#หนังสือปกสวย #ทานตะวัน #ววินิจฉัยกุล#บันทึกการอ่าน #นวนิยายที่รัก #หนังสือที่รัก #เรื่องราวระหว่างบรรทัดจากหนังสือที่รัก

ในบรรดาหนังสือปกสวยของสำนักพิมพ์เพื่อนดีที่ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว และหนังสือนวนิยายปกสวยของสำนักพิมพ์นี้กลายเป็นลิมิเตดเอดิชั่นหนังสือหายากที่ในวงการหนังสือนวนิยายมือสองนักสะสมสู้ราคากันในปกละหลักพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวนิยายของ ว.วินิจฉัยกุล และ แก้วเก้า วางขายเมื่อไหร่ผู้ซื้อแย่งกันแบบกด f แทบไม่ทัน
สำหรับตัวเองซื้อสะสมไว้ตั้งแต่สมัยสำนักพิมพ์ยังไม่ปิดตัว ทยอยซื้อ แม้จะมีไม่ครบทุกเรื่องแต่ก็ถือว่ามากพอสมควร ในบรรดาปกสวย ชอบหลายปก แต่ที่โดดเด่นสะดุดตา จะนึกถึงปกเล่มนี้ นวนิยายเรื่อง "ทานตะวัน" ของ ว.วินิจฉัยกุล ที่ปัจจุบันไม่มีฉบับพิมพ์ใหม่ จึงกลายเป็นหนังสือนวนิยายหายากเรื่องหนึ่ง
วันนี้มาคุยระลึกถึงเรื่องนี้ ด้วยการนำบันทึกการอ่านที่เขียนไว้มาลงอีกครั้งค่ะ
#โปรยปกหลังหนังสือ
“จำได้ไหมว่าอาม่าเคยสอนเอาไว้…ทำตัวอย่างดอกทานตะวัน ดอกไม้อื่นกลัวความร้อน มันจะเหี่ยวเฉาเมื่อกระทบแดด ทานตะวันเป็นดอกไม้อย่างเดียวที่สู้แดด ไม่เคยหันหนี มันจะหันตามตะวันตลอดวัน มันไม่กลัวความร้อน เหมือนคนที่ไม่เคยกลัวความลำบาก แล้วเห็นไหมว่าทานตะวันเป็นดอกไม้ที่สวย สง่า ใหญ่ เห็นที่ไหนก็สะดุดตากว่าดอกไม้อื่นๆ”

ข้อความโปรยไว้บริเวณปกหลังของหนังสือนวนิยายเรื่อง ‘ทานตะวัน’ ของ ว.วินิจฉัยกุล ที่เขียนขึ้นครั้งแรกและตีพิมพ์ลงในนิตยสารสกุลไทยเมื่อราวปี 2538-2539
เป็นนวนิยายแนวสะท้อนชีวิตและสังคมที่ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยายจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2540
เรื่องราวชีวิตของสองครอบครัวที่บังเอิญมาเกี่ยวข้องกัน
อาม่าคือย่าของนางเอก ‘หลีส่วง’ หรือ กานติรัตน์ หญิงสาวลูกสาวคนโตในบรรดาพี่น้องสามคนของครอบครัวเชื้อสายจีน ที่พ่อและแม่ก่อร่างสร้างตัวในอาชีพผู้รับเหมาก่อสร้าง พ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน ย้ายไปตามถิ่นที่รับงานก่อสร้าง พี่น้องสามคน หลีส่วง ยิกกวง หลีย้ง ได้รับการเลี้ยงดูจากอาม่าอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เด็ก
เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจากการที่พ่อแม่ของเด็กทั้งสามคน ย้ายให้เด็กๆและอาม่ามาอยู่ตึกแถวในเมือง ช่วงที่เด็กๆ กำลังเรียนมหาวิทยาลัย แล้วเปิดเป็นร้านขายของชำให้อาม่าขายของแก้เหงา
ฝั่งตรงข้ามตึกแถวที่ตั้งร้านขายของชำ เป็นบ้านเก่าแก่ของนายพลเรือและคุณนายเกยูร ผู้ที่ถือดีและคิดว่าตนเองเป็นผู้ดีเป็นชนชั้นสูง คนรอบข้างล้วนแต่เป็นคนชั้นอื่นที่ต่ำกว่าเธอ เธอแต่งงานแต่ไม่มีลูก มีแต่ลูกเลี้ยงติดสามีมาสองคน เธอก็ไม่รักไม่แยแส กลับไปรับ สาริศ หลานชายแท้ๆ ลูกชายคนเดียวของคุณอร น้องสาวเธอ มาเป็นบุตรบุญธรรม แล้วเลี้ยงดูราวกับไข่ในหิน เป็นคุณหนูผู้สูงส่ง และต้องอยู่ในโอวาทของคุณแม่ ในขณะที่แม่แท้ๆ แม่อร ที่อยู่ด้วยกันแทบจะไม่สามารถมีสิทธิ์มีเสียงในตัวลูกชายคนเดียวคนนี้
เหตุการณ์วุ่นวายที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวนวนิยายนี้ เกิดขึ้นจากการที่ลูกเลี้ยงคนหนึ่ง “ศมน” มาพบกับหลีส่วง และสนิทกัน
คุณนายเกยูรไม่พอใจและไม่ยอมให้คนในครอบครัวใฝ่ต่ำไปคบกับเด็กสาวข้างถนนนั้น วันหนึ่งเธอก็เรียก ‘อาม่า’ เข้ามาที่บ้าน แล้วต่อว่าอาม่า ให้สั่งสอนหลานสาว ไม่ให้มายุ่งกับชายหนุ่มในบ้านผู้ดีของเธอ
หลีส่วงที่เป็นคนที่รักอาม่าที่สุดในชีวิต มากกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด เมื่อรู้เรื่องเข้า ก็โกรธมาก เธอเข้าไปอาละวาดในบ้านคุณนายที่บังอาจมาว่าอาม่าที่รักของเธอ
หลีส่วงในขณะนั้นเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เธอกลับมาจากเรียน เมื่อประตูรั้วเปิดก็วิ่งตามรถเข้าไป ปรากฏว่าคุณนายไม่อยู่ เจอเข้ากับสาริศ ลูกชายบุญธรรมของคุณนาย ซึ่งเพิ่งเรียนจบปริญญาโทกลับมาจากต่างประเทศ และเข้าทำงานรับราชการ เป็นหนุ่มหล่อเนื้อหอม
เธอโกรธต่อว่าเขา ทั้งๆที่เขาไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย ทั้งคู่ต่อปากต่อคำกันด้วยอารมณ์ จนในที่สุดหลีส่วงโกรธถึงขนาดตบหน้าคุณสาริศ
ชายหนุ่มผู้ถูกเลี้ยงดูอย่างดีมาตลอดชีวิต ไม่เคยมีใครทำกิริยาแบบนี้กับเขามาก่อน อารมณ์โต้กลับด้วยความโกรธทำให้เขาตอบโต้เธอกลับแบบชายหนุ่มกระทำต่อหญิงสาวตรงหน้า
แล้วหลังจากวันนั้นไม่นาน ครอบครัวหลีส่วงก็ย้ายออกจากตึกแถวไป
ในนวนิยายเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ปัจจุบันเมื่อพ่อแม่หลีส่วงร่ำรวยจากธุรกิจ จนเป็นมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทใหญ่โต หลีส่วงที่ไม่เคยลืมความแค้นในวันเก่าๆ สมัยเรียน เธอกลับมาที่บ้านนั้นอีกครั้ง ในฐานะนักธุรกิจพัฒนาที่ดิน เธอเข้ามาเจรจาเพื่อซื้อบ้านหลังนั้นเป็นของตนเอง และรอคอยวันที่จะแก้แค้นคุณนายเกยูรและคุณสาริศ
เป็นนวนิยายแนวชีวิตที่สะท้อนบุคลิกตัวละครสุดโต่งและบุคคลรอบข้างที่ถูกยึดโยงเข้าไว้ เรื่องราวสนุกและอ่านเพลิน ฉันชอบประเด็นเรื่องความรักที่ผู้เขียนแต่งเรื่องให้ตัวละครหลีส่วงและสาริศที่เริ่มจากความขัดแย้ง แต่ปมจากความขัดแย้งนั้นกลับฝังลึกอยู่ในใจของคนทั้งคู่ แม้เวลาผ่านไปหลายปี เมื่อมาพบกันอีกครั้ง สิ่งลึกๆในใจที่ฝังอยู่ ก็กลับผุดขึ้นมาอีกครั้งท่ามกลางความเป็นไปไม่ได้เลยที่จะครองคู่กัน


ใครชอบแนวชีวิตก็ลองหามาอ่านดูนะคะ
- ทานตะวัน ผู้เขียน – ว.วินิจฉัยกุล
- ลงพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย พ.ศ. 2538 – 2539
- พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2539
- ภาพประกอบโพสต์คือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4
- โดย สำนักพิมพ์ทรีบีส์
- เดือนกุมภาพันธ์ 2554
- ภาพปก : ศรีวรรณ อรรถวิภัชน์
- ออกแบบ : สารัตน์ วงศาโรจน์
- ราคา : 370 บาท
- จำนวน 579 หน้า
8 กันยายน 2565
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่