#บูรพา #ววินิจฉัยกุล #บันทึกการอ่าน #นวนิยายที่รัก #หนังสือที่รัก #เรื่องราวระหว่างบรรทัดจากหนังสือที่รัก
นำบทบันทึกการอ่านที่เขียนเมื่อปี 2562 มารีไรต์และรีรันลงเพจและบล็อกอีกครั้ง
บูรพา เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องที่ 4 ของผู้เขียน ว.วินิจฉัยกุล นับจากเรื่อง ‘รัตนโกสินทร์’ ‘สองฝั่งคลอง’ และ ‘ราตรีประดับดาว’ ตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2553
จุดมุ่งหมายของเรื่องนี้ ผู้เขียนต้องการถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องมาจนต้นรัชกาลที่ 5 เพื่อให้เห็นภาพเรื่องสำคัญของรัชสมัยคือ ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันตก
คุณหญิงวินิตา เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในท้ายหนังสือไว้ว่าเรื่องนี้เตรียมข้อมูลประมาณ 4 ปีเศษ และเขียนต่ออีกเกือบ 2 ปีจึงจบบริบูรณ์
โดยผูกเรื่องผ่านฉากหลังคือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และมีตัวละครหลายตัวในเรื่องเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนจริงๆ โดยเฉพาะที่มีรายละเอียดมากที่สุดคือส่วนของ “วังหน้า” ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ที่สองในสมัยรัชกาลที่ 4
แต่ตัวเอกของเรื่อง พระเอกและนางเอกเป็นตัวละครสมมติ คือหม่อมเจ้าวิชชุประภา หรือ เจ้าสายฟ้า หรือ ‘จัสติน’ ของ แคธรีน หญิงสาวชาวอังกฤษ ที่ชะตาชีวิตพัดพาให้มาพบรักกับเจ้าชายหนุ่มจากสยาม ซึ่งคุณหญิงได้ปรารภไว้ในเกร็ดท้ายเรื่องว่า ได้แนวคิดมาจากชีวิตของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และ หม่อมแคธเธอรีน ในปลายรัชกาลที่ 5
เมื่ออ่านเรื่องราวรักของชายหนุ่มและหญิงสาวที่ต่างทั้งเชื้อชาติ ชนชั้น และขนบธรรมเนียมประเพณี ผ่านเหตุการณ์ตั้งแต่พบกันจนปลายทางของชีวิต ก็ซาบซึ้งและประทับใจในเรื่องราวความรักและความมั่นคงในรักของตัวละครสมมติคู่นี้ จนระหว่างที่อ่านรู้สึกลำคอตื้นตันและสะเทือนใจสลับกันไปกับความละมุนละไมของภาษาที่สละสลวยในการกล่าวคำรักที่มีต่อกันของแคธรีนและเจ้าสายฟ้า
ขอยกตอนที่สะเทือนใจและประทับใจมาประกอบบันทึกหลังอ่านจบไว้ตรงนี้ เป็นการบรรยายฉากเพียงสั้นๆ ฉากหนึ่ง
#ตอนที่ประทับใจ
“จดหมายหลุดจากพระหัตถ์โดยไม่ทันรู้องค์ เจ้าสายฟ้าทรงล้มทั้งยืน พระองค์ฟาดเข้ากับโต๊ะ กวาดกระปุกหมึกทำด้วยแก้ว ตลอดจนเครื่องประกอบการเขียนอื่นๆ ซึ่งวางประดับอยู่บนนั้นแตกกระจายเปรื่องปร่างบนพื้นไม้ขัดมัน”
ฉากนี้เป็นเพียงฉากที่ผู้เขียนบรรยายไว้สั้นๆ แต่สะดุดใจจนฉันเห็นภาพชายหนุ่มผู้ทรงอำนาจและแข็งแกร่ง ชายหนุ่มผู้สามารถเอาชนะอุปสรรคใหญ่หลวง แต่กลับล้มทั้งยืนเมื่อหญิงอันเป็นที่รักจากไป ทำให้ฉันสงสารเจ้าสายฟ้าในช่วงชีวิตที่แคธรีนหนีกลับอังกฤษ และไม่ได้พบกันอีกร่วมยี่สิบปี
เป็นชีวิตที่ต้องอยู่กับความรักและความทรงจำอย่างเจ็บปวด และมีช่วงเวลาแห่งความสุขในชีวิตคู่เพียงสั้นๆ เป็นไปดั่งคำกล่าวของ อัมราฮัม ลินคอล์น ที่ผู้เขียนยกมาในตอนท้ายเรื่องว่า
“And in the end, it’s not the years in your life that count, it’s the life in your years”
จำนวนปีในชีวิตหาได้มีความหมายไม่ แต่ชีวิตในจำนวนปีที่คุณอยู่อย่างมีค่าและมีความหมายนั่นต่างหาก เป็นสิ่งควรคำนึงถึงมากกว่า
#โปรยปกหลัง
แคธรีนไม่เคยตระหนักมาก่อนเลยว่าอารมณ์ล้ำลึกบางอย่างเปรียบได้กับน้ำที่ค่อยไหลซึมขึ้นมาจากใต้ดิน กว่าจะรู้ น้ำใสก็เต็มแอ่งในหัวใจของเธอเสียแล้ว เธอไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าจัสตินคือความอบอุ่นใจเมื่ออยู่ใกล้…คือความรื่นรมย์ที่จะได้พูดคุยด้วย ได้ฟังเขาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบูรพาอย่างที่ไม่เคยฟังมาก่อน และท้ายสุด คือการรับรู้จนไม่มีความรู้สึกแปลกแยกว่าเขาคือชายผู้ซึ่งแตกต่างทั้งเชื้อชาติและศาสนา
- บูรพา : ว.วินิจฉัยกุล
- พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543
- ภาพประกอบฉบับซ้ายมือเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2552
- จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทรีบีส์
- ภาพปก : เกริกบุระ ยมนาค
- จำนวน 728 หน้า
- ราคาปก 475 บาท
ฉบับขวามือเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 ใหม่ล่าสุดโดยสำนักพิมพ์อรุณ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 จำนวน 802 หน้า ราคาปก 545 บาท
#โปรยปกหลังฉบับพิมพ์ครั้งที่หกของสำนักพิมพ์อรุณ
แคธรีนเบือนหน้าจากเรือนแพสวยงามที่ค่อยๆ ถอยห่างออกไป…
เบือนหน้าจากคืนเก่าๆ ที่เธอกับเขาเคยลงแหวกว่ายในน้ำใสเย็น…
เคยยืนพิงกันชมจันทร์กระจ่างนวลยามดึกด้วยกันจากหน้าแพ…
เบือนจากภาพทารกน้อยเคยนอน…เคยคลาน…
เคยเล่นอยู่ในเรือนแห่งความรักและความหลัง…
ถอยห่างออกมาอีก…ภาพของพระบวรสถานราชวังเลื่อนผ่านไป
หญิงสาวส่งใจระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว…
สุภาพบุรุษชาวสยามผู้งดงามด้วยพระราชอัธยาศัยและน้ำพระราชหฤทัยกว้างขวาง
เรือผ่านพระบรมมหาราชวัง มองเห็นยอดสูงแหลมของพระที่นั่งผุดพ้นกำแพงหนา แคธรีนรีบกล่าวคำอำลา
เงียบๆ ต่อพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ผู้ซึ่งเธอเคยเห็นเพียงนานๆครั้งหนึ่ง
20 ตุลาคม 2565
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตาม
กติกา สามารถคลิก
แจ้งปัญหาได้ที่นี่