“ริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lionheart)”
หลายคนที่เป็นคอประวัติศาสตร์น่าจะต้องคุ้นนาม “ริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lionheart)”
พระองค์เป็นกษัตริย์ที่โดดเด่นที่สุดองค์หนึ่งในยุโรป ปรากฏตามสื่อต่างๆ มากมาย
เรื่องราวของพระองค์เป็นอย่างไร? ลองมาดูกันครับ
“ริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lionheart)” หรือ “พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ (Richard I of England)” เป็นพระราชโอรสใน “พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ (Henry II of England)” และ “พระนางเอเลนอร์แห่งอากีเตน (Eleonor of Aquitaine)”
พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชา สามารถผนึกอาณาจักรขนาดมหึมาให้อยู่ใต้อำนาจของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็น ดัชชีนอร์มังดี อ็องฌู เบรเตญ อากีเตน และราชอาณาจักรอังกฤษ
ตามหลักแล้ว พระเจ้าเฮนรีที่ 2 เป็นรองกษัตริย์ฝรั่งเศส ยังอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศส แต่ในความเป็นจริงนั้น พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ทรงร่ำรวยทั้งทรัพย์และอำนาจเหนือ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส (Louis VI of France)” และทรงทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 เสียหน้าหลายครั้ง
ในปีค.ศ.1152 (พ.ศ.1695) พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 ทรงหย่ากับพระนางเอเลนอร์แห่งอากีเตน เนื่องจากพระนางเอเลนอร์ไม่สามารถมีพระราชโอรสให้พระองค์ แต่หลังจากทรงหย่ากันได้ไม่นาน พระนางเอเลนอร์ก็ได้เข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเฮนรีที่ 2
ด้วยการอภิเษกสมรสกับพระนางเอเลนอร์ ทำให้พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ทรงเป็นผู้ปกครองอากีเตนร่วมกับพระนางเอเลนอร์ และอากีเตนก็เป็นหนึ่งในแคว้นที่ใหญ่ที่สุดและร่ำรวยที่สุดในฝรั่งเศส
เมื่อถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 12 พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ทรงต้องการจะแบ่งดินแดนต่างๆ ให้เหล่าพระราชโอรสแบ่งกันปกครอง โดย “เฮนรียุวกษัตริย์ (Henry the Young King)” ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระประมุขร่วมกับพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ในปีค.ศ.1170 (พ.ศ.1713) และได้ปกครองอังกฤษ นอร์มังดี และอ็องฌู ในขณะที่ “เจ้าชายริชาร์ด (Richard)” จะได้อากีเตน และ ”เจ้าชายเจฟฟรี (Geoffrey)” จะได้เบรเตญ
“เจ้าชายจอห์น (John)” ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์เล็ก กลับไม่ได้อะไรเลย
และถึงแม้พระเจ้าเฮนรีที่ 2 จะทรงแบ่งแคว้นต่างๆ ให้เหล่าพระราชโอรสปกครอง หากแต่ก็ไม่ได้พระราชทานอำนาจที่แท้จริงให้เหล่าพระราชโอรส และยิ่งเวลาผ่านไป เฮนรียุวกษัตริย์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ ก็ยิ่งทรงหงุดหงิดและไม่พอพระทัย
ในปีค.ศ.1173 (พ.ศ.1716) เฮนรียุวกษัตริย์ เจ้าชายริชาร์ด และเจ้าชายเจฟฟรี ได้ร่วมมือกันและจับมือกับกษัตริย์ฝรั่งเศส เสริมด้วยเหล่าขุนนางที่ไม่ชอบพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ได้ร่วมกันก่อกบฏ
ทั้งสองฝั่งรบกันอย่างดุเดือด พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ก็เสียทีแต่ก็ยังรอดมาได้ ก็ได้รวบรวมทัพและปราบกลุ่มกบฏลงได้
พระราชโอรสทั้งสามของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ต้องจำยอมเจรจาสันติภาพ และพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ก็พระราชทานอภัยโทษ และให้พระราชโอรสทั้งสามกลับไปยังดินแดนของแต่ละพระองค์
ในทศวรรษต่อมา ก็ได้เกิดกบฏอีกเรื่อยๆ เป็นระยะๆ หากแต่เจ้าชายริชาร์ดก็ทรงสามารถเอาชนะกลุ่มกบฏมาได้โดยตลอด หากแต่ถึงแม้จะทรงพระปรีชา แต่พระเจ้าเฮนรีที่ 2 กับเจ้าชายริชาร์ดก็ไม่ถูกกัน ทรงเป็นพ่อลูกที่ไม่ชอบกันและกัน
เหล่าพระราชบุตรซึ่งเป็นพระพี่น้องกันก็ไม่ได่รักใคร่กลมเกลียวกันเท่าไรนัก และในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 เฮนรียุวกษัตริย์ก็ได้ร่วมมือกับเจ้าชายเจฟฟรีเพื่อต่อต้านเจ้าชายริชาร์ด และได้โจมตีอากีเตน
พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ก็ได้เสด็จมาเพื่อที่จะไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างพระราชบุตร หากแต่พระองค์ก็เกือบจะสวรรคตโดยทหารของเฮนรียุวกษัตริย์ ทำให้พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ทรงหันไปร่วมมือกับเจ้าชายริชาร์ดเพื่อรบกับเฮนรียุวกษัตริย์และเจ้าชายเจฟฟรี
การก่อกบฏครั้งที่สองนี้จบลงด้วยการที่เฮนรียุวกษัตริย์สวรรคต
แต่ถึงเฮนรียุวกษัตริย์จะสวรรคตไปแล้ว การรบกันในครอบครัวนี้ก็ยังไม่จบ เจ้าชายเจฟฟรีและเจ้าชายริชาร์ดยังคงมีปัญหากันต่อเนื่อง และในช่วงเวลานี้เอง “พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส (Philip II of France)” ก็ได้เข้ามามีบทบาท
เจ้าชายเจฟฟรีสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา ทำให้อำนาจไปตกอยู่กับพระโอรสของเจ้าชายเจฟฟรี และความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าเฮนรีที่ 2 กับเจ้าชายริชาร์ดก็ยังคงตึงเครียด ไม่ได้ดีกันเลย และกลายเป็นสงครามในปีค.ศ.1188 (พ.ศ.1731)
การรบดำเนินมาถึงจุดแตกหักในฤดูร้อนค.ศ.1189 (พ.ศ.1732) และจบลงด้วยการที่พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ต้องทรงยอมแพ้เจ้าชายริชาร์ดกับพระเจ้าฟิลิปที่ 2 ต้องทรงยอมเจรจาสันติภาพ
แต่ถึงจะยอมแพ้ แต่ก็มีเรื่องเล่าว่าขณะที่พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ทรงเผชิญหน้ากับเจ้าชายริชาร์ด พระองค์ก็ได้สวมกอดเจ้าชายริชาร์ด หากแต่ได้กระซิบที่พระกรรณของเจ้าชายริชาร์ด โดยได้ตรัสว่า
“พระเจ้าของข้าให้เวลาข้ามากพอที่จะแก้แค้นเจ้า”
แต่ดูเหมือนพระเจ้าจะไม่ได้ประทานเวลาให้พระเจ้าเฮนรีที่ 2 มากพอจะได้แก้แค้น เนื่องจากพระองค์ได้สวรรคตในวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ.1189 (พ.ศ.1732) และเจ้าชายริชาร์ดก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา เป็น “พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ (Richard I of England)” หรือที่รู้จักในเวลาต่อมาว่า ”ริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lionheart)”
หลังจากขึ้นครองราชย์ พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็ทรงเตรียมการยกทัพไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และได้ทำการเจรจากับพวกเคลติก ซึ่งเป็นดินแดนเพื่อนบ้านของอังกฤษ เจรจาสันติภาพ อีกทั้งยังทรงเจรจากับพระเจ้าฟิลิปที่ 2 ซึ่งในเวลานั้น พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ทรงมีความสัมพันธ์อันดีด้วย
พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงตกลงที่จะเข้าร่วมกับกองทัพครูเสด และสงครามก็ได้เริ่มขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ
พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 กับพระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงนำทัพบุกไปยังราชอาณาจักรนาโปลี และวางแผนจะล่องเรือไปยังเลแวนต์ หากแต่อุปสรรคก็มีอยู่ตลอดทาง
ได้เกิดเหตุการณ์หลายๆ อย่างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มม๊อบที่โจมตีชาวยิวในอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี อีกทั้งกองทัพเยอรมันก็ต้องสูญเสียองค์พระประมุข ทำให้ต้องยกทัพกลับ
พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงยกทัพไปเอเคอร์ ในขณะที่พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ทรงมุ่งไปไซปรัส และสามารถยึดเกาะไซปรัสได้จากข้าหลวงกรีก
เมื่อยึดเกาะไซปรัสได้แล้ว พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็ทรงนำทัพมุ่งไปยังเอเคอร์
เอเคอร์คือหนึ่งในดินแดนท่าเรือที่สำคัญของเลแวนต์ และตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ.1189 (พ.ศ.1732) กองทัพครูเสดก็ได้เข้าปิดล้อมท่าเรือ หากแต่ก็ไม่สามารถทำลายกำแพงเมืองได้
“ซาลาดิน (Saladin)” สุลต่านองค์แรกแห่งอียิปต์และซีเรีย ก็ได้เข้ามาสู้รบกับกองทัพครูเสด แต่ก็ทำได้เพียงปิดล้อมกองทัพที่มาปิดล้อมอีกที ทั้งสองทัพต่างคุมเชิงกันและกัน จนเมื่อพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 เสด็จมาถึง
พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 เสด็จมาพร้อมกองทัพเสริม ทำให้เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1191 (พ.ศ.1734) ก็ได้ชัยชนะในที่สุด
เมื่อสามารถยึดเอเคอร์ได้แล้ว พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ก็ทรงยกทัพกลับฝรั่งเศส หากแต่พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ยังคงประทับอยู่ในเอเคอร์จนกว่าจะยึดเยรูซาเลมได้
หลังจากเอเคอร์แตก พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็ทรงเรียกค่าไถ่กองทหารที่ประจำการในเอเคอร์ ให้ฝ่ายซาลาดินจ่ายค่าไถ่ชีวิตทหาร หากแต่เมื่อซาลาดินยังเงียบ ไม่จ่ายค่าไถ่ซะที พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 จึงไม่ทรงรอและแสดงให้โลกเห็นว่าพระองค์ไม่ใช่คนที่จะมาล้อเล่นด้วยได้
วันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ.1191 (พ.ศ.1734) นักโทษในเอเคอร์กว่า 2,700 คนได้ถูกนำตัวออกจากเมือง และนำไปตัดหัวในบริเวณที่กองทัพของซาลาดินมองเห็นได้ชัดเจน
เมื่อเห็นเช่นนั้น ซาลาดินก็โกรธมาก และโต้ตอบด้วยการสั่งประหารนักโทษเช่นกัน
สองวันต่อมา กองทัพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็เดินทางออกจากเอเคอร์ มุ่งไปยังจาฟฟาทางใต้ และกองทัพของพระองค์ก็เดินทัพเลียบชายทะเลเพื่อที่จะคอยรับเสบียงที่จัดส่งมาทางเรือ
หากแต่ตลอดทาง กองทัพของพระองค์ก็ต้องปะทะกับกองทัพของซาลาดิน
ในที่สุด กองทัพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็ได้รบกับกองทัพของซาลาดิน โดยกองทัพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ที่อดทนต่อการเยาะเย้ยจากกองทัพของซาลาดินมานาน ได้นำทัพโจมตีโดยที่ยังไม่ได้รับพระราชบัญชาจากพระเจ้าริชาร์ดที่ 1
ในที่สุด กองทัพของซาลาดินก็ต้องพ่ายแพ้ และเมืองจาฟฟาก็แตกในอีกสามวันต่อมา
แต่เมื่อมาถึงเยรูซาเลม กองทัพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็ไม่สามารถเอาชนะได้โดยง่าย ทำให้ต้องทรงเปลี่ยนแผน จากจะปิดล้อมเมือง มาเป็นยอมเจรจา
การเจรจาของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 เป็นข่าวดังที่ล่วงรู้ไปถึงพระกรรณของพระเจ้าฟิลิปที่ 2 และเจ้าชายจอห์น พระอนุชาของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 และทั้งสองพระองค์ก็ทรงวางแผนจะชิงบัลลังก์จากพระเจ้าริชาร์ดที่ 1
ทางด้านเยรูซาเลม ในที่สุด กันยายน ค.ศ.1192 (พ.ศ.1735) ข้อตกลงก็สำเร็จผล โดยเยรูซาเลมจะอยู่ใต้อำนาจของมุสลิม แต่นักแสวงบุญชาวคริสต์จะได้รับอนุญาตให้มาเยือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ได้ และจะมีการสงบศึกเป็นเวลาสามปี
แต่เกิดอะไรขึ้นหลังจากที่การเจรจาบรรลุผล?
พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ทรงนำทัพที่มีกำลังพลราว 15,000 นายมายังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ หากแต่ขากลับนั้น พระองค์ทรงตัดสินพระทัยจะปลอมองค์และเสด็จกลับไปด้วยทหารติดตามเพียงไม่กี่นาย
กองทัพที่เหลือหายไปไหน? นี่คือคำถามที่น่าสนใจ
บางทีพระองค์อาจจะทุนหมด ไม่สามารถจัดการกองทัพได้อีกต่อไป จึงต้องสละทัพ หรือทหารในกองทัพของพระองค์อาจจะตายไปเกือบหมด นี่ก็เป็นหนึ่งเหตุผลที่นักประวัติศาสตร์คาดการณ์
แต่ไม่ว่าเหตุผลคืออะไร พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็ทรงปลอมองค์และเสด็จกลับพร้อมทหารติดตามไม่กี่นาย หากแต่เรือของพระองค์ต้องเผชิญกับพายุฝน ต้องมาขึ้นท่าที่อากวีเลอาในเดือนธันวาคม ค.ศ.1192 (พ.ศ.1735)
จากนั้น พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ทรงตัดสินพระทัยจะเสด็จทางบก หากแต่ก็ถูกจับกุมที่ดัชชีแห่งออสเตรีย ซึ่งดยุกที่เป็นผู้จับกุมพระองค์นั้นก็เป็นผู้ที่พระองค์ทรงคุ้นเคยจากกองทัพครูเสด
ท่านดยุกเล็งเห็นว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้ตนได้มาก จึงตัดสินใจให้คุมองค์พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 เพื่อเรียกค่าไถ่ หากแต่เมื่อองค์จักรพรรดิซึ่งเป็นเจ้าเหนือหัวของดยุกทรงทราบ ก็มีรับสั่งให้ส่งพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แก่พระองค์ และเรียกค่าไถ่สูงขึ้นกว่าเดิมอีก
ข่าวการเสียทีของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 เป็นข่าวใหญ่ที่โด่งดังไปทั่วยุโรป และตามธรรมเนียมแล้ว การโจมตีดินแดนของนักรบครูเสดถือเป็นสิ่งที่ผิด ทำให้พระสันตะปาปาประกาศว่าจะทรงตัดขาดจากท่านดยุกและจักรพรรดิที่จับพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 เป็นองค์ประกัน
แต่ดูเหมือนว่าในเวลานั้น ความละโมบจะครอบงำชายทั้งสองเกินกว่าที่จะสนความผิดบาปอะไรอีกแล้ว
ทางด้านพระเจ้าฟิลิปที่ 2 และเจ้าชายจอห์นก็ทรงติดต่อกับจักรพรรดิที่ควบคุมองค์พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ไม่ใช่เพื่อจะจ่ายค่าไถ่องค์พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แต่ทรงยินดีจะจ่ายเงินให้องค์จักรพรรดิเป็นเงินก้อนโตหากองค์จักรพรรดิจะควบคุมองค์พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ให้นานกว่านี้
แต่นับเป็นโชคดีของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 เนื่องจากพระนางเอเลนอร์ผู้เป็นพระราชมารดา พร้อมด้วยเหล่าขุนนางที่ยังภักดี ยินยอมที่จะจ่ายค่าไถ่องค์แก่พระองค์
เมื่อได้รับค่าไถ่ พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็ได้รับการปล่อยให้เป็นอิสระ
กลับมาที่ฝรั่งเศสและอังกฤษ อำนาจของเจ้าชายจอห์นก็เสื่อมลงเรื่อยๆ และพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็กลับมาครองอำนาจได้อีกครั้ง หากแต่ก็พระราชทานอภัยโทษให้เจ้าชายจอห์น
พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ได้ประทับอยู่ในอังกฤษเป็นเวลาหกเดือน โดยได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเคลติก และรวบรวมเงินทุนสำหรับใช้ในการยึดนอร์มังดีคืนจากพระเจ้าฟิลิปที่ 2 เนื่องจากในช่วงที่พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ไม่อยู่ พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงนำทัพมาโจมตีดินแดนของพระองค์อยู่บ่อยครั้ง
ในช่วงเวลาห้าปีหลังจากนั้น พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรบ และจุดจบของพระองค์ก็มาถึงขณะที่พระองค์ไปราชการสงครามนี้เอง
ในสงครามหนึ่ง กองทัพของพระองค์ได้ปิดล้อมปราสาทเล็กๆ หลังหนึ่ง และพระองค์ก็ไม่ได้ทรงสวมเสื้อเกราะ และได้ตัดสินพระทัยจะเสด็จเข้าไปใกล้แนวที่ปิดล้อมเพื่อตรวจตราความเรียบร้อย
จังหวะนั้นเอง พลธนูจากบนกำแพงของปราสาทได้ยิงธนูใส่พระองค์ ถูกเข้าที่พระอังสา (ไหล่)
มีเรื่องเล่าว่าก่อนจะสวรรคต กองทัพของพระองค์สามารถยึดปราสาทได้ และพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็ได้มีรับสั่งให้นำตัวพลธนูที่ยิงธนูใส่พระองค์มาเฝ้า
ปรากฏว่าพลธนูผู้นั้นเป็นเพียงเด็กหนุ่มผู้หนึ่ง หากแต่ก็มีความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวผู้ใด
พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็ไม่ทรงเอาผิด พระองค์กลับมีรับสั่งให้ปล่อยตัวพลธนูรายนี้เป็นอิสระ และยังพระราชทานเงินให้อีก 100 ชิลลิง
นี่ก็เป็นเรื่องราวของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 หรือที่รู้จักในนาม “ริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lionheart)” กษัตริย์ผู้ที่โดดเด่นที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรป
References:
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่