เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles) สี่เต่าทองผู้เขย่าโลกด้วยเสียงเพลง

ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา

เพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่ารู้ต่างๆ ทั่วโลก เพราะประวัติศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

          “เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)” สี่เต่าทองผู้เขย่าโลกด้วยเสียงเพลง
เดอะบีทเทิลส์,

ภาพจาก : Tama-AMA / Shutterstock.com

          “เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)” หรือ “สี่เต่าทอง” คือวงดนตรีในตำนาน ผู้ที่เขย่าโลกด้วยเสียงดนตรี
          ในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่อาจจะคุ้นกับนักร้องสมัยใหม่ นักร้องจากเกาหลี หากแต่เมื่อพูดถึงวงดนตรีระดับตำนาน ที่แม้วงจะแตกไปถึง 50 ปี หากแต่ยังอยู่ในใจแฟนเพลงทั่วโลก และถ้าเป็นผู้ที่รักดนตรีจริงๆ จะต้องรู้จักวงดนตรีวงนี้
          ก่อนอื่น เราไปรู้จักกับสมาชิกแต่ละคนของวงดนตรีระดับตำนานวงนี้กันก่อนดีกว่า
          คนแรกที่ผมจะแนะนำ คือ “จอห์น เลนนอน (John Lennon)”
          “จอห์น เลนนอน (John Lennon)” เกิดที่ลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) ในช่วงเวลาที่ยุโรปกำลังลุกเป็นไฟจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษ ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดเยอรมันโจมตีทุกวัน และขณะที่ “จูเลีย (Julia Lennon)” แม่ของจอห์น ได้คลอดจอห์นนั้น กำแพงของโรงพยาบาลก็สั่นจากแรงระเบิด
          ในช่วงแรก จอห์นอาศัยอยู่กับแม่และตายาย พ่อของจอห์น คือ “อัลเฟรด (Alfred Lennon)” ทำงานบนเรือและไม่ค่อยกลับบ้าน ออกทะเลเป็นเดือนๆ 
          จูเลียได้พยายามอย่างหนักเพื่อจะหาเงินมาเลี้ยงดูจอห์น ซึ่งในช่วงแรก อัลเฟรดก็ยังส่งเงินมาให้บ้าง ก่อนที่จะหยุดส่งเงิน ทำให้จูเลียลำบากมาก จะซื้อเตียงให้จอห์นก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องให้จอห์นนอนบนตัวเธอ
          ต่อมา ครอบครัวของจอห์นเริ่มจะทะเลาะ มีปัญหากัน โดยเรื่องที่มีปัญหาก็คือ “จอห์นควรอยู่กับใคร” จูเลียไม่ต้องการจะแยกจากจอห์น เธอเป็นแม่ จอห์นคือลูกของเธอ หากแต่เธอก็ไม่สามารถหาเงินมาเลี้ยงดูจอห์นได้
          “มีมี่ (Mimi Smith)” ป้าของจอห์น ผู้ซึ่งจอห์นเรียกว่า “ป้ามีมี่” ก็ต้องการให้จอห์นมาอยู่ด้วย ป้ามีมี่อาศัยอยู่ในบ้านที่สะดวกสบาย ในย่านที่ปลอดภัยและไม่เสื่อมโทรม การให้จอห์นมาอยู่กับเธอน่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวจอห์นเอง
          วันหนึ่ง เรือที่อัลเฟรดทำงานได้มาจอดพักที่ลิเวอร์พูล จอห์นจึงได้ไปเยี่ยมพ่อ อัลเฟรดได้ถามจอห์น ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียงห้าขวบ ถามว่าอยากจะออกไปผจญภัยหรือไม่ อัลเฟรดจะพาจอห์นไปที่ที่เรียกว่า “นิวซีแลนด์”
          จอห์นตอบตกลง สำหรับเด็กวัยห้าขวบ นี่ดูน่าสนุก เป็นการผจญภัย แต่เมื่อจูเลียทราบเรื่อง ก็ควันออกหู และไปบอกกับอัลเฟรดว่าอย่ามายุ่งกับจอห์น แต่ถึงแม้ว่าจูเลียจะหวงจอห์นมากแค่ไหน เธอก็รู้ดีว่าจอห์นจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี การส่งไปอยู่กับป้ามีมี่น่าจะเป็นทางที่ดีที่สุด สุดท้าย จูเลียก็ตัดสินใจส่งจอห์นไปอยู่กับป้ามีมี่
          แต่ถึงจะมีชีวิตวัยเด็กที่วุ่นวาย แต่จอห์นก็เป็นเด็กที่ร่าเริง ภาพต่างๆ ในช่วงวัยเด็กมักจะแสดงให้เห็นจอห์นกำลังยิ้มกว้างอย่างร่าเริง จูเลียมักจะมาเยี่ยมจอห์นเสมอ โดยเธอเป็นแม่ที่ขี้เล่น มักจะเล่าเรื่องตลก ทำให้จอห์นหัวเราะ ยิ้มได้เสมอ ที่สำคัญ จูเลียยังมอบกีตาร์ตัวแรกให้จอห์น และเป็นคนสอนจอห์นเล่นกีตาร์
          ป้ามีมี่นั้นแตกต่างจากจูเลีย ป้ามีมี่มีกฎระเบียบมากมาย เลิกเรียนก็ต้องรีบกลับบ้าน ต้องเข้านอนเป็นเวลา และยิ่งนานวัน จอห์นก็ยิ่งทำให้ป้ามีมี่หงุดหงิด 
          เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น จอห์นเริ่มจะมีปัญหา ไม่ตั้งใจเรียน วิชาที่ดูจะทำได้ดีคือศิลปะ และมักจะมีเรื่องชกต่อย และยังล้อเลียนอาจารย์ บางทีที่จอห์นเป็นอย่างนี้ อาจจะเป็นเพื่อกลบความเศร้าที่มีอยู่ในใจ
          ไม่กี่เดือนก่อนวันเกิดอายุครบ 18 ปีของจอห์น จูเลียถูกรถชนจนเสียชีวิต จอห์นนั้นเสียใจมาก ภายหลัง จอห์นได้แต่งเพลง “Julia” เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้เป็นแม่ ในช่วงวัยรุ่น จอห์นนั้นคลั่งไคล้ดนตรี และได้รู้จักกับเพลง “ร็อคแอนด์โรลล์ (Rock and Roll)” เป็นครั้งแรกขณะมีอายุได้ 15 ปี
          ในเวลานั้น เพลงส่วนมากมักจะมีทำนองเบาๆ สบายๆ ในขณะที่ร็อคแอนด์โรลล์จะเสียงดัง ทำนองแรงๆ เป็นที่ถูกใจวัยรุ่น หากแต่ผู้ใหญ่ไม่ชอบนัก 
          จอห์นนั้นชื่นชอบ “เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley)” และเริ่มจะแต่งตัวเลียนแบบเอลวิส และยังเล่นกีตาร์อีกด้วย ซึ่งป้ามีมี่ก็ไม่ค่อยจะชอบใจนัก
          ป้ามีมี่อยากให้จอห์นเรียนเปียโนหรือไวโอลินมากกว่า หากแต่จอห์นก็ไม่สนใจและยังคงเล่นกีตาร์ต่อไป
          สมาชิกคนที่สอง คือ “พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney)”
          สำหรับแฟนๆ ของเดอะบีทเทิลส์ พอลเป็นที่รู้จักในฐานะสมาชิกผู้น่ารัก เขามีขนตายาว ผมสีน้ำตาลเป็นลอน และยังร้องเพลงรักหลายๆ เพลงของวง แต่ในช่วงวัยเด็ก พอลเป็นเด็กอ้วนและมักถูกล้อเป็นประจำ ก่อนจะค่อยๆ หายอ้วนเมื่อเริ่มโตขึ้น 
          พอลเกิดที่ลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) โดยในเวลาที่เกิดนั้น “แมรี่ (Mary McCartney)” แม่ของพอล ซึ่งเป็นพยาบาล ได้สิทธิในการคลอดและพักฟื้นในห้องพักส่วนตัวของโรงพยาบาล ไม่ต้องไปอยู่ห้องรวม เนื่องจากแมรี่เป็นพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลให้สิทธิพิเศษ
          พอลนั้นเป็นเด็กดี เรียนเก่ง มีเพื่อนเยอะ และยังชื่นชอบดนตรี เช่นเดียวกับจอห์น เมื่อพอลได้ยินเพลงของเอลวิสเป็นครั้งแรก เขาแทบไม่เชื่อในสิ่งที่ได้ยิน
          พอลนั้นชื่นชอบเอลวิส และเริ่มหัดเล่นดนตรี “จิม (Jim McCartney)” พ่อของพอลก็เคยมีวงดนตรีเป็นของตนเอง และส่งเสริมด้านดนตรีแก่ลูก เมื่อได้กีตาร์ พอลก็ขลุกอยู่กับกีตาร์ทั้งวัน แม้แต่เวลาเข้าห้องน้ำหรืออาบน้ำ พอลก็จะพกกีตาร์เข้าไปด้วยเสมอ
          ต่อมา แมรี่ได้เริ่มล้มป่วย ทำให้พอลยิ่งทุ่มให้กับดนตรีมากขึ้นเพื่อคลายความเครียดและกังวล แมรี่ได้เริ่มมีอาการเจ็บหน้าอก ก่อนที่ในเวลาต่อมา แพทย์จะแจ้งว่าแมรี่เป็นมะเร็งเต้านมและคงอยู่ได้อีกไม่นาน แมรี่เสียชีวิตในปีค.ศ.1956 (พ.ศ.2499) ขณะที่พอลมีอายุเพียง 14 ปี สร้างความโศกเศร้าแก่พอล
          พอลได้เปลี่ยนความเศร้าให้เป็นพลังในงานดนตรี โดยพอลได้เขียนเพลงแรก นั่นคือ “I Lost My Little Girl”
          สมาชิกคนที่สาม “ริงโก้ สตาร์ (Ringo Starr)”
          ในบรรดาสมาชิกของเดอะบีทเทิลส์ ริงโก้ สตาร์มีชีวิตวัยเด็กที่หนักที่สุด เขาเป็นสมาชิกที่มีอายุมากที่สุด เกิดที่ลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) โดยเป็นลูกเพียงคนเดียวของ “ริชาร์ด สตาร์กีย์ (Richard Starkey)” และ “เอลซี่ สตาร์กีย์ (Elsie Starkey)”
          จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ชื่อริงโก้ แต่ชื่อ “ริชาร์ด” เช่นเดียวกับพ่อ แต่ได้ใช้ชื่อในวงการดนตรีว่า “ริงโก้”
          ในช่วงวัยเด็ก ริงโก้เป็นเด็กที่โดดเดี่ยว พ่อและแม่ของเขาเลิกกันขณะที่ริงโก้มีอายุเพียงสามขวบ และนานๆ จึงจะกลับมาเยี่ยม 
          ขณะมีอายุได้หกขวบ ริงโก้เป็นไส้ติ่งอักเสบ ต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ภายหลังจากการผ่าตัดไส้ติ่ง ปรากฏว่าร่างกายของเขาไม่ยอมตื่น และอยู่ในอาการโคม่านานกว่า 10 สัปดาห์ เมื่อฟื้นขึ้นมา ริงโก้ก็ยังคงไม่แข็งแรง จึงต้องใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลเป็นปีเลยทีเดียว
          เมื่อออกจากโรงพยาบาลและกลับไปเรียนหนังสือ ริงโก้ก็ตามเพื่อนๆ ไม่ทัน และขณะมีอายุได้ 13 ปี ริงโก้ก็เกิดล้มป่วยอีก คราวนี้ เขาต้องเข้าโรงพยาบาลและอยู่ในโรงพยาบาลนานถึงสองปี
          แต่สิ่งที่ดีในช่วงนี้ ก็คือริงโก้ได้หัดเล่นกลองขณะอยู่ในโรงพยาบาล โดยในโรงพยาบาล จะมีวงดนตรีที่ตระเวนไปตามห้องต่างๆ เล่นดนตรีเพื่อเป็นกำลังใจให้เด็กๆ ทำให้ริงโก้ สนใจในการตีกลอง
          เมื่อออกจากโรงพยาบาลและกลับไปเรียน ริงโก้ก็ตามไม่ทันแล้ว และลาออกจากโรงเรียนขณะมีอายุได้ 15 ปี เมื่อลาออกมาแล้ว ริงโก้ก็ได้ทำงานสารพัด ทั้งทำงานบนรถไฟ เป็นพนักงานเสิร์ฟบนเรือ
          ขณะอายุได้ 18 ปี แม่ของเขาก็ได้ซื้อกลองชุดให้เขา ซึ่งเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่ผู้เป็นแม่พอจะให้ได้ เมื่อได้กลองชุดของจริงแล้ว ริงโก้ก็ตั้งวงดนตรีขึ้นมา และเล่นตามย่านคนงาน ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับริงโก้
          สมาชิกคนสุดท้ายคือ “จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison)”
          ในบรรดาสมาชิกเดอะบีทเทิลส์ จอร์จ แฮร์ริสัน เป็นสมาชิกที่มีวัยเด็กที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์ มีความสุขที่สุด จอร์จนั้นไม่ได้สูญเสียแม่เหมือนจอห์นและพอล ไม่ได้ล้มป่วยเหมือนริงโก้
          จอร์จเป็นลูกคนที่สี่ และเป็นลูกคนเล็กของ “แฮโรลด์ แฮร์ริสัน (Harold Harrison)” และ “ลูอิส แฮร์ริสัน (Louise Harrison)” เขาเกิดที่ลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1943 (พ.ศ.2486) แฮโรลด์เป็นพนักงานขับรถบัส ส่วนลูอิสเป็นครูสอนเต้นบอลล์รูม
          ในวัยเด็ก จอร์จนั้นไม่ได้มีความสนใจในเรื่องของดนตรีเลย เขาเป็นเด็กเงียบๆ ไม่ค่อยพูด แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จอร์จก็เริ่มจะไว้ผมยาวกว่าเด็กคนอื่นๆ และใส่กางเกงรัดๆ ทำให้เด็กคนอื่นล้อเลียนเขา หากแต่จอร์จก็ไม่สนใจ
          จอร์จเริ่มจะสนใจดนตรีเมื่ออายุได้ 14 ปี และได้ขอให้แม่ซื้อกีตาร์ให้ ซึ่งแม่ก็ได้ยอมซื้อกีตาร์ให้จอร์จ เมื่อได้กีตาร์มา จอร์จก็ฝึกกีตาร์ด้วยตัวเองจนเริ่มจะเล่นได้ และก็อยากได้กีตาร์ไฟฟ้า ซึ่งดีกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า ถึงแม้ว่ากีตาร์ไฟฟ้าจะมีราคาแพง แต่แม่ของเขาก็ยอมซื้อให้
          ต่อมา จอร์จก็ได้ร่วมกับพี่ชาย ตั้งวงดนตรีและเล่นงานแรกในคลับในลิเวอร์พูล จากนั้นไม่นาน จอร์จก็ได้พบกับพอลเป็นครั้งแรก ขณะอยู่บนรถบัส พอลกับจอร์จพูดคุยกันเรื่องดนตรี และคุยกันถูกคอมาก ทำให้พอลเริ่มจะไปเตร่ที่บ้านของจอร์จ และซ้อมดนตรี
          พอลนั้นชอบที่จะร้องเพลง ในขณะที่จอร์จชอบที่จะเล่นกีตาร์มากกว่า เนื่องจากเขาอาย ไม่อยากร้องเพลงต่อหน้าคนจำนวนมาก ในเวลานั้น จอห์นก็ได้เริ่มตั้งวงดนตรีของตนเอง ชื่อว่า “เดอะควอร์รีเมน (The Quarrymen)”
          เดอะควอร์รีเมนได้เริ่มเล่นดนตรีตามงานในปีค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่พอลได้พบและรู้จักกับจอห์น หลังจากที่วงเดอะควอร์รีเมนได้ไปเล่นดนตรีในโบสถ์
          พอลนั้นประทับใจในฝีมือของจอห์นมาก ภายหลังจากแสดงเสร็จ พอลก็ได้เข้าไปพูดคุยกับจอห์น และบอกว่าตัวเขาเองก็เล่นดนตรีเหมือนกัน ก่อนจะคว้ากีตาร์ของนักดนตรีคนหนึ่ง และเล่นกีตาร์ให้จอห์นดู
          จอห์นก็รู้สึกประทับใจในความเก่งของพอล และก็สนใจ อยากจะชักชวนพอลเข้าร่วมวง หากแต่ก็ยังลังเล เนื่องจากจอห์นเกรงว่าแฟนๆ อาจจะชอบพอลมากกว่า
          แต่จอห์นก็คิดว่าหากพอลเข้าร่วมกับวง น่าจะเป็นผลดีต่อวงมากกว่า พอลจึงได้เข้าร่วมวง และเริ่มเล่นดนตรี 
          ในเวลาต่อมา พอลได้แนะนำให้จอห์นรู้จักกับจอร์จ ในเวลานั้น จอร์จเพิ่งจะมีอายุเพียง 15 ปี ในขณะที่จอห์นมีอายุได้ 18 ปี ซึ่งจอห์นก็คิดว่าจอร์จนั้นเด็กเกินไป แต่พอลก็ได้โน้มน้าวให้จอห์นรับจอร์จเข้าร่วมวง ซึ่งจอห์นก็ตอบตกลง เหลือแค่มือกลองเท่านั้น
          พวกเขาได้ตามหามือกลอง ซึ่งมือกลองที่เข้ามาก็ล้วนแต่มีปัญหา เข้าๆ ออกๆ จนในที่สุด วงก็ได้รับมือกลองที่ชื่อ “พีท เบสต์ (Pete Best)” เข้ามา
          เมื่อได้มือกลองแล้ว จอห์นก็ได้ชวนเพื่อนที่ชื่อ “สตู ซัทคลิฟฟ์ (Stu Sutcliffe)” ให้มาเล่นกีตาร์เบสส์ สตูนั้นอยู่กับวงไม่นานนัก แต่เขาก็ทำสิ่งที่สำคัญมาก นั่นก็คือสตูได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อวง และในปีค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) วงก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)”
          ในเวลานี้ เด็กหนุ่มกลุ่มนี้ก็ได้รวมตัวกัน เป็นวงดนตรีอย่างสมบูรณ์แล้ว เดอะบีทเทิลส์จำเป็นต้องหางานแสดง ในเวลานั้น ไม่มีใครคิดว่าวันหนึ่ง พวกเขาจะเป็นวงดนตรีที่โด่งดังที่สุดในโลก อัลบั้มขายได้นับล้านแผ่น จะมีแฟนๆ เข้าชมการแสดงจนเต็มฮอลล์
          เมื่อพบกับเดอะบีทเทิลส์ สิ่งที่เจ้าของคลับเห็น คือกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ดูสกปรก ใส่เสื้อหนังรัดๆ โทรมๆ ในช่วงแรก งานดนตรีของพวกเขายังไม่ค่อยดีนัก สตูก็ยังเล่นเบสส์ไม่ค่อยเป็น คนอื่นๆ ก็ยังกระท่อนกระแท่น
          ค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) เจ้าของคลับที่ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ได้เดินทางมาอังกฤษเพื่อหาวงดนตรีราคาถูกๆ และได้พบกับเดอะบีทเทิลส์ และได้เสนอให้เดอะบีทเทิลส์ไปเล่นที่ฮัมบูร์ก
          ทั้งวงนั้นตื่นเต้นและเตรียมตัวเก็บของ เดินทางไปเยอรมนี ท่ามกลางความไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยของพ่อแม่แต่ละคน หากแต่เด็กหนุ่มทั้งหมดก็ไม่สนใจ เลือกที่จะเดินตามความฝัน
          เมื่อไปถึง พวกเขาก็พบว่าคลับที่ว่าเป็นคลับเล็กๆ สกปรกๆ ห้องแต่งตัวคือห้องน้ำรวม ห้องนอนคือห้องหลังจอภาพยนตร์ในโรงหนัง อีกทั้งพวกเขาต้องเล่นดนตรีทีเดียวหลายชั่วโมง บางครั้งแปดชั่วโมงรวด ไม่มีเวลาแม้แต่ทานอาหาร ต้องทานอาหารขณะกำลังแสดงอยู่บนเวที แฟนๆ ที่เข้าชมก็มักจะมีเรื่องตีกันเสมอๆ
          แต่เมื่อเวลาผ่านไป เดอะบีทเทิลส์ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่วัยรุ่นเยอรมัน อีกทั้งการทำงานหนักก็ทำให้พวกเขาเริ่มจะฝีมือดีขึ้น และสามารถเรียกค่าตัวเพิ่มขึ้นและได้ไปแสดงในคลับที่ใหญ่ขึ้น ดีขึ้น
          ในช่วงเวลานี้ เดอะบีทเทิลส์ได้รู้จักกับนักเรียนจากโรงเรียนสอนศิลปะ ซึ่งสอนให้พวกเขาไว้ผมหน้าม้า ซึ่งกำลังเป็นสไตล์ในสมัยนั้น โดยการหวีผมไปด้านหน้า ไม่เสยขึ้นอย่างเมื่อก่อน
          ภายหลังจากอยู่เยอรมนีมาเป็นเวลาสี่เดือน เดอะบีทเทิลส์ก็รู้สึกว่าถึงเวลาจะต้องกลับอังกฤษแล้ว ยกเว้นสตู สตูได้เริ่มมีความรักและต้องการจะอยู่ในเยอรมนีต่อ ทำให้การเดินทางกลับ สตูไม่ได้กลับไปพร้อมกับคนอื่นๆ
          เมื่อกลับถึงอังกฤษ เดอะบีทเทิลส์ก็ได้เปลี่ยนจากเด็กหนุ่มผู้ไม่ประสีประสา กลายเป็นนักดนตรีฝีมือเยี่ยม จอห์นและพอลเริ่มเขียนเพลงเอง และพวกเขาก็เกิดไปเตะตาชายที่ชื่อ “ไบรอัน เอ็ปสไตน์ (Brian Epstein)”
          ไบรอันนั้นมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี เขาเป็นนักธุรกิจท้องถิ่นซึ่งมองเห็นแววของเดอะบีทเทิลส์ และต้องการจะบริหารวงดนตรีกลุ่มนี้ ไบรอันรู้ว่าทำอย่างไรวงถึงจะดัง เขาบอกกับทุกคนในวงว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต่อไป จะไม่มีการกินอาหารบนเวทีอีกแล้ว ไม่มีการพูดคำหยาบ ไม่มีการใส่เสื้อหนังรัดๆ อีกต่อไป เปลี่ยนเป็นใส่สูทผูกเนกไทอย่างสุภาพ
          ทุกคนในวงไม่ได้มีปัญหา เว้นแต่เรื่องเดียว นั่นคือทุกคนอยากให้พีทออกจากวง และต้องการมือกลองที่มีฝีมือมากกว่านี้ ผู้ที่พวกเขาสนใจคือ “ริงโก้ สตาร์ (Ringo Starr)” ซึ่งเป็นมือกลองอีกวง ไบรอันจึงช่วยจัดการ ไล่พีทออกจากวง ซึ่งพีทก็รู้สึกโกรธที่จอห์นและพอลไม่มาพูดกับเขาตรงๆ
          ในที่สุด ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) สมาชิกของเดอะบีทเทิลส์ก็ครบแล้ว นั่นคือ “จอห์น พอล จอร์จ และริงโก้” ต้นปีค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) เดอะบีทเทิลส์ยังคงเล่นตามคลับเล็กๆ หรือไม่ก็เป็นวงเปิดให้กับศิลปินคนอื่น
          แต่ในเดือนมีนาคมของปีนั้น อัลบั้มแรกของพวกเขาก็ได้ออกวางจำหน่ายในอังกฤษ นั่นคือ “Please Please Me” และกลายเป็นอัลบั้มฮิตในทันที จอห์นกับพอลเป็นนักร้องนำ และดนตรีของพวกเขาก็ถูกใจวัยรุ่นและแฟนเพลงจำนวนมาก
          ต่อมา ตั๋วชมการแสดงของพวกเขาก็ขายหมดภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง และพวกเขาก็โด่งดังมากซะจนแฟนๆ ตามติดพวกเขาไปทุกที่ จนหนังสือพิมพ์อังกฤษเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “บีทเทิลมาเนีย (Beatlemania)” แต่ที่สหรัฐอเมริกา เดอะบีทเทิลส์ยังคงเป็นวงดนตรีโนเนม ไม่มีคนรู้จัก
          เพลงแรกของเดอะบีทเทิลส์ในสหรัฐอเมริกาก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้บริษัทแผ่นเสียงในสหรัฐอเมริกาไม่สนใจเดอะบีทเทิลส์ เดอะบีทเทิลส์จึงได้ไปเซ็นสัญญากับ “แคปปิตอล เรคคอร์ดส์ (Capitol Records)” แทน ไบรอันรับรองกับผู้จัดการแคปปิตอล ว่าเพลง “I Want To Hold Your Hand” จะต้องดังระเบิด ซึ่งก็จริงอย่างที่ไบรอันว่า เพลงนี้พุ่งสู่อันดับหนึ่ง
          วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) บีทเทิลมาเนียก็ได้ข้ามไปถึงสหรัฐอเมริกา จอห์น พอล จอร์จ และริงโก้ ได้เดินทางโดยเครื่องบิน มาถึงสนามบินเคนเนดี้ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และนี่เป็นครั้งแรกที่ทั้งสี่ได้มาเยือนสหรัฐอเมริกา
          ที่ผ่านมานั้น ศิลปินดังๆ ล้วนแต่เป็นศิลปินจากสหรัฐอเมริกา ยังไม่เคยมีศิลปินชาติอื่น แม้แต่อังกฤษ เข้ามาตีตลาดในสหรัฐอเมริกาได้ สมาชิกทั้งสี่เองก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกาหรือไม่
          จอร์จได้กล่าวก่อนการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาว่า “ที่นั่น (สหรัฐอเมริกา) ก็มีครบทุกอย่าง พวกเขาจะต้องการเราทำไม” หากแต่ไบรอันนั้นมั่นใจ เดอะบีทเทิลส์ต้องโด่งดัง ทันทีที่เครื่องบินมาถึงสหรัฐอเมริกา คำพูดของไบรอันก็ได้ถูกพิสูจน์ว่าเป็นความจริง

          แฟนๆ นับพันไปรอต้อนรับสมาชิกทั้งสี่ถึงสนามบิน แฟนๆ ต่างตะโกน พยายามจะเข้ามาจับตัวพวกเขา บางคนถึงขั้นเป็นลมเมื่อเดอะบีทเทิลส์โบกมือให้ เดอะบีทเทิลส์ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวที่สนามบิน ซึ่งนักข่าวต่างก็เพลิดเพลินกับการสัมภาษณ์พวกเขา เนื่องจากพวกเขาเป็นคนหนุ่มที่สนุกสนาน มีอารมณ์ขัน

          อีกสองวันต่อมา เดอะบีทเทิลส์ได้ไปออกรายการ “The Ed Sullivan Show” และก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ รายการนี้ในวันที่เดอะบีทเทิลส์มาเปิดแสดง ทำยอดผู้ชมไปถึง 73 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของคนอเมริกันทั้งประเทศในเวลานั้น จากนั้นเดอะบีทเทิลส์ก็ได้เปิดคอนเสิร์ต ซึ่งบัตรก็ขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว

          ความโด่งดังของเดอะบีทเทิลส์ ทำให้วงดนตรีอังกฤษวงอื่นๆ พลอยได้อานิสงส์ไปด้วย ทำให้วงอื่นๆ ของอังกฤษเข้ามาตีตลาดในสหรัฐอเมริกา ความคลั่งไคล้ในตัวเดอะบีทเทิลส์ ทำให้เด็กวัยรุ่นเลียนแบบพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นทรงผมหรือแนวดนตรี อีกทั้งทุกอย่างที่เกี่ยวกับพวกเขา ยังขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

          ในปีค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) นี้เอง เดอะบีทเทิลส์ได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก นั่นคือ “A Hard Day’s Night” และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จ เป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินและดังของปีนั้น

          ในเวลานี้ จอห์น พอล จอร์จ และริงโก้ ไม่ได้เป็นเด็กวัยรุ่นจนๆ จากลิเวอร์พูลอีกต่อไป พวกเขาคือสี่เต่าทอง โด่งดังยิ่งกว่าเอลวิสซะอีก แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ยังเป็นคนหนุ่มที่ไม่มีประสบการณ์ บางครั้งก็ทำผิดพลาด

          จอห์นเคยให้สัมภาษณ์ว่าในเวลานี้ “เดอะบีทเทิลส์โด่งดังยิ่งกว่าพระเยซูซะอีก” จอห์นเพียงแค่พูดเล่น สนุกๆ ซึ่งคนอังกฤษเข้าใจ หากแต่ดูเหมือนคนอเมริกันจะไม่เข้าใจและไม่พอใจเป็นอย่างมาก สถานีวิทยุหลายแห่งได้ทำการแบนเพลงของเดอะบีทเทิลส์ และชาวอเมริกันจำนวนมากได้นำแผ่นเสียงของเดอะบีทเทิลส์มาเผาเพื่อเป็นการต่อต้าน

          จอห์นรีบออกมากล่าวขอโทษ ซึ่งประสบการณ์นี้ก็ทำให้สมาชิกเปลี่ยนไป พวกเขาระมัดระวังตัวมากขึ้น พวกเขาเริ่มคิดได้ว่า บางทีการมีชื่อเสียงโด่งดังก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป การเป็นคนดัง ไม่ใช่เรื่องสนุกและง่าย

          เมื่อไม่ได้เข้าห้องอัด อัดเพลงสำหรับอัลบั้มใหม่ เดอะบีทเทิลส์ต้องเก็บของ เดินทางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อเปิดคอนเสิร์ต เวลาพักผ่อนก็มีไม่มากนัก
          ตลอดเวลา 60 วันในปีค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) เดอะบีทเทิลส์แสดงคอนเสิร์ตไปกว่า 53 ครั้ง แต่ละที่ไม่ซ้ำกันเลย แสดงทีละเมืองในสหรัฐอเมริกา และแฟนๆ ก็คลั่งไคล้พวกเขามากซะจนบางทีพวกเขาต้องเล่นคอนเสิร์ตโดยมีรั้วล้อมรอบ

          พวกเขาต้องออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ต ไม่ค่อยได้เจอกับครอบครัว นี่เป็นเรื่องยากสำหรับทุกคนโดยเฉพาะกับจอห์น ในเวลานั้น จอห์นมีภรรยาและลูกแล้ว แต่เขาแทบไม่มีโอกาสเจอภรรยาและลูกเลย เดอะบีทเทิลส์เริ่มคิด

          ถ้าหากว่าพวกเขาจะไม่เล่นคอนเสิร์ตอีกแล้วล่ะ? ถ้าหากว่าพวกเขาจะใช้เวลาในการผลิตผลงานดนตรีในสตูดิโอให้มากขึ้นล่ะ? ไบรอันไม่ชอบไอเดียนี้เท่าไรนัก เขาอยากให้เดอะบีทเทิลส์ออกทัวร์เยอะๆ จะได้ทำเงินได้เยอะๆ แต่เดอะบีทเทิลส์นั้นเหนื่อยแล้ว พวกเขาเบื่อการเดินทาง เบื่อที่ต้องมาวิ่งหนีแฟนๆ ที่ไล่ตามพวกเขา เวลาส่วนตัวก็แทบจะไม่มี

          หลังจากคอนเสิร์ตหนึ่ง แฟนๆ ได้มารุมล้อมรถลิมูซีนของพวกเขา เขย่ารถ หวังจะเห็นหนึ่งในสมาชิก หากแต่จริงๆ แล้วรถลิมูซีนเป็นเพียงแค่ตัวหลอก สมาชิกทั้งสี่ได้ไปแอบซ่อนตัวอยู่ในรถพยาบาลและหนีไปไกลแล้ว

          อาจจะฟังดูน่าสนุก แต่สำหรับสมาชิกทั้งสี่ นี่ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย เวลานี้ แม้แต่การเล่นคอนเสิร์ตก็ยาก แฟนๆ จะส่งเสียงกรี๊ด คลั่งไคล้พวกเขา จนพวกเขาไม่ได้ยินกันเอง เวลาจะขึ้นเพลงก็ต้องเดา กะจังหวะเอง เนื่องจากเสียงของแฟนๆ กลบเสียงดนตรีหมด จอห์นกับพอลก็มีเหตุผลที่ทำให้รู้สึกเบื่อ

          ทั้งคู่ได้เติบโตเป็นนักแต่งเพลงฝีมือดี และมีไอเดียใหม่ๆ ที่อยากลองมากมาย แต่พวกแฟนๆ ที่ไปดูคอนเสิร์ตต่างแค่อยากฟังเพลงเก่าๆ ของพวกเขา เพลงที่ร้องง่ายๆ ไม่ลึกซึ้ง สมาชิกทั้งสี่ตัดสินใจจะขัดคำสั่งของไบรอัน พวกเขาใช้เวลาในห้องอัดมากขึ้น และเริ่มผลิตงานดนตรีใหม่ๆ

         ความเปลี่ยนแปลงแรกมาในเพลง “Yesterday” เพลงนี้มีเนื้อหาเศร้า เกี่ยวกับรักที่หลุดลอยไป และมีดนตรีพื้นหลังเป็นเครื่องดนตรีคลาสสิค Yesterday กลายเป็นเพลงที่ดังที่สุดของวงในปีค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) และจนถึงทุกวันนี้ เพลงนี้ถูกนำไปคัฟเวอร์ใหม่โดยศิลปินกว่า 3,000 คน ซึ่งมากพอที่จะลงกินเนสส์บุ๊คได้

         ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) และค.ศ.1966 (พ.ศ.2509) เดอะบีทเทิลส์ได้อัดเสียงสำหรับอัลบั้ม “Rubbersoul” และ “Revolver” อัลบั้มทั้งสองนี้ต่างจากอัลบั้มแรกๆ ต้องฟังอย่างตั้งใจ คำก็แปลกใหม่ เสียงดนตรีก็ไม่ใช่จังหวะที่ฟังง่ายเหมือนเดิม

         ถึงแม้จะประสบความสำเร็จ แต่ไบรอันก็ยังต้องการให้ทั้งสี่กลับไปออกทัวร์คอนเสิร์ต ซึ่งเดอะบีทเทิลส์ก็ยอมทำตาม แต่ก็ไม่ได้ผล พวกเขาเบื่อและไม่มีความสุข ในที่สุด เดอะบีทเทิลส์ก็ตัดสินใจจะจัดคอนเสิร์ตสุดท้าย นั่นคือคอนเสิร์ตในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ.1966 (พ.ศ.2509) ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

         ไบรอันนั้นไม่พอใจและวิตกกังวล เขากังวลว่าวงดนตรีที่ไม่ได้ออกคอนเสิร์ตจะไม่สามารถรักษาความโด่งดังไว้ได้ นอกจากนั้น แฟนๆ ต่างก็สับสน เกิดข่าวลือว่าวงแตก ลูอิส แม่ของจอร์จ ต้องออกมาตอบจดหมายของแฟนๆ ที่ส่งมาถามถึงความเป็นไปของเดอะบีทเทิลส์ โดยเธอได้ตอบว่าสมาชิกทั้งสี่ไม่ได้วงแตก พวกเขาแค่ไปทำอัลบั้มใหม่

         เมื่อได้กลับบ้าน สมาชิกทั้งสี่ต่างมีอิสระมากขึ้น พวกเขาแต่งงานและใช้เวลากับครอบครัว มีเวลาส่วนตัว นอกจากนั้น พวกเขายังได้โอกาสทดลองไอเดียใหม่ๆ สำหรับอัลบั้ม และเริ่มออกเพลงเสียดสีสังคม ต้านสงคราม ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังดังในเวลานั้น เพลงอย่าง “All You Need Is Love” หรือ “Revolution” ล้วนเป็นเพลงที่ต้านสงครามและมีความหมายลึกซึ้ง

         ค.ศ.1967 (พ.ศ.2510) เดอะบีทเทิลส์ออกอัลบั้มที่หลายคนคิดว่าเป็นอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดของพวกเขา นั่นคือ “Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band” เดอะบีทเทิลส์ใช้เวลาในการอัดเสียงอัลบั้มนี้ถึงสี่เดือนเต็ม และมีเพลงสนุกๆ แตกต่างกันออกไปในแต่ละเพลง ซึ่งบางเพลงก็ยากที่จะตีความ

         เมื่อออกจำหน่าย อัลบั้มชุดนี้ก็ขึ้นสู่อันดับหนึ่งทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และมียอดขายสูงถึงแปดล้านแผ่น ในช่วงแรก เดอะบีทเทิลส์สนุกกับการเป็นวงดนตรีที่โด่งดัง มีชื่อเสียง ความโด่งดังนี้พลิกชีวิตพวกเขา จากเด็กวัยรุ่นจนๆ กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก มีแฟนๆ ชื่นชม และเงินทองก็ไหลมาเทมาอย่างไม่หยุด

         จอห์นนั้นซื้อรถโรลส์รอยซ์ ส่วนพอลก็ซื้อแอสตันมาร์ติน จอร์จก็ซื้อบ้านหลังใหม่ ริงโก้เคยกล่าวว่า “เมื่อเงินหลั่งไหลเข้ามา ผมก็ออกไปซื้อสูทสิบตัว เสื้ออีกนับไม่ถ้วน รถอีกสามคัน ผมใช้เงินราวกับมันคือสิ่งที่เพิ่งจะถูกประดิษฐ์ขึ้น” ยิ่งเวลาผ่านไป สมาชิกทั้งสี่ก็เริ่มจะรู้สึกถึงความขมขื่นของความสำเร็จ พวกเขาถูกคาดหวังว่าต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ใช้เวลาด้วยกันตลอด ใช่ พวกเขาเป็นเพื่อนกัน แต่พวกเขาก็เริ่มจะมีอายุมากขึ้น เริ่มมีครอบครัว และไม่อยากจะอยู่กับเพื่อนๆ ในวงตลอดเวลาเหมือนเมื่อก่อน

         พวกเขาทั้งสี่จึงค่อยๆ ห่างกันทีละนิดๆ เริ่มมีชีวิตส่วนตัว ไม่เพียงแค่ชีวิตส่วนตัวเท่านั้น ในเวลานั้น สไตล์การแต่งตัวของพวกเขาก็เริ่มเปลี่ยนไปเช่นกัน ยุคนั้นเป็นยุคฮิปปี้ พวกเขาเริ่มจะไว้ผมยาว แต่งเสื้อผ้าหลากสี

         ที่ผ่านมา เดอะบีทเทิลส์ออกอัลบั้มไปแล้วกว่า 20 อัลบั้ม มีเพลงมากกว่า 220 เพลง และงานต่อไปของพวกเขา ก็คือการออกอัลบั้มพร้อมทั้งถ่ายทำภาพยนตร์ไปด้วย ไอเดียคือต้องการให้แฟนๆ เห็นว่าพวกเขาทำงานเข้ากันได้ดีแค่ไหน

         แต่ตรงกันข้าม “Let It Be” กลับแสดงให้แฟนๆ เห็นว่าพวกเขานั้นเหนื่อยล้าและเบื่อหน่ายแค่ไหน พอลอยากกลับไปออกทัวร์คอนเสิร์ตอีกครั้ง แต่สมาชิกที่เหลือไม่ต้องการ จอร์จต้องการให้ในอัลบั้ม มีเพลงที่ตนเป็นคนแต่งมากกว่านี้ คนอื่นๆ บอกไม่เอา ส่วนจอห์นก็อยากให้ “โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono)” ภรรยาใหม่ของเขา มาอยู่ด้วยในเวลาที่อัดเสียง ในขณะที่คนอื่นๆ ไม่ต้องการให้โยโกะมาในห้องอัด

         โยโกะเป็นศิลปิน และเป็นศิลปินที่น่าจะเรียกได้ว่าติสท์แตกคนหนึ่ง งานศิลปะของเธอนั้นเรียกว่าแหวกแนว หลุดโลก ถ้าให้ยกตัวอย่าง เธอเคยทำหนังที่ทั้งเรื่อง คือแมลงวันกำลังไต่ไปตามร่างเปลือยเปล่าของนักแสดง โยโกะนั้นมีความเชื่อมั่นในตนเอง และเธอคิดว่าสมาชิกคนอื่นๆ ควรจะต้องฟังจอห์นมากกว่านี้

         ในระหว่างที่อัดเสียงสำหรับอัลบั้ม “Let It Be” โยโกะจะนั่งอยู่ข้างๆ จอห์น และมักจะกระซิบความเห็นของเธอให้จอห์นฟัง โยโกะรักจอห์น และอยู่เคียงข้างเขาเสมอ ในขณะที่สมาชิกที่เหลือคิดว่าคนนอก แม้แต่ภรรยา ก็ไม่ควรเข้ามาวุ่นวายในสตูดิโอ ที่ผ่านมา เวลาทำงานก็มีแค่พวกเขาสี่คน Let It Be กลายเป็นงานที่ยุ่งยาก วุ่นวาย

         เมื่อเสร็จงานนี้ สมาชิกแต่ละคนแทบไม่พูดคุยกันเลย อัลบั้มก็ไม่เสร็จสมบูรณ์ และเมื่อภาพยนตร์ออกฉาย ก็แทบไม่มีใครไปดู แม้แต่เดอะบีทเทิลส์เองก็ยังไม่ไปในรอบปฐมทัศน์ พอลนั้นรู้สึกแย่ เขาไม่อยากให้วงเป็นอย่างนี้ ถึงแม้ว่าพวกเขาเริ่มจะห่างเหินกัน แต่พวกเขาก็ยังเป็นเพื่อน ยังรัก ยังห่วงใยกันและกัน

         พอลได้โน้มน้าวสมาชิกที่เหลือให้ทำอัลบั้มด้วยกันอีกชุด คราวนี้ จะไม่มีการทะเลาะกันอีกต่อไป ทุกอย่างจะเป็นเหมือนวันเก่า อัลบั้มชุดนี้คือ “Abbey Road” ในอัลบั้มนี้ แม้แต่ริงโก้ ซึ่งไม่ได้ถนัดร้องเพลงมากนัก ก็ได้มีโอกาสร้องเพลงด้วย

         เมื่ออัลบั้มนี้ออกวางจำหน่ายในเดือนกันยายน ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) ก็พุ่งขึ้นสู่อันดับหนึ่งแทบจะทันที แต่หลังจากนั้น ข่าวที่ช็อกแฟนๆ ทั่วโลกก็ออกมา เดอะบีทเทิลส์จบลงแล้ว เดอะบีทเทิลส์แยกวงไปในปีค.ศ.1970 (พ.ศ.2513)

         เมื่อแยกวง พอลก็ได้ไปใช้เวลาอยู่กับ “ลินดา (Linda McCartney)” ภรรยาซึ่งเขาได้แต่งงานเมื่อปีค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) และมีลูกด้วยกันสามคน
         พอลได้ออกอัลบั้มเดี่ยวชื่อว่า “McCartney” และได้ก่อตั้งวงของตัวเอง นั่นคือวง “วิงส์ (Wings)” และออกแสดงคอนเสิร์ตที่เขาชอบอีกครั้ง

         นอกจากนั้น พอลยังสอนลินดาให้เล่นคีย์บอร์ด เพื่อที่ลินดาจะได้เล่นคีย์บอร์ดให้กับวงของเขา ทั้งคู่จะได้ไม่ต้องห่างกัน จอร์จและริงโก้ก็ออกงานเดี่ยวของตัวเองเช่นกัน ที่ผ่านมา จอห์นและพอลเป็นนักแต่งเพลงหลักและเป็นนักร้องนำของวง จอร์จและริงโก้ไม่ได้มีโอกาสร้องเพลงมากนัก

         ในเมื่อวงแตกไปแล้ว พวกเขาก็สามารถออกอัลบั้มของตนเอง โดยจอร์จนั้นมีเพลงที่ตนเองเป็นคนแต่งเยอะมากซะจนตอนที่ออกเป็นอัลบั้ม อัลบั้มของเขามีจำนวนเพลงมากกว่าอัลบั้มของเดอะบีทเทิลส์ทั้งหมด

         ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) “My Sweet Lord” เพลงเดี่ยวของจอร์จ ขึ้นสู่อันดับหนึ่ง และทำให้จอร์จเป็นเดอะบีทเทิลส์คนแรกที่มีเพลงขึ้นสู่อันดับหนึ่ง ภายหลังจากแยกวง ริงโก้นั้นไม่ได้ประสบความสำเร็จด้านดนตรีมากเท่ากับจอร์จ แต่เขาเป็นสมาชิกเดอะบีทเทิลส์คนเดียวที่มุ่งสู่วงการภาพยนตร์

         เขามีผลงานการแสดงออกมามากมาย และภายหลัง ก็ได้ก่อตั้งวงดนตรีของตนเอง ตระเวนแสดงคอนเสิร์ต คนที่ดูจะมีความสุขที่สุดที่เดอะบีทเทิลส์แยกวง นั่นก็คือจอห์น ในเมื่อไม่มีเดอะบีทเทิลส์อีกแล้ว จอห์นก็มีอิสระ สามารถแสดงความเห็นทางการเมืองและเรื่องต่างๆ ได้

         จอห์นได้ออกเพลงต้านสงครามออกมามากมาย และออกมาประท้วง เรียกร้องสันติภาพหลายครั้ง รัฐบาลอเมริกันไม่ค่อยชอบจอห์นนัก เนื่องจากเขามักจะประท้วงและแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างไม่ไว้หน้าใครอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนในรัฐบาลหลายคนอยากให้จอห์นถูกไล่ออกจากสหรัฐอเมริกา เอฟบีไอก็จับตามองจอห์นอย่างใกล้ชิด

         แต่จอห์นก็ไม่ยอมกลับอังกฤษ เขาและโยโกะได้ย้ายมาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาอย่างถาวรในปีค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) และซื้ออพาร์ทเม้นท์ในนิวยอร์ก ในเวลานี้ จอห์น พอล จอร์จ และริงโก้ ต่างคนต่างแยกกันทำงาน มีชีวิตของตัวเอง

         คำถามสำคัญคือ “เดอะบีทเทิลส์จะกลับมารวมตัวกันอีกทีเมื่อไร?” คำตอบของจอห์นคือ “ไม่มีวัน” หลังจากวงแตก สมาชิกแต่ละคนได้ไปช่วยในอัลบั้มของอีกคนบ้าง

         จอร์จไปช่วยในอัลบั้มของจอห์นและริงโก้ ริงโก้ก็ช่วยไปเล่นกลองให้ในอัลบั้มของจอห์น พอล และจอร์จ พอลก็มาช่วยในอัลบั้มของจอร์จและริงโก้ ส่วนจอห์นก็มาช่วยในอัลบั้มของจอร์จและริงโก้
         แต่พวกเขาไม่เคยกลับมาทำงานด้วยกันพร้อมหน้าสี่คนเหมือนวันเก่า สำหรับสาเหตุ อาจจะเป็นเพราะจอห์นและพอลนั้นโกรธกันมากเกินกว่าจะกลับมาทำงานด้วยกันอีก
         ภายหลังจากวงแตก จอห์นและพอลต่างก็พูดโจมตีกัน เวลาสัมภาษณ์ ต่างคนก็ต่างพูดกระทบอีกฝ่าย เพลงของจอห์นบางเพลงก็มีเนื้อหาที่หลายคนเชื่อว่าเป็นการแต่งเพื่อด่าหรือพูดกระทบพอล

         แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความบาดหมางก็ค่อยๆ จางหาย ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) สองปีหลังจากวงแตก จอห์นและพอลได้เริ่มกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง คืนหนึ่งในปีค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) พอลได้เดินทางมานิวยอร์ก และได้แวะไปเยี่ยมจอห์น

         ทั้งคู่ได้ดูโทรทัศน์ด้วยกัน โดยรายการที่ดูคือ “Saturday Night Live” โดยโปรดิวเซอร์รายการได้ประกาศว่าจะจ่ายให้สมาชิกเดอะบีทเทิลส์คนละ 1,000 ดอลลาร์ หากพวกเขายอมกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง

         ผู้ชมในห้องส่งหัวเราะ รู้ดีว่าที่โปรดิวเซอร์พูดเป็นเพียงเรื่องตลก เนื่องจากเดอะบีทเทิลส์เคยได้รับข้อเสนอเป็นจำนวนเงินหลักล้านดอลลาร์ ขอให้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง จอห์นและพอลเห็นตรงกันว่าคงจะตลกดี หากเขาทั้งคู่โผล่ไปเซอร์ไพรส์ทุกคนถึงห้องส่ง แต่สุดท้าย ทั้งคู่ก็ไม่ได้ไปเนื่องจากเหนื่อยล้า

         แต่ถึงอย่างนั้น แฟนๆ ก็ยังคงจินตนาการกันว่าจะเป็นอย่างไร หากทั้งจอห์นและพอลโผล่ไปเซอร์ไพรส์แฟนๆ จริงๆ

         ในช่วงกลางยุค 70 (พ.ศ.2513-2522) จอห์นยังคงเป็นหนึ่งในคนที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และโด่งดังที่สุดในบรรดาสมาชิกเดอะบีทเทิลส์ แต่ถามว่าเขามีความสุขหรือไม่? ก็ไม่

         ขายังหนุ่ม อายุเพียงแค่ 30 กลางๆ เท่านั้น และที่ผ่านมา เขาก็ถูกจับตามองจากสื่อมวลชนและแฟนๆ มาโดยตลอด ความสัมพันธ์ของเขากับโยโกะก็เริ่มจะไม่ค่อยดี ซึ่งจอห์นก็เกรงว่าจะจบลงด้วยการหย่าร้าง เช่นเดียวกับภรรยาคนแรกของเขา

         ต่อมา โยโกะขอให้จอห์นย้ายออกไป ซึ่งจอห์นก็ยอม และเมื่อแยกจากโยโกะ เขาก็เริ่มจะทำตัวเละเทะ เอาแต่ปาร์ตี้ งานดนตรีของเขาก็เริ่มจะตกลง ภายหลัง จอห์นและโยโกะก็ได้คืนดี และกลับมาอยู่ด้วยกัน

         จากนั้น โยโกะได้ตั้งท้อง และให้กำเนิดลูกชายในวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) จอห์นตั้งชื่อลูกว่า “ฌอน (Sean Lennon)”

         “จูเลียน (Julian Lennon)” ลูกชายคนแรกของจอห์น เกิดในปีค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จอห์นกำลังโด่งดังในฐานะสมาชิกของเดอะบีทเทิลส์ และต้องออกตระเวนทัวร์ ทำให้ไม่มีเวลาให้ลูกมากนัก

         คราวนี้ จอห์นต้องการจะทำหน้าที่พ่อจริงๆ เขาจะดูแลฌอน ทุ่มเวลาทั้งหมดกับการเลี้ยงลูก นั่นหมายถึงการวางมือจากงานดนตรี โดยในช่วงเวลาที่ฌอนเป็นทารก จอห์นไม่ได้ออกอัลบั้มหรือแสดงคอนเสิร์ตเลย เขาทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการเลี้ยงดูลูก

         เป็นเวลากว่าห้าปีที่จอห์นแทบจะไม่ไปไหนไกลจากที่พัก หากแต่ดนตรียังคงเป็นสิ่งที่เขาถวิลหา เมื่อนั่งเฉยๆ เพลงใหม่ๆ จะผุดขึ้นมาในความคิดของจอห์น ซึ่งเขาก็จะเล่นเปียโน และอัดใส่เทปไว้ เพื่อไม่ให้ไอเดียนี้หายไป

         เพื่อนศิลปินคนอื่นๆ ต่างชักชวนให้จอห์นกลับมาเล่นคอนเสิร์ตอีกครั้ง ซึ่งจอห์นก็ปฏิเสธเรื่อยมา แต่อยู่ๆ จอห์นก็เปลี่ยนใจ และกลับมาผลิตงานดนตรีอีก สาเหตุที่จอห์นกลับมาอีกครั้ง ไม่ใช่เพราะเขาต้องการเงิน เขารวยอยู่แล้ว ไม่ใช่เพราะเขาอยากจะโด่งดัง จอห์นนั้นโด่งดังและมีแต่คนสนใจอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่เขากลับมา ก็เนื่องจากความรักในงานดนตรี

         เมื่อฌอนอายุได้ห้าขวบและเริ่มจะเข้าโรงเรียน จอห์นจึงกลับมาอีกครั้ง จอห์นได้เริ่มอัดเสียงและขอให้โยโกะมาช่วยร้องด้วย โดยจอห์นตั้งชื่ออัลบั้มนี้ว่า “Double Fantasy”

         Double Fantasy ออกวางจำหน่ายในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) และประสบความสำเร็จอย่างดี สามารถทำยอดขายกว่าห้าแสนก๊อปปี้ในสองสัปดาห์ จอห์นนั้นตื่นเต้นที่แฟนๆ ยังให้การต้อนรับ และวางแผนสำหรับงานเพลงชุดใหม่
         แต่แล้วในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) “มาร์ค เดวิด แชปแมน (Mark David Chapman)” แฟนเพลงโรคจิตผู้คลั่งไคล้จอห์น หากแต่ได้ยินเสียงในหัวบอกให้ฆ่าจอห์น ได้ดักยิงจอห์นขณะที่จอห์นกำลังจะเดินเข้าที่พักของตน

         จอห์นถูกยิงถึงสี่นัด และล้มลงกับพื้น เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หากแต่ไม่ทันเวลา จอห์น เลนนอนเสียชีวิตขณะมีอายุได้ 40 ปี ทั้งโลกที่รู้ข่าวต่างช็อก สมาชิกเดอะบีทเทิลส์ที่เหลืออีกสามคน ต่างก็เศร้าใจในการจากไปของจอห์น

         ริงโก้ได้บินมานิวยอร์กเพื่อมาอยู่เป็นเพื่อนโยโกะ ส่วนพอลและจอร์จต่างก็มีเพลงที่อุทิศให้จอห์น หกวันหลังการเสียชีวิตของจอห์น ผู้คนนับพันได้เดินทางมายังเซ็นทรัลปาร์ค

         เกิดความเงียบเป็นเวลานานกว่า 10 นาที จากนั้น จึงมีการเล่นเพลง “Imagine” ของจอห์น ซึ่งสะท้อนถึงความฝันของจอห์น ที่อยากให้โลกมีแต่สันติสุข จอห์นนั้นเป็นที่จดจำ ไม่ใช่เพียงแค่ในฐานะของสมาชิกเดอะบีทเทิลส์ หากแต่เป็นในฐานะของบุคคลที่อยากให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

         ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) 30 ปีหลังการจากไปของจอห์น ผู้คนนับพันก็ยังรวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงจอห์น 15 ปีหลังการจากไปของจอห์น สมาชิกของเดอะบีทเทิลส์ที่เหลือ ได้มารวมตัวกันอีกครั้ง โดยโยโกะได้อนุญาตให้ทั้งสาม อัดเสียงคู่ไปกับเสียงของจอห์นในเทปเดโม

         เพลงแรกที่ทั้งสามกลับมารวมตัวกัน “Free as a Bird” พุ่งขึ้นสู่อันดับหนึ่งอย่างรวดเร็ว จากนั้น พอล จอร์จ และริงโก้ ต่างก็ดำเนินชีวิตตามแนวทางของตน จอร์จเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปีค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ซึ่งภายหลัง สมาชิกอีกสองคนที่เหลือก็ได้ร่วมในคอนเสิร์ตเพื่อรำลึกถึงจอร์จ

         ในทุกวันนี้ เดอะบีทเทิลส์เหลือสมาชิกเพียงแค่สองคน หากแต่ความยิ่งใหญ่ของวงดนตรีวงนี้ยังคงอยู่ พอลเคยกล่าวว่า เดอะบีทเทิลส์คือ “วงดนตรีเล็กๆ ที่ดีวงหนึ่งเท่านั้น” แต่ดูเหมือนหลายคนจะไม่ได้คิดอย่างนั้น หลายคนคิดว่าวงนี้ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะเทียบได้

         คำถามอีกข้อที่หลายคนมักตั้งข้อสงสัยก็คือ “พอลยังคงโกรธและเคืองใจในตัวจอห์นอยู่หรือไม่?” ทุกคนทราบกันดีว่าภายหลังจากวงแตก จอห์นและพอลก็มีปัญหา ไม่คุยกัน กระทบกระทั่งกันอยู่เสมอ

         แต่คำตอบนี้ก็ได้รับการพิสูจน์ในปีค.ศ.1994 (พ.ศ.2537) เมื่อจอห์นได้รับการบรรจุชื่อไว้ในหอเกียรติยศวงการร็อคแอนด์โรลล์ พอลได้เปิดจดหมาย กล่าวยินดีและระลึกถึงจอห์น

         พอลจบท้ายจดหมายด้วยประโยคที่น่าจะตอบคำถามหลายๆ คนได้ดีว่าเขารู้สึกยังไงกับจอห์น “จดหมายฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นด้วยความรัก จากพอล เพื่อนของนาย”

References:

ต้นฉบับ:

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles) สี่เต่าทองผู้เขย่าโลกด้วยเสียงเพลง อัปเดตล่าสุด 23 กรกฎาคม 2567 เวลา 22:28:01 2,866 อ่าน
TOP