“อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Valley Civilization)” อารยธรรมที่ปราศจากสงครามและสะอาดสะอ้าน
“อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Valley Civilization)” ซึ่งเป็นอารยธรรมยุคสัมฤทธิ์ คือหนึ่งในอารยธรรมที่โดดเด่นและลึกลับที่สุดอารยธรรมหนึ่งในประวัติศาสตร์
อารยธรรมนี้เป็นอารยธรรมที่สงบสุข และสามารถกระจายอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเกือบจะเป็นสังคมที่เท่าเทียมแทบจะ 100%
และที่สำคัญ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุซึ่งมีอายุกว่า 5,000 ปี ยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าสันติภาพนั้นมีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร และอารยธรรมนี้ยังสะอาดสะอ้าน โดดเด่นยิ่งกว่าอารยธรรมอื่นๆ อีกหลายแห่ง
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ก็เป็นดังเช่นอารยธรรมยุคสัมฤทธิ์อื่นๆ โดยอารยธรรมนี้กำเนิดขึ้นจากความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรเมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยอารยธรรมสินธุมีการพึ่งพาแหล่งน้ำจากแม่น้ำสรัสวดี
ความแตกต่างระหว่างอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุกับอารยธรรมร่วมสมัยอารยธรรมอื่นๆ นั่นก็คือขนาดของพื้นที่และลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกล ล้อมรอบไปด้วยหุบเขาตั้งแต่ทางเหนือไปจนถึงตะวันออก ส่วนทางใต้นั้นก็คือทะเลอาหรับ ปราศจากภัยคุกคามจากดินแดนอื่น ส่วนศึกภายในก็แทบจะไม่มี
อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุยังเป็นอารยธรรมที่สร้างเมืองแห่งแรกที่มีการวางผังเมืองอย่างดี ทำให้ผู้คนในเมืองมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ทันสมัยกว่าอารยธรรมอื่นๆ ในยุคเดียวกัน มีการจัดทำถังขยะและระบบการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ล้ำสมัย ทำให้เมืองในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุสะอาดสะอ้านกว่าเมืองอื่นๆ
บ้านแต่ละหลังในเมืองก็มีห้องน้ำและส้วมที่มีระบบระบายน้ำใต้ดิน ซึ่งระบบระบายน้ำก็จะนำของเสียจากบ้านแต่ละหลังไปยังทางใต้ดิน ซึ่งก็จะไหลออกนอกเมืองไป
ภายในเมืองก็เต็มไปด้วยสนามและสวนมากมาย อีกทั้งยังมีถังขยะไว้บริการประชาชน และก็จะมีการจัดการขยะในถังเป็นประจำ
ส่วนทางด้านสังคมและโครงสร้างทางการเมืองนั้น สังคมของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นปราศจากชนชั้นสูงหรือขุนนาง เนื่องจากการสำรวจทางโบราณคดีก็ไม่พบซากพระราชวังหรือคฤหาสน์ใหญ่โต
ในยุคนั้น ดินแดนต่างๆ เต็มไปด้วยกษัตริย์ผู้ปกครองและชนชั้นทางสังคมที่แบ่งแยกชัดเจน แต่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุคือสังคมที่มีแต่ชาวไร่ พ่อค้า และช่างฝีมือ คือเป็นชนชั้นเดียวกัน
แต่ถึงจะปราศจากผู้นำหรือบุคคลที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน แต่ระบบการเมืองการปกครองก็มีแบบแผนที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ
ความสำเร็จของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นส่งผลต่ออารยธรรมต่อๆ มาไปจนถึงโลกตะวันตก เนื่องจากการปราศจากชนชั้นทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนถึงกับจัดให้อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเป็น “รัฐคอมมิวนิสต์แห่งแรกในประวัติศาสตร์”
เรียกได้ว่าอารยธรรมแห่งนี้เกือบจะเป็นเหมือนดินแดนในอุดมคติแห่งโลกยุคโบราณ ก่อนที่จะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา
References :
ต้นฉบับ :
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่