ สื่อสารอย่างชัดเจนว่า ความเสียดายที่ถูกมองว่าเป็นพลังลบสามารถนำมาใช้ในฐานะพลังด้านบวกได้ ซึ่งหลังจากการเดินทางผ่านหน้ากระดาษกว่า 200 หน้า หนังสือเล่มนี้ก็นำพาผมไปสู่ความเข้าใจว่า ความเสียดายไม่ได้ลดทอนคุณค่าเราแต่เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ในตัวเรา ความเสียดายไม่ได้ฉุดรั้งเราแต่เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้าอย่างถูกทาง เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรกำจัดหรือแม้แต่จมอยู่กับความเสียดาย แต่ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างถูกวิธี

เพราะเป็นมนุษย์จึงรู้สึกเสียดาย

          ความเสียดายเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ของเรา เพราะมนุษย์เราสามารถนึกย้อนไปในอดีตหรือจินตนาการถึงอนาคตได้ ต่างกับสัตว์ที่อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา นอกจากนี้มนุษย์ยังสามารถสร้างเรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้ ทำให้เราสามารถจินตนาการถึงทางเลือกที่ต่างออกไปจากสิ่งที่ได้เลือกไว้ และเกิดเป็นการเปรียบเทียบว่าถ้าเราทำสิ่งนี้ต่างออกไป ชีวิตเราในปัจจุบันนี้จะดีขึ้นแค่ไหนกัน เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราในฐานะมนุษย์ถึงมีความเสียดาย
          ในเมื่อความเสียดายเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากระบบความคิดที่พัฒนาแล้วของมนุษย์ มันก็น่าจะมีเป้าหมายบางอย่างต่อการใช้ชีวิตของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งพิงก์ได้กล่าวไว้ว่าความเสียดายสามารถพัฒนาให้เราดีขึ้นได้ 3 ประการ ดังนี้ 
          1) ความเสียดายทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น เพราะเมื่อเราตัดสินใจทำในสิ่งที่ผิดพลาดและเราเสียใจกับมัน เราจะใช้เวลาไตร่ตรองการกระทำของเรามากขึ้นและเลือกหนทางที่ดีกว่าในอนาคต
          2) ความเสียดายพัฒนาศักยภาพเรา เพราะเมื่อเราทำไม่ได้ตามผลลัพธ์ที่ตั้งไว้และเราเสียใจกับมัน เราจะเรียนรู้จากความผิดพลาด และใช้มันเป็นเชื้อไฟในการผลักดันตัวเองให้ไปสู่ที่ที่ดีขึ้น
          3) ความเสียดายสร้างความหมายที่ลึกซึ้ง เพราะเมื่อเราไตร่ตรองถึงเหตุการณ์อื่นที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตที่อาจทำให้เราเสียใจ เราจะซาบซึ้งถึงสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้มากขึ้น

4 เรื่องเสียดายหลัก

          หลังจากได้เรียนรู้ถึงข้อดีของความเสียดาย ในบทที่สองของหนังสือเล่มนี้ พิงก์พาเราไปสำรวจความเสียดายรูปแบบต่างๆ แน่นอนว่าคนเรามีหลายเรื่องให้เสียดาย ไม่ว่าจะเป็นความเสียดายเล็กๆ ที่ไม่นานก็ลืม ความเสียดายแบบนี้ไม่ส่งผลต่อเรามากนัก แต่ถ้าเป็นความเสียดายใหญ่ๆ ก็อาจสร้างบาดแผลทางใจที่ฝังลึกและทิ้งรอยแผลเป็นไว้เด่นชัด แม้ความเสียดายประเภทนี้จะเจ็บลึกแต่พวกมันก็สอนให้เรารู้จักตัวเองและมอบบทเรียนให้เราได้

          จากแบบสำรวจความเสียใจที่มีผู้เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความเสียดายกว่าพันเรื่องราว พิงก์ได้จำแนก ‘ความเสียดาย’ ออกเป็น 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่

          1) ความเสียดายด้านความมั่นคง ความเสียดายในเรื่องนี้เกิดจากความล้มเหลวในการมองการณ์ไกลและมีสติรอบคอบ เช่น เสียดายที่ใช้จ่ายไปกับสิ่งของฟุ่มเฟือยหรือสิ่งของเล็กน้อยที่ค่อยๆ สะสมจนท้ายที่สุดไม่มีเงินเก็บเหลือ เสียดายที่ไม่ดูแลสุขภาพแต่เนิ่นๆ จนสะสมเป็นปัญหารุนแรง หรือเสียดายที่ไม่ตั้งใจเรียนแต่แรกเพื่อให้ได้งานที่ดี
          ความเสียดายด้านความมั่นคงทำให้เห็นว่ามนุษย์เราโหยหาความมั่นคงในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทางการเงิน ทางสุขภาพ หรือทางการศึกษา ความเสียดายนี้ยังสอนให้เรารู้ว่าเราควรวางแผนในชีวิตให้รอบคอบ และเริ่มลงมือทำในสิ่งที่จำเป็น
          2) ความเสียดายด้านความกล้าหาญ ความเสียดายในเรื่องนี้เกิดจากการที่เรามีโอกาส แต่เราไม่อยากเสี่ยงจึงไม่ได้คว้าโอกาสนั้นไว้ เช่น เสียดายที่ไม่ได้สารภาพกับคนที่ชอบ เสียดายที่ตอนอายุน้อยไม่ออกไปผจญภัยเปิดโลก เสียดายที่ไม่กล้าย้ายงานเพราะแคร์สายตาคนอื่น หรือเสียดายที่ไม่เปิดตัวว่าเป็นเพศทางเลือกแต่แรกจนไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่
          ความเสียดายด้านความกล้าหาญทำให้เห็นว่ามนุษย์เราโหยหาการเติบโตในชีวิต ซึ่งความเสียดายนี้สอนเราให้กล้าพูดกล้าทำก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป
          3) ความเสียดายด้านศีลธรรม ความเสียดายด้านศีลธรรมเป็นความเสียดายอยากแก้ไขในสิ่งที่ผิด เช่น เสียดายที่นอกใจคู่รักของตน เสียดายที่เคยกลั่นแกล้งเด็กคนอื่นในโรงเรียน เสียดายที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมา หรือแม้แต่เสียดายที่ไม่ปฏิบัติต่อผู้อาวุโสอย่างเหมาะสม
          พิงก์เสริมว่าความเสียดายด้านศีลธรรมถือว่าพบได้น้อยกว่าความเสียดายประเภทอื่นแต่เป็นความเสียดายที่ฝังลึกที่สุด ความเสียดายในเรื่องนี้เผยให้เห็นว่ามนุษย์เราโหยหา ‘ความดี’ และสอนให้เรารู้ว่า เมื่อแคลงใจให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง
          4) ความเสียดายด้านความสัมพันธ์ ความเสียดายด้านความสัมพันธ์เกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบตัวห่างเหินกัน แต่เราไม่ได้หรือไม่มีโอกาสเชื่อมต่อความสัมพันธ์นั้นกลับคืนมา เช่น เสียดายที่ไม่รักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนจนตอนนี้ห่างเหินกันหรืออีกฝ่ายเสียไปแล้ว เสียดายที่ไม่บอกรักพ่อแม่ให้มากกว่านี้ เสียดายที่ไม่ได้ใช้เวลากับคนรอบตัวให้มากขึ้น หรือเสียดายที่ปล่อยให้การทะเลาะเล็กๆ ทำให้ความสัมพันธ์ห่างเหิน
          อย่างไรก็ดี พิงก์ได้เสริมว่า การเชื่อมต่อกลับไปหาใครสักคนเป็นเรื่องที่ง่ายมาก คนเรามักคิดไปเองว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกไม่สบายใจหรือรู้สึกแปลกหากวันดีคืนดีเราติดต่อไปหลังจากหายไปนาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนเราเปิดรับและตอบรับในเชิงบวกมากกว่าที่คิด
          ความเสียดายด้านความสัมพันธ์สอนให้รู้ว่ามนุษย์เราโหยหาความรักจากคนรอบตัว ในขณะเดียวกันความเสียดายนี้ก็สอนให้เรารู้ว่า ถ้าเรายังมีคนให้เชื่อมต่อความสัมพันธ์ก็จงติดต่อไปหาคนคนนั้น แต่ถ้าคนที่เราละเลยไม่อยู่กับเราแล้ว ก็จงประคับประคองความสัมพันธ์ที่ยังมีอยู่ให้ดีเพื่อไม่ให้เสียดายในภายหลัง

ก้าวผ่านความเสียดาย

          แม้ The Power of Regret จะบอกถึงข้อดีของความเสียดายมาตลอดในสองบทที่ผ่านมา แต่ในบทสุดท้ายพิงก์ก็ย้ำเตือนว่า แม้ความเสียดายจะเปรียบเสมือนยาที่ให้คุณ แต่ก็อย่าลืมว่ายาทุกชนิดล้วนมีข้อควรระวัง การติดอยู่กับอดีตและนึกเสียดายสิ่งที่ทำไปบ่อยๆ ก็เป็นอันตรายได้ พิงก์จึงให้วิธีรับมือกับความเสียดายให้เกิดโทษน้อยสุดพร้อมผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          สำหรับความเสียดายต่อสิ่งที่กระทำลงไป เราสามารถรับมือกับความเสียดายประเภทนี้ได้สองทาง

          1) แก้ไขสิ่งที่ทำลงไป เช่น การขอโทษคนที่เราเคยทำไม่ดีไว้ หรือติดต่อกลับไปหาคนที่ห่างหาย
          2) ปรับมุมมอง ‘ดีแค่ไหนแล้ว’ ต่อสิ่งที่เราทำไป เช่น เสียดายเวลาเรียนในสายที่ไม่ชอบไปหลายปี แต่ ‘ดีแค่ไหนแล้ว’ ที่ได้เจอเพื่อนดีๆ หรือเสียดายที่แต่งงานกับคนที่ไม่ใช่ แต่ ‘ดีแค่ไหนแล้ว’ ที่มีลูกๆ ที่น่ารัก และจำไว้ว่าทุกอย่างล้วนมีโอกาสออกมาแย่กว่าที่เป็นอยู่
          สำหรับความเสียดายต่อสิ่งที่เราไม่ได้ทำและต่อสิ่งที่กระทำลงไป เราสามารถรับมือกับความเสียดายทั้งสองประเภทได้ในสามขั้นตอน ได้แก่
          1) เปิดเผยตัวเอง (Self-disclosure) เพราะการที่เราแชร์ความเสียดายของเราผ่านการเขียนบันทึก การอัดเสียงตัวเอง หรือการเล่าให้คนอื่นได้ฟังจะช่วยลดภาระที่เราแบกรับ ช่วยเราจัดระเบียบการคิด และยังช่วยเพิ่มความสนิทสนมระหว่างผู้พูดและผู้ฟังอีกด้วยในกรณีที่เราเล่าให้คนอื่นฟัง
          2) เมตตาตัวเอง (Self-compassion) เพราะการยอมรับว่าความผิดพลาดในชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์จะช่วยให้เรามองอารมณ์ลบอย่างเป็นกลาง โดยที่เราไม่มองความผิดพลาดเป็นเรื่องใหญ่โตแต่ก็ไม่ลืมความผิดพลาดจนหลงตัวเอง (สามารถอ่านเรื่องการเมตตาตัวเองเพิ่มได้ที่นี่)
          3) ออกห่างจากตัวเอง (Self-distancing) เพราะการที่เราถอยห่างออกมาและตัดสินตัวเองอยู่ห่างๆ จะช่วยให้เราวิเคราะห์ความผิดพลาดโดยไม่รู้สึกละอายใจต่อตัวเอง และหาทางออกไปสู่ทางที่ดีกว่าได้อย่างเป็นกลาง ซึ่งการออกห่างจากตัวเองก็ทำได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็น ลองจินตนาการว่าตัวเองเป็นคนอื่นที่มองเข้ามาในสถานการณ์นี้อีกที ลองจินตนาการว่าในอีกสิบปีข้างหน้าจะรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์นี้ หรือลองแทนตัวเองด้วยสรรพนามบุรุษที่สามแทนสรรพนามบุรุษที่หนึ่งเวลาเล่าถึงสถานการณ์นี้
          แม้เราจะรับมือกับความเสียดายที่เกิดขึ้นแต่ก็ควรตระหนักไว้ว่าความเสียดายย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เราจึงควรคาดหวังความเสียดายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากสิ่งที่เราเผชิญอยู่ไม่ใช่หนึ่งในสี่ความเสียดายหลักก็ให้ตัดสินใจไปเลยโดยไม่ต้องย้อนมองมา แต่หากเราเผชิญหน้ากับความเสียดายหลักทั้งสี่อยู่ ให้ลองจินตนาการถึงตัวเองในอนาคต และมองย้อนกลับมาว่าทางเลือกไหนจะนำพาเราไปสู่ ไม่ใช่หนทางที่เราจะไม่เสียดาย แต่เป็นหนทางที่เราจะเสียดายน้อยที่สุด 
          เพราะถึงแม้แฮร์รี เอส. ทรูแมน จะเคยกล่าวไว้ว่า
          “อย่าเด็ดขาด อย่านึกเสียดายแม้แต่นาทีเดียว มันเสียเวลา” 

          แต่หนังสือ The Power of Regret ก็ทำให้ผมรู้ว่า ความเสียดายนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประสบการณ์การเป็นมนุษย์ที่ทุกคนต้องเจออย่างเลี่ยงไม่ได้ และหากใช้มันให้ถูกวิธี โดยการมองย้อนกลับไปอย่างไตร่ตรอง เรียนรู้จากมัน และพยายามชดเชยในสิ่งที่ทำไป ความรู้สึกเชิงลบนี้ก็สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานบวกที่ขับเคลื่อนเราไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องได้

อ้างอิง

นักเขียน : คณพศ แสงไชย
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ a day
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
The Power of Regret ก้าวไปข้างหน้าสู่ทิศทางที่ถูกต้องด้วย ‘พลังแห่งความเสียดาย’ อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2567 เวลา 08:59:45 2,964 อ่าน
TOP