ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) เกิดจากอะไร ทำไมหลายคนถึงคล้อยตาม ?

ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา

เพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่ารู้ต่างๆ ทั่วโลก เพราะประวัติศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

         "ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory)"
ทฤษฎีสมคบคิด

          เมื่อพูดถึง "ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory)" หลายคนก็อาจจะนึกถึงทฤษฎีที่ดูแปลกประหลาดหลายๆ อย่าง
          ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนถึงแนวคิดและพฤติกรรมของสังคม และหลายๆ ทฤษฎีก็มีคนเชื่อเป็นจำนวนมาก

          เราลองมาดูเรื่องราวของทฤษฎีสมคบคิดกันครับ

          อันที่จริง ทฤษฎีสมคบคิดนั้นอยู่คู่กับประวัติศาสตร์มนุษย์มาเป็นเวลานานแล้ว โดยในสมัยโบราณ ก็มีเรื่องราวตำนานเทพเจ้าและสัตว์ประหลาดต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ธรรมชาติ
          ตำนานเหล่านี้มาจากความพยายามของมนุษย์ที่จะหาเหตุผลมาอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่ดูน่ากลัว เช่น ฟ้าผ่าหรือแผ่นดินไหว ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิดตามนิยามของปัจจุบัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์มีความพยายามจะหาเหตุผลมาอธิบายสิ่งต่างๆ รอบตัวตั้งแต่โบราณ
          หนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดที่โด่งดังก็คือเรื่องของโศกนาฏกรรมเรือ “ไททานิก (Titanic)”

          มีบางคนกล่าวอ้างว่าการอับปางของเรือไททานิกนั้นไม่ใช่อุบัติเหตุ หากแต่เป็นการวางแผนที่มีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี

ทฤษฎีสมคบคิด

          คนกลุ่มนี้เชื่อว่านักธุรกิจที่ทรงอิทธิพลหลายคนได้วางแผนจะให้เรือจมเพื่อเอาเงินประกันหรือเพื่อกำจัดคู่แข่งของตน ถึงแม้ว่าหลักฐานต่างๆ จะชี้ชัดว่าไททานิกจมเพราะชนกับภูเขาน้ำแข็งก็ตาม
          อีกหนึ่งทฤษฎีสมคบคิดที่โด่งดังก็คือเรื่องการสำรวจดวงจันทร์ของนาซ่า (NASA) เมื่อปีค.ศ.1969 (พ.ศ.2512)
          ถึงแม้จะมีเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมทั้งการยอมรับจากทั่วโลก แต่ผู้ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดบางคนก็เชื่อว่านี่เป็นการหลอกลวงของนาซ่า
          พวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลอเมริกันได้จัดฉากขึ้นมาเพื่อให้สหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะในการแข่งขันทางอวกาศกับสหภาพโซเวียต โดยมีการถ่ายทำด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และให้บุคลากรในโครงการนี้เก็บเรื่องนี้เป็นความลับ
          แต่ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญและหลายๆ คนจะยืนยันหลายครั้งว่าเรื่องนี้เป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิด หากแต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่เชื่อเรื่องนี้มาตลอด
          ในยุคสมัยปัจจุบัน ทฤษฎีสมคบคิดนั้นแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและมีความหลากหลายกว่าแต่ก่อน มีทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก วัคซีน หรือเรื่องของการเมือง เป็นต้น
          การเบ่งบานของโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ต ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้แพร่กระจายไปได้เร็วกว่าเดิม และเข้าถึงคนหมู่มากได้อย่างง่ายดาย
          สำหรับจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังความเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิด เหตุผลที่ผู้คนจำนวนมากเชื่อถือ หนึ่งในเหตุผลหลักก็คือธรรมชาติของมนุษย์
ทฤษฎีสมคบคิด

          ตามธรรมชาตินั้น มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มักจะมองหาแบบแผน มักจะมองหาความเชื่อมโยงและเหตุผลเบื้องหลังปรากฏการณ์ต่างๆ
          เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ดูจะซับซ้อนเกินไปที่จะเข้าใจ ผู้คนก็มักจะมองหาคำอธิบายที่ดูจะเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าเหตุผลนั้นจะไม่จริงก็ตาม
          ทฤษฎีสมคบคิดมักจะมีเหตุผลอธิบายเหตุการณ์เหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา ทำให้ผู้คนเข้าใจในธรรมชาติของโลก ทำใหัรู้สึกเสมือนรู้แจ้ง
          เหตุผลทางจิตวิทยาอีกอย่างหนึ่งก็คือการรู้สึกพิเศษ เหนือผู้อื่น
          การเชื่อทฤษฎีสมคบคิดก็เปรียบเสมือนการรับรู้ความลับที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ทำให้รู้สึกว่าตนเป็นคนสำคัญ เป็นคนพิเศษ การเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดก็เหมือนการเป็นสมาชิกชมรมพิเศษที่มีคนไม่กี่คนที่มีสิทธิเข้าร่วม
          การที่โลกมักจะเกิดเหตุการณ์ที่น่าสยองหรือหดหู่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก ดังนั้นการเชื่อว่าโลกถูกปกครองโดยองค์กรลับที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวเหล่านี้ก็ทำให้ผู้ที่เชื่อรู้สึกดีขึ้น เหมือนหาเหตุผลที่แท้จริงได้
          และยังมีหลักการที่เรียกว่า “ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน (Confirmation Bias)” ซึ่งก็คือการที่เราเลือกจะเชื่อในข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อของเรา และเลือกที่จะเพิกเฉยในข้อมูลที่ขัดแย้ง
          หากเราอยู่ในกลุ่มที่เชื่อถือในทฤษฎีสมคบคิด เราก็จะเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดไปด้วย เราก็จะหาหลักฐานมาสนับสนุนทฤษฎีเหล่านี้จนได้ และเลือกที่จะปฏิเสธความจริงที่ขัดกับความเชื่อของเรา
          หลักการ “น้ำตกข้อมูล (Information Cascade)” คือหลักการที่สำคัญ เป็นผลต่อเนื่องเมื่อแนวคิดหรือความเชื่อ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือทฤษฎีสมคบคิด มีการส่งต่อทฤษฎีสมคบคิดนี้จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง
          อาจจะเริ่มจากบุคคลที่น่าเชื่อถือที่สุดในกลุ่ม ก่อนจะส่งต่อไปยังคนอื่นๆ เป็นทอดๆ โดยในยุคของโซเชียลมีเดีย น้ำตกข้อมูลนี้ก็สามารถเข้าถึงผู้คนหลักพันหรืออาจจะหลักล้านได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที

          และสำหรับบางคน การแบ่งปันเรื่องราวของทฤษฎีสมคบคิดออกไปเป็นสิ่งที่ทำให้ดูคูล ทำให้ดูโดดเด่น ทำให้ดูเหมือนผู้ที่เรืองปัญญา

          โซเชียลมีเดียทำให้ทฤษฎีสมคบคิดกระจายออกไปได้ง่าย เหมือนการราดน้ำมันลงบนกองไฟ
          ทฤษฎีสมคบคิดอาจจะเกิดขึ้นในเว็บซักเว็บหนึ่ง ก่อนจะกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
          อาจจะเริ่มจากมีคนแชร์เรื่องราวหนึ่ง ก่อนที่เพื่อนของคนคนนั้นจะแชร์ต่อๆ กันไปเรื่อยๆ ซึ่งนี่ก็คือการแพร่กระจายของทฤษฎีสมคบคิด
          นอกจากนั้น โซเชียลมีเดียยังมีสิ่งที่เรียกว่า “อัลกอริทึม (Algorithm)” ซึ่งจะเป็นระบบที่ช่วยเลือกสิ่งที่เราจะได้เห็น โดยดูจากสิ่งที่เรากดไลค์หรือกดแชร์
          หากเราสนใจในเรื่องของทฤษฎีสมคบคิด อัลกอริทึมก็อาจจะนำเสนอให้เราเห็นเรื่องราวของทฤษฎีสมคบคิดมากขึ้น ทำให้ดูเหมือนมีคนหลายคนเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดเช่นกันทั้งๆ ที่ความจริงอาจจะไม่ใช่เช่นนั้นก็ตาม
          ด้วยโลกอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้คนสามารถพบเจอกับคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกันได้ ถึงแม้ว่าความเชื่อนั้นจะไม่น่าเชื่อก็ตาม ซึ่งนี่ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการที่โลกอินเตอร์เน็ตช่วยทำให้ทฤษฎีสมคบคิดนี้แพร่กระจายออกไป
          สำหรับอีกตัวอย่างหนึ่งที่โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายทฤษฎีสมคบคิด ก็คือในยุค 2010 (พ.ศ.2553-2562) เมื่อมีการกระจายข้อมูล “ทฤษฎีโลกแบน”
ทฤษฎีสมคบคิด

          ถึงแม้ที่ผ่านมา จะมีหลักฐานและชุดความรู้จำนวนมากว่าโลกนั้นกลม แต่ชุมชนออนไลน์หลายๆ แห่งก็ได้บอกว่าอันที่จริงนั้น โลกมีลักษณะแบน
          โซเชียลมีเดียหลายแห่งได้ช่วยแพร่กระจายความเชื่อนี้ออกไป ทำให้บทความและคลิปวีดีโอจำนวนมากเผยแพร่เข้าสู่ผู้คนนับล้านทั่วโลก
          อาจจะสรุปได้ว่าการจะศึกษาเรื่องราวของทฤษฎีสมคบคิดนั้นทำได้ เพียงแต่ต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูง
          ต้องศึกษาข้อมูลและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน หาความเป็นเหตุเป็นผลโดยไม่เอนเอียงไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หากแต่ควรตั้งอยู่บนเหตุผลและหลักฐาน

References :

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) เกิดจากอะไร ทำไมหลายคนถึงคล้อยตาม ? อัปเดตล่าสุด 7 ธันวาคม 2566 เวลา 14:12:14 3,899 อ่าน
TOP