ปริศนาการสิ้นสลายของ “อารยธรรมอังกอร์ (Angkor Civilization)”
“อารยธรรมอังกอร์ (Angkor Civilization)” คืออารยธรรมโบราณที่เชื่อว่าสาบสูญมานาน และก็เป็นเรื่องราวที่นักประวัติศาสตร์หลายคนให้ความสนใจ
“นครวัด (Angkor Wat)” และ “นครธม (Angkor Thom)” คือสถานที่ที่โด่งดัง โดยนครวัดคือหมู่ปราสาทในประเทศกัมพูชาและเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนนครธมคือเมืองหลวงแห่งสุดท้ายแห่งอาณาจักรพระนคร
สำหรับยุคของ “ราชวงศ์อังกอร์ (Angkor Dynasty)” คือช่วงเวลาของอาณาจักรพระนครในสมัยศตวรรษที่ 9-ศตวรรษที่ 15 โดยมีการสร้างวิหารที่สวยงาม รวมทั้งนครวัด และมีความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และศาสนาในกัมพูชา มีการเปลี่ยนแปลงจากศาสนาฮินดูสู่ศาสนาพุทธ
สำหรับผู้ค้นพบเมืองพระนครหรืออังกอร์นั้น เชื่อว่าผู้ที่ค้นพบเป็นคนแรกคือนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ “อ็องรี มูโอ (Henri Mouhot)” โดยมีการค้นพบในเดือนมกราคม ค.ศ.1861 (พ.ศ.2404)
ย้อนกลับไปตั้งแต่ปีค.ศ.1632 (พ.ศ.2175) ซามูไรชาวญี่ปุ่นได้เดินทางเข้ามายังเมืองพระนคร และได้วาดภาพบนเสาหินของเมือง ซึ่งเสาหินนั้นก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมแล้ว
จากภาพวาดนั้นเป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าเคยมีชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาในเมืองนี้ โดยในเวลานั้น ชาวญี่ปุ่นเข้าใจว่ากัมพูชาคือแหล่งกำเนิดศาสนาพุทธ จึงมีการเดินทางเข้ามาด้วยเข้าใจว่าเมืองนี้คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธ
แต่เมื่อถึงเวลาที่มูโอค้นพบเมืองพระนคร เมืองแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างอยู่ในป่า
เหตุใดอารยธรรมอังกอร์ในเมืองพระนครนี้จึงล่มสลาย?
นี่คือคำถามที่น่าหาคำตอบ
จากบันทึกนั้น พบว่าในปีค.ศ.1431 (พ.ศ.1974) อาณาจักรอยุธยาได้บุกเข้ารุกรานอาณาจักรพระนคร ทำให้ผู้คนหนีออกจากพระนคร ทำให้อารยธรรมอังกอร์ล่มสลาย หากแต่ทฤษฎีนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด
จากเรื่องเล่าและบันทึกนั้น พบว่ากองทัพอยุธยาได้ขับไล่ชาวขะแมร์ออกจากพระนคร และชาวขะแมร์ก็อพยพไปยังพนมเปญ ซึ่งทฤษฎีนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดเช่นกัน
สำหรับทฤษฎีอื่นๆ นั้น จากหลักฐานต่างๆ พบว่าระบบน้ำในพระนครนั้นเริ่มย่ำแย่ และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อารยธรรมอังกอร์หายไปจากบันทึกประวัติศาสตร์
ในช่วงตกต่ำของอารยธรรมอังกอร์ ดินแดนนี้ประสบปัญหาฝนแล้ง ก่อนจะตามมาด้วยฝนตกห่าใหญ่ในเวลาต่อมา ทำให้ระบบการบริหารจัดการน้ำไม่สามารถรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร
ชนชั้นสูงในพระนครก็ย้ายไปอาศัยยังดินแดนอื่นที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยมากกว่า ซึ่งก็ส่งผลต่อความตกต่ำทางการเมืองและเศรษฐกิจของพระนคร
สำหรับความเปลี่ยนแปลงทางศาสนา ในสมัยศตวรรษที่ 14 ศาสนาพุทธได้เข้ามาแทนที่ศาสนาฮินดู และความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจของฮินดู
ในปัจจุบัน เชื่อว่าอารยธรรมอังกอร์ได้สูญสิ้นไปจากหลายสาเหตุ หากแต่ก็ยังมีการค้นคว้าเรื่องราวของอารยธรรมนี้ต่อไป
References :
ต้นฉบับ :
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่