รู้หรือไม่ ! อลาสก้า เคยเป็นของรัสเซีย แต่ถูกขายให้สหรัฐอเมริกา

ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา

เพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่ารู้ต่างๆ ทั่วโลก เพราะประวัติศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

          เหตุผลที่รัสเซียขาย “อลาสก้า (Alaska)” ให้สหรัฐอเมริกา
อลาสก้า

          หลายคนที่ไม่ทราบอาจจะคิดว่า “อลาสก้า (Alaska)” เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่แรก หากแต่คนที่เพิ่งทราบอาจจะแปลกใจ หากทราบว่าแต่เดิมนั้น อลาสก้าเป็นดินแดนของประเทศที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในคู่อริกับสหรัฐอเมริกา
          นั่นคือ “รัสเซีย”
          ในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1867 (พ.ศ.2410) ดินแดน “Аляска” ซึ่งเป็นดินแดนของรัสเซีย ได้ถูกขายให้แก่สหรัฐอเมริกาในราคา 7.2 ล้านดอลลาร์ หรือคิดตามค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 111 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,900 ล้านบาท)
          เงินจำนวนนี้ ถึงแม้จะมองจากมุมมองในปัจจุบัน ก็ยังถือว่าน้อยมากอยู่ดีเมื่อเทียบกับดินแดนอลาสก้าอันกว้างใหญ่ โดยเฉพาะหากพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของจักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire) ในเวลานั้น
          ดังนั้นคำถามสำคัญก็คือ
เหตุใดรัสเซียจึงต้องขายอลาสก้าให้สหรัฐอเมริกา
          เราลองมาพิจารณาจากเหตุผลและปัจจัยต่างๆ กันครับ
          ต้องบอกว่ารัสเซียในเวลานั้น เป็นประเทศที่ไม่เคยห่างเหินจากการสงคราม โดยรัสเซียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งแน่นอนว่าการมีดินแดนขนาดใหญ่เช่นนี้ ความขัดแย้งและความรุนแรงย่อมเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง
          หากแต่ต้นทุนของการทำสงครามก็ไม่ใช่ถูกๆ แม้แต่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เช่นรัสเซีย โดยเฉพาะหลังจากสงครามไครเมีย (Crimean War) ซึ่งดำเนินไประหว่างค.ศ.1853-1856 (พ.ศ.2396-2399)
          รัสเซียล้มเหลวในการแผ่อำนาจเหนือจักรวรรดิอ็อตโตมัน และเศรษฐกิจของรัสเซียก็กำลังอยู่ในช่วงวิกฤต
          ผลจากสงครามนี้ทำให้รัสเซียแทบหมดตัว และต้องสูญเสียอำนาจและอิทธิพลต่างๆ ไปอีกมาก ทำให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะย่ำแย่ และพระเจ้าซาร์ก็จำเป็นต้องหาเงินอย่างเร่งด่วนเพื่อมาปรับปรุงประเทศ
          ในเวลานั้น อลาสก้าเป็นดินแดนต่างชาติหนึ่งเดียวที่อยู่ใต้การครอบครองของรัสเซีย และถึงแม้อลาสก้าจะสร้างความยิ่งใหญ่ให้รัสเซียในฐานะ “เจ้าอาณานิคม” หากแต่เงินทุนที่ใช้ในการดูแลปกป้องอลาสก้าก็ไม่ใช่น้อยๆ และหลายคนก็มองว่านี่เป็นการเสียเงินที่เปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะในเวลาที่เงินกำลังฝืดเคืองเช่นนี้
          ในที่สุด พระเจ้าซาร์ก็ทรงตัดสินพระทัยว่าอลาสก้านั้นไม่จำเป็น และคำถามสำคัญก็คือ
          “รัสเซียควรขายอลาสก้าให้ใคร?”
          รายชื่อออกมาสองประเทศ
  1. สหราชอาณาจักร
  2. สหรัฐอเมริกา
          สำหรับสหราชอาณาจักรนั้น หากจะขายอลาสก้าให้สหราชอาณาจักร ปัญหานั้นมีสองข้อ
          ข้อแรกก็คือ ในเวลานั้น รัสเซียและสหราชอาณาจักรเป็นชาติที่ไม่ถูกกัน
          ในช่วงสงครามไครเมีย สหราชอาณาจักรเป็นชาติแรกๆ ที่พยายามจะจำกัดอำนาจของรัสเซีย และสุดท้าย สหราชอาณาจักรก็ได้ไปเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิอ็อตโตมัน
          ดังนั้นการขายอลาสก้าให้สหราชอาณาจักร ก็คงไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไร
          ข้อที่สอง ต่อให้รัสเซียและสหราชอาณาจักรไม่ได้มีปัญหากัน แต่สหราชอาณาจักรก็ไม่ได้คิดจะมองหาดินแดนในแปซิฟิกเพิ่มเติมอีกแล้ว
          ลำพังแคนาดาซึ่งในเวลานั้นอยู่ใต้อำนาจของสหราชอาณาจักร ก็ปกครองยากอยู่แล้ว อีกทั้งแนวชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตกของแคนาดาก็เปิดทางให้เข้าสู่แปซิฟิกได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมีดินแดนในแปซิฟิกเพิ่ม
          ดังนั้นตัวเลือกที่เหลือก็เหลือเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ “สหรัฐอเมริกา”
          ในเวลานั้น รัสเซียและสหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรกัน และทั้งสองชาติต่างก็ไม่ถูกกับสหราชอาณาจักร ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงดูจะเป็นลูกค้าที่เหมาะที่สุดสำหรับรัสเซีย
          แต่ปัญหาก็คือในช่วงเวลานั้น สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงเวลาของสงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War) ซึ่งดำเนินไประหว่างค.ศ.1861-1865 (พ.ศ.2404-2408)

          แต่ต่อมาเมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย สหรัฐอเมริกาก็เริ่มจะมั่นคง เหมาะสมที่จะเริ่มเจรจาเรื่องการซื้อขายดินแดนอลาสก้า

          เมื่อเป็นเช่นนี้ รัสเซียจึงส่งกลุ่มนักสำรวจเข้าไปในอลาสก้าเพื่อสำรวจและหาทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงอะไรก็ตามที่อาจจะมีค่ามีราคา และทำการประเมินมูลค่าดินแดน
          ทีมนักสำรวจได้ตีราคาดินแดนอลาสก้าอยู่ที่ 10 ล้านดอลลาร์ หากแต่ในเวลานั้น ชาวรัสเซียจำนวนมากก็คัดค้าน ไม่เห็นด้วยที่จะขายอลาสก้าให้สหรัฐอเมริกา คิดว่าเพียงควรจะปรับปรุงระบบการบริหารดีกว่า
          หากแต่พระเจ้าซาร์ก็ไม่ทรงรับฟังคำแนะนำของเหล่านักสำรวจ และเริ่มเจรจากับสหรัฐอเมริกา
          ภายหลังจากเจรจา ทั้งสองชาติก็ตกลงกันที่ราคา 7.2 ล้านดอลลาร์ หรือ 111 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,900 ล้านบาท) ตามค่าเงินปัจจุบัน และในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1867 (พ.ศ.2410) การเจรจาก็บรรลุผล และทำให้อลาสก้ากลายเป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกา
          หากลองดูมูลค่าของอลาสก้าในปัจจุบัน จะเห็นว่าราคาซื้อขายอลาสก้าในเวลานั้นถือว่าถูกมาก โดยในปัจจุบัน อลาสก้าสร้างรายได้ให้สหรัฐอเมริกามหาศาลในแต่ละปี เนื่องจากอลาสก้ามีเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก อีกทั้งในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็เกิดการตื่นทอง (Gold Rush) ทำให้อลาสก้ายิ่งกลายเป็นดินแดนที่สร้างผลประโยชน์มหาศาล

          เรียกได้ว่านี่คือการลงทุนที่แสนคุ้มค่าสำหรับสหรัฐอเมริกา แต่ไม่รู้ว่ารัสเซียจะเสียใจทีหลังหรือเปล่า

References:

ต้นฉบับ:

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้หรือไม่ ! อลาสก้า เคยเป็นของรัสเซีย แต่ถูกขายให้สหรัฐอเมริกา อัปเดตล่าสุด 23 มิถุนายน 2566 เวลา 16:02:50 11,866 อ่าน
TOP