เวลาอ่านนวนิยาย ฉันชอบบทบรรยายความรู้สึกที่ตัวละครฝ่ายพระเอกคิดคำนึงถึงหญิงสาวที่ทำให้เขาสนใจประทับใจ ซึ่งก็คือตัวนางเอกเสมอ
ในทุกเรื่องฉันจะรู้สึกอินตามไปกับตัวละคร และซาบซึ้งเข้าใจความคิดตัวละครจนอดที่จะคอยให้กำลังใจไปตลอดเรื่องไม่ได้ นี่คือความสามารถของนักเขียนที่สามารถดึงดูดให้เราหลงรักตัวละครได้
ในนวนิยายเรื่อง "มายา" ของ ว.วินิจฉัยกุล เป็นนวนิยายยุคแรกๆ ของผู้เขียนตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์ และพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร ในปี 2523
ต่อมาจำได้ว่าเคยชมละครเรื่องนี้สมัยที่ อรพรรณ พานทอง ในยุคนั้น เป็นนางเอกคู่กับ สถาพร นาควิลัย ละครเรื่องนี้ฉายทางช่อง 7 เมื่อปี 2531 และในเวลาต่อมาก็สร้างละครเรื่องนี้ออกมาอีกหลายครั้ง
ในตอนนั้นได้ดูละครก่อนแล้วค่อยมาตามหานิยายอ่าน ในภาพประกอบคือฉบับพิมพ์ครั้งที่สี่โดยสำนักพิมพ์เพื่อนดี เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2544
ตอนที่อ่านนิยายเรื่องนี้เคยได้อ่านความเห็นของผู้อ่านหลายท่านว่าไม่รู้สึกว่าพระเอกกับนางเอกจะรักกันเท่าไหร่ ไปรักกันตอนไหน ในใจฉันก็คิดว่าผู้เขียนได้สื่อสารบอกความรู้สึกตัวละคร "รชานนท์" ที่มีต่อ "บุษบามินตรา" มาตั้งแต่ต้นๆเรื่องว่าเธอมีความพิเศษมากกว่าผู้หญิงทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขา
วันนี้จึงอยากหยิบยกตอนที่ประทับใจ ที่ผู้เขียนบรรยายความรู้สึกของ "รชานนท์" ที่มีต่อ "บุษบามินตรา" ในช่วงต้นๆเรื่อง ที่อ่านยังไงฉันก็รับรู้ได้ถึงความรู้สึกพิเศษที่ผู้ชายคนหนึ่งจะพึงมีต่อหญิงสาวคนพิเศษที่แม้ในเวลานั้น สถานการณ์จะยังไม่เอื้ออำนวยให้เดินหน้าความสัมพันธ์ตามใจต้องการได้ก็ตาม เพราะในตอนนั้นบุษบามินตรายังมีความสัมพันธ์อยู่กับรวิศ
ตอนที่ประทับใจ
รชานนท์ยิ้มมองดูหล่อน รอยยิ้มนั้นอบอุ่นและแจ่มใส เหมือนพี่ชายพึงจะให้น้องสาว
"ผมไม่มีน้องสาว แต่ถ้ามีสักคน แล้วคุณรวิศมาสนใจ ผมก็คงจะไม่ขัดขวางห้ามปรามเป็นอันขาด เพราะผมเชื่อว่าคุณรวิศเป็นคนที่น่าคบหาคนหนึ่ง…"
เขาเว้นระยะพูดชั่วครู่หนึ่ง คล้ายจะให้โอกาสหล่อนถาม แต่หญิงสาวได้แต่มองเขาด้วยแววฉงน โดยมิได้ปริปากออกมา
"แต่ถ้าอยู่เมืองนอกด้วยกันทั้งคู่ ผมก็คงจะต้องให้น้องสาวรอไปก่อนจนกว่าจะแน่ใจว่าความรู้สึกนั้นคือความรัก…ไม่ใช่ความถูกใจอย่างเพื่อนสนิท ซึ่งอาจจะหลอกให้เขวไปได้ว่าเป็นความผูกพันอย่างคนรัก มิตรภาพเป็นสิ่งที่มีค่ามาก แต่มีค่าคนละอย่างกับความรักอยู่นั่นเอง"
เขาเคลื่อนกายเข้ามาใกล้โดยที่บุษบามินตราไม่ได้ขยับเขยื้อน แม้ชายหนุ่มจะวางมือลงบนบ่าของหล่อนอย่างไม่เคยทำมาก่อน
สัมผัสนั้นแผ่วเบาและสุภาพเกินกว่าจะเป็นการลวนลาม
"ผมอาจจะไม่ได้พบคุณมิ้นต์อีก หลังจากออกจากเมืองนี้แล้ว แล้วก็คงไม่ได้บอกอะไรอีกหลายๆอย่างที่อยากจะบอก แต่ผมพูดได้ว่า ผมเห็นความสุขของคุณเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผมจะไม่ทำให้คุณกังวลใจ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม"
แล้วเขาก็ก้มหน้าลง ริมฝีปากประทับลงหน้าผากของหล่อนพอดีด้วยความนุ่มนวลเช่นเดียวกับท่าทาง
อ่านจบตอนนี้ฉันรับรู้ถึงความคิดในใจของรชานนท์ที่มีต่อบุษบามินตรา มาตั้งแต่ต้นเรื่อง เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสมเหมือนเช่นทุกความสัมพันธ์
นวนิยายเรื่องมายา ของ ว.วินิจฉัยกุล เป็นอีกเรื่องที่ได้อ่านหลังดูละครที่ดังมากและสนุกมาก ออนแอร์ทางช่อง 7 เมื่อปี พ.ศ.2531
ตัวละครสำคัญสามตัวที่ยังอยู่ในใจผู้ชมในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นบทนำที่เด่นมากคือ บท 'พิตะวัน' ที่รับบทโดย ชไมพร จตุรภุช พระเอกคือ รชานนท์ รับบทโดย สถาพร นาควิลัย และนางเอก 'บุษบามินตรา' รับบทโดย อรพรรณ วัชรพล (อรพรรณ พานทอง ในยุคนั้น)
เล่มนี้อ่านครั้งแรกนานมาแล้ว เคยสนุกสนานกับเรื่องราวทั้งฉบับนิยายและละครทีวี จนทำให้ระลึกถึงเรื่องนี้เสมอๆ
มายา เป็นนวนิยายที่เล่าเรื่องราวชีวิตของ พิตะวัน หญิงสาวที่ถูกรับเลี้ยงดูโดยคุณอินทนิล เศรษฐินีที่ไม่มีบุตรหลานของตนเอง เธอถูกเลี้ยงดูเติบโตมาแบบกึ่งญาติกึ่งคนรับใช้ แต่เพราะความทะเยอทะยานของพิตะวันที่ต้องการไปให้พ้นจากสภาพเช่นนี้ เธอจึงมีโลกสองใบ ใบหนึ่งคือชีวิตจริงๆที่อยากหลีกหนีไปให้พ้น กับอีกโลกที่เต็มไปด้วยคำโกหกและมายาที่เธอสร้างขึ้นลวงตาผู้อื่นและลวงใจตนเอง
เธอหลงรักรชานนท์ และสุดท้ายพบว่า รชานนท์มีบุษบามินตราอยู่ในใจ
รชานนท์เป็นชายหนุ่มในครอบครัวร่ำรวยที่พ่อแม่ทิ้งมรดกไว้ให้ ความสัมพันธ์ของเขาในนวนิยายเรื่องนี้ที่มีต่อหญิงสาวสามคนที่ผ่านเข้ามาให้เลือก ตามคำบรรยายไว้ในคำนำหนังสือที่ว่า
พิตะวัน หญิงสาวที่เปรียบเหมือน ภาพลวงตา ที่งดงามแพรวพราว บาดตาบาดใจ ร้อนแรง ชวนให้หลงใหล แต่ไม่จีรังยั่งยืน
บุษบามินตรา หญิงสาวที่มีแต่ความจริง งามด้วยเนื้อแท้ เข้มแข็ง มั่นคง ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานะใดก็ยังคงคุณค่า ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
อลิสา หญิงสาวในอุดมคติ งามพร้อมบริบูรณ์ด้วยคุณค่าและคุณธรรม มีความเสียสละ ทำเพื่อเพื่อนมนุษย์เสมอ
รชานนท์กับบุษบามินตรา เริ่มต้นความสัมพันธ์จากมิตรภาพแบบเพื่อน แม้ว่าต่างฝ่ายต่างมีอะไรบางอย่างที่สื่อถึงกันถึงความรู้สึกพิเศษที่มีต่อกัน แต่เมื่อในเวลาที่ไม่ใช่ ในสถานการณ์ที่ยังไม่ลงตัว ความรักของทั้งคู่จึงต้องใช้เวลากว่าจะมาบรรจบกัน
โปรยปกหลัง
พิตะวันมีโลกของหล่อนอยู่สองโลกตลอดเวลา
โลกที่หนึ่ง...โลกของเด็กกำพร้าที่อ้างว้างขวัญเสียและแห้งแล้งมาแต่เยาว์วัย ถูกเลี้ยงมาอย่างลุ่มๆดอนๆ ทางจิตใจ จนปราศจากหลักยึดเหนี่ยวใดๆทั้งสิ้น
โลกที่สอง...โลกของความฝันอันเพริศแพร้วเหมือนภาพลวงตาในทะเลทราย โลกที่หล่อนเห็นเพียงครึ่งๆ กลางๆจากความจริงที่ประสบอยู่...
แต่มันคงเป็นแค่ความฝัน...เป็นแต่เพียงภาพลวงตาอันงดงาม ซึ่งหล่อนได้พบเห็นและหลงงมงายอยู่กับมันมาตลอดชีวิต และไม่รู้ว่าจะต้องหลงใหลอยู่ในมนต์ขลังของมายานั้นอีกนานสักเท่าใด...
- มายา ผู้เขียน ว.วินิจฉัยกุล
- ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 เดือนตุลาคม 2544
- จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เพื่อนดี
- ภาพปก โดย สุขุมาล เล็กสวัสดิ์
ความรู้สึกหลังอ่าน
นวนิยายเรื่องมายา เป็นหนึ่งในเรื่องโปรดที่ชอบมาก นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตและทัศนคติของผู้หญิงหลายแบบ มุมมองต่อชีวิตและท่าทีต่อผู้คนที่พบเจอ ส่วนตัวชอบตัวละครนางเอกอย่าง 'บุษบามินตรา' มากกว่า ตัวละครหลักเด่นๆของเรื่องอย่าง 'พิตะวัน'
บุษบามินตราเป็นหญิงสาวที่ซื่อตรงต่อความรู้สึกตนเอง และสิ่งที่เธอปฏิสัมพันธ์กับผู้คนนั้นก็เป็นแบบธรรมชาติและตรงไปตรงมา แบบสาวสมัยใหม่ที่มีกรอบให้ตัวเอง ความจริงใจและจิตใจที่ดีงามเข้าใจชีวิต ทำให้เธอเป็นหญิงสาวที่จับใจรชานนท์ตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่พบกัน แม้ว่าสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวย รชานนท์เคยบอกกับเธอว่า ในชีวิตแม้ไม่อาจได้เธอมา แต่หากจะให้เธอเป็นน้องสาว เขาก็ยินดีเป็นที่สุด
ในเรื่องนี้มีเส้นเรื่องและช่วงเวลาตลอดจนสถานการณ์ในชีวิตของตัวละครยาวนาน มีฉากทั้งในต่างประเทศและชีวิตช่วงหลังจากกลับจากต่างประเทศมาอยู่เมืองไทย
ส่วนใหญ่ฉันจะชอบฉากที่รชานนท์พบกับบุษบามินตราในทุกๆฉาก ที่ผู้เขียนถ่ายทอดให้เห็นถึงความรู้สึกที่ทั้งคู่มีให้กัน เป็นสายใยบางๆ ที่เกี่ยวรัดกันไว้ และระลึกถึงกันอยู่เสมอ กว่าจะถึงตอนท้ายที่สมหวัง ผู้อ่านอย่างเราก็ลุ้นให้ตัวละครที่รักพบความสุขเสียที
นวนิยายเรื่อง 'มายา' ของ ว.วินิจฉัยกุล เรื่องนี้แบบเล่ม นับเป็นหนังสือหายากเล่มหนึ่ง มีให้อ่านแบบอีบุ๊คใน meb เท่านั้นค่ะตอนนี้
รีไรต์บันทึกการอ่านเรื่องโปรดเรื่องนี้
4 มกราคม 2565
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่