เจ็บแต่จบจริงไหม...จำเป็นจริงหรือที่ต้องทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ ?

ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา

เพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่ารู้ต่างๆ ทั่วโลก เพราะประวัติศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

          จำเป็นต้องทิ้งระเบิดฮิโรชิม่าและนางาซากิจริงหรือ?

          ที่ผ่านมา ผู้ที่ชื่นชอบในเรื่องประวัติศาสตร์และการเมือง ต่างถกเถียงกันว่าการที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลงยังเมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมจริงหรือ?
          การทิ้งระเบิดนี้ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โหดร้ายจบลงในที่สุด แต่ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 140,000 คนอันเป็นผลโดยตรงจากการทิ้งระเบิดในฮิโรชิม่าเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488)
          9 สิงหาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) เมื่อมีการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สองลงยังเมืองนางาซากิ ก็มีผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 คน
          ดังนั้น การกระทำของสหรัฐอเมริกานี้ถูกต้องและคุ้มค่าจริงหรือ?
          เราลองมาหาคำตอบกันครับ
          เริ่มแรก รัฐบาลของประธานาธิบดี “แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman)” ซึ่งเป็นประธานาธิบดีในช่วงเวลาทิ้งระเบิดลงยังฮิโรชิม่าและนางาซากิ โดยรัฐบาลอเมริกันกล่าวว่าการทิ้งระเบิดลงยังฮิโรชิม่าและนางาซากินั้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มีความจำเป็นต้องทำเพื่อให้สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง และป้องกันการสูญเสียที่จะมากกว่านี้หากสงครามยังคงยืดเยื้อต่อไป
          “เฮนรี สติมสัน (Henry Stimson)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอเมริกันในเวลานั้น ก็ถูกกดดันจากรัฐบาลให้แถลงต่อสื่อมวลชนว่าญี่ปุ่นไม่มีทีท่าจะยอมแพ้ และยังคงจะสู้ต่อไป ทำให้เกิดการสูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ
          สติมสันได้ให้สัมภาษณ์ในปีค.ศ.1947 (พ.ศ.2490) ว่า การที่ญี่ปุ่นยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข เป็นผลมาจากความมุ่งหมายทางด้านการเมือง สังคม และกองทัพของสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488)
          สติมสันยังกล่าวอีกว่า หากไม่มีการทิ้งระเบิด ทหารอเมริกันอีกนับล้านต้องเสียชีวิต รวมทั้งฝั่งญี่ปุ่นเองก็ต้องเสียชีวิตทหารและผู้คนไปอีกไม่น้อย
          ซึ่งจากผลสำรวจถึงความคิดเห็นเรื่องการทิ้งระเบิดในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) ซึ่งได้ทำการสำรวจในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) ก็พบว่าชาวอเมริกันกว่า 84% เห็นด้วยให้ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าชาวอเมริกันจำนวนมากนั้นโกรธแค้นจากเหตุการณ์ “เพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor)” และเบื่อหน่ายสงคราม อยากให้สงครามจบลงโดยเร็ว
          ตัวของประธานาธิบดีทรูแทนเอง ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเขาได้เสียใจต่อการตัดสินใจนี้หรือไม่ หากแต่จากบันทึก ก็พบว่าท่านประธานาธิบดีมีคำสั่งให้ยุติการทิ้งระเบิดลูกที่สามหลังจากนางาซากิ เนื่องจากไม่อยากจะต้องเข่นฆ่าใครอีกแล้ว
          ทางด้านฝั่งญี่ปุ่น นักปรัชญาชาวญี่ปุ่นอย่าง “มาซาฮิโระ โมริโอกะ (Masahiro Morioka)” ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ข้ออ้างของสติมสันนั้นเป็นการมองที่ผลประโยชน์เป็นหลัก มองว่าการทิ้งระเบิดจะทำให้ไม่ต้องสูญเสียมากไปกว่านี้
          โมริโอกะได้เขียนบทความ แสดงความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณูกับ “ปัญหารถราง (Trolley Problem)”
          ปัญหารถราง คือหลักปัญหาในทางปรัชญา เกี่ยวข้องกับศีลธรรม และจริยธรรมในการช่วยชีวิตคน โดยไม่สามารถหาคำตอบที่ตายตัวได้ว่าใครถูกหรือใครผิด
          ปัญหานี้จะเป็นการให้ลองคิดว่า เราควรจะสังหารคนหนึ่งคน แลกกับการช่วยให้คนอีกห้าคนรอดชีวิตหรือไม่ด้วยการเปลี่ยนเส้นทางรถราง
          โมริโอกะได้นำปัญหานี้มาบรรยายให้นักศึกษาในญี่ปุ่นลองขบคิด ปรากฏว่านักศึกษาส่วนใหญ่ต่างเลือกทางเดียวกับทรูแมน คือฆ่าคนจำนวนน้อยเพื่อช่วยชีวิตคนจำนวนมาก
          พูดง่ายๆ คือนักศึกษาชาวญี่ปุ่นก็เห็นด้วยกับทรูแมน
          ในวาระครบรอบ 70 ปีเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณู ก็ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันเรื่องการทิ้งระเบิด ก็พบว่าถึงแม้ว่าจำนวนชาวอเมริกันที่เห็นด้วยกับการทิ้งระเบิดจะลดลงเมื่อเทียบกับปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) แต่ชาวอเมริกันกว่า 56% ก็ยังคงคิดว่าการทิ้งระเบิดนั้นจำเป็นต้องทำ
          แต่เมื่อมาทำแบบสำรวจที่ประเทศญี่ปุ่น กลับพบว่าชาวญี่ปุ่นเพียง 15% เท่านั้นที่เห็นด้วยว่าต้องทิ้งระเบิด
          ในปีค.ศ.2016 (พ.ศ.2559) สถานีโทรทัศน์ NHK ได้ทำแบบสำรวจ และพบว่าชาวญี่ปุ่นจำนวน 40% เห็นว่าเหตุการณ์การทิ้งระเบิดนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อีก 49% ก็ได้กล่าวว่าเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ตนไม่สามารถให้อภัยได้แม้กระทั่งปัจจุบัน
           และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลอีกด้าน ก็อาจจะได้มุมมองที่ต่างออกไป
          เมื่อสหภาพโซเวียตเข้าร่วมกับสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ก็มีคนคิดว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูนี้เป็นการข่มสหภาพโซเวียต
          ดังนั้น การทิ้งระเบิดปรมาณูลงยังฮิโรชิม่าและนางาซากิจึงเป็นเหมือนสิ่งที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง หากแต่เป็นปฐมบทของสงครามเย็น
          แต่ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นอะไร สหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นเพียงชาติเดียวที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อชาติอื่น
          และจากข้อมูลนั้น พบว่าบุคลากรในกองทัพและหน่วยงานต่างๆ ของฝ่ายอเมริกันเอง ก็คิดว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูนี้ไม่ใช่สิ่งจำเป็น
          ในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) “เจมส์ เอฟ. บายร์เนส (James F. Byrnes)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ได้ออกมากล่าวว่า ผู้บัญชาการอเมริกันได้เข้าหารือกับสหภาพโซเวียตเรื่องการเจรจาสันติภาพ และทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตก็รู้ดีว่าฝ่ายตนนั้นชนะญี่ปุ่นได้แล้วตั้งแต่ก่อนจะทิ้งระเบิด
          หลายคนจึงตั้งทฤษฎีว่ากองทัพอเมริกันได้ทิ้งระเบิดลงยังฮิโรชิม่าและนางาซากิเพื่อแสดงถึงแสนยานุภาพของระเบิดปรมาณู และตอกย้ำสถานะมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก และหลายคนยังคิดไปถึงขนาดว่าสาเหตุที่ทิ้งระเบิดปรมาณู ก็เพื่อแค่จะทดสอบประสิทธิภาพของระเบิดเท่านั้น
          ในปีค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) จอมพลเรือ “วิลเลียม ฮอลซี จูเนียร์ (William Halsey Jr.)” นายทหารระดับสูงในกองทัพเรืออเมริกัน ยังออกมากล่าวถึงการทิ้งระเบิดปรมาณูนี้ว่า
          “เป็นการทดลองที่ไม่จำเป็น พวกนักวิทยาศาสตร์ได้ของเล่นใหม่ และก็อยากจะนำไปทดลอง หวยจึงมาออกที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ”
          แต่สำหรับตัวทรูแมน เขายังเชื่อว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูนั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เป็นการยอมเจ็บแต่จบ หากไม่ทิ้งระเบิดปรมาณู ความสูญเสียก็จะยิ่งมากกว่านี้
          ดังนั้นสำหรับเหตุการณ์นี้ คงเป็นปริศนาที่ไม่มีวันไขได้ คงต้องขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่าคิดอย่างไร
          แล้วคุณล่ะครับ? คิดว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูลงยังฮิโรชิม่าและนางาซากิคือความจำเป็นหรือไม่?

References:

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจ็บแต่จบจริงไหม...จำเป็นจริงหรือที่ต้องทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ ? อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2567 เวลา 15:11:00 3,690 อ่าน
TOP