ย้อนการทดลอง ซาร์บอมบา ระเบิดนิวเคลียร์ที่รุนแรงกว่าระเบิดฮิโรชิม่า 3,500 เท่า

ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา

เพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่ารู้ต่างๆ ทั่วโลก เพราะประวัติศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

          "ซาร์บอมบา (Tsar Bomba)" ระเบิดนิวเคลียร์ที่รุนแรงกว่าระเบิดฮิโรชิม่า 3,500 เท่า
ซาร์บอมบา

          30 ตุลาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) สหภาพโซเวียตได้ทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ โดยระเบิดที่ใช้ทดลองมีชื่อว่า "ซาร์บอมบา (Tsar Bomba)" และระเบิดขึ้นเหนือน่านฟ้าเกาะโนวาเซมบลา (Nova Zembla)
          ว่ากันว่าระเบิดซาร์บอมบามีความรุนแรงถึง 50 เมกะตัน ซึ่งรุนแรงกว่าระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงฮิโรชิม่าเมื่อปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) กว่า 3,500 เท่า และคลื่นกระแทกก็ได้แผ่ไปทั่วโลกไม่ต่ำกว่าสามรอบ
          ในช่วงเวลาที่ซาร์บอมบาถูกสร้างขึ้น เป็นช่วงเวลาที่สงครามเย็นกำลังอยู่ในภาวะตึงเครียด โดยในทีแรก ซาร์บอมบาถูกพัฒนาให้มีความรุนแรงถึง 100 เมกะตัน หากแต่ถูกปรับลดความรุนแรงลงมาให้เหลือ 50 เมกะตันเนื่องจากคาดว่า 100 เมกะตันจะรุนแรงเกินไปจนบริเวณที่ทดลองเอาไม่อยู่
          และความรุนแรงของระเบิดนี้เอง ทำให้สหประชาชาติขอให้สหภาพโซเวียตยกเลิกการทดสอบซาร์บอมบา หากแต่ก็ไม่เป็นผล
          ซาร์บอมบามีความยาวแปดเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางสองเมตร และด้วยขนาดใหญ่ของระเบิดนี้ ทำให้เครื่องบินทิ้งระเบิดต้องมีการปรับปรุงภายในเพื่อให้สามารถบรรทุกระเบิดได้
          30 ตุลาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) เครื่องบินทิ้งระเบิดที่บรรทุกซาร์บอมบาได้ออกเดินทางออกจากฝั่งในเวลาเช้า และซาร์บอมบาก็ถูกทิ้งลงมาจากความสูง 10,500 เมตร
          เพื่อให้นักบินสามารถหนีออกมาจากบริเวณที่ระเบิดได้ทันเวลา จึงมีการติดตั้งร่มชูชีพที่หนัก 800 กิโลกรัมไว้กับระเบิดเพื่อให้การร่วงเป็นไปอย่างช้าๆ
ซาร์บอมบา

          ซาร์บอมบาระเบิดในเวลา 11:32 น. ตามเวลาของมอสโคว ซึ่ง ณ เวลานั้น นักบินได้บินไปไกลกว่า 45 กิโลเมตรแล้ว หากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย
          นักบินทั้งสองบนเครื่องบินต้องบินออกมาให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และก็ปลอดภัย และภายหลังจากกลับมาถึงสหภาพโซเวียต นักบินก็ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ
          แรงระเบิดทำให้เกิดควันขนาดมหึมารูปเห็ดสูงกว่า 60 กิโลเมตร และแสงของระเบิดก็สามารถเห็นได้ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร ตึกและหมู่บ้านในละแวกนั้นในระยะ 55 กิโลเมตรพังราบเป็นหน้ากลอง
          และจากการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ แรงระเบิดนี้สามารถทำให้คนที่อยู่ห่างออกไป 100 กิโลเมตรได้รับบาดเจ็บจากแผลไฟไหม้ขั้นรุนแรงได้เลย
          จะเห็นได้ว่าซาร์บอมบานั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม หากแต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในสงครามจริง เนื่องจากระเบิดนั้นมีขนาดใหญ่เกินไป อีกทั้งยังอาจจะก่อความเสียหายให้แก่สหภาพโซเวียตเองได้ด้วย
References :
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนการทดลอง ซาร์บอมบา ระเบิดนิวเคลียร์ที่รุนแรงกว่าระเบิดฮิโรชิม่า 3,500 เท่า อัปเดตล่าสุด 17 ตุลาคม 2566 เวลา 23:45:35 5,522 อ่าน
TOP