#เพชรกลางไฟ #ววินิจฉัยกุล #นวนิยายที่รัก #เรื่องราวระหว่างบรรทัดจากหนังสือที่รัก #ดูละครแล้วมาอ่านนิยายอีกเรื่องค่ะ#หนังสือที่รัก
วันนี้รีรันบทบันทึกการอ่านนวนิยายที่ชอบมากอีกเรื่องค่ะ เรื่องนี้ชอบทั้งเวอร์ชั่นละคร และนวนิยาย เรื่อง เพชรกลางไฟ
ตอนประทับใจ
อุรวศีทรงเหลือบมองชายหนุ่ม ก่อนจะหลบเนตรลงต่ำด้วยความเขินอาย ตามวิสัยหญิงสาว
เมื่อพบกันครั้งแรก ชายผู้นี้หาได้รู้ไม่ ว่าเขากำลังยืนอยู่ต่อหน้าใคร ท่านหญิงเองก็ไม่ทรงทราบว่าเขาเป็นใคร
รุงรังดั่งหนึ่งอนาถา
แต่ดวงตามิใช่ตาไพร่
จ้องดูไม่หลบตาไป
นี่มิใช่คนทรามต่ำช้า
แต่ดวงตามิใช่ตาไพร่
จ้องดูไม่หลบตาไป
นี่มิใช่คนทรามต่ำช้า
ผู้ชายคนเดียวกันนี้เอง ที่กล้าเขียนเพลงยาวมาถวายพระธิดาเสด็จในกรมฯ
น้อมเศียรแทบพระบาท
อนงค์นาถพิลาศพิไล
เพื่อขอประทานอภัย
ที่มิได้ระวังการ
มีตาหามีแวว
ผิดไปแล้ว โปรดสงสาร
รับผิดมิเนิ่นนาน
จึงส่งสารมาทูลความ
อนงค์นาถพิลาศพิไล
เพื่อขอประทานอภัย
ที่มิได้ระวังการ
มีตาหามีแวว
ผิดไปแล้ว โปรดสงสาร
รับผิดมิเนิ่นนาน
จึงส่งสารมาทูลความ
ความทรงจำ ประกอบด้วยอารมณ์งุนงงสงสัยย้อนคืนมาอีกครั้ง ในช่วงเวลานั้น ยังเยาว์เกินกว่าจะเข้าพระทัยว่านี่คือสะพานที่ทอดมาจากชายหนุ่ม แต่ก็มาเข้าพระทัยชัดเจนในเพลงยาวครั้งต่อมา
จึงองค์เทพธิดา
จากนภาเสด็จดล
ประทานทิพย์สุคนธ์
ชุบชีวิตให้คืนหาย
แม้ทรงเสด็จลับ
มิคืนกลับมาใกล้กราย
ฉ่ำเย็นมิเว้นวาย
ประทับทรวงแม้ล่วงกาล
ความคะนึงหาของชายผู้นี้ มีพลังแรงกล้าพอที่จะก่อให้เกิดความคะนึงหาในทางเดียวกัน อุรวศีเองในตอนแรกก็ไม่เข้าพระทัยว่า อนลมีอะไรดีถึงขั้นผูกพันพระทัยให้จดจ่อกับเขาได้ ถ้าเทียบกับชายอื่น ไม่ต้องดูอื่นไกล อย่างหม่อมเจ้าสุรคม ก็มิได้ทรงมีสิ่งใดด้อยกว่า แต่เหนือกว่าด้วยชาติกำเนิดเสียด้วยซ้ำ อุรวศีก็มิได้เคยต้องพระทัย หลายครั้งก็ทรงอึดอัดรำคาญที่จะต้องเข้าใกล้เจ้าชายหนุ่มเสียอีก
แต่มาบัดนี้ ทรงเข้าพระทัยแล้วว่า เสน่ห์ของชายหนุ่มผู้นี้อยู่ที่ความจริงใจ สัตย์ซื่อต่อความรู้สึกของตัวเอง อนลไม่ได้เป็นผู้ชายเข้มแข็ง เห็นบุคลิกองอาจมาแต่ไกล แต่เขาเป็นคนแน่วแน่มั่นคง ถ้อยคำอ่อนหวานนั้นไม่ได้แสดงออกมาอย่างฟุ่มเฟือยแบบชายเจ้าชู้ ที่ชอบหว่านโปรยเสน่ห์ไปทั่ว หากแต่ปักใจที่หญิงใด ก็แน่วแน่ที่หญิงนั้นเพียงคนเดียว
ตอนหนึ่งจากนวนิยายเรื่องนี้ในช่วงท้าย ในฉากที่ท่านหญิงอุรวศีคิดคำนึงถึงอนล ชายหนุ่มที่ทรงตัดสินพระทัยเสกสมรสด้วย และใช้ชีวิตร่วมกันในชื่อใหม่ว่า ‘อุษา’ หลังผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต จนต้องระหกระเหินหลบหนีภัยมาใช้ชีวิตที่เรือนแพ เป็นหญิงสาวชาวบ้าน
นวนิยายเรื่อง ‘เพชรกลางไฟ’ เป็นเรื่องราวความรักต่างศักดิ์ของตัวละคร ที่สนุกมากอีกเรื่อง เมื่อนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2560 โดย มิว-นิษฐา จิรยั่งยืน รับบทท่านหญิงอุรวศี (ท่านหญิงหลง) และ ไม้-วฤษฎิ์ ศิริสันธนะ รับบท อนล รัชปาลี (พระนรารักษา) ข้าราชการหนุ่มแห่งกระทรวงมหาดไทย ฉันก็คิดว่าเป็นการเลือกนักแสดงที่เหมาะสม และผู้สร้างก็สร้างได้ดีและดูสนุกมากไม่ต่างจากอ่านนวนิยาย
เรื่องราวก็เล่าถึงชีวิตของหม่อมเจ้าหญิงอุรวศีหรือท่านหญิงหลง พระธิดาในเสด็จในกรมและหม่อมสลวย ภริยารองอันเป็นที่รัก จนนำมาซึ่งความอิจฉาริษยาของหม่อมต่วน ภริยาเอก หลังเสด็จในกรมสิ้น ท่านหญิงหลงต้องเผชิญกับแผนการเลวร้ายถึงขนาดเอาชีวิตจากหม่อมต่วน จนต้องหลบไปพำนักในวังกับเสด็จพระองค์หญิง เสด็จป้าของท่านหญิง
เรื่องราวความรักต่างศักดิ์ระหว่างท่านหญิงหลง กับอนล ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่ต่ำกว่าทั้งฐานะ ศักดินา และพื้นฐานครอบครัว เส้นเรื่องความรักและฉากพบกันของพระนางมีไม่มาก แต่น่าประทับใจเมื่อทั้งคู่ต้องพยายามเก็บงำความรู้สึก และถ่ายทอดความในใจผ่านบทกวีบทกลอนที่เขียนสอดไว้ในหนังสือ ทำให้ตัวละครหลักเรื่องนี้เป็นที่ประทับใจมากอีกเรื่องหนึ่ง
โปรยปกหลัง
เขายื่นสมุดบันทึกให้เธอ เธอก็เอื้อมมือมารับ ระมัดระวังมิให้สัมผัสปลายนิ้ว
แต่อนลก็ชื่นใจเมื่อเห็นมือขาวเรียวจับอยู่บนแผ่นหนัง เขาเคยจูบสมุดบันทึกนี้ เพราะรู้ว่านิ้วของเธอจะต้องสัมผัสเมื่อได้รับบันทึกไป ถึงเธอไม่มีวันรู้ เขาคนเดียวเท่านั้นที่รู้ เรื่องนี้ก็เป็นความลับอันสุขใจพอแล้ว
“ขอบใจคุณมาก”
กระดาษแผ่นหนึ่งปลิวลงจากบันทึก อุรวศีก้มลงเก็บ เข้าพระทัยว่าเป็นกระดาษที่เสด็จพ่อทรงบันทึกข้อความไว้ มองเห็นตัวอักษรเขียนด้วยหมึกดำเป็นตัวหนังสือเรียงเรียบชัดเจน
มิอาจพบประสบพักตร์
ใช่ว่าจักคิดหักใจ
คิดถึงทุกวันไป
แม้มิได้อยู่ใกล้กัน
ไม่ใกล้ก็เหมือนใกล้
เพราะดวงใจอันผูกพัน
เหมือนเห็นกันทุกวัน
เราพบกันนั้นด้วยใจ
ใช่ว่าจักคิดหักใจ
คิดถึงทุกวันไป
แม้มิได้อยู่ใกล้กัน
ไม่ใกล้ก็เหมือนใกล้
เพราะดวงใจอันผูกพัน
เหมือนเห็นกันทุกวัน
เราพบกันนั้นด้วยใจ
- นวนิยายเรื่อง “เพชรกลางไฟ” ของ ว.วินิจฉัยกุล ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์ ระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2558
- พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2558
- ในภาพประกอบโพสต์นี้คือปกฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เดือนเมษายน 2558
- ภาพปก-ออกแบบ : เกริกบุระ ยมนาค
- ราคาปก 350 บาท
- จำนวน 482 หน้า
รีไรต์อีกครั้งด้วยความคิดถึง
25 ตุลาคม 2565
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่