เมโสโปเตเมีย แหล่งกำเนิดอารยธรรมของโลก กับด้านมืดที่ซ่อนอยู่

ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา

เพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่ารู้ต่างๆ ทั่วโลก เพราะประวัติศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

          ด้านมืดของ "อารยธรรมเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia)"
เมโสโปเตเมีย

          "อารยธรรมเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia)" ได้ชื่อว่าเป็นเสมือนแหล่งกำเนิดของอารยธรรมต่างๆ เป็นอารยธรรมที่มนุษย์เริ่มมีการร่างกฎหมาย สร้างเมืองที่ใหญ่โต และเริ่มเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า "ความเจริญ"
          หากแต่เมื่อมีด้านบวก ก็ย่อมต้องมีด้านลบตามมา
          เราลองมาดูอีกด้านหนึ่งของอารยธรรมเมโสโปเตเมียกันครับ
          เริ่มกันที่เรื่องของระบบยุติธรรม ซึ่งก็ต้องบอกว่ากฎหมายของเมโสโปเตเมียนั้นเป็นอะไรที่คนในยุคปัจจุบันอาจจะมองว่าไม่ได้มาตรฐานเลยและยากที่จะยอมรับ
          "ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (Code of Hammurabi)" ได้ชื่อว่าเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกๆ ของโลก ได้เริ่มบังคับใช้เมื่อราว 1,754 ปีก่อนคริสตกาล หากแต่หลักการ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ในประมวลกฎหมายนี้อาจจะยังไม่มีความยุติธรรมนัก

          บทลงโทษต่อผู้กระทำผิดนั้น ถึงแม้จะเป็นความผิดกรณีเดียวกัน หากแต่ก็มีเรื่องของสถานะทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง

          ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนคนหนึ่งใช้มีดแทงบุคคลอีกคนหนึ่งที่มีสถานะหรือยศศักดิ์สูงกว่า คนที่กระทำผิดจะได้รับโทษที่รุนแรงกว่าการแทงบุคคลที่มีสถานะสังคมในระดับเดียวกัน
          หากอาคารบ้านเรือนพังถล่มลงมา ทำให้บุตรชายของประชาชนที่เป็นเสรีชนเสียชีวิต บุตรชายของผู้ก่อสร้างอาคารก็จะต้องถูกฆ่าเช่นกัน
          แต่ในทางกลับกัน หากเหยื่อเป็นเพียงทาส ผู้ที่ก่อสร้างอาคารก็อาจจะมีโทษเพียงแค่จ่ายเงินค่าปรับเท่านั้น
          เรียกได้ว่ากฎหมายนี้ไม่ได้ยุติธรรมซะทีเดียว บทลงโทษยังคงมีการผูกกับสถานะทางสังคมด้วย
          เรื่องต่อมา เป็นเรื่องของสุสานในเมืองอูร์ (Ur)
          ในยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) มีการขุดพบสุสานเมืองอูร์ และจากการตรวจสอบก็ทำให้ทราบว่าสุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังศพที่ตายอย่างน่าเวทนา
          มีการพบศพในสุสานกว่า 74 ศพ ส่วนมากเป็นหญิงสาวซึ่งคาดว่าเป็นข้ารับใช้ในราชสำนัก โดยศพนั้นตกแต่งด้วยทองและหินมีค่าจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าศพเหล่านี้ล้วนถูกบูชายัญ
          คาดว่าศพเหล่านี้ถูกยาพิษจนตาย โดยน่าจะถูกฆ่าเพื่อให้วิญญาณตามไปรับใช้องค์พระประมุขในโลกหลังความตาย
          และเมื่อพูดถึงการบูชายัญ ก็ต้องพูดถึงเรื่องการสังหารทารกด้วย
          ในยุคนั้น การฆ่าเด็กทารกนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก มักจะมีการฆ่าทารกอยู่เสมอเพื่อป้องกันไม่ให้พ่อแม่ที่ไม่มีความพร้อมดูแลบุตรและเพื่อควบคุมจำนวนประชากร และบางครั้งก็เป็นการฆ่าด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้เทพเจ้าพึงพอใจ
          จากหลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่ามีการบูชายัญเด็กทารก โดยเป็นไปเพื่อทำให้เทพเจ้าพึงพอใจ โดยบางศพทารกนั้น พบว่าที่กะโหลกศีรษะนั้นมีรอยร้าว แสดงให้เห็นว่าถูกฆ่าเพื่อทำการบูชายัญ
          ต่อไปคือเหล่าทหาร
          "จักรวรรดิอัสซีเรีย (Assyrian Empire)" เป็นจักรวรรดิที่มีกองทัพเกรียงไกร เหล่าทหารต่างกล้าหาญและโหดเหี้ยม
          หากแต่จากเรื่องราวบนรูปแกะสลักที่พบ ทำให้พอทราบว่าทหารหลายนายนั้นต้องเผชิญกับสิ่งที่ทหารหลายคนต้องพบเจอ
เมโสโปเตเมีย

          นั่นคือ "โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ" หรือ "PTSD"
          จริงๆ แล้วผู้คนเริ่มรู้จัก PTSD ในสมัยศตวรรษที่ 20 หากแต่จากบันทึกของเมโสโปเตเมียก็ทำให้ทราบว่าเหล่าทหารก็พบเจอกับอาการทางจิตที่คล้ายคลึงกับ PTSD
          มีบันทึกจากเมื่อยุค 700 ปีก่อนคริสตกาล ได้บอกเล่าว่ามีทหารนายหนึ่งถูกวิญญาณของผู้ที่ตนสังหารตามหลอกหลอน ทำให้ทหารนายนี้มีอาการทางจิต มักจะฝันร้าย และมีอาการหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงกับ PTSD
          และเมื่อพูดถึงอาการป่วย ก็มีเรื่องที่น่าคิดอีก
          ในสมัยเมโสโปเตเมียโบราณ ผู้คนเชื่อว่าอาการป่วยเกิดจากการลงโทษของพระเจ้า ลงโทษมนุษย์ที่เต็มไปด้วยบาป หรือไม่ก็เกิดจากอำนาจของปีศาจ
          การรักษาก็มีการใช้ยาคล้ายๆ กับในปัจจุบัน รวมทั้งการบำบัดทางร่างกาย และมีการใช้เวทมนตร์ต่างๆ ด้วย และทำให้การรักษานั้นไม่ได้มาตรฐานเท่าไรนัก
          อาจจะเรียกได้ว่านี่ก็เป็นอีกด้านหนึ่งของอารยธรรมที่รุ่งเรืองเช่นอารยธรรมเมโสโปเตเมีย

References:

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมโสโปเตเมีย แหล่งกำเนิดอารยธรรมของโลก กับด้านมืดที่ซ่อนอยู่ อัปเดตล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 11:05:27 4,606 อ่าน
TOP