ชาวไวกิ้ง (Vikings)

“ชาวไวกิ้ง (Vikings)” ซึ่งได้ล่องเรือมาจากสแกนดิเนเวียตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 คือกลุ่มคนที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ยุโรปไปตลอดกาล
ไม่ว่าจะเป็นการรุกรานพื้นที่ต่างๆ อย่างป่าเถื่อน การขยายขอบเขตเส้นทางการค้าออกไปอย่างกว้างไกล หรือการขยายขอบเขตการสำรวจพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ชาวไวกิ้งเป็นที่รู้จัก สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมาก
บทความนี้เราจะมาดูกันว่าชาวไวกิ้ง พวกเขานั้นเป็นใครกันแน่
เมื่อพูดถึงชาวไวกิ้ง ภาพจำที่ทุกคนนึกถึงก็คือกลุ่มนักรบป่าเถื่อนผู้โหดเหี้ยม ภาพจำที่ทุกคนเห็นจากภาพยนตร์หรือตามสื่อต่างๆ ก็คือกลุ่มคนป่าเถื่อนที่ไม่ศิวิไลซ์ซักเท่าไร
ชาวไวกิ้งนั้นไม่ได้มีการจัดทำหรือเก็บบันทึกไว้มากมายนัก ข้อมูลเกี่ยวกับมุมมองของชาวไวกิ้งที่มีต่อตนเองหรือข้อมูลว่าชาวไวกิ้งมีการติดต่อกับใคร จึงไม่ค่อยมีนัก ข้อมูลต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นบันทึกของบุคคลที่เป็นเหยื่อจากการถูกชาวไวกิ้งรุกราน
บันทึกแรกที่กล่าวถึงชาวไวกิ้ง เกิดขึ้นบนเกาะลินดิสฟาร์น (Lindisfarne) ในดินแดนที่ปัจจุบันคืออังกฤษ และเป็นที่ตั้งของอารามห่างไกล ผู้คนในที่นั้นก็เบาบาง และส่วนมากคือนักบวชกับชาวบ้าน
ในยุคนั้น โบสถ์และศาสนสถานคือสถานที่ไม่กี่แห่งที่ใช้เป็นสถานที่เก็บสมบัติต่างๆ
นั่นเท่ากับว่าเกาะนี้เป็นเกาะที่เต็มไปด้วยทรัพย์สมบัติ ผู้ที่ดูแลก็มีแค่นักบวชและชาวนาชาวไร่ ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้ชาวไวกิ้งจ้องมาตาเป็นมัน

ในปีค.ศ.739 (พ.ศ.1282) กองทัพไวกิ้งได้บุกรุกรานเกาะ ทำลายสถานที่ต่างๆ มากมาย ผู้คนถูกฆ่าเป็นจำนวนมาก ที่เหลือรอดก็ถูกจับเป็นทาส
การรุกรานลินดิสฟาร์นนับเป็นจุดเริ่มต้นของความเกี่ยวพันระหว่างไวกิ้งและหมู่เกาะบริติช และการรุกรานจากชาวไวกิ้งก็มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และโหดเหี้ยมขึ้นเรื่อยๆ
การยึดครองดินแดนต่างๆ ของชาวไวกิ้งในอังกฤษดำเนินต่อไปเป็นเวลากว่า 200 ปี จนกระทั่งภัยคุกคามจากไวกิ้งถูกทำลายอย่างยับเยินในยุทธการที่สแตมฟอร์ดบริดจ์ (Battle of Stamford Bridge) ในปีค.ศ.1066 (พ.ศ.1609)

หลายคนอาจจะคิดว่าอิทธิพลของไวกิ้งนั้น น่าจะมาจากแค่ความป่าเถื่อนโหดร้าย หากแต่อันที่จริง "การค้า" ก็เป็นสิ่งสำคัญ
มีการตั้งสถานีการค้าขึ้นในบริเวณรอบๆ ยุโรปเหนือ และพ่อค้าชาวไวกิ้งก็มักจะทำการค้า แลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ เช่น ขนสัตว์ ไม้ซุง และทาส
เมืองต่างๆ ในยุโรป เช่น ดับลิน นอฟโกรอด หรือเคียฟ ก็สามารถย้อนอดีตกลับไปและพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับชาวไวกิ้ง
แต่ชาวไวกิ้งก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ยุโรป หากแต่ยังทำการค้าไปไกลถึงจักรวรรดิไบแซนไทน์ และไปไกลถึงโลกมุสลิมในตะวันออกกลาง
นอกจากเรื่องการค้าแล้ว ก็มาถึงเรื่อง "การสำรวจ"
ด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านการเดินเรือ ทำให้ชาวไวกิ้งสามารถล่องเรือผ่านไอร์แลนด์ และมาถึงไอซ์แลนด์และกรีนแลนด์ในเวลาต่อมา
ในช่วงที่ชาวไวกิ้งมาเยือนไอซ์แลนด์ในสมัยศตวรรษที่ 9 ไอซ์แลนด์ยังเป็นเพียงเกาะรกร้าง ก่อนจะเติบโต เริ่มมีคนเข้ามาตั้งรกราก
หากแต่ความสำเร็จที่เป็นที่สุดสำหรับไวกิ้ง ก็คือการบุกไปตั้งรกรากถึงอเมริกาเหนือ ซึ่งถึงแม้ประวัติศาสตร์ส่วนนี้จะยังไม่แน่ชัด หากแต่นักประวัติศาสตร์หลายรายก็ยืนยันว่าชาวไวกิ้ง คือชาวยุโรปรายแรกที่มาถึงอเมริกาเหนือ
อาจจะเรียกได้ว่ามรดกของชาวไวกิ้งที่มีต่อประวัติศาสตร์ ก็คือการที่ไวกิ้งนั้นสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ของยุคกลาง
และถึงแม้การรุกรานของชาวไวกิ้งจะเป็นสิ่งที่โหดเหี้ยมและน่าหดหู่ หากแต่ไวกิ้งก็ทำให้อาณาจักรต่างๆ เช่น ฝรั่งเศสและอังกฤษ ทำการรวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่น และมีการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง
และการรุกรานของชาวไวกิ้ง ก็ทำให้แต่ละดินแดนต้องปรับปรุงกองทัพ พัฒนาให้มีความแข็งแกร่ง
เมื่อมาถึงศตวรรษที่ 11 อิทธิพลของชาวไวกิ้งก็เริ่มเสื่อมถอย ผู้นำชาวไวกิ้งหลายรายก็หันมานับถือศาสนาคริสต์ หลายรายก็กลืนกลายเป็นประชาชนของดินแดนที่ตนเคยรุกราน
"นอร์มังดี (Normandy)" ซึ่งเป็นดินแดนทางเหนือของฝรั่งเศส ได้ตกสู่มือของ "รอลโล (Rollo)" ในสมัยศตวรรษที่ 10 ซึ่งรอลโลก็คือชาวไวกิ้งซึ่งได้กลายเป็นผู้ปกครองรายแรกของนอร์มังดี
"พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ (William the Conqueror)" กษัตริย์นอร์มังดีพระองค์แรกของอังกฤษ ก็เป็นเชื้อสายของรอลโล ซึ่งพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ก็ได้ยกทัพยึดครอง และปกครองดินแดนอังกฤษทั้งหมด
เมืองต่างๆ ในอังกฤษและภาษาอังกฤษบางคำก็มีความเกี่ยวพันกับไวกิ้ง
จะเห็นได้ว่าชาวไวกิ้งนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ความเหี้ยมโหดเท่านั้น หากแต่ในมุมอื่น ยังมีเรื่องของการค้าและการสำรวจอีกด้วย
และนี่ก็คือเรื่องราวของชาวไวกิ้งที่มีต่อประวัติศาสตร์
References :
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่