อาการระบบทางเดินอาหาร มีอะไรบ้าง ต้องแก้อย่างไร เรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ !

ใกล้มิตรชิดหมอ

ใกล้มิตรชิดหมอ เพจให้ความรู้คู่สุขภาพกายและจิต เสมือนมีหมอเป็นมิตรอยู่ข้างบ้าน

          สวัสดีวันจันทร์ค่ะ วันนี้จะมาชวนคุยเรื่องคนท้องกันบ้างนะคะ ปัญหาที่พบบ่อยมาก และเป็นปัญหาที่คุณแม่ที่มาฝากครรภ์มักจะบ่นกันบ่อยๆ ก็คือ อาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารค่ะ
อาการระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยในคนท้อง

          อาการในระบบอาหารที่พบบ่อยในคนท้องมีอะไรบ้าง เรามาดูกันค่ะ

#กรดไหลย้อน

          เป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก ประมาณ 70% ของคุณแม่ท้องเลยค่ะ จะเริ่มในช่วงไตรมาสที่ 2 (14-28 สัปดาห์) และแย่ลงในช่วงไตรมาสที่ 3 (หลัง 28 สัปดาห์) สาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารที่กั้นระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารคลายตัว กรดในกระเพาะอาหารจึงสามารถไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารได้ค่ะ
          คุณแม่จะมีอาการแสบร้อนอก เรอเปรี้ยว และคลื่นไส้ อาเจียนเป็นกรดเปรี้ยวๆ ได้ 
          คุณแม่สามารถลดอาการได้ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างค่ะ เช่น รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ หลายมื้อ โดยแทนที่จะทานอาหาร 3 มื้อใหญ่ ก็แบ่งเป็นมื้อย่อยๆ 5-6 มื้อ จะช่วยลดปริมาณอาหารในกระเพาะอาหารในแต่ละมื้อ และช่วยให้อาการของกรดไหลย้อนน้อยลง
          หลังจากรับประทานอาหารก็ควรนั่งตัวตรง ไม่เอน หรือนอนทันที และรับประทานอาหารมื้อเย็นให้ห่างจากช่วงเข้านอน 3 ชั่วโมง
          นอนหนุนหมอนสูงก็จะช่วยให้กรดไหลย้อนได้ยากขึ้นได้ค่ะ 
          การปรับชนิดของอาหารก็ช่วยได้มากนะคะ โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมัน อาหารทอด เพราะจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารผลิตกรดมากขึ้น และอาการอาจแย่ลงได้ และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะเพิ่มการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร
          หากมีอาการเยอะมาก และปรับพฤติกรรมตามที่เขียนข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น คุณแม่สามารถรับประทานยาลดกรดที่สามารถใช้ในคนท้องได้ ซึ่งควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยานะคะ

#ท้องอืด #ท้องเฟ้อ

          เป็นอาการที่พบบ่อยมากกกกก คุณแม่แทบทุกคนที่มาฝากท้องจะบ่นว่ามีอาการท้องอืดในช่วงใดช่วงหนึ่งของการตั้งครรภ์ หมอเองก็เป็นหนักค่ะ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก (ก่อน 14 สัปดาห์) แต่ว่าตามตำราจะพบมากในช่วงไตรมาสที่ 2 และแย่ลงในไตรมาสที่ 3 มากกว่าค่ะ สาเหตุเกิดจากแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้
          คุณแม่จะมีอาการแน่นท้อง อึดอัด บางคนก็เรอบ่อย และรู้สึกเหมือนมีลมในท้อง
          วิธีการดูแลตัวเองเพื่อลดอาการท้องอืด สามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมเช่นกันค่ะ เริ่มจากการรับประทานอาหารช้าๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด (ซึ่งทำได้ยากมากสำหรับหมอเพราะเวลากินน้อยนิด) การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น 
          นอกจากนี้ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น ถั่ว กะหล่ำปลี ก็ช่วยลดอาการและทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้อย่างเหมาะสม
          อีกอย่างที่ไม่ควรละเลย คือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอในคนที่ไม่มีข้อห้าม เพราะการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ลดอาการท้องอืดได้ค่ะ

#ท้องผูก

          อาการต่อมาที่เป็นอาการยอดฮิตไม่แพ้กัน คือ ท้องผูกค่ะ
          สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์เช่นกัน โดยเฉพาะโปรเจสเตอโรนที่ทำให้การบีบตัวของลำไส้ช้าลง อุจจาระจึงค้างในลำไส้นาน ทำให้สูญเสียน้ำและเป็นก้อนแข็ง
          ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง ดื่มน้ำสะอาดมากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอก็ช่วยอาการได้นะคะ 
          ตอนนี้เที่ยงแล้ว อย่าลืมรับประทานอาหารให้ตรงเวลากันนะคะ จะได้ลดอาการที่จะเกิดในระบบทางเดินอาหารกันค่ะ
หมอเมษ์
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ใกล้มิตรชิดหมอ
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการระบบทางเดินอาหาร มีอะไรบ้าง ต้องแก้อย่างไร เรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ ! อัปเดตล่าสุด 25 มิถุนายน 2567 เวลา 17:32:41 3,059 อ่าน
TOP