หลังจากเขียนบันทึกถึงนวนิยายมาเยอะมาก วันนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาแชร์บันทึกที่เขียนไว้นานแล้วหลังอ่านหนังสือคู่มือของ คนโด มาริเอะ เล่มนี้ค่ะ

อยากบอกว่าอ่านแล้วเข้าใจทุกอย่าง แต่ชีวิตจริงๆ มันไม่สามารถทำตามได้ทุกข้อ ตราบใดที่ยังเป็นนักสะสมหนังสือ หรือเรียกอีกอย่างว่านักดองหนังสือค่ะ ทุกวันนี้พยายามจัดพยายามส่งต่อแล้ว หวังว่าจะดีขึ้นในเร็วๆนี้นะคะ
บันทึกการอ่าน
หนังสือที่รักวันนี้เป็นหนังสือแปลแนวคู่มือ หมวดจิตวิทยา พัฒนาตนเอง ที่ช่วงหลังจะมีวางขายหลากหลายมาก ส่วนตัวชอบเรื่องนี้เพราะเป็นคนชอบแต่งบ้าน จัดบ้าน และเมื่ออ่านเล่มนี้จบก็คิดว่าเป็นแนวคิดที่ดีและน่าสนใจนำมาปรับใช้กับชีวิตเราได้
เรื่องนี้ผู้เขียน คนโด มาริเอะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านชาวญี่ปุ่น เล่าประสบการณ์การจัดบ้านของตนเอง ที่เริ่มจากการสะสมประสบการณ์จากการอ่านนิตยสารแม่บ้านของคุณแม่ ตั้งแต่เด็กๆ เก็บเล็กผสมน้อย ลองถูกลองผิด จนปัจจุบันเธอกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญและคอยให้คำปรึกษาแก่ผู้คนเกี่ยวกับเทคนิคการจัดบ้านของเธอ
สรุปประเด็นหลักๆเท่าที่อ่านและเข้าใจว่า
- ต้องทิ้งของที่ไม่ใช้ทั้งหมดในคราวเดียว อย่ามัวแต่เสียดายของ คิดเผื่อว่าจะได้ใช้อีก
- ให้ประเมินของที่จะทิ้งว่า ของชิ้นนั้นหมดประโยชน์แล้ว ล้าสมัยแล้ว และทุกอย่างที่เก็บไว้เกินหนึ่งปีโดยไม่ได้หยิบออกมาใช้
- และที่สำคัญที่สุดคือประเมินว่าของชิ้นนั้นเป็นของที่คุณจะมีความสุข ความชื่นใจในการได้หยิบขึ้นมาดูมาใช้หรือไม่ ถ้าไม่มีทิ้งเลยค่ะ
- เมื่อทิ้งของที่ไม่ใช้ทั้งหมดแล้ว มาถึงขั้นตอนการจัดเก็บ
หลักการจัดเก็บคือ จัดของเป็นหมวดหมู่ ไม่ใช่จัดตามสถานที่
พูดง่ายๆคือ ในบ้านหนึ่งหลัง เก็บของเป็นหมวดหมู่เช่น หมวดอุปกรณ์ตัดเย็บก็เก็บรวมในที่เดียว กำหนดตำแหน่งตายตัวให้ข้าวของภายในบ้าน โดยเก็บเป็นหมวดหมู่ เก็บรวมไว้ในที่เดียวจุดเดียวในบ้าน ไม่ใช่มีของแบบเดียวกันในทุกห้อง กระจัดกระจายไปทั่ว
ฉันคิดว่าคล้ายๆกับการทำสต๊อกของใช้ในบ้านค่ะ หาตู้หรือลิ้นชักเก็บของเป็นหมวดๆ เวลาจะใช้จะพุ่งเข้าหยิบใช้จากจุดเดียว ไม่ใช่มีวางเกลื่อนไปทุกที่
ลำดับการคัดของทิ้งและจัดเก็บที่ดีที่สุด คือ เริ่มจากเสื้อผ้า หนังสือ เอกสาร ของจิปาถะ และปิดท้ายด้วยของที่มีคุณค่าทางจิตใจ


ฉันชอบที่ผู้เขียนพูดถึงการคัดหนังสือทิ้งว่า
‘ถ้าคุณพลาดโอกาสในการอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ไม่ว่ามันจะเป็นหนังสือที่มีคนแนะนำให้คุณอ่าน หรือเป็นหนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านมาแต่ไหนแต่ไรก็ตาม นี่เป็นโอกาสที่คุณจะได้ปล่อยมันไปค่ะ
ถึงคุณจะอยากอ่านตอนที่ซื้อมันมา แต่ถ้าจนถึงทุกวันนี้คุณยังไม่ได้อ่าน นั่นแปลว่าหน้าที่ของหนังสือเล่มนั้นคือ การสอนให้รู้ว่าคุณไม่ต้องการมัน คุณไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือที่อ่านไปแล้วครึ่งเล่มให้จบ เพราะหน้าที่ของมันคือการถูกอ่านเพียงครึ่งเล่ม’
เข้าใจเลยค่ะ เพราะหนังสือบางเล่มที่เราคิดว่าน่าอ่าน เมื่ออ่านจริงแล้วไม่สนุก ยังไงก็ไม่สนุก ก็ควรจะตัดใจทิ้งซะ พูดง่ายแต่ทำยากนิดนึงตามประสาคนรักหนังสือนะคะ
อีกเทคนิคที่ช่วยลดการสะสมหนังสือจนล้นบ้าน ผู้เขียนแนะนำให้คัดลอกข้อความที่ชอบและประทับใจจากหนังสือ เก็บไว้ในสมุดบันทึกค่ะ และเมื่อเวลาผ่านไป สมุดบันทึกนี้จะกลายเป็นแหล่งรวมข้อความอันทรงคุณค่าที่เราชื่นชอบ วิธีนี้ฉันก็ใช้นะคะ ปัจจุบันปรับมาเก็บในเพจในเว็บบล็อกค่ะ
สรุปคือการจัดบ้านให้เป็นระเบียบจะช่วยให้เราได้ใช้ชีวิตในสภาพที่เป็นธรรมชาติสำหรับตัวเอง เราเลือกข้าวของที่ทำให้ตัวเองมีความสุขและชื่นชมสิ่งที่มีค่าต่อชีวิตเราอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรจะทำให้เรามีความสุขมากไปกว่าการได้ทำในสิ่งที่เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติอย่างนี้อีกแล้ว ถ้าสิ่งนี้เรียกว่าความโชคดี ฉันก็เชื่อว่าการจัดบ้านเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดึงดูดโชคดี (จากหน้า 242-243)
ตอนที่ชอบจากหนังสือ
‘เราไม่แน่ใจว่าอะไรที่จะทำให้ตัวเองพอใจหรือเรากำลังมองหาอะไรอยู่ ความไม่แน่ใจดังกล่าวจะทำให้เรามีข้าวของที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วจมอยู่กับข้าวของเหล่านั้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการค้นหาสิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริงก็คือการกำจัดสิ่งที่ไม่ต้องการทิ้งไปให้หมด
สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การออกเดินทางไปยังสถานที่อันไกลโพ้นหรือการชอปปิ้งอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง แต่อยู่ที่การกำจัดสิ่งที่เราไม่ต้องการ ด้วยการเผชิญหน้ากับข้าวของแต่ละชิ้นของตัวเองอย่างเหมาะสม
การเผชิญหน้าและการคัดเลือกข้าวของนั้นค่อนข้างเจ็บปวดพอสมควร เพราะมันบีบให้เราต้องเผชิญหน้ากับความไม่สมบูรณ์แบบและความบกพร่องของตัวเอง รวมไปถึงการตัดสินใจโง่ๆที่เราเคยทำ มีหลายครั้งที่การจัดบ้านทำให้ฉันรู้สึกละอายกับการตัดสินใจในอดีตของตัวเอง’
ชีวิตดีขึ้นทุกๆด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว The life-changing magic of tidying up
- ผู้เขียน : คนโด มาริเอะ
- ผู้แปล : โยซุเกะ, ปฏิพล ตั้งจักรวรานนท์
- จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น
รีไรต์และแชร์มาเผื่อคนไม่เคยอ่านค่ะ
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่