“ทำไมเราถึงคิดมากกับเรื่องที่ผ่านมาแล้ว” เมื่อความผิดพลาดมากวนใจ จะทำอย่างไรให้มูฟออนต่อไปดี

a day

Stay Awake, Stay Inspired.

          “ทำไมเราถึงคิดมากกับเรื่องที่ผ่านมาแล้ว” เมื่อความผิดพลาดมากวนใจ จะทำอย่างไรให้มูฟออนต่อไปดี

วิธีมูฟออน

          “ถ้ารู้อย่างนี้ทำแบบนั้นดีกว่า”
          คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่า ที่เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นจะกลับไปคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ที่น่าจะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นั้น ถึงจะรู้ดีว่ามนุษย์และความผิดพลาดเป็นของคู่กัน แต่ก็ปล่อยวางไม่ได้สักที
          มนุษย์อย่างพวกเราทำผิดพลาดมาตั้งแต่โบราณ สมัยที่บรรพบุรุษของเรายังดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ในป่า การทำผิดพลาดอาจหมายถึงการได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิตได้เลย ดังนั้นสมองของเราจึงต้องช่วยทำให้เราได้เรียนรู้จากการทำผิดพลาดเพื่อให้เรามีชีวิตรอด
          ฟังก์ชันที่สำคัญของสมองเราจึงเป็นการพยายามทำนายเหตุการณ์ในอนาคต เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือบางครั้งเราก็ทำนายผิดพลาดได้เหมือนกัน จนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้
          มีงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ Learning From Mistakes: How Does the Brain Handle Errors? พบว่าหลังจากที่เราทำผิดพลาดแล้ว เราจะตอบสนองได้ช้าลงในการกระทำครั้งต่อไป อาจเป็นเพราะสมองพยายามจะหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดแบบเดิม นอกจากนี้แต่ละคนยังมีความไวต่อความผิดพลาดไม่เท่ากัน แม้จากการศึกษาจะพบว่ายิ่งเรามีความไวต่อการทำผิดพลาดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะมีผลการเรียนที่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้เกิดความฟุ้งซ่านได้ด้วยเช่นกัน เพราะอาจไปกระตุ้นให้สมองเกิดการตื่นตระหนกจากการทำผิดพลาดได้มากเกินไปด้วย
          การคร่ำครวญถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือแม้แต่การทบทวนสิ่งที่ย้อนกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ซ้ำๆ นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังลดความสามารถในการแก้ปัญหา รวมถึงเพิ่มความวิตกกังวลและความซึมเศร้าเพิ่มขึ้นด้วย หากการจมอยู่กับปัญหาไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น แถมยังบั่นทอนจิตใจเราขึ้นไปอีก งั้นมาลองดูวิธีที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากวงจรความคิดมากนี้ไปพร้อมๆ กัน

หาต้นเหตุของการคิดมากให้เจอ

          การลิสต์ออกมาว่าอะไรทำให้เราต้องคิดมากซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหน้าที่การงาน ร่วมงานกับคนที่เราไม่ได้เชื่อใจ ได้ร่วมงานกับคนที่เราไม่ได้พึงใจมากนัก หรือเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่พอ รวมถึงสาเหตุอื่นๆ ที่คุณพอจะนึกได้

แก้ปัญหาด้วยการสร้างระยะห่าง

          การแยกตัวเองออกจากปัญหานั้นเป็นเทคนิคเดียวกับการทำสมาธิ เช่น ถ้าเริ่มรู้สึกวิตกมากๆ กับเรื่องที่เราทำผิดพลาดไป แทนที่จะคิดว่า “ฉันมันไม่มีความสามารถ” ให้เปลี่ยนวิธีที่คุณพูดกับตัวเองเป็น “ฉันกำลังรู้สึกว่าไม่มีความสามารถ” หรือ “จิตของฉันกำลังคิดว่าฉันไม่มีความสามารถ” วิธีนี้จะช่วยทำให้เราเห็นว่าการทำผิดพลาดไม่ได้แปลว่าเราไม่มีความสามารถจริงๆ แต่เราแค่กำลัง ‘คิด’ ว่าเราไม่มีความสามารถ ดังนั้นอย่าเพิ่งคาดหวังว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบ เอาพลังที่เราใช้หมกมุ่นกับความผิดพลาดไปปรับปรุงให้ดีขึ้นในครั้งต่อไปดีกว่า

แยกความแตกต่างระหว่างการคร่ำครวญออกจากการเรียนรู้

          การทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นวิธีที่ดีในการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการคร่ำครวญ ที่ยิ่งทำมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลมากเท่านั้น เราอาจเปลี่ยนวิธีคิด เช่น “การตัดสินใจที่ดีที่สุดตอนนี้คืออะไร” แล้วเริ่มลงมือทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นแผนที่ไร้ที่ติก็ได้ แต่วิธีนี้จะช่วยให้คนที่ชอบความสมบูรณ์แบบได้ก้าวต่อไปจากความกลัวในการทำผิดพลาด

ฝึกจิตให้หลุดพ้น

          เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้ตัวว่ากำลังจะเริ่มคิดมาก ให้เบี่ยงเบนความสนใจทางร่างกายไปทำกิจกรรมอื่นเบาๆ เช่น เคลียร์ Inbox ทำบันทึกรายรับรายจ่าย หรือออกไปเดินเล่น พอทำเสร็จแล้วให้กลับไปทำงานเดิมของคุณก่อนที่จะเริ่มคิดมาก อันที่จริงการฝึกโยคะหรือการทำสมาธิก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เราฝึกฝนจิตใจและทำให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน แทนที่จะคิดเรื่องที่ผ่านมาแล้ว

มองหาข้อผิดพลาดในความคิดของตัวเอง

          บางครั้งการหมกมุ่นกับเรื่องผิดพลาดก็อาจเกิดจากมุมมองของเราที่มีต่อเรื่องนั้นเอง ปัญหาคือเรามักไม่เก่งในการหาข้อผิดพลาดนั้น โดยเฉพาะยิ่งเราอยู่ในช่วงคิดมาก ลองสังเกตดูว่าเราคาดหวังในตัวเองสูงไปหรือเปล่า หรือคาดหวังกับคนอื่นมากเกินไป บางทีเราอาจจะต้องถอยออกมา ให้เวลาได้ตกผลึกสักหน่อยเพื่อให้เราได้เห็นอะไรได้ชัดเจนขึ้น
          บางครั้งการทำผิดพลาดอาจเป็นเรื่องที่น่ารำคาญใจ อย่างไรก็ตามการเรียนรู้จากความผิดพลาดของเราก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน แม้ว่าจะต้องใช้เวลาฝึกฝนเล็กน้อย แต่ก็เป็นสกิลที่ทำให้สุขภาพจิตของเราแข็งแรงขึ้น เพื่อที่เราจะได้แก้ไขการตอบสนองของเราและทำสิ่งต่างๆ ในครั้งต่อไปให้ดีขึ้น 

อ้างอิง

  • นักเขียน : กุลธิดา สิทธิฤาชัย
  • นักวาดภาพประกอบ : banana blah blah
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ a day
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
“ทำไมเราถึงคิดมากกับเรื่องที่ผ่านมาแล้ว” เมื่อความผิดพลาดมากวนใจ จะทำอย่างไรให้มูฟออนต่อไปดี อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2567 เวลา 09:20:58 2,861 อ่าน
TOP