ความขัดแย้งเบื้องหลัง “ทัชมาฮาล (Taj Mahal)”
“ทัชมาฮาล (Taj Mahal)” คือสัญลักษณ์แห่งความรักที่ตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย และเชื่อว่าน่าจะมีคนที่เคยอ่านบทความนี้หลายคนเคยไปเยือนมาแล้ว
สถานที่แห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นโดยรับสั่งของ “จักรพรรดิชาห์ชะฮัน (Shah Jahan)” จักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุลซึ่งปกครองอนุทวีปอินเดีย ได้ทรงมีรับสั่งให้สร้างทัชมาฮาลเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระมเหสีผู้ล่วงลับ
แต่พระราชประสงค์ในการสร้างทัชมาฮาลนั้นก็นำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรงมากมาย เกิดความขัดแย้งระหว่างพระราชโอรสของจักรพรรดิชาห์ชะฮัน และเกือบทำให้จักรพรรดิชาห์ชะฮันต้องสวรรคตเสียด้วยซ้ำ
เรื่องราวเป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
ราชวงศ์โมกุลกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปีค.ศ.1526 (พ.ศ.2069) และขยายขอบเขตอาณาจักรออกไปเรื่อยๆ ก่อนจะมาถึงรัชสมัยของจักรพรรดิชาห์ชะฮันในปีค.ศ.1628 (พ.ศ.2171)
ในรัชสมัยของจักรพรรดิชาห์ชะฮัน มีการขยายดินแดนออกไปไกลถึงตอนกลางและตอนใต้บางส่วนของอินเดีย ซึ่งดินแดนในบริเวณนี้เรียกว่า “เดคคาน (Deccan)”
บริเวณเดคคานก็มีการแบ่งออกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ มากมาย ซึ่งแต่ละแว่นแคว้นนั้นต่างก็สาบานว่าจะจงรักภักดีต่อราชวงศ์โมกุลซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงเดลี
หากแต่ถึงจะสาบานว่าจะจงรักภักดี แต่ด้วยความที่เดคคานนั้นอยู่ห่างไกลจากกรุงเดลี จึงเกิดการกบฏบ่อยๆ
ราชสำนักโมกุลต้องทำการจัดกองทัพไพร่พลเพื่อไปปราบกบฏ ซึ่งก็ต้องใช้เวลานานนับปี และเมื่อยกทัพไปปราบกบฏกลุ่มนี้เสร็จ พอกลับมาเดลี ก็เกิดกบฏกลุ่มใหม่ขึ้นอีกแล้ว ทำให้ต้องเปลืองทั้งแรง ทั้งเวลา ทั้งทรัพยากร
เมื่อเป็นเช่นนี้ จักรพรรดิชาห์ชะฮัน จึงทรงมีรับสั่งให้ “เจ้าชายออรังเซบ“ หรือภายหลังคือ ”จักรพรรดิออรังเซบ (Aurangzeb)” ไปควบคุมสถานการณ์ในเดคคาน สยบเดคคานให้อยู่ใต้อำนาจของราชวงศ์โมกุล
สำหรับตัวจักรพรรดิชาห์ชะฮัน พระองค์ทรงมีฮาเรมส่วนพระองค์ซึ่งมีหญิงสาวจำนวนมากหน้าหลายตา โดยในบรรดาเหล่าพระมเหสี พระชายา พระสนม พระองค์ทรงตกหลุมรักลูกสาวของขุนนางระดับสูงที่มีนามว่า “มุมตาซ (Mumtaz)”
จักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงมีพระราชบุตรกับมุมตาซถึง 13 องค์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเจ้าชายออรังเซบ ก่อนที่มุมตาซจะเสียชีวิตจากการตกเลือด ทำให้จักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงเศร้าโศก เสียพระทัยเป็นอย่างมาก
จักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงโกนพระเกศาและเริ่มใช้ฝิ่นเพื่อให้ลืมความเศร้า ทรงติดฝิ่นอย่างหนัก
และเพื่อเป็นการแสดงถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อมุมตาซ จักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงตัดสินพระราชหฤทัยจะสร้างสิ่งก่อสร้างที่แพงที่สุดในยุคนั้น
นั่นคือ “ทัชมาฮาล (Taj Mahal)”
และในการก่อสร้างทัชมาฮาล จักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาล และยังให้ขุดสุสานหลวงขึ้นมาเพื่อนำเอาสมบัติและของมีค่าต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นทุนในการสร้างทัชมาฮาล
เท่านั้นยังไม่พอ พระองค์ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ชาวยุโรปมีสิทธิในการค้าในดินแดนของพระองค์ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำอินเดียไปสู่การตกอยู่ใต้อำนาจของลัทธิจักรวรรดินิยม อีกทั้งจักรพรรดิชาห์ชะฮันยังทรงมีรับสั่งให้ย้ายรัฐบาลไปยังเมืองอัครา ซึ่งเป็นสถานที่สร้างทัชมาฮาล
แต่หลังจากเสด็จมาประทับที่เมืองอัครา จักรพรรดิชาห์ชะฮันก็ทรงเบื่อ และทรงมีรับสั่งให้ย้ายเมืองหลวงกลับไปยังเดลี ทิ้งให้ทัชมาฮาลยังก่อสร้างไม่เสร็จ เป็นเพียงเศษซากอยู่อย่างนั้น
ทางด้านเจ้าชายออรังเซบ เมื่อพระองค์เสด็จกลับมายังเมืองหลวงและรับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พระองค์ก็ทรงแค้นพระทัยยิ่งนัก
ที่ผ่านมา เจ้าชายออรังเซบทรงตรากตรำศึกสงครามในเดคคาน ลำบากยากเข็ญ ในขณะที่พระราชบิดากลับเสวยสุขและทำเรื่องไร้สาระ ผลาญทรัพยากรชาติไปอย่างไร้ประโยชน์ หนี้ที่กู้ยืมมาสร้างทัชมาฮาลก็สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่เศรษฐกิจของจักรวรรดิโมกุล อีกทั้งการที่จักรพรรดิชาห์ชะฮันติดฝิ่นอย่างหนัก ก็ทำให้พระองค์ไม่สามารถจะตัดสินพระทัยในเรื่องสำคัญๆ ได้
แต่ที่เจ้าชายออรังเซบแค้นที่สุด นั่นคือการที่จักรพรรดิชาห์ชะฮันทรงแต่งตั้ง “เจ้าชายดารา ชิโกห์ (Dara Shikoh)” พระราชโอรสองค์ใหญ่และเป็นพระเชษฐาของเจ้าชายออรังเซบ เป็นองค์รัชทายาท
ที่ผ่านมา เจ้าชายออรังเซบต้องตรากตรำทำศึกในเดคคาน ต้องอดทนต่ออากาศที่ร้อนจัด ในขณะที่เจ้าชายดารา ชิโกห์ประทับอยู่ในเมืองหลวง งานการไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่ศึกษาการเมือง และยังได้อยู่ท่ามกลางความสุขสบาย อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนเหมือนเดคคาน
ราชบัลลังก์ควรจะเป็นของเจ้าชายออรังเซบ ไม่ยุติธรรมเลยที่ราชบัลลังก์จะเป็นของพระเชษฐาทั้งๆ ที่คนที่ทำงานหนักที่สุดคือพระองค์ แค่เพราะพระองค์เป็นน้องกลับทำให้พระองค์ไม่ได้บัลลังก์ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงเหนื่อยยากและเหมาะสมกว่ามาก
นี่คือสิ่งที่เจ้าชายออรังเซบทรงคิด
เจ้าชายออรังเซบทรงรวบรวมไพร่พล และก่อกบฏ ต่อต้านการแต่งตั้งพระเชษฐาเป็นรัชทายาท
จักรพรรดิชาห์ชะฮันก็ไม่ทรงอยู่เฉย ทรงประกาศให้เจ้าชายออรังเซบเป็นกบฏ และไม่ยอมเปลี่ยนพระราชหฤทัยในการที่จะยกตำแหน่งองค์รัชทายาทแก่เจ้าชายดารา ชิโกห์
แต่ดูเหมือนโชคจะไม่เข้าข้างองค์จักรพรรดิและองค์รัชทายาท เนื่องจากถึงแม้ว่าเจ้าชายออรังเซบจะเป็นพระราชโอรสองค์เล็ก หากแต่ด้วยประสบการณ์การทำศึก ทำให้เจ้าชายออรังเซบทรงเป็นจอมทัพที่มากด้วยบารมี มีทหารที่ภักดีเป็นจำนวนมาก แม้แต่ขุนนางในราชสำนักจำนวนมากก็ทรงภักดีต่อเจ้าชายออรังเซบ
ด้วยเหตุนี้ ทำให้การกบฏของเจ้าชายออรังเซบมีผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมาก
เจ้าชายออรังเซบและเจ้าชายดารา ชิโกห์ได้ปะทะกันในสมรภูมิรบ และจบลงด้วยการที่เจ้าชายออรังเซบสามารถปลงพระชนม์พระเชษฐาได้สำเร็จ ก่อนที่เจ้าชายออรังเซบจะทำการสังหาร ล้างโคตรของพระเชษฐาให้สิ้น ป้องกันปัญหาในภายหลัง
ทางด้านจักรพรรดิชาห์ชะฮัน เจ้าชายออรังเซบก็ทรงแค้นพระราชบิดาและประสงค์จะปลงพระชนม์เช่นกัน หากแต่เจ้าชายออรังเซบก็ไม่ต้องการจะได้ชื่อว่าฆ่าพ่อชิงบัลลังก์
เจ้าชายออรังเซบจึงใช้วิธีการที่อาจจะเรียกได้ว่าแย่กว่าความตายก็ได้ให้แก่พระราชบิดา นั่นคือเจ้าชายออรังเซบทรงมีรับสั่งให้คุมองค์จักรพรรดิชาห์ชะฮันไว้ในเรือนจำในเมืองอัครา ในบริเวณที่เห็นทิวทัศน์และทัชมาฮาลได้อย่างชัดเจน
เจ้าชายออรังเซบ หรือก็คือ จักรพรรดิออรังเซบต่อจากพระราชบิดา ทรงมีพระราชประสงค์จะให้พระราชบิดาทอดพระเนตรเห็นทัชมาฮาล เห็นความผิดพลาดที่ทรงทำ ย้ำเตือนพระราชบิดาว่าที่ต้องทรงมีจุดจบเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากทัชมาฮาลที่พระราชบิดาทรงรักนักหนา
และนี่ก็คือเรื่องราวความขัดแย้งเบื้องหลังทัชมาฮาล หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในปัจจุบัน
References :
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่