‘เหนื่อย เครียด ล้างจาน’ เหตุผลทางจิตวิทยาว่าทำไมเราถึงสบายใจหลังทำความสะอาดบ้าน
เคยไหมที่จู่ๆ ก็อยากลุกขึ้นมาล้างจาน กวาดบ้าน ถูพื้น แทนที่จะอ่านหนังสือ ทั้งๆ ที่พรุ่งนี้มีสอบ
หลายๆ ครั้งที่แม้เราจะรู้ว่าพรุ่งนี้มีสิ่งสำคัญกว่าต้องทำ แต่ร่างกายเรากลับเลือกที่จะทำความสะอาดบ้านซะงั้น สิ่งนี้อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางจิตวิทยา เนื่องจากการทำความสะอาดส่งผลแง่บวกทางอารมณ์ เพราะเพิ่มความรู้สึกว่าเราสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ มากกว่าเรื่องในอนาคตที่เรากำลังกังวลอยู่
ยิ่งนานวันเราก็ยิ่งเรียนรู้ว่าบนโลกนี้ไม่มีสูตรลัดตายตัว ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้เราจะคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า ‘ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน’ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพแวดล้อมของความไม่แน่นอนแบบนี้ก็ส่งผลต่อจิตใจเราเช่นกัน
ความไม่แน่นอนเกิดจากอะไร? ความรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัดในเหตุการณ์หนึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ เมื่อเกิดสถานการณ์นี้เราจะรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ยากต่อการวางแผน หรือทำนายผลในอนาคต ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักมีนิสัยที่ทำเป็นประจำ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามแผนก็จะทำให้เรารู้สึกเหมือนสูญเสียการควบคุม
ความไม่แน่นอนจะทำให้สมองเราจะทำงานอย่างหนัก จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน แสดงให้เห็นว่า ความไม่แน่นอนเข้าไปรบกวนกระบวนการรับรู้อัตโนมัติ ซึ่งควบคุมการกระทำในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อถูกรบกวนจะทำให้เราตื่นตัวต่อภัยคุกคาม ความวิตกกังวลที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสมอง เช่น
หนึ่ง–โฟกัสสิ่งสำคัญได้น้อยลง เพราะเราใช้เวลาไปกับการแก้ไขสิ่งที่ไม่แน่นอนจนสูญเสียการรับรู้ด้านอื่นๆ ไป สอง–ส่งผลต่อการทำงานของสมองส่วนความจำ เพราะความจำของเราจะทำได้ดีที่สุดเมื่อเราใส่ความสนใจกับสิ่งนั้นไปด้วย เมื่อเกิดความไม่แน่นอนขึ้นจะทำให้สมองส่วนนี้มีสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น หลายครั้งที่เรารู้สึกได้ว่าไม่สามารถตัดสินใจหรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เลยเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรเป็นอะไร
เพื่อให้เราใช้ชีวิตต่อไปแม้สถานการณ์ยังไม่แน่ชัดนักว่าจะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า อาจลองเริ่มต้นด้วยวิธีเหล่านี้ดู
หันมาโฟกัสสิ่งที่ควบคุมได้
ท่ามกลางความไม่แน่นอนภายนอก เช่น เศรษฐกิจ ภาวะโลกรวน การเมือง หรือขยับลงมาหน่อย อย่างการรอโทรศัพท์ตอบกลับผลการสัมภาษณ์งานจาก HR หรือการสอบที่กำลังจะเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราแค่คนเดียว การหันมาจัดการสิ่งเล็กๆ อย่าง การทำความสะอาดบ้าน จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราสบายใจมากขึ้น แถมยังมีผลตอบแทนนั่นคือห้องที่สะอาดขึ้นด้วย
ฝึกดูแลตัวเอง
แม้เราจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เช่น ที่ทำงาน แต่บางครั้งเราก็ต้องฝึกสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้ตัวเองบ้าง เช่น การปล่อยให้มีเวลาพักเบรกสั้นๆ หรือการทำสมาธิ วิธีนี้จะช่วยลดข้อมูลที่สมองต้องทำความเข้าใจ แถมเพิ่มการจดจ่อกับโมเมนต์ตรงหน้าได้ดีขึ้น นอกจากนี้บางครั้งอาจใช้วิธีเขียนถึงเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เพื่อดึงตัวเองให้กลับมาอยู่ในปัจจุบัน
ยอมรับความไม่แน่นอน
ยิ่งเราต่อต้านมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเกิดความกลัวมากขึ้นเท่านั้น การยอมรับไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่วางแผนอะไรกับชีวิตเลย แต่การยอมรับบางครั้งก็ทำให้เราเตรียมตัวรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น เช่น ยอมรับว่าอนาคตอาจต้องใช้เงินไปกับค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากจึงรีบทำประกันสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ หรือการยอมรับว่าสายงานอาจถูก disrupt ได้เสมอจึงหาคอร์สเรียนรู้เพิ่มเติม
ความไม่แน่นอน อีกด้านหนึ่งอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเราจะหลบเลี่ยงความไม่แน่นอนมาอยู่ในระยะปลอดภัยแล้ว ในขณะเดียวกันมันก็เป็นเกราะกำบังที่ไม่ให้คุณได้เรียนรู้หรือเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง
หากมองอีกมุมบางครั้งความไม่แน่นอนก็มีแง่ดีอยู่เหมือนกัน เพราะในสภาพแวดล้อมที่คาดเดาได้สมองเราไม่จำเป็นต้องทำงานมากนัก ในทางตรงข้ามหากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป สมองเรามีแนวโน้มจะดูดซับข้อมูลต่างๆ มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามองเห็นมุมมองใหม่ๆ ก็ได้
นักเขียน : กุลธิดา สิทธิฤาชัย
นักวาดภาพประกอบ : banana blah blah
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่