ส่องการทำนาดำ วิถีชีวิตชาวนาแบบดั้งเดิมที่ร้อยเอ็ด อีสานบ้านเฮา

iTha พาไป

ผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยว ทำอาหาร ไปร้านกาแฟ ช้อปปิ้ง นอนพักผ่อนดูซีรีส์จีน ซีรีส์เกาหลี หาความรู้ด้านหุ้นและการลงทุน รวมถึงติดตามประเด็นที่น่าสนใจในโซเชียล

          การปลูกข้าว ทำนาแบบนาดำ มีขั้นตอนอะไรบ้าง แบบนาดำ กับนาหว่าน หรือนาหยอดต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะพาไปดูวิถีชีวิตชาวนาที่ร้อยเอ็ด ว่าการทำนาเพื่อให้ได้เม็ดข้าวหอม ๆ นุ่ม ๆ อร่อย ๆ ต้องทำยังไงบ้าง
ทำนา

ช่วงรอให้ต้นข้าวออกรวง

          การปลูกข้าว ทำนา ยากไหม ลำบากขนาดไหน ใคร ๆ ก็ทำได้จริงหรือ ? ชีวิตและวิถีของชาวนามีอะไรน่าสนใจ วันนี้เราจะพาไปรู้จักการทำนาปลูกข้าวและวิถีชีวิตชาวนาที่ร้อยเอ็ด อีสานบ้านเราเองค่ะ โดยจะมารีวิวตั้งแต่ขั้นตอนแรกเตรียมดิน การหว่านต้นกล้า การดำนา ช่วงรอผลผลิต และเก็บเกี่ยว 

ปลูกข้าวแบบนาดำ กับ นาหว่าน ต่างกันอย่างไร

ทำนา

แปลงนี้จะเป็นนาหว่าน

          สำหรับการทำนา ปลูกข้าวในพื้นที่แถวบ้าน ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ณ ปัจจุบันจะเห็นทั้งการทำงานแบบนาหว่าน นาหยอด และนาดำ แต่ที่บ้านเราจะใช้วิธีการปลูกข้าวนาดำ ซึ่งเป็นวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย ทวด นะคะ ที่บ้านจะไม่ทำนาหว่าน เนื่องจากแม่บอกว่าจะได้ผลผลิตที่ดีกว่าการหว่าน หลังการปลูกข้าวเสร็จ ระหว่างที่รอให้ข้าวโต และออกผลผลิต การทำนาดำ จะไม่ค่อยมีหญ้า หรือวัชพืชเท่ากับนาหว่าน และถ้าช่วงเก็บเกี่ยวจะทำง่ายกว่านาหว่าน แต่การปลูกข้าวแบบนาดำ จะมีข้อเสียคือมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า และค่าใช้จ่ายในการจ้างคนมากกว่านาหว่านค่ะ
ทำนา

ที่บ้านจะใช้วิธีทำนาแบบดำ

          ทุ่งนาที่บ้านจะอาศัยน้ำจากฝายน้ำล้น ไหลตามลำคลอง ที่เป็นคลองมาตั้งแต่ในอดีตแล้วค่ะ เกิดมาเราก็เห็นลำคลองนี้แล้ว ส่วนใหญ่ถ้าเป็นช่วงทำนาน้ำจะเต็มคลอง ไม่ค่อยขาดแคลนน้ำ แต่ถ้าเป็นฤดูร้อน อาจจะไม่มีน้ำค่ะ ถ้าจะหว่านต้นกล้า แล้วน้ำในลำคลองยังไม่มี ก็จะใช้วิธีสูบน้ำจากลำห้วยที่ติดที่นาขึ้นมา เพื่อหว่านต้นกล้า และหล่อเลี้ยงต้นกล้าค่ะ 

ขั้นตอนเตรียมพื้นที่และปรับหน้าดิน

  • ปรับพื้นดินก่อน โดยอาจจะมีการนำปุ๋ยขี้ไก่ ขี้วัว หรือแกลบ มาบำรุงหน้าดิน
  • จากนั้นก็จะไถพรวนดิน เพื่อเตรียมหว่านต้นกล้า 1 แปลง รวมถึงอาจจะมีปรับพื้นดินเพื่อเตรียมปลูกข้าวไว้พร้อมกันเลย 
  • ทดน้ำเข้าที่นาที่ปรับเตรียมดิน ให้น้ำท่วม แช่น้ำขังไว้ในที่นา เพื่อให้ต้นหญ้าหรือวัชพืชตายเป็นปุ๋ย และไม่ให้มีต้นหญ้ามาแย่งอาหารปุ๋ยจากต้นข้าว

ขั้นตอนหว่านต้นกล้าเพื่อเตรียมนำไปปลูก

ทำนา

ถ้าทำคนเดียวกว่าจะทำเสร็จแต่ละแปลง

  • นำข้าวพันธุ์ที่เตรียมไว้แช่น้ำประมาณ 2 - 3 คืน 
  • หลังจากแช่ครบกำหนดนำขึ้นจากน้ำ พักไว้ที่กระสอบอีกสักประมาณ 2 - 5 คืน ให้ดูว่ามีรากข้าวงอกเป็นขาว ๆ ก็แสดงว่าสามารถนำไปหว่านได้
  • ไถพรวน คราดดินแปลงที่เตรียมไว้อีกรอบ โดยก่อนการหว่านต้องปรับหน้าดินให้ดี และน้ำให้พอเหมาะ ไม่ต้องเยอะ ไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้น้ำท่วมเมล็ดข้าวพันธุ์ที่นำมาหว่านได้ 
  • นำข้าวพันธุ์มาหว่าน หรือที่เรียกว่า การตกกล้า ต้องหว่านให้พอดี พอเหมาะ ซึ่งความถี่และห่างของการหว่านขึ้นอยู่กับประสบการณ์คนที่หว่าน

          - ถ้าห่างเกินไปอาจจะไม่ดี เพราะตอนถอนต้นกล้าจะใช้เวลา แต่แบบนี้จะทำให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง 

          - ถ้าหว่านถี่เกินไป ต้นกล้าก็จะต้นลีบ ๆ ไม่ค่อยแข็งแรง เพราะหลายต้นจะเกิดการแย่งอาหารซึ่งกันและกัน
  • หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ต้องมีการดูปริมาณน้ำไม่ให้ท่วมแปลงข้าวที่หว่านต้นกล้า 
  • รอประมาณ 20 - 30 วัน ก็นำต้นกล้าไปปักดำต่อได้เลย
ขั้นตอนดำนา
ทำนา

ถอนต้นกล้า ก่อนนำไปดำ

  • ถอนต้นกล้าที่พร้อมจากแปลง นำมาตัดปลายออก 
  • นำต้นกล้าที่ถอน ไปปักในแปลงที่มีการไถพรวน และคราดไว้แล้ว 
  • การดำนา ต้องดูความห่าง ความถี่ของต้นกล้าที่ปักลงด้วย แต่ละต้นต้องมีความห่างกันที่ระยะพอเหมาะ ขึ้นอยู่กับสภาพดิน และแปลงนา เช่น ที่นาที่บ้านจะมีหลายแปลง ถ้าแปลงนี้เป็นดินร่วน ทำให้ต้นกล้าเจริญเติบโตดีมากก็จะห่างหน่อย แต่ถ้าเป็นที่นาที่เป็นดินทราย ก็อาจจะปักถี่หน่อย 
  • ถ้าทำนาที่ปักห่าง ๆ ก็จะทำเสร็จเร็ว แต่ถ้าปักถี่ ๆ เพราะต้นกล้าจะไม่ค่อยแตกกอ และต้นไม่ค่อยสูงเท่าไหร่ แต่เวลาดำนาลงต้นกล้าก็อาจจะใช้เวลามากกว่า  
ขั้นตอนรอเก็บเกี่ยว
ทำนา

ต้นข้าวที่เติบโต ก่อนออกรวง

ทำนา

ภาพยามเย็นที่ทุ่งนาเรา

  • หลังลงต้นกล้า ดำนาเสร็จ ช่วงนี้ก็จะมีการทดน้ำเข้าแปลงนา ให้มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีน้ำสม่ำเสมอ ต้นกล้าก็จะงอกเงย แตกกอดี แถมแปลงนาข้าวก็จะไม่ค่อยมีหญ้า
  • ทั้งนี้ ต้องดูไม่ให้น้ำมีปริมาณเยอะท่วมต้นข้าว เพราะอาจทำให้ต้นข้าวตายได้เช่นกัน
ทำนา

ลำน้ำที่ไหลมาจากฝายน้ำล้น ปกติจะมีน้ำตลอด ยกเว้นบางปีช่วงเดือน มี.ค. - พ.ค. อาจจะไม่มีน้ำค่ะ

ขั้นตอนเก็บเกี่ยวขึ้นยุ้งฉาง
ทำนา

ที่บ้านจะจ้างคนเกี่ยว เม็ดข้าวจะดีกว่า

  • หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน ข้าวก็จะเริ่มออกดอก 
  • หลังข้าวออกดอก 20 - 30 วันจะทดน้ำออกจากแปลงข้าว เพื่อเร่งให้ข้าวพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว 
  • จากนั้นประมาณ 20 - 30 วัน ข้าวเหลือง ความชื้นในเมล็ดข้าวเริ่มน้อย และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว 
  • หลังจากนั้นก็เก็บเกี่ยวข้าว

          - คนใช้เคียวเกี่ยว ข้อดีคือ ทำให้เมล็ดข้าวสวยงาม ไม่แตกหัก แต่ข้อเสียคือ มีหลายขั้นตอน ทั้งเกี่ยว เก็บ ตากแดด ขนมาตีเอาเมล็ดข้าวออกจากฟาง แล้วจึงนำขึ้นยุ้งฉาง ซึ่งใช้เวลา แรงกาย และค่าใช้จ่ายเยอะ 

          - หลัง ๆ ที่บ้านใช้รถเกี่ยว ซึ่งจะเร็วกว่าใช้คนและเคียวเกี่ยว เพราะเอาเมล็ดมารอตากให้แห้งและเตรียมเก็บขึ้นยุ้งฉากต่อ ข้อดีคือ เก็บเกี่ยวได้เร็ว ประหยัดเวลา และประหยัดต้นทุนค่าจ้างคน แต่ข้อเสียเมล็ดข้าวจะหักเยอะ และไม่ค่อยสวยเท่าใช้คนเกี่ยว 
  • ขั้นตอนที่ระวังในการเก็บเกี่ยวก่อนขึ้นยุ้งฉาง คือ ต้องตากเมล็ดข้าวให้แห้ง เอาความชื้นออกจากเมล็ดข้าวให้ดี เพื่อไม่ให้มีความชื้นหลงเหลือ เพราะหากข้าวมีความชื้น เวลาเอาไปเก็บที่ยุ้งฉาง จะทำให้เกิดความชื้น มีกลิ่นอับ และเมล็ดข้าวเสียหายได้

หมายเหตุ :

ทำนา

ข้าวเหนียวดำอร่อย รสชาติคล้ายข้าวเหนียวปกติ แต่มีสีดำ

  • การทำนาแต่ละพื้นที่ หรือแต่ละทุ่งนาอาจจะไม่เหมือนกันนะคะ อันนี้แชร์จากประสบการณ์การทำนาที่บ้านเราค่ะ 
  • ถามแม่ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าแต่ละช่วงของการทำนา ดูยังไง แม่บอกต้องอาศัยประสบการณ์ทำนา และทำนาเป็นก็จะรู้เองโดยสัญญาณของชาวนาค่ะ 
  • พันธุ์ข้าวที่บ้านใช้ข้าวหอมมะลิ ซึ่งหุงแล้วจะนุ่ม หอม รสชาติอร่อยค่ะ การันตีโดยเพื่อน ๆ ที่เราเคยเอาข้าวมาฝากค่ะ
ทำนา

ฝายห้วยเลียง เมื่อก่อนเป็นฝายดิน แต่ตอนนี้เป็นคอนกรีต

ทำนา

เห็ดโคน ขึ้นตามธรรมชาติตามคันนาในช่วงฤดูฝน

ทำนา

แม่ไปเก็บมาไว้เตรียมเอาดินและล้างก่อนนำไปทำอาหาร

ทำนา

ริมห้วย หรือ ริมฝาย จะมีกอไผ่ปลูกไว้เพื่อไม่ให้น้ำเซาะคันดินพัง

ทำนา

เมนูแกงหน่อไม้สด ๆ

ผลงาน iTha (ไอ้ฐา) พาไปดูอะไร

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ iTha พาไป
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ส่องการทำนาดำ วิถีชีวิตชาวนาแบบดั้งเดิมที่ร้อยเอ็ด อีสานบ้านเฮา อัปเดตล่าสุด 1 กันยายน 2566 เวลา 11:38:23 15,019 อ่าน
TOP