“นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” วีรบุรุษหรือทรราช?
นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napolean bonaparte)
“นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” ชื่อนี้คนที่รักประวัติศาสตร์รู้จักเป็นอย่างดี
เขาเป็นรัฐบุรุษและผู้นำทหารชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และจนถึงทุกวันนี้ หลายคนก็ยังกล่าวถึงเรื่องของเขา แต่คำถามสำคัญที่หลายคนมักยกขึ้นมาดีเบต โต้เถียงกัน นั่นก็คือ
เขาเป็นวีรบุรุษหรือทรราช?
ในบทความนี้ เราลองมาหาคำตอบกันครับ
ในช่วงที่เรืองอำนาจนั้น นโปเลียนได้นำความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาสู่ฝรั่งเศส ซึ่งก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี เราลองมาดูแต่ละด้านกันดีกว่าครับ
เริ่มจากด้านดีหรือผลทางด้านบวกที่เกิดจากนโปเลียน
ในช่วงที่เรืองอำนาจ นโปเลียนได้ก่อการปฏิรูปหลายๆ ด้าน ซึ่งหลายๆ ด้านก็ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้
เขาจัดการให้มีการรวมอำนาจรัฐบาลเข้าสู่ศูนย์กลาง มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีการปฏิรูปการศึกษา และทำให้เศรษฐกิจของฝรั่งเศสมั่นคง
ในปีค.ศ.1804 (พ.ศ.2447) มีการจัดทำ “ประมวลกฎหมายนโปเลียน (Napoleonic Code)” ซึ่งได้มีการยกเลิกกฎหมายระบอบฟิวดัลแบบเก่า และทำให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสมีความเท่าเทียมมากขึ้น
ประมวลกฎหมายนี้ยังมีอิทธิพลต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศอื่นๆ นอกยุโรป และจนถึงทุกวันนี้ ประมวลกฎหมายนโปเลียนก็เป็นเหมือนรากฐานของกระบวนการยุติธรรมยุคใหม่ในฝรั่งเศส
นอกจากนั้น นโปเลียนยังส่งเสริมการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย โดยครั้งที่โดดเด่นที่สุด ก็เมื่อคราวนโปเลียนยกทัพไปอียิปต์
ในคราวนั้น นโปเลียนสั่งให้นำบัณฑิตและนักวิทยาศาสตร์ติดตามไปด้วยกว่า 150 คน และสั่งให้ทำการสำรวจและศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของอียิปต์ และการยกทัพไปอียิปต์ครั้งนี้ ก็ทำให้มีการค้นพบ “ศิลาโรเซตตา (Rosetta Stone)” ซึ่งเป็นศิลาจารึกตั้งแต่โบราณของอียิปต์
ที่โดดเด่นที่สุดของนโปเลียน ก็คือ “ความสำเร็จทางการทหาร”
นโปเลียนนั้นมีสถิตินำทัพฝรั่งเศสชนะสงครามกว่า 52 ครั้ง และเป็นผู้นำไม่กี่รายที่ได้รับความนับถือจากลูกน้องอย่างสูง และสร้างความหวาดกลัวให้ศัตรู
เมื่อมีด้านดีแล้ว ลองมาดูข้อมูลด้านที่ไม่ดีกันบ้างครับ
เริ่มแรก ประมวลกฎหมายนโปเลียน ถึงแม้จะดี แต่ก็ถูกโจมตีว่าละเลยสิทธิสตรี
“เอลิซาเบธ โมเรโน (Elisabeth Moreno)” นักการเมืองชาวฝรั่งเศส ได้พูดถึงนโปเลียนว่าเป็น “หนึ่งในคนที่เหยียดเพศที่สุดคนหนึ่งบนโลก” โดยพิจารณาจากข้อกฎหมายของนโปเลียนที่กดขี่สตรี
นอกจากนั้น นโปเลียนยังถูกโจมตีว่าจะนำระบอบทาสมาใช้ในเกาะมาร์ตินีค (Martinique) ในปีค.ศ.1802 (พ.ศ.2345) ถึงแม้ว่าระบอบทาสในดินแดนนี้จะถูกยกเลิกไปตั้งแต่คราวปฏิวัติฝรั่งเศสแล้วก็ตาม
นโปเลียนได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิในปีค.ศ.1804 (พ.ศ.2347) ภายหลังจากทำรัฐประหารในปีค.ศ.1799 (พ.ศ.2342) ทั้งๆ ที่การปฏิวัติฝรั่งเศส ก็เพื่อจะล้มล้างระบอบกษัตริย์
ต่อมา นโปเลียนก็พ่ายแพ้ในคราวยุทธการที่ปารีส (Battle of Paris) ในปีค.ศ.1814 (พ.ศ.2357) ทำให้นโปเลียนต้องสละราชสมบัติ และถูกเนรเทศไปอยู่เกาะเอลบา
นโปเลียนได้กลับมาฝรั่งเศสอีกครั้งเมื่อต้นปีค.ศ.1815 (พ.ศ.2358) และได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิอีกครั้ง ก่อนที่จะพ่ายแพ้ในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) ในปีเดียวกัน
การนำทัพของนโปเลียน ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าหกล้านคน บาดเจ็บอีกนับล้าน
ผู้คนเริ่มเสื่อมศรัทธาในนโปเลียน โดยในขณะที่นโปเลียนไปโฟกัสที่การรุกรานดินแดนอื่น แต่ปัญหาหนักจริงๆ คือปัญหาในประเทศ
นโปเลียนนั้นต้องการจะเป็นอย่าง “จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)” รัฐบุรุษชาวโรมัน โดยนโปเลียนมักจะใช้อำนาจในฐานะจักรพรรดิ พระราชทานรางวัลแก่ลูกน้องและคนใกล้ชิด รวมทั้งครอบครัวตนเอง สร้างประโยชน์ให้คนใกล้ตัว ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ทรราชหลายรายทำ
จนถึงทุกวันนี้ หัวข้อที่ว่านโปเลียนเป็นวีรบุรุษหรือทรราช ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียง
หากไม่มีเขา ทัพศัตรูก็อาจจะลบฝรั่งเศสออกจากแผนที่โลกไปแล้วก็เป็นได้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาก็คือมนุษย์คนหนึ่ง มีการแสวงประโยชน์เพื่อตนและพวกพ้อง
สุดท้ายแล้วเขาจะเป็นอะไร คงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน
References:
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตาม
กติกา สามารถคลิก
แจ้งปัญหาได้ที่นี่