วัดสวนดอก พระอารามหลวง ไหว้พระเชียงใหม่ พร้อมขอพรพระเจ้าเก้าตื้อ

เที่ยวได้กิน กินได้เที่ยว

Diary แบ่งปันเรื่องราวข้อมูลการเดินทาง ที่กิน ที่เที่ยว และความสุขในที่ต่างๆ ที่เราไป

          วัดสวนดอก วัดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร มาดูกันค่ะว่ามีความสำคัญยังไงบ้าง
วัดสวนดอก เชียงใหม่

          วัดสวนดอก หรือ "วัดบุปผาราม" พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง ในอดีตนั้น!!! เป็นสวนดอกไม้ของเจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์มังราย โดยในปี พ.ศ. 1914 พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังรายทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็น “พระอารามหลวง” เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ “พระมหาเถระสุมน” ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 1 ใน 2 องค์ ที่ “พระมหาเถระสุมน” อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ ใน วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร) 
วัดสวนดอก เชียงใหม่

วัดสวนดอก เชียงใหม่

วัดสวนดอก เชียงใหม่

วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง

  1. ในปี พ.ศ. 2450 พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน 
  1. ในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา
วัดสวนดอก เชียงใหม่

          ภายในวัดยังมีปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่เก่าแก่และสวยงามมากมาย เช่น 

  • พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา เป็นพระเจดีย์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระเจ้าเก้าตื้อ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1914 ในรัชกาลของพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์มังราย โดยโปรดเกล้าให้สร้าง “พระเจดีย์ทรงลังกา” ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาเถระสุมนได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 
          ซึ่งแต่เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์ใหญ่ แต่ได้ปรักหักพังลง ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478
วัดสวนดอก เชียงใหม่

  • พระเจ้าเก้าตื้อ (“ตื้อ” เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง) พระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ แบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย
วัดสวนดอก เชียงใหม่

          - สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง หรือประมาณ 9 พันชั่ง 

          - หน้าตักกว้าง 8 ศอก หรือ 3 เมตร สูง 4.70 เมตร เพื่อเป็นพระองค์ประธานใน วัดพระสิงห์ แต่มีน้ำหนักมากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เป็นพระวิหาร พระราชทานชื่อว่า “วัดเก้าตื้อ” แทน ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา 

วัดสวนดอก เชียงใหม่

วัดสวนดอก เชียงใหม่

วัดสวนดอก เชียงใหม่

  • พระพุทธปฏิมาค่าคิง เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง สร้างในสมัยพระเจ้ากือนา พ.ศ. 1916
          - หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดเท่าพระวรกายของพระเจ้ากือนา 
          - หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.5 เมตร
วัดสวนดอก เชียงใหม่

  • ธรรมาสน์เทศนาแบบล้านนา
  • กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ คือ กลุ่มกู่บรรจุพระอัฐิเจ้านายฝ่ายเหนือ นับตั้งแต่พระเจ้ากาวิละ ต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ เป็นต้นมา รวมทั้งเจ้านายผู้ครองนครเชียงใหม่ 
          ลักษณะกู่เป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมทรงปราสาทขนาดเล็กสร้างอยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีการวางผังและจัดระเบียบอย่างสวยงาม ปัจจุบัน กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ได้ถูกจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร

นอกจากนี้ที่วัดนี้ ยังมีประเพณีประจำปีซึ่งจัดขึ้นทุกปี ได้แก่

วัดสวนดอก เชียงใหม่

  • ประเพณีทำบุญสลากภัต ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนเกี๋ยงเหนือ เดือน 11 
  • ประเพณีตั้งธรรมหลวง หรือฟังเทศน์มหาชาติ หลังออกพรรษาแล้วทุกปี
  • ประเพณีทำบุญสรงน้ำพระบรมธาตุ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
วัดสวนดอก เชียงใหม่

วัดสวนดอก เชียงใหม่

บรรยากาศโดยรอบพระวิหาร

  • พิกัด : 139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
  • เปิดบริการ : เปิดให้เข้าชม : 05.00-21.00 น.
  • เบอร์ติดต่อ : 053-278304
  • เบอร์มือถือ : 090-2247220
  • แผนที่ : https://maps.app.goo.gl/5D6e6UdRZbpKHevf6
          สนุกกับการเที่ยว สนุกกับการกิน ในแบบฉบับของตัวเองน๊าา  
          งดนำภาพไปใช้ทุกกรณี ก่อนได้รับอนุญาตน๊าาา
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ เที่ยวได้กิน กินได้เที่ยว
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัดสวนดอก พระอารามหลวง ไหว้พระเชียงใหม่ พร้อมขอพรพระเจ้าเก้าตื้อ อัปเดตล่าสุด 10 กันยายน 2567 เวลา 17:13:36 4,123 อ่าน
TOP