ย้อนประวัติศาสตร์ประเทศรัสเซีย ทำไมถึงขยายอาณาเขตออกไปได้กว้างไกล

ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา

เพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่ารู้ต่างๆ ทั่วโลก เพราะประวัติศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

          การขยายอาณาจักรของรัสเซีย
ประวัติศาสตร์รัสเซีย

          ปัจจุบัน “รัสเซีย” คือชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก
          พื้นที่ของรัสเซียนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยพื้นที่กว่า 17 ล้านตารางกิโลเมตร หากแต่ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ รัสเซียอาจจะไม่ได้กว้างใหญ่เช่นนี้มาตั้งแต่แรก
          ก่อนศตวรรษที่ 16 รัสเซียมีอำนาจควบคุมเพียงดินแดนในยุโรปภาคพื้นทวีป รวมทั้งดินแดนบางส่วนทางตะวันออกของเทือกเขาอูราลเท่านั้น

          ดังนั้นหลายคนก็คงสงสัย เหตุใดรัสเซียจึงขยายอาณาเขตได้ใหญ่ถึงขนาดนี้? และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

          ลองไปดูกันครับ
          ในปัจจุบัน หลายคนอาจจะมองรัสเซียในแง่ลบ มองว่าเป็นดินแดนที่บ้าสงคราม ภาพลักษณ์ในมุมมองของหลายๆ คนอาจจะไม่ดีนัก หากแต่ย้อนกลับไปในยุคกลาง รัสเซียเป็นดินแดนที่อาจจะเรียกได้ว่าน่าเห็นใจ
          ในช่วงต้นศตวรรษที่ 13 กองทัพมองโกลที่นำทัพโดยทายาทของ “เจงกิสข่าน (Genghis Khan)” ได้เดินทัพมาถึงยุโรปตะวันออก และขยายอำนาจครอบครองรัสเซีย

          ภายหลังจากมองโกลได้มีอิทธิพลเหนือรัสเซีย ก็ได้เกิด “แกรนด์ดัชชีแห่งมอสโก (Grand Duchy of Moscow)” ซึ่งภายในศตวรรษที่ 15 ก็ได้กลายเป็นมหาอำนาจในดินแดนรัสเซีย และสามารถโค่นล้มอำนาจของมองโกลได้

          ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15-ต้นศตวรรษที่ 16 เมื่ออำนาจของมองโกลล่มสลาย แกรนด์ดัชชีแห่งมอสโกก็ได้เข้าพิชิตดินแดนต่างๆ ที่เคยเป็นขุมอำนาจของมองโกล และขยายอำนาจออกไปเรื่อยๆ
          แต่การขยายอำนาจของรัสเซียก็ต้องมาหยุดชะงักในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 เมื่อ “อีวานผู้เหี้ยมโหด (Ivan the Terrible)” ซาร์แห่งรัสเซียสวรรคต และผู้ปกครองพระองค์ต่อๆ มาก็ทรงอ่อนแอ ทำให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วดินแดน
          ในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย โปแลนด์-ลิทัวเนียและสวีเดนได้เข้าโจมตีรัสเซีย และกองทัพโปแลนด์ก็สามารถยึดครองมอสโกและแต่งตั้งให้เจ้าชายแห่งโปแลนด์ขึ้นนั่งบัลลังก์รัสเซีย
          หากแต่ปัญหาก็เกิดขึ้น นั่นคือกองทัพโปแลนด์ไม่มีกำลังมากพอที่จะรักษาอำนาจของตนไว้ได้ ทำให้เกิดการลุกฮือของฝูงชนและโค่นล้มอำนาจโปแลนด์
          จากนั้น รัสเซียก็ได้เสนอบัลลังก์ให้ “พระเจ้ากุสตาวุส อดอลฟัส (Gustavus Adolphus)” กษัตริย์แห่งสวีเดน หากแต่พระเจ้ากุสตาวุสนั้นทรงลังเล ทำให้มีการเลือกขุนนางที่มีชื่อว่า “มีไฮล์ โรมานอฟ (Michael Romanov)” ขึ้นเป็นพระประมุขแห่งรัสเซีย มีพระนามว่า “ซาร์มีไฮล์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Michael I)”
          ซาร์มีไฮล์ที่ 1 ทรงก่อตั้งราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งปกครองรัสเซียไปจนถึงค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) เมื่อจักรวรรดิรัสเซียล่มสลาย
          ซาร์มีไฮล์ที่ 1 ทรงครองราชสมบัติจนถึงค.ศ.1645 (พ.ศ.2188) และในรัชสมัยของพระองค์ รัสเซียก็ได้ขยายอำนาจไปทางตะวันออกถึงไซบีเรีย และสามารถขยายอำนาจไปถึงรอบนอกของจีนเลยทีเดียว
          พระประมุของค์ต่อมาคือ “ซาร์อเล็กเซย์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Alexis of Russia)” พระราชโอรสในซาร์มีไฮล์ที่ 1 และซาร์อเล็กเซย์ที่ 1 ก็ได้นำรัสเซียเข้ายึดครองดินแดนบางส่วนของยูเครนในปัจจุบัน และขยายอำนาจไปทางตะวันตกถึงแม่น้ำนีเปอร์ รวมทั้งเข้าไปยังเบลารุสอีกด้วย

          แต่ถึงรัสเซียจะสามารถขยายดินแดนออกไปได้กว้างไกล แต่รัสเซียก็ยังคงเป็นประเทศที่ยากจนและไม่พัฒนาเท่าที่ควร อากาศหนาวเหน็บ ภูมิประเทศก็ไม่ดีเท่าที่ควร ถนนหนทางก็ไม่ดีและทำให้การเดินทางยากลำบาก

          ซาร์อเล็กเซย์ที่ 1 สวรรคตในปีค.ศ.1676 (พ.ศ.2219) และในทศวรรษต่อมาก็เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ไม่มั่นคงเนื่องจากทายาทของพระองค์ก็ล้วนแต่อ่อนแอหรือยังทรงพระเยาว์เกินกว่าที่จะเป็นผู้ปกครองที่มีพระปรีชา แต่ช่วงเวลานี้ก็ได้จบลงเมื่อ “จักรพรรดิปีเตอร์มหาราช (Peter the Great)” ขึ้นครองราชย์
          ภายหลังจากขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิปีเตอร์มหาราชก็ทรงให้มีการปฏิรูปกองทัพและระบบการบริหารราชการ และทรงรบกับจักรวรรดิอ็อตโตมันและสวีเดนเพื่อขยายพื้นที่
          จักรพรรดิปีเตอร์มหาราชได้ทรงก่อตั้ง “เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Saint Petersburg)” ซึ่งได้กลายเป็นเมืองหลวงแห่งจักรวรรดิรัสเซีย
          แต่หลังจากรัชสมัยของจักรพรรดิปีเตอร์มหาราช เหล่าผู้ปกครององค์ต่อๆ มาก็ล้วนแต่ครองราชย์ในระยะเวลาสั้นๆ จนกระทั่ง “จักรพรรดินีนาถเอลิซาเบธแห่งรัสเซีย (Elizabeth of Russia)” พระราชธิดาในจักรพรรดิปีเตอร์มหาราช ทรงขึ้นครองราชย์ในปีค.ศ.1740 (พ.ศ.2283)
          จักรพรรดินีนาถเอลิซาเบธทรงครองอำนาจเป็นเวลานานกว่า 20 ปี และในรัชสมัยของพระองค์ รัสเซียก็ได้เข้าร่วมรบใน “สงครามเจ็ดปี (Seven Year’s War)” และได้เข้ายึดครองปรัสเซียตะวันออก หากแต่เมื่อพระองค์สวรรคตในปีค.ศ.1762 (พ.ศ.2305) พระประมุของค์ต่อมา นั่นคือ “จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย (Peter III of Russia)” ก็ได้ทรงสงบศึกและเจรจาสันติภาพกับ “พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช (Frederick the Great)” พระประมุขแห่งปรัสเซีย และได้ยอมคืนดินแดนที่ได้ยึดไป

          รัชสมัยของจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 ดำเนินไปเป็นระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากนโยบายของพระองค์นั้นไม่เป็นที่เห็นด้วยของหลายฝ่าย ทำให้พระองค์ถูก “สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย (Catherine the Great)” พระมเหสีของพระองค์ กระทำรัฐประหารล้มอำนาจ

          จากนั้น ราชินีแคทเธอรีนก็ทรงดำเนินพระราโชบายที่จะขยายดินแดน และในรัชสมัยของพระองค์ รัสเซียก็ได้รบกับจักรวรรดิอ็อตโตมัน ได้เข้ายึดครองคาบสมุทรไครเมียและชายฝั่งในทะเลดำไปจนถึงดินแดนโรมาเนียในปัจจุบัน
          ยุโรปตะวันออกคืออีกหนึ่งดินแดนที่ราชินีแคทเธอรีนทรงจับตามอง และพระองค์ก็ได้ทรงร่วมมือกับจักรวรรดิฮาพส์บวร์คและราชอาณาจักรปรัสเซีย โดยรัสเซียสามารถยึดครองดินแดนโปแลนด์-ลิทัวเนียได้เป็นจำนวนมาก
          ราชินีแคทเธอรีนสวรรคตในปีค.ศ.1796 (พ.ศ.2339) และพระประมุของค์ต่อมาก็คือ “จักรพรรดิพอลที่ 1 แห่งรัสเซีย (Paul I of Russia)” พระราชโอรสในราชินีแคทเธอรีน
          จักรพรรดิพอลที่ 1 ไม่ได้ทรงทะเยอทะยานอยากจะขยายดินแดนดังเช่นพระราชชนนี แต่ก็ยังส่งแม่ทัพไปรบกับฝรั่งเศสในอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์
          จักรพรรดิพอลที่ 1 ทรงถูกรัฐประหารยึดอำนาจ และผู้ที่ขึ้นครองราชย์ต่อมาก็คือ “จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Alexander I of Russia)” พระราชโอรสในจักรพรรดิพอลที่ 1
          ในระหว่างค.ศ.1805-1807 (พ.ศ.2348-2350) จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ทรงรบกับฝรั่งเศส หากแต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อ “นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” ผู้ปกครองฝรั่งเศส และจำเป็นต้องเจรจาสันติภาพกับฝรั่งเศส
          ภายหลังจากเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส รัสเซียก็ได้ทุ่มกำลังกับการสู้รบกับปรัสเซีย จักรวรรดิอ็อตโตมัน และสวีเดน
          แต่สัมพันธภาพระหว่างรัสเซียและฝรั่งเศสก็ต้องสิ้นสุดลงในปีค.ศ.1811 (พ.ศ.2354) และนโปเลียนก็ได้ยกทัพเข้าโจมตีรัสเซียในปีค.ศ.1812 (พ.ศ.2355) หากแต่โรคระบาดในกองทัพและอากาศในฤดูหนาวทำให้กองทัพของนโปเลียนต้องถอยทัพไปโดยที่ยังไม่สามารถพิชิตรัสเซียได้
          จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ทรงดำเนินสงครามต่อในปีค.ศ.1813 (พ.ศ.2356) และได้พันธมิตรจากหลายชาติ ทั้งปรัสเซีย ออสเตรีย และสวีเดน รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหราชอาณาจักร จึงทำให้ชาติพันธมิตรเหล่านี้สามารถเอาชนะฝรั่งเศสได้ในที่สุด
          ผลที่ได้ก็คือ รัสเซียได้เข้าครอบครองฟินแลนด์อย่างเป็นทางการ และจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์
          ด้วยชัยชนะของรัสเซีย ทำให้ขุมอำนาจในยุโรปตะวันตกเริ่มหวั่นเกรง และให้การช่วยเหลือจักรวรรดิอ็อตโตมันในสงครามไครเมีย และก็สามารถเอาชนะรัสเซียได้ในที่สุด ทำให้รัสเซียต้องถอนทหารออกจากทะเลดำ

          แต่ถึงอย่างนั้น อำนาจของรัสเซียในเอเชียก็ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้เข้าครอบครองดินแดนต่างๆ ในคอเคซัสและเอเชียกลาง และเมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ ดินแดนซึ่งปัจจุบันคือคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน อาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนีย และจอร์เจีย ล้วนตกอยู่ใต้อำนาจของรัสเซีย

          นอกจากนั้น รัสเซียยังเล็งไปยังตะวันออกไกลและได้เข้าควบคุมแมนจูเรียภายหลังจากเหตุการณ์กบฏนักมวย (Boxer Rebellion) ในจีน แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัสเซียก็ต้องพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War)

          ความพ่ายแพ้นี้ทำให้ราชบัลลังก์ของพระเจ้าซาร์สั่นคลอน และทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นก่อกบฏตามมา หากแต่กลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์ก็สามารถปราบปรามกลุ่มกบฏได้
          แต่ว่าความขัดแย้งระหว่างประชาชนและราชวงศ์ก็ก่อตัวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ระบอบทาสชาวนาในรัสเซียจะถูกยกเลิกไปตั้งแต่ค.ศ.1861 (พ.ศ.2404) หากแต่ชีวิตของชาวนาชาวไร่ก็ยังคงเป็นชีวิตที่ยากลำบาก ส่วนชีวิตของคนงานในเมืองใหญ่ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน
          อีกทั้งในเวลานั้นเหล่าบัณฑิตต่างก็หัวก้าวหน้า และต้องการจะตั้งดินแดนอิสระของตน ไม่ขึ้นต่อราชสำนัก
          แต่ทุกอย่างที่กล่าวมาก็คงจะไม่เลวร้าย หากรัสเซียไม่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งกองทัพรัสเซียก็ไม่สามารถจะเอาชนะในแนวรบด้านตะวันออก ทำให้กระแสความนิยมราชวงศ์ยิ่งตกต่ำ และสุดท้าย ราชวงศ์ก็ถูกล้มล้างในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460)

          เมื่อราชวงศ์สิ้นสุดลงแล้ว ก็ได้เกิดรัฐบาลชั่วคราวขึ้นบริหารประเทศ แต่ก็ถูกโค่นล้มโดยพรรคบอลเชวิก (Bolsheviks) ซึ่งนำโดย “วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)” ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460)

          แต่พรรคบอลเชวิกก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาชนเท่าไรนัก และการยึดอำนาจของบอลเชวิกก็ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองตามมา ซึ่งภายหลัง บอลเชวิกก็ต้องยอมทำสนธิสัญญากับมหาอำนาจกลาง และยอมเสียดินแดนจำนวนมากในยุโรปตะวันออก
          แต่นับเป็นโชคดีที่เยอรมนีพ่ายแพ้ทางแนวรบฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นผลดีต่อสหภาพโซเวียต และทำให้ได้ดินแดนคืนมาจำนวนหนึ่ง หากแต่ก็มีอำนาจในดินแดนต่างๆ แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่หลายๆ ประเทศทยอยได้รับอิสรภาพ
          ภายในปีค.ศ.1922 (พ.ศ.2465) บอลเชวิกก็ชนะสงครามกลางเมืองและก่อตั้งสหภาพโซเวียตได้ในที่สุด
          สหภาพโซเวียตภายใต้การนำของ “โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)” ก็ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน หากแต่ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิตเนื่องจากความอดอยากและการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล
          ในปีค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) สหภาพโซเวียตได้ลงนามสนธิสัญญากับนาซีเยอรมัน ตกลงที่จะจัดตั้งเขตอิทธิพลของตนในยุโรปตะวันออก โดยทั้งสองชาติได้แบ่งแยกโปแลนด์ และสหภาพโซเวียตก็ได้เข้าผนวกดินแดนของรัฐบอลติกและเบสซาเรเบีย
          ต่อมา สหภาพโซเวียตได้เข้าโจมตีฟินแลนด์ และบังคับให้ฟินแลนด์ยอมยกดินแดนให้
          หากแต่ความอ่อนแอของกองทัพแดง (Red Army) ของสหภาพโซเวียต ก็ได้ทำให้ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)” ผู้นำนาซีเกิดความย่ามใจ และสั่งให้รุกรานสหภาพโซเวียตในปีค.ศ.1941 (พ.ศ.2484)

          กองทัพเยอรมันสามารถทำให้กองทัพโซเวียตล่าถอยไปได้ หากแต่ก็ต้องมาสะดุดที่เลนินกราดและมอสโก

          ในปีค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) ความพยายามของเยอรมนีที่จะปิดล้อมดินแดนคอเคซัสนั้นล้มเหลว และในช่วงครึ่งหลังของปีค.ศ.1943 (พ.ศ.2486) กองทัพโซเวียตก็เริ่มโต้กลับ ก่อนจะปิดล้อมเบอร์ลินได้ในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488)
          หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สตาลินก็ต้องการจะสร้างเขตกันชนที่จะปกป้องสหภาพโซเวียตจากการรุกรานในอนาคต และทำให้เกิดเป็น “กติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact)” ซึ่งเป็นกติกาสัญญาด้านความมั่นคงร่วมกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับรัฐบริวารของตนอีกเจ็ดแห่งในยุโรปตอนกลางและตะวันออกระหว่างช่วงสงครามเย็น
          กติกาสัญญาวอร์ซอดำเนินต่อเนื่องมาถึงปีค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) หากแต่ในเวลานั้น รัฐคอมมิวนิสต์ต่างก็อยู่ในภาวะย่ำแย่และตามหลังสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก
          “มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)” ได้ขึ้นเป็นผู้นำสหภาพโซเวียตในปีค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) และตั้งเป้าที่จะปฏิรูปประเทศ หากแต่ก็ดูเหมือนจะสายเกินไป
          ด้วยความที่กอร์บาชอฟลังเลที่จะสนับสนุนทางด้านการทหารแก่พันธมิตร ทำให้ดินแดนคอมมิวนิสต์ต่างๆ ในยุโรปตะวันออกก็ทยอยล่มสลายไปเรื่อยๆ จนมาถึงความล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปีค.ศ.1991 (พ.ศ.2534)

References :

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนประวัติศาสตร์ประเทศรัสเซีย ทำไมถึงขยายอาณาเขตออกไปได้กว้างไกล อัปเดตล่าสุด 25 กันยายน 2566 เวลา 14:27:45 7,111 อ่าน
TOP