Smile Mask Syndrome | ทำความรู้จักกับความเศร้าที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากยิ้ม

a day

Stay Awake, Stay Inspired.

          Smile Mask Syndrome | ทำความรู้จักกับความเศร้าที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากยิ้ม

Smile Mask Syndrome

          55T5555T555 ใต้เลขห้านี้ มีน้ำตาซ่อนอยู่ เคยไหมที่ปากเราบอกคนอื่นว่า โอเค…แต่ความจริง เราไม่โอเคเลย!
          คงมีใครเคยใช้ชีวิตด้วยการพยายามทำตัวเองให้ดูเหมือนมีความสุข เมื่อต้องออกมาพบปะสังคมภายนอก ก็ต้องทนฝืนยิ้มและทำตัวให้เข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา แต่ความเป็นจริงแล้ว ภายในจิตใจเรากำลังรู้สึกซึมเศร้า เหนื่อย หดหู่ และเสียใจ แต่ไม่กล้าแสดงออกมาให้ใครเห็น
          ส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากไลฟ์สไตล์การทำงานสุดเร่งรีบในทุกวันนี้ ต่างคนต่างโฟกัสผลผลิตของงาน จนละเลยการเช็กความรู้สึกของตัวเอง รวมถึงการแบกรับความกดดันและภาระหน้าที่มากมาย จนไม่กล้าเผยความอ่อนแอให้คนอื่นเห็น มิหนำซ้ำเรายังปกปิดความรู้สึกและโกหกตัวเองด้วยการฉีกยิ้มต่อหน้าทุกคน และแสร้งว่ามีความสุขไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องคุ้นชิน 
          ถ้าหากคุณกำลังตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว อาการเหล่านี้อาจเข้าข่าย ‘Smile Mask Syndrome’ หรือการกักเก็บความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ในใจและไม่กล้าเปิดเผยอารมณ์ที่แท้จริงออกมา โดย Smile Mask Syndrome มาจากจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่นชื่อว่า ‘มาโคโตะ นัตสึเมะ (Makoto Natsume)’ ได้สังเกตเห็นพฤติกรรมของนักเรียน ที่กำลังเล่าเรื่องไม่สบายใจของตนเอง แต่หน้าตาของพวกเขากลับยิ้มอย่างมีความสุขสวนทางกับสิ่งที่เล่าอยู่บ่อยครั้ง
          มาโคโตะจึงเกิดความสงสัยในพฤติกรรมดังกล่าว และศึกษาจนค้นพบว่าในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมักปลูกฝังค่านิยมว่า ‘ต้องยิ้มอยู่เสมอ’ สังเกตได้จากการบริการของญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องการดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด ซึ่งหนึ่งในวิธีสร้างความประทับใจให้ลูกค้าคือ ‘การยิ้มต้อนรับแขก’ แม้ว่าจะไม่ได้เต็มใจที่จะยิ้ม นี่จึงอาจเป็นสาเหตุของการ ‘ฝืนยิ้ม’ แม้คนยิ้มไม่ได้มีความสุขที่จะยิ้มก็ตาม
          แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งไปกว่านั้น มาโคโตะให้ความเห็นว่า การฝืนยิ้มไปเรื่อยๆ อาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ไม่รู้ตัวเพราะการกลบเกลื่อน การปิดบัง รวมทั้งการปฏิเสธความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของตนเองจะกลายเป็นความซึมเศร้าในจิตใจ ซึ่งมันคงจะดีกว่าหากตัวเรายอมรับว่าตนเองไม่โอเค และเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยอารมณ์ให้ผ่อนคลายลงด้วยวิธีดังนี้

1. ยอมรับความรู้สึกแท้จริงของตัวเอง

          ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ง่าย แต่จริงๆ แล้วมันยากมาก ทุกคนต่างไม่อยากจดจำความรู้สึกไม่ดีของตัวเองกันทั้งนั้น เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เราทำผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ สิ่งแรกที่คนมักจะทำคือ การไม่ยอมรับความรู้สึกผิดเหล่านั้น ซึ่งมันเป็นการไม่ยอมรับว่า ตัวเองกำลังรู้สึกแย่ แกล้งทำให้เหมือนตัวเองมีความสุขและเพิกเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลายคนพยายามหาวิธีที่ทำให้ตัวเองลืมความรู้สึกนั้น เช่น กินเหล้าหรือช็อปปิ้งจนลืมตัว ซึ่งมันอาจทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลงไปกว่าเดิม 

2. แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา

          เมื่อยอมรับว่าเราไม่ไหวแล้ว สเต็ปต่อไปคือการลองปล่อยอารมณ์ที่แท้จริงออกมา เช่น ถ้าคุณเสียใจอยากร้องไห้ก็ร้องไห้ออกมาให้สุด บางทีการพูดว่า “เราไม่โอเค” ก็ถือเป็นก้าวแรกในการซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเองดีกว่ากักเก็บไว้จนทุกข์หนัก อย่างไรก็ตามการแสดงอารมณ์ก็ต้องดูสถานการณ์และกาลเทศะที่เหมาะสมด้วย เช่น เราไม่สามารถที่จะต่อว่าหรือทำร้ายคนอื่นโดยที่เขาไม่รู้เรื่อง

3. พูดคุยกับคนรอบข้าง

          แน่นอนว่าการจัดการอารมณ์เพียงลำพังอาจไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดสำหรับใครหลายคน บางทีการมีคนคอยรับฟังหรืออยู่เคียงข้างก็อาจจะทำให้เรารู้สึกอุ่นใจมากกว่านั่งเศร้าอยู่คนเดียว หากไม่มีคนรอบตัว เราสามารถปรึกษาจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำได้เช่นเดียวกัน

4. การควบคุมอารมณ์

          แม้ว่าการปลดปล่อยอารมณ์จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น แต่การแสดงความรู้สึกออกมาก็ต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนตามไปด้วย บางทีเราอาจจะควบคุมการปล่อยอารมณ์ในแบบที่ตนเองสบายใจ เช่น ออกไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมในสิ่งที่ชอบ การร้องคาราโอเกะ การตะโกนหรือกรี๊ดออกมาในห้องคนเดียว ประเด็นคือไม่ได้สร้างภาระให้คนอื่นเดือดร้อน แต่แค่มีพื้นที่ให้ตนเองได้ระบายความรู้สึกออกมาบ้าง
          อย่างไรก็ตาม การแสดงออกทางสีหน้าไม่ได้หมายความว่า คุณกำลังรู้สึกแบบนั้นเสมอไป เพราะถ้าเราลองสังเกตดีๆ คนที่มีความสุขก็ไม่จำเป็นต้องยิ้มตลอดเวลา แต่ก็ใช่ว่าต้องฝืนยิ้มเพื่อแสร้งว่ามีความสุขตลอดไป บางทีการแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา ไม่เพียงเป็นการยอมรับในความรู้สึกตนเอง แต่อาจทำให้คนรอบข้างที่เกี่ยวข้องเข้าใจเรามากขึ้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่หนทางที่ดีกว่าเดิมมากกว่าการปกปิดความรู้สึกเศร้าจนสะสมกลายเป็นระเบิดเวลา รอวันที่ระเบิดออกมาจนจิตใจพังและทำลายความสัมพันธ์คนรอบตัวจนมองหน้ากันไม่ติด
          เรื่อง: ชุติมณฑน์ แก้วมี

ที่มา

  • นักเขียน : a day
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ a day
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Smile Mask Syndrome | ทำความรู้จักกับความเศร้าที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากยิ้ม อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2567 เวลา 09:36:15 2,296 อ่าน
TOP