“อิหร่าน” คือหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจที่สุดประเทศหนึ่ง

อิหร่านเป็นประเทศที่มีความเป็นมายาวนาน ประวัติศาสตร์นับพันปี หากแต่ในปัจจุบัน เรื่องราวความขัดแย้งในประเทศและกองทัพ ทำให้ภาพลักษณ์เหล่านี้เลือนลงไปบ้าง
และสิ่งที่หลายคนอาจจะไม่รู้ก็คือ ก่อนจะเป็นชื่อ “อิหร่าน” ดินแดนอิหร่านนั้นเป็นที่รู้จักในนามของ “เปอร์เซีย”
“จักรวรรดิเปอร์เซีย (Persian Empire)” เป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน และเพิ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็น “อิหร่าน” เมื่อปีค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) นี้เอง
แต่อันที่จริง การเปลี่ยนชื่อนี้ก็เพื่อจะให้โลกตะวันตกเรียกและเข้าใจอิหร่านแบบเดียวกับชื่อของประชากรที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้ เพราะตามข้อเท็จจริง ชาวอิหร่านเรียกดินแดนของตนว่า “อิหร่าน” ตั้งแต่เมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว
เราลองมาดูเรื่องราวนี้กันครับ
หลายคนที่สนใจประวัติศาสตร์ น่าจะพอรู้เรื่องของจักรวรรดิเปอร์เซียมาบ้าง หรือต่อให้ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ ก็น่าจะเคยได้ยินเรื่องราวของจักรวรรดินี้ผ่านทางสื่อต่างๆ
แต่หลายคนนั้นไม่ทราบว่าอิหร่านนั้น แท้ที่จริงก็คือจักรวรรดิเปอร์เซียนี่เอง
จักรวรรดิเปอร์เซียนี้มีประวัติความเป็นมายาวนานนับพันปี มีการกล่าวถึงดินแดนนี้ในพันธสัญญาเดิม โดยกล่าวว่าเปอร์เซียอยู่ใต้การปกครองของ “พระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great)” และอีกหนึ่งกษัตริย์ที่โดดเด่น ก็คือ “พระเจ้าดาเรียสมหาราช (Darius the Great)”
จากนั้นเปอร์เซียก็มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ปกครองเรื่อยมา มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจหลายครั้ง
ส่วนคำถามที่ว่า เปอร์เซียกลายเป็นอิหร่านตั้งแต่เมื่อใด ก็ต้องบอกก่อนว่าชาวอิหร่านนั้น เรียกบ้านเกิดของตนว่า “อิหร่าน” มาตั้งแต่ 1,000 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว แสดงให้เห็นว่าดินแดนนี้เรียกว่าอิหร่านก่อนเปอร์เซีย
ในเวลานั้น อิหร่านเป็นที่รู้จักในฐานะของ “ดินแดนแห่งชาวอารยัน”
แต่เนื่องจากกรีซเรียกดินแดนแถบนี้ว่า “เปอร์เซีย” เมื่อราวปีค.ศ.550 (พ.ศ.1093) โลกตะวันตกจึงไม่รู้จักนามของอิหร่าน กว่าจะรู้ก็ปาเข้าไปสมัยศตวรรษที่ 20
ในที่สุด ค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) รัฐบาลอิหร่านก็ได้ประกาศให้ชาติตะวันตกทั้งหมดเรียกเปอร์เซียว่า “อิหร่าน” และตั้งแต่นั้น เปอร์เซียก็เป็นที่รู้จักในนามของ “อิหร่าน” เรื่อยมา และถึงแม้จะมีเหตุการณ์ในประเทศที่ทำให้เปลี่ยนชื่อเรียกอีกครั้ง แต่คนก็เรียกว่าอิหร่านติดปากเรื่อยมา
สำหรับบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนชื่อประเทศ ก็คือ “พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี (Reza Shah)” ผู้ปกครองอิหร่านในเวลานั้น
และสำหรับสาเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนชื่อ หลายคนก็กล่าวว่าอันที่จริง มาจากความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับเยอรมนี
ในปีค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) การทูตอิหร่านในเยอรมนีนั้นตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลทหารเยอรมัน และจุดประสงค์ในการเปลี่ยนชื่อประเทศ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าอิหร่านกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่
การเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นอิหร่าน ซึ่งมีความหมายว่า “ดินแดนแห่งชาวอารยัน” ก็เป็นการแสดงให้โลกเห็นว่าอิหร่านนั้นอยู่ข้างฝ่ายใด
ก่อนปีค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) อิหร่านนั้นตกอยู่ใต้อิทธิพลของสหราชอาณาจักรและสหภาพโซเวียต โดยทั้งสองชาติมักจะแทรกแซงกิจการภายในอิหร่าน และชาวอิหร่านก็โทษว่าทั้งสองชาตินี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง
การที่เปลี่ยนชื่อเป็นอิหร่าน ก็เป็นการส่งสัญญาณให้ชาติตะวันตกรู้ว่าอิหร่านไม่ต้องการจะข้องเกี่ยวกับชาติตะวันตกอื่นๆ และในเวลาต่อมา ก็มีจดหมายจากทางการอิหร่าน เรียกร้องให้ทุกชาติที่อิหร่านมีความสัมพันธ์ทางการทูต เรียกชาติตนว่า “อิหร่าน”
จากนั้น เปอร์เซียก็ได้กลายเป็นอิหร่านจนถึงทุกวันนี้
ในทีแรก หลายคนก็ยังไม่ชินนักที่จะเรียกเปอร์เซียว่าอิหร่าน หลายคนก็เกิดความสับสน ก่อนจะเรียกกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา และในศตวรรษที่ 20 นี้เอง อิหร่านก็ต้องพบเจอกับความยุ่งยากทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง
หากย้อนกลับไปหลายร้อยปีก่อน ตั้งแต่อิหร่านยังเป็นเปอร์เซีย ชาติตะวันตกไม่ค่อยสนใจอิหร่านเท่าใดนัก จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อมีการขุดพบน้ำมันในเปอร์เซีย สหภาพโซเวียตและสหราชอาณาจักรจึงให้ความสนใจในดินแดนแถบนี้
ในปีค.ศ.1953 (พ.ศ.2496) สหรัฐอเมริกาก็เริ่มเข้ามาแสวงประโยชน์ในธุรกิจน้ำมันในอิหร่าน ก่อนที่ต่อมา อิหร่านจะยึดธุรกิจน้ำมันทั้งหมดและแปรรูปให้เป็นกิจการของรัฐ
การกระทำของรัฐบาลสร้างความไม่พอใจให้สหราชอาณาจักรเป็นอย่างมาก เนื่องจากสหราชอาณาจักรมีผลประโยชน์ในธุรกิจน้ำมันในอิหร่านมหาศาล สหราชอาณาจักรจึงหันไปจับมือกับสหรัฐอเมริกา ร่วมกันโค่นล้มนายกรัฐมนตรีอิหร่าน และขยายอำนาจเข้าไปในประเทศ
แต่ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซียหรืออิหร่าน ก็คือดินแดนเดียวกัน เพียงแต่ความรู้สึกอาจจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง
หากพูดถึงเปอร์เซีย หลายคนจะนึกถึงความรุ่งเรือง มั่งคั่ง ดินแดนที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม รุ่งเรืองวรรณกรรม และเป็นจักรวรรดิที่ทรงอำนาจ
แต่เมื่อพูดถึงอิหร่าน หลายคนจะนึกถึงกลุ่มก่อการร้าย ความไม่สงบในประเทศ ความวุ่นวายทางการเมือง
และนี่ก็คือประวัติศาสตร์บทหนึ่งของดินแดนหนึ่งในตะวันออกกลาง
References:
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่