เทคนิคการจดบันทึกแบบ BUJO สิ่งเล็ก ๆ ที่ทำให้มีความสุข และสร้างแรงบันดาลใจ

Books and My Quotes

เพจคุยเรื่องหนังสือ รวมเรื่องราวประทับใจจากหนังสือที่รัก จากแอดมินคนเดียวคนเดิมจากเพจซีรีส์ที่รักค่ะ

          #เล่าเรื่องการเขียนบูโจ #เขียนอธิบาย#BulletJournal #สมุดบันทึกทำมือ
BUJO

          วันนี้อยากเขียนอธิบายถึงโครงสร้างและรายละเอียดรูปแบบการจดบันทึกแบบ Bullet Journal สมุดบันทึกทำมือส่วนตัวที่ทดลองรวมถึงบันทึกที่มาที่ไปของการออกแบบและคัดเลือกหัวข้อใส่ใน Bullet Journal ของฉัน
          เมื่อฉันเริ่มต้นกลับมาสู่โลกอนาล็อก และเริ่มต้นการเขียนบันทึกลงในสมุดไดอารี่ทำมือ ที่เรียกว่า Bullet Journal วันเวลาของฉันก็รู้สึกสนุกเพลิดเพลินในความสุขใหม่ๆนี้

          Bullet Journal หรือที่เรียกกันสั้นๆย่อๆว่า BUJO เป็นรูปแบบการเขียนบันทึกส่วนตัวที่คิดค้นโดยชาวอเมริกันที่ชื่อ Ryder Carroll โดยมีรูปแบบการจดบันทึกที่แตกต่างจากสมุดไดอารี่สำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป ที่จะมีแพลตฟอร์ม ปฏิทิน ช่องสำหรับบันทึกรายเดือน รายสัปดาห์ เป็นรูปแบบคล้ายคลึงกันไปหมด

การบันทึกแบบ BUJO นี้ใช้เทคนิคการจดบันทึกแบบ Rapid Logging ซึ่งมีส่วนประกอบหลัก 4 อย่าง ได้แก่

  1. Topic หรือหัวข้อสำคัญที่ต้องการจด
  2. Pages Numbers เลขหน้าที่เรากำหนดไว้ เพื่อใช้ในการทำสารบัญ สำหรับใช้ในการค้นหา
  3. Short Sentences การใช้ประโยคสั้นๆ ในการบันทึก เช่น งานที่ต้องทำ นัดหมาย บันทึกช่วยจำ รายการค่าใช้จ่าย
  4. Bullets การกำหนดสัญลักษณ์ช่วยจำในการจดบันทึก ตัวอย่างเช่น
  • เครื่องหมายจุดทึบ คือ สิ่งที่ต้องทำ คล้ายๆ กับ To Do Lists

    X  เครื่องหมายกากบาท หมายถึง งานที่ทำเสร็จแล้ว

    >  เครื่องหมายมากกว่า แทนค่างานที่ยังทำไม่เสร็จ และต้องเลื่อนกำหนดออกไป

    -  เครื่องหมายขีด คือโน๊ตช่วยจำ เรื่องทั่วไป

    เครื่องหมายรูปดาว หมายถึงเรื่องสำคัญที่ต้องการเน้นให้ชัดเจนและไม่ลืม

BUJO

BUJO

BUJO

นอกจากนี้ใน BUJO นี้จะมีโครงสร้างการจดบันทึกแยกเป็นส่วนๆดังนี้

  • Index หรือสารบัญหัวข้อหลักที่เราต้องการจดบันทึก ในสารบัญจะมีระบบการเขียนบอกเลขหน้าในแต่ละเรื่อง เพื่อความสะดวกในการค้นหา
  • Future Log ส่วนนี้สำหรับการบันทึกแผนงานล่วงหน้าตลอดปี ช่วยในการมองภาพรวมทั้งปี โดยอาจทำในรูปแบบปฏิทินเป็นเดือนครบ 12 เดือนในสองหน้าก็ได้
  • Monthly Log เป็นส่วนย่อยออกมาจาก Future Log สำหรับจดบันทึกแผนงานรายเดือน การจดบันทึกของเจ้าของ BUJO แต่ละเล่มก็ต่างกันตามรูปแบบและสไตล์ที่ชอบ
          นอกจากนี้เราสามารถแยกย่อยลงไปได้อีกหากจำเป็น โดยจดบันทึกลงใน Weekly Log หรือ Daily Log ตามความชอบและจำเป็น
          จากข้างต้นเราจะเห็นรูปแบบโครงสร้างหลักโดยทั่วไปอย่างกว้างๆของ BUJO แต่ในการจดบันทึกของจริง เราสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างอิสระตามกิจกรรมและความชอบส่วนตัว
          ซึ่งนี่คือเสน่ห์ของ BUJO ตามความคิดของฉัน เท่าที่สัมผัสได้ คือการจดบันทึกสไตล์ส่วนตัวตามกรอบกว้างๆ ที่กำหนดไว้หลวมๆ ไม่เคร่งครัดในรูปแบบ
          และการจะจดบันทึกให้สนุกเพลิดเพลินมากขึ้นนั่นคือ การหาแรงบันดาลใจในสิ่งต่างๆรอบตัวที่เจ้าของสมุดชื่นชอบ แยกลงไปในหัวข้อใส่ลงในส่วน Index ได้ตามใจชอบ
          สำหรับใน BUJO ส่วนตัวของฉันนั้น ได้เริ่มต้นจดบันทึกแบบใหม่นี้เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
          ฉันได้ออกแบบโครงสร้างสมุดบันทึกส่วนตัวตามความชอบและการให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆของตนเองออกมาดังนี้
          โดยฉันได้กำหนดหัวข้อหลักใส่ลงใน Index ไว้แล้วแยกเป็นข้อๆดังต่อไปนี้

1. Future Log หรือ Year Plan

          ในหน้านี้ฉันกำหนดไว้สำหรับบันทึกทุกอย่างในภาพรวมทั้งปี ซึ่งฉันบันทึกในรูปแบบปฏิทินแยกเป็นเดือนทั้งสิบสองเดือน ทั้งกำหนดนัดหมายพบหมอเรื่องสุขภาพตลอดปี รวมถึงนัดหมายชำระค่าใช้จ่ายรายการใหญ่ๆในครอบครัว เช่น ค่าส่วนกลางหมู่บ้านประจำปีตอนต้นปี ค่าประกันภัยรถยนต์และต่อภาษีประจำปี ค่าเทอมของลูก ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวประจำปี เป็นต้น

2. Health Appointment

          ในส่วนนี้ฉันแยกออกมาอีกส่วนต่างหากโดยเฉพาะ เตรียมไว้สำหรับจดรายละเอียดเพิ่มเติมหลังจากไปพบแพทย์ตามนัดหมายแล้ว อาจต้องบันทึกความคืบหน้า ผลการตรวจรักษา และยอดค่าใช้จ่ายในการรักษา เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลช่วยจำ

3. Other Appointment

          ในส่วนนี้ฉันแยกเป็นนัดหมายอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ เช่นนัดหมายสังสรรค์ในครอบครัว นัดหมายงาน นัดหมายพบปะเพื่อน เป็นต้น 

4. Future Vision

          เป้าหมายในอนาคตที่คิดไว้ ตัวอย่างเช่น เป้าหมายในการทำบล็อก เป้าหมายในงานเขียน เป้าหมายในการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น เป้าหมายเรื่องการเรียนของลูก เป็นต้น

5. Wish List

          รายการความปรารถนา ฉันเว้นหน้าสำหรับหัวข้อนี้เพียงหน้าเดียว สำหรับบันทึกสั้นๆ ในสิ่งที่อยากทำ ในของที่อยากได้ชิ้นใหญ่ที่ต้องรอจัดสรรงบประมาณ ไม่กล้าเขียนเยอะในข้อนี้

6. Important Expenses Lists

          ส่วนนี้ฉันแยกย่อยออกมาบันทึกแบบรายเดือน โดยทำสรุปค่าใช้จ่ายรายเดือนทุกเดือนให้เห็นตัวเลขประจำเดือน แยกเป็นรายการให้เห็นชัดเจนว่าแต่ละเดือนเสียเงินไปกับค่าใช้จ่ายส่วนใดบ้าง ที่ต้องทำเพราะฉันเป็นแม่บ้านที่ดูแลการเงินของครอบครัวนั่นเอง

7. Expenses Lists Notes

          จะเห็นว่าฉันให้ความสำคัญกับเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน ในส่วนนี้ก็แยกเป็น Monthly Lists เพื่อจดบันทึกช่วยจำถึงรายการค่าใช้จ่ายในครอบครัวในรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งโดยส่วนตัว ฉันทำบัญชีค่าใช้จ่ายทุกวันอย่างละเอียดมาหลายปีแล้ว

8. Happy Little Things

          สิ่งเล็กๆ แห่งความสุข ฉันจัดส่วนนี้ไว้สำหรับจดเรื่องราวไร้สาระแต่สร้างสุขเพิ่มกำลังใจ อาจเป็นภาพถ่ายลูก หรืออะไรก็ได้ที่เราพบเจอในแต่ละวัน เห็นปุ๊บจดปั๊บแนวนั้นนั่นเอง

9. Good Memories

          ความทรงจำดีๆในชีวิต ฉันแบ่งส่วนนี้ไว้สำหรับเรื่องเก่าๆในอดีต อาจเป็นภาพถ่ายในวัยเด็ก วัยเรียนมหาวิทยาลัย หรือภาพเก่าเราสองคนสมัยเป็นแฟนอะไรทำนองนี้ คิดว่าจะแปะภาพถ่ายและเขียนอะไรสั้นๆ ประกอบภาพเท่านั้น

10. Travel Blog

          ส่วนนี้ฉันอยากเผื่อไว้สำหรับภาพสวยๆ จากสถานที่ท่องเที่ยวที่เคยไปมาและประทับใจ คงจะเป็นภาพที่ถ่ายเก็บไว้มากมาย เขียนบันทึกถึงสถานที่ วันเดือนปีที่เดินทางและโน๊ตสั้นๆถึงความประทับใจ

11. My Writing Work

          ในส่วนนี้คงต้องแยกเป็นเวอร์ชั่น ในพาร์ทแรกใช้สำหรับคัดลอกงานเขียนที่เริ่มต้นเขียนจริงจังตั้งแต่เริ่มเรียนเขียน เริ่มแรกคือการคัดลอกการบ้านจากคอร์สเขียนซะป๊ะ ส่วนนี้คงค่อยๆทำ

12. My OnlineWorld Blog

          ฉันแบ่งส่วนนี้ไว้สำหรับจดบันทึกคอนเท้นท์ที่อยากทำใส่ในบล็อกของฉันใน Wordpress

13. All About Books

          ฉันแบ่งส่วนนี้ไว้สำหรับโน๊ตถึงหนังสือที่ซื้อไว้แล้วในตู้ รออ่าน หนังสือที่อ่านแล้วและชอบหรือไม่ชอบ โน๊ตเตือนความจำไว้ รวมทั้งหนังสือออกใหม่ที่อยากได้และเล็งว่าจะซื้อมาอ่านเพิ่มเติม

14. Love Quotes From Books , Films and Drama Series

          ความที่เป็นคนชอบอ่านชอบดูหนังรักและซีรีส์มากมาย มักจะมีบางประโยค บางตอน หรือคำพูดตัวละครที่ประทับใจ เมื่อก่อนบันทึกใส่กระดาษเก็บไม่เป็นที่ กระจัดกระจาย จึงตั้งใจว่าจะแบ่งส่วนนี้ไว้สำหรับบันทึกเก็บไว้อ่าน

15. My Writing Work

          ฉันคั่นรายการไปหลายเรื่องก่อนที่จะมาถึงส่วนบันทึกการบ้านงานเขียนในคอร์สที่สองที่เรียน คือคอร์สเขียนทิพส์ ณ ตอนนี้ ฉันจัดแบ่งสมุดบันทึกไว้แล้วคร่าวๆตามหัวข้อข้างบน คิดว่าในอนาคตคงมีเพิ่มเติม

          การเตรียมสมุดบันทึกให้พอจึงสำคัญมาก กรณีที่เรามีหัวข้อมากมายที่อยากจดบันทึกไว้ สำหรับสมุดบันทึกของฉันเล่มนี้ เป็นสมุดบันทึกปกแข็งแบบไม่มีเส้น เป็นหน้าว่างๆ เขียนได้ตามใจชอบ ความหนาพอสมควร คือ สมุดบันทึกที่ฉันซื้อมาจากเพจ The Cloud คือ
BUJO

          The Cloud  Diary Limited Edition
  • ขนาด : 18.5 x 12 เซนติเมตร
  • เป็นไดอารี่ปกแข็ง
  • เข้าเล่มแบบ เย็บกี่ ปกแข็งสันโค้ง มีริบบิ้น
  • รูปแบบกระดาษคือกระดาษปอนด์ 100 แกรม สีครีม ไม่มีเส้น มีจำนวนหน้า 288 หน้า
  • ซื้อมาแล้วสองเล่มในราคาเล่มละ  250 บาท
          การจดบันทึกในสมุดนั้น เหมือนกับการเรียบเรียงข้อมูลความชอบ ความสนใจ หลายสิ่งหลายอย่างที่สำคัญในชีวิต ถ่ายทอดผ่านปากกาและภาพถ่ายลงในสมุดบันทึกเล็กๆนี้ ในระหว่างช่วงสองสามวันที่นั่งเขียนและออกแบบ ทำให้ฉันได้กลับมาคุยกับตัวเองอีกรูปแบบหนึ่ง ระหว่างที่จดบันทึก ความรู้สึกเพลิดเพลิน มีสมาธิเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ทำให้วันเวลาระหว่างจดบันทึกผ่านไปอย่างรวดเร็วและมีความสุข
BUJO

          ยามว่างระหว่างวันที่ไม่ได้จดบันทึก ฉันเปิด BUJO อ่านที่บันทึกไว้อย่างช้าๆ สิ่งเล็กๆที่เรียกว่าความสุขใจเกิดขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว เป็นวันดีๆอีกวันที่ผันผ่านไปโดยที่ฉันไม่เสียใจเลย

          แก้วเจ้าจอม

          บันทึกไว้เมื่อ 18 มิถุนายน 2562

          ปัจจุบันเขียนๆ หยุดๆ และเริ่มเขียนเล่มปี 2566 แล้วค่ะ แต่รายละเอียดในบูโจของปีปัจจุบันต่างจากเล่มแรกเรียกว่าปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ชีวิตค่ะ
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ Books and My Quotes
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทคนิคการจดบันทึกแบบ BUJO สิ่งเล็ก ๆ ที่ทำให้มีความสุข และสร้างแรงบันดาลใจ อัปเดตล่าสุด 14 มีนาคม 2566 เวลา 11:36:14 3,678 อ่าน
TOP