ไข้หวัดมะเขือเทศ คืออะไร รู้จักโรคระบาดในเด็กเล็กที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง

ใกล้มิตรชิดหมอ

ใกล้มิตรชิดหมอ เพจให้ความรู้คู่สุขภาพกายและจิต เสมือนมีหมอเป็นมิตรอยู่ข้างบ้าน

          ลัดมาที่โรคที่กำลังเป็นที่จับตามองทั่วโลกกันนะคะ กับ #โรคหวัดมะเขือเทศ หรือ #Tomato_flu ที่กำลังระบาดในประเทศอินเดียอยู่ในขณะนี้ (บทความนี้ โพสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ส.ค.65)
ไข้หวัดมะเขือเทศ

          โดยการระบาดครั้งนี้เกิดในรัฐ Kerala ในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ซึ่งในช่วงแรกที่มีการระบาดก็คาดเดาว่าน่าจะเป็นการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่าไม่ได้เกิดจากสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด แต่จากการแยกสารพันธุกรรมพบว่ามีสาเหตุมาจาก Coxsackie A16 ที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก นั่นเอง 

          โรคหวัดมะเขือเทศ ถูกรายงานว่าพบผู้ป่วยครั้งแรกที่จังหวัด Kollam รัฐ Karela เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็มีรายงานว่าพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้แล้วมากกว่า 82 คน โดยทั้งหมดอายุน้อยกว่า 5 ขวบ และตอนนี้ก็มีรายงานว่าพบผู้ป่วยจากรัฐอื่นๆ เช่นกัน 

          โดยที่ตัวโรคทั่วไปไม่ได้อันตรายถึงชีวิต และสามารถหายเองได้ 

          อาการของโรคหวัดมะเขือเทศจะคล้ายคลึงกับโรค chikungunya คือมีไข้สูง ผื่น และปวดตามข้ออย่างมาก โดยสาเหตุที่เรียกว่า ไข้หวัดมะเขือเทศเพราะว่าผู้ป่วยจะตัวแดงจากตุ่มน้ำที่ค่อยๆ โตขึ้นทั่วร่างกายซึ่งทำให้รู้สึกเจ็บ และระคายเคือง

          ลักษณะของตุ่มน้ำที่พบจะคล้ายกับตุ่มน้ำในโรคฝีดาษลิง (monkeypox virus) ที่เกิดในคนอายุน้อย 

          นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว มีภาวะขาดน้ำ ข้อบวม ปวดตามตัว คล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก 

          ถ้าหากเด็กๆ มีอาการเหล่านี้ก็แนะนำว่า ควรตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยาเพิ่มเติมเพื่อแยกโรคไข้เลือดออก, chikungunya, โรคไวรัสซิก้า, โรคสุกใส และเริม ซึ่งถ้าหากไม่ใช่โรคที่กล่าวถึงทั้งหมด ก็ควรสงสัยว่าอาจจะเป็นไข้หวัดมะเขือเทศ 

          การรักษาจะไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ แต่เป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่

          1. แยกผู้ป่วยออกจากคนอื่นๆ เนื่องจากติดต่อกันง่ายมาก โดยควรแยกตัว 5-7 วันหลังจากเริ่มมีอาการ
          2. พักผ่อนให้เพียงพอ
          3. ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงขาดน้ำ 
          4. เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อทำให้เกิดอาการคันน้อยลง  
          5. ให้ยาตามอาการ 

          สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงภาวะแทรกซ้อนในระยะสั้นและระยะยาว เราคงต้องรอการรวบรวมข้อมูลต่อไป แนะนำทุกครอบครัวติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดนะคะ 

          หมอเมษ์

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ใกล้มิตรชิดหมอ
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไข้หวัดมะเขือเทศ คืออะไร รู้จักโรคระบาดในเด็กเล็กที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2565 เวลา 17:36:33 1,868 อ่าน
TOP