ข้อห้ามบริโภค “เนื้อหมู” มีที่มาจากไหน?
“เนื้อหมู” คือเนื้อสัตว์ยอดนิยมที่บริโภคกันแทบจะทุกพื้นที่ทั่วโลก หากแต่ก็มีประชากรเกือบ 1 ใน 3 ที่ไม่บริโภคเนื้อหมู
เรื่องราวของการห้ามบริโภคเนื้อหมูนี้มีมาอย่างยาวนานและมีเบื้องลึกหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ
เรื่องราวเป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
ตั้งแต่สมัยยุคหินเก่า มนุษย์ก็ได้ทำการล่าหมูป่ามาตั้งแต่เวลานั้น โดยแหล่งโบราณคดีหลายแห่งก็พบภาพแกะสลักสัตว์ที่ดูคล้ายหมูป่า โดยการเลี้ยงหมูนั้นก็มีลักษณะเด่น เช่น
- หมูนั้นแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว เพียงในเวลาไม่นานก็ได้หมูเป็นฝูง
- หมูไม่สามารถให้ผลิตภัณฑ์อื่นได้นอกจากเนื้อ จะให้ขนเป็นขนสัตว์ก็ไม่ได้ ผลิตภัณฑ์จากนมหมูก็ไม่มี ทำให้ในยุคสัมฤทธิ์ การจะนำหมูเดินทางไปค้าขายยังดินแดนห่างไกลนั้นไม่คุ้มค่า
- หมูเป็นสัตว์ที่เชื่องช้า เดินช้า ทำให้ชนเผ่าในยุคโบราณเลือกที่จะไม่เลี้ยงหมู
- ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงหมูนั้นไม่แพง ดังนั้นในหมู่ชนชั้นรากหญ้าในยุคโบราณจึงนิยมเลี้ยงหมู
- ด้วยความที่แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ทำให้การจัดเก็บภาษีทำได้ลำบากตามไปด้วย
- หมูนั้นเป็นพาหะของโรคที่สามารถติดสู่มนุษย์ได้
นี่ก็คือทฤษฎีส่วนหนึ่งที่นักโบราณคดีคาดการณ์ว่าเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการห้ามบริโภคเนื้อหมู
ความเชื่อที่ว่าหมูนั้นไม่สะอาดและการบริโภคเนื้อหมูก็จะทำให้ผู้บริโภคล้มป่วย ก็คือคำอธิบายที่สมเหตุสมผลสำหรับนักประวัติศาสตร์ แต่ในสมัยโบราณ เมื่อมีการจัดทำข้อกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการห้ามบริโภคเนื้อหมู มีการคำนึงเรื่องสุขภาพด้วยหรือ?
ในสมัยศตวรรษที่ 12 แพทย์ประจำตัว “ซาลาดิน (Saladin)” สุลต่านมุสลิม ก็ได้เขียนตำราอธิบายเหตุผลที่ห้ามบริโภคเนื้อหมู โดยมีการอ้างถึงสุขภาพ
มีการกล่าวว่าไม่ควรจะบริโภคเนื้อหมู เนื่องจากเนื้อหมูนั้นสกปรกและชื้นเกินไป และการบริโภคเนื้อหมูจะทำให้เส้นเลือดตีบตัน และการบริโภคอาหารที่ไม่ใช่อาหารโคเชอร์ก็จะทำให้ร่างกายและสติปัญญาเสื่อมถอย ทำให้มีการห้ามบริโภคเนื้อหมู
แต่จากการสำรวจ พบว่าในคัมภีร์ฮีบรู โทราห์ และคัมภีร์อัลกุรอาน ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงปัญหาด้านสุขภาพหรือความสะอาดของอาหารเลย
ดังนั้น จะมีคำอธิบายอื่นอีกหรือไม่?
ในช่วงต้นยุคสัมฤทธิ์ หมูคือส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากหมูนั้นเลี้ยงง่ายและเป็นเสบียงชั้นดี อีกทั้งหมูยังมีประโยชน์ในพื้นที่ห่างไกลเนื่องจากหมูนั้นสามารถกินเศษขยะ ทำให้พื้นที่ต่างๆ สะอาด
ความสำคัญของหมูนั้นยังปรากฏในประมวลกฎหมายฮัมบูราบีซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ 1755-1750 ปีก่อนคริสตกาล และมีข้อหนึ่งที่กำหนดว่าการขโมยหมูนั้นมีโทษหนัก ต้องเสียค่าปรับ หากไม่สามารถจ่ายค่าปรับ ก็ต้องชดใช้ด้วยชีวิต
ในช่วงต้นยุคสัมฤทธิ์ ผู้คนเคารพนับถือหมู ที่อียิปต์และเมโสโปเตเมียมีการใช้หมูเป็นเครื่องบูชายัญในพิธีต่างๆ หากแต่เมื่อมาถึงช่วงปลายยุคสัมฤทธิ์ การณ์ก็พลิกผัน
ในช่วงปลายยุคสัมฤทธิ์ ซากกระดูกจากเมโสโปเตเมียแสดงให้เห็นว่าในเวลานั้นมีการเลี้ยงหมูไม่ถึง 20% ของสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยง ส่วนที่เลแวนต์ ไม่ถึง 5%
จากหลักฐานนี้ประกอบกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ พบว่าผู้คนในยุคนี้เริ่มมีมุมมองเปลี่ยนออกไป โดยชาวฮิตไทต์และเมโสโปเตเมียกำหนดห้ามไม่ให้นำหมูเข้ามาในวิหาร เนื่องจากหมูนั้นไม่เหมาะที่จะใช้ในการบูชายัญ
ผู้คนรู้สึกขยะแขยงที่หมูนั้นกินเศษขยะและมองว่าหมูเป็นสัตว์สกปรก ซึ่งแตกต่างจากช่วงต้นยุคสัมฤทธิ์อย่างสิ้นเชิง
เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ เราลองมาหาคำอธิบายกัน
ในขณะที่เศรษฐกิจในยุคสัมฤทธิ์เติบโต ผลผลิตจากสัตว์นอกเหนือจากเนื้อที่ใช้บริโภคก็เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ เช่น ขนสัตว์และผลิตภัณฑ์นมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ซึ่งแน่นอนว่าหมูนั้นไม่มี หมูให้ได้แต่เนื้อ ดังนั้นความสำคัญและมูลค่าของหมูจึงลดลง
ในช่วงเวลานี้ ระบบชนชั้นทางสังคมเริ่มจะเห็นได้ชัดเจน เป็นรูปเป็นร่าง จำนวนคนยากจนในชนบทก็เพิ่มมากขึ้นในขณะที่ตัวเมืองนั้นกลับมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
และด้วยความที่หมูนั้นเลี้ยงง่าย ชนชั้นรากหญ้าจึงนิยมเลี้ยงหมู ซึ่งหมูนั้นเลี้ยงง่ายและใช้ทุนน้อยกว่าวัวควาย แกะ หรือแพะ
ด้วยความที่ภาพลักษณ์ของหมูถูกผูกติดกับชนชั้นล่าง ทำให้หลายคนไม่อยากจะบริโภคหรือเกี่ยวข้องกับหมู ซึ่งนี่ก็อาจจะพอเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมการบริโภคหมูจึงลดลงในช่วงปลายยุคสัมฤทธิ์
แต่การลดลงของการบริโภคเนื้อหมูก็ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดจึงมีการห้ามบริโภคเนื้อหมู คัมภีร์ฮีบรูอาจจะมีการห้ามบริโภคอาหารบางชนิด แต่ก็ไม่มีอาหารใดที่เป็นที่ถกเถียงมากเท่ากับหมู
ทำไมล่ะ?
จากหนังสือเรื่อง “Evolution of a Taboo: Pigs and People in the Ancient Near East” ซึ่งเขียนโดย “แม็กซ์ ไพรส์ (Max Price)” ได้กล่าวว่า การห้ามบริโภคเนื้อหมูนั้นคือปรากฏการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา และเราต้องศึกษาก่อนว่าทำไมจึงเกิดการห้ามบริโภคเนื้อหมูตั้งแต่แรก และทำไมข้อห้ามนี้จึงมีผลบังคับใช้ในระยะสั้นและระยะยาว
หลังจากการล่มสลายของปลายยุคสัมฤทธิ์ ชาวฟิลิสตีน ซึ่งเป็นกลุ่มชนโบราณซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายฝั่งตอนใต้ของคานาอัน ก็ได้เริ่มตั้งถิ่นฐานยังแถบเลแวนต์ และในช่วงเวลานี้ ยังเป็นช่วงแรกที่เกิดอาณานิคมอิสราเอลขึ้น และซากกระดูกหมูก็คือสัญญาณที่บ่งบอกถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวฟิลิสตีน
ชาวฟิลิสตีนนั้นรับเอาวัฒนธรรมของคานาอัน และดินแดนหลายแห่งก็พบซากกระดูกหมูเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
หลังจากกองทัพอัสซีเรียได้เข้ายึดครองอิสราเอล ราชอาณาจักรยูดาห์ก็ได้กลายเป็นดินแดนสำคัญ และในช่วงเวลานี้เอง พิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมการบริโภคก็ได้ถูกบรรจุไว้ในกฎหมาย
จากหลักฐานทางโบราณคดี พบว่าในยุคเหล็ก ชาวอิสราเอลในราชอาณาจักรอิสราเอลนั้นบริโภคเนื้อหมู และกฎหมายยูดาห์ ซึ่งต่อมากลายเป็นกฎหมายชาวยิว ก็ได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อแบ่งแยกชาวยูดาห์กับชาวยิวออกจากกัน
ในช่วงกรีกโบราณและสมัยโรมัน เนื้อหมูกลายเป็นหัวข้อที่มีการโต้แย้งถกเถียงบ่อยครั้ง โดยในกรีกโบราณสมัย “พระเจ้าแอนทิโอคัสที่ 4 (Antiochus IV)” พระองค์ทรงดูหมิ่นศาสนาในเยรูซาเลมด้วยการใช้หมูบูชายัญในวิหาร และมีรับสั่งแบนธรรมเนียมยิวต่างๆ
นี่เป็นช่วงเวลาที่ความเกี่ยวพันระหว่างชาวยิวกับเนื้อหมูเริ่มตกผลึก และเป็นข้อแบ่งแยกสำคัญระหว่างชาวยิวและชนชั้นโรมันปกครองในสมัยโบราณ
และบางทีเราก็อาจจะหาคำอธิบายคล้ายๆ กันนี้ในเคสของอิสลาม โดยตั้งแต่สมัยยุคหินใหม่ นักโบราณคดีก็แทบจะไม่พบกระดูกหมูในแถบอารเบียเลย ที่พบนั้นมีน้อยมากๆ แสดงให้เห็นว่าแทบจะไม่มีใครในพื้นที่แถบนี้บริโภคเนื้อหมูเลย
แต่เมื่ออิสลามแผ่ขยายเข้ามาในอารเบีย การห้ามบริโภคเนื้อหมูก็กลายมาเป็นข้อแบ่งแยกระหว่างชาวมุสลิมกับคนที่ไม่ได้เป็นมุสลิม
ความรู้สึกต่อต้านเนื้อหมูของชาวอิสลามปะทุเดือดมากขึ้นในช่วงสงครามครูเสด โดยมีการพบหลักฐานเป็นบันทึกของนักเขียนชาวอิสลามที่เขียนดูถูกพวกแฟรงค์ที่บริโภคเนื้อหมู
และเมื่อการมาถึงของ “ไก่” อะไรๆ ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น
นักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า ไก่นั้นได้เข้ามาแทนที่หมู หลายคนชอบในรสชาติของไก่มากกว่า มีโปรตีนสูงกว่า มีขนาดเล็กกว่าและเลี้ยงง่ายกว่าหมู
ข้อสันนิษฐานนี้ไม่ได้มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจน แต่ก็มีความเป็นไปได้และเป็นที่ยอมรับในหมู่นักประวัติศาสตร์จำนวนมาก
และนี่ก็คือเรื่องราวการห้ามบริโภคเนื้อหมูที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน และก็มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจทีเดียว
References:
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่