บรรพบุรุษของมนุษย์ทำงานแค่วันละ 2 ชั่วโมง
การทำงานแค่วันละไม่กี่ชั่วโมง เช่น วันละ 2 ชั่วโมง หากแต่มีรายได้อย่างสุขสบาย คงจะเป็นความฝันของใครหลายๆ คน
นี่น่าจะเป็นความฝันของคน 90% บนโลก อาจจะมีซัก 10% ที่ไม่ได้คิดอย่างนั้นเนื่องจากตนนั้นชอบและรักงานของตนจริงๆ และเชื่อว่าคงมีไม่กี่คนนักที่จะสามารถทำงานแค่วันละ 2 ชั่วโมงหากแต่มีทุกอย่างที่ต้องการ
หากแต่ “คนเก็บของป่าล่าสัตว์ (Hunter Gathere)” ในสมัยโบราณ ทำงานแค่วันละประมาณ 2 ชั่วโมง สัปดาห์ละไม่เกิน 15 ชั่วโมง ซึ่งนี่คือเคสที่เกิดขึ้นเมื่อราว 300,000 ปีก่อน
แล้วทำไมสังคมจึงเปลี่ยนไปกลายเป็นสังคมที่ทำงานหนักวันละหลายๆ ชั่วโมง? ลองมาดูกันครับ
ก่อนที่จะเกิดการเกษตรหรือการเพาะปลูก มนุษย์นั้นดำรงชีพด้วยการหาของป่าล่าสัตว์ ซึ่งนั่นหมายความว่ามนุษย์จะออกจากค่ายของตนทุกวันเพื่อไปล่าสัตว์ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นสัตว์เล็กๆ เช่น กระต่าย และกวาง เป็นต้น
และการล่าสัตว์ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ อาจจะได้แค่สัปดาห์ละครั้ง แต่การล่าสัตว์ก็เป็นกิจวัตรประจำวันของผู้คน
ทางด้านสตรี ก็จะออกเก็บผลไม้ต่างๆ ลูกเบอร์รี ผลหมากรากไม้ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะใช้เวลาวันละประมาณ 2 ชั่วโมงทั้งสำหรับบุรุษและสตรี หรืออย่างเต็มที่ก็ 3-5 ชั่วโมง
สำหรับเวลาที่เหลือนั้น มนุษย์ก็จะใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น พูดคุย เต้นรำ ดูแลบุตรหลาน ร้องรำทำเพลง เป็นต้น
ตั้งแต่ 300,000 ปีก่อนจนถึงการเกิดขึ้นของการเกษตรหรือการเพาะปลูกเมื่อ 12,000 ปีก่อน มนุษย์ทำงานแค่วันละไม่กี่ชั่วโมง และมนุษย์ก็มีสุขภาพที่ดี มีการย้ายถิ่นฐานเรื่อยๆ โรคระบาดก็ไม่ได้ระบาดได้ง่ายๆ ไม่สามารถแพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ได้เนื่องจากสัตว์ที่เลี้ยงก็มีเพียงแค่สุนัขเท่านั้น
เรียกได้ว่ามนุษย์ในยุคนั้นอยู่บนโลกอย่างปรองดองกับธรรมชาติ การล่าสัตว์ก็เป็นการล่าเพื่อดำรงชีพ ไม่ได้ล่าจนสูญพันธุ์ การเก็บพืชต่างๆ ก็เก็บแค่พอกิน ไม่ได้เก็บไปหมด
บางคนอาจจะเถียงว่าแต่คนในยุคนั้นก็อายุสั้น แค่ 30 ปีส่วนมากก็ตายแล้ว ซึ่งก็ต้องบอกว่าจริง จากสถิตินั้น มนุษย์ในยุคหินมีอายุขัยเพียงแค่ประมาณ 30 ปีเท่านั้น หากแต่ที่สถิตินั้นต่ำขนาดนี้เนื่องจากสถิติของทารกที่เพิ่งเกิดและเสียชีวิตนั้นมีมาก แต่หากใครมีอายุเกิน 15 ปี ส่วนใหญ่ก็จะอยู่จนอายุเกิน 40 ปี
มาถึงการมาถึงของการเกษตร
เมื่อราว 12,000 ปีก่อน มนุษย์ค้นพบการเพาะปลูกหรือการเกษตร ปลูกข้าวและข้าวโพด เลี้ยงสัตว์มากขึ้นเช่น วัว แกะ และม้า อาหารที่บริโภคก็คือพืชที่ปลูกและสัตว์ที่เลี้ยง
และเมื่อมนุษย์เริ่มพัฒนามากขึ้น ก็ตระหนักได้ว่ามนุษย์คนอื่นก็อยากจะขโมยเสบียงอาหารของตน ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างกำแพง ประดิษฐ์อาวุธ โดยสาเหตุก็เพื่อจะปกป้องตนเองและรุกรานผู้อื่น
สังคมต้องการการบริหารจัดการ ต้องรู้ว่าจะเริ่มเพาะปลูกตอนไหน ดังนั้นจึงต้องมี “ผู้นำ” ซึ่งก็ตามมาด้วยกษัตริย์และนักบวช ทำให้เกิดชนชั้นปกครอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้คนก็ต้องทำงานหนักขึ้น ยาวนานขึ้นเพื่อผลิตอาหารให้ได้มากพอสำหรับตนและสำหรับชนชั้นปกครอง
ดังนั้น เกษตรกรรมจึงตามมาด้วยการทำงานหนักเพื่อเอาตัวรอด และสังคมก็กลายเป็นสังคมที่ทำงานหนัก ซึ่งก็ตามมาด้วยโรคระบาดที่ตามมาจากสังคมที่มีผู้คนมากขึ้น จากสัตว์เลี้ยงสู่มนุษย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
และสิ่งที่ตามมาอีกก็คือวิทยาการต่างๆ ที่ช่วยในการผลิตอาหารมากขึ้นและการผลิตอาวุธ ทำให้วิทยาศาสตร์เกิดการพัฒนา
ในทุกวันนี้ คนเก็บของป่าล่าสัตว์เหลืออยู่เพียงแค่บางส่วนในป่าอเมซอน หากแต่ก็ยังต้องมีการพึ่งพาอารยธรรมหรือความเจริญอยู่บ้าง
อารยธรรมทำให้มนุษย์มีการเพาะปลูก หากแต่ก็ตามมาด้วยโรคระบาด สงคราม การปกครองแบบเผด็จการ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทาส และการทำงานหนักเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน
หากในทุกวันนี้สังคมยังเป็นแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ เราก็อาจจะมีเวลาว่างมากขึ้น ทำงานไม่หนัก
หากแต่ก็จะไม่มีวิทยาการสมัยใหม่ ไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีเทคโนโลยีที่นำมาซึ่งความสะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้
สั่งซื้อหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งความหลอกลวง 5,000 ปีของการต้มตุ๋น ฉ้อโกง โกหก ปลอมแปลง” ได้ตามลิ้งค์นี้นะครับ
References:
ต้นฉบับ:
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่