รีวิวเรือนนพเก้า เรื่องราวของวิญญาณที่ถูกพันธนาการไว้ในบ้านเรือนไทย

Books and My Quotes

เพจคุยเรื่องหนังสือ รวมเรื่องราวประทับใจจากหนังสือที่รัก จากแอดมินคนเดียวคนเดิมจากเพจซีรีส์ที่รักค่ะ

          #หนังสือที่รัก #หนังสือในตู้ #บันทึกการอ่าน#ความทรงจำระหว่างบรรทัดจากหนังสือที่รัก
เรือนนพเก้า

          นวนิยายเรื่อง ‘เรือนนพเก้า’ ที่เป็นชื่อเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของเรือนไทยโบราณริมแม่น้ำนครชัยศรี เป็นเรือนไทยเก้าห้อง ผู้เขียนจึงตั้งชื่อว่าเรือนนพเก้า
          ในคำนำ ผู้เขียนเล่าว่าได้ความคิดของชื่อนี้มาจากไอเดียของ ศจ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ที่กล่าวขึ้นกับผู้เขียนระหว่างเยี่ยมชมพระราชวังบางปะอินร่วมกัน
          เรื่องนี้มีตัวละครหลักสำคัญของสองโลก
          โลกวิญญาณ คือ ผอบแก้ว วิญญาณที่ติดอยู่ในบ้านมาเป็นร้อยๆปี เป็นวิญญาณที่ถูกพันธนาการด้วยความผิดที่เธอกระทำร่วมกับชายหนุ่มในอดีตอีกสามคนคือ เจ้าคุณรัชดาปริวรรต เขม และ นล
          โลกมนุษย์ คือ เมฆ นิชา สองหนุ่มสาวหลานคุณยายบุญทิพย์ เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ทั้งคู่ที่ได้เข้ามาอยู่ในเรือนหลังนี้ เพื่อให้ผอบแก้ว เลือกว่าใครควรจะเป็นเจ้าของเรือนนพเก้าหลังนี้ต่อไปหลังจากคุณยายบุญทิพย์ไม่อยู่แล้ว
          มีเรื่องราวความรักความหลังของผอบแก้ว ที่ทำให้วิญญาณเธอยังไม่ไปไหน
          อ่านเพลินสนุกเหมือนทุกเรื่องของอาจารย์ค่ะ
          ส่วนตัวชอบช่วงบรรยายตัวละครในภาคอดีตของคุณยายบุญทิพย์สมัยยังสาว ได้พบกับสามีคือคุณทรง ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน และเข้าใจผิดว่าวิญญาณของผอบแก้ว คือภรรยาคุณทรง
          ตอนที่ประทับใจจากนวนิยายที่รัก
          ลัดเลาะจากสวนไปสู่เขตบ้านของชายหนุ่ม มองไม่เห็นเขา คิดว่าคุณทรงคงไปอยู่ที่ศาลาท่าน้ำ บุญทิพย์รอจนเห็นบริวารคนหนึ่งเดินอยู่ไวๆ ก็ร้องเรียกแล้วส่งจดหมายให้ ตัวเองก็ยืนรออยู่แถวนั้นอย่างกระสับกระส่าย
          ระหว่างรอ มองบ้านโบราณของคุณทรงโดยไม่ได้ตั้งใจ แสงสีส้มของสนธยาอาบบ้านนั้นดูงามปลั่ง ยิ่งกว่าในเวลาเช้าหรือบ่าย หน้าต่างบางบานเปิดอยู่ แต่ส่วนใหญ่ปิด คงมีห้องหับหลายห้องที่ปิดไว้เฉยๆ สายตาของหญิงสาวแลเรื่อยขึ้นมองหน้าต่างเล็กๆ ใต้หลังคาโดยไม่ได้ตั้งใจ
          บานหน้าต่างนั้นเปิดอยู่ ดวงหน้าหญิงสาวหนึ่งเยี่ยมมองลงมา
          จะด้วยอะไรก็ตาม บุญทิพย์รู้สึกว่าสายตาคมหวานนั้น หลังจากมองจับอยู่ครู่หนึ่ง ก็มีแววบอกความเป็นมิตร รอยยิ้มงามราวกับดอกบัวแย้ม คลี่ออกให้เห็น ทำให้หญิงสาวอดที่จะยิ้มตอบไม่ได้
          “แม่ทิพย์” เพราะมัวแต่มองหล่อน จึงไม่ทันสังเกตว่าเจ้าของบ้านเดินมาถึงตัวเมื่อไร บุญทิพย์สะดุ้งจนตัวลอย เหลียวมาก็เห็นคุณทรงยืนมองด้วยสายตาพิศวง
          “ยืนตะลึงมองอะไรอยู่?” ดีแล้ว ถามอย่างนี้ตรงเป้าดี ไม่ต้องพูดอ้อมค้อมเกรงอกเกรงใจกันให้เสียเวลา บุญทิพย์ตอบอย่างอาจหาญ
          “มองผู้หญิงของคุณค่ะ ในเมื่อคุณมีภรรยาแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะมาสู่ขอดิฉันไปไว้ในฐานะอะไร”
          คุณทรงมองหน้าหญิงสาว ด้วยสายตาประหลาดเหมือนอย่างที่เคยมอง ทำให้ผู้ถูกมองเริ่มเคือง เป็นความเคืองที่กลบเกลื่อนความผิดหวัง โดยที่บุญทิพย์เองก็ไม่รู้ตัว
          “ฉันยังไม่มีเมียนะ แม่ทิพย์” “แต่คุณก็ไม่มีพี่สาว น้องสาว หรือญาติผู้หญิงอยู่ในบ้าน ! แล้วผู้หญิงคนนั้นเป็นอะไรกับคุณ”
          “ผู้หญิงคนไหน?”
          ด้วยความโกรธที่เห็นเขายังปากแข็ง บุญทิพย์ชี้มือไปที่บานหน้าต่างใต้หลังคา พบว่ามันปิดสนิทในยามนั้น
          “ผู้หญิงคนที่อยู่ตรงหน้าต่างใต้หลังคาอย่างไรล่ะคะ เมื่อกี้ยังมองดิฉันอยู่เลย” “หน้าต่างใต้หลังคา !” คุณทรงทวนคำ “หน้าต่างนั้นปิดตายมานานแล้วนี่”
          แล้วคุณทรงก็พาบุญทิพย์ขึ้นไปพิสูจน์ให้เห็นกับตา ผู้เขียนบรรยายบรรยากาศห้องที่ปิดตายเต็มไปด้วยความอับทึบและฝุ่นละออง สุดท้ายเปิดเผยเรื่องราวของภาพเก่าแก่ในกรอบรูป คุณทรงอธิบายเพียงว่าเป็นภาพเก่าแก่ของลูกสาวเจ้าของเดิมของบ้านหลังนี้ เป็นวิญญาณวนเวียนอยู่ในบ้าน จะปรากฏให้เห็นก็แต่เฉพาะคนบางคนเท่านั้น
          นับตั้งแต่นั้นเมื่อบุญทิพย์แต่งงานกับคุณทรง ก็จัดการดูแลห้องใต้หลังคาห้องนั้นให้สะอาดซ่อมแซมอย่างดี แล้วจุดธูปอธิษฐานถึงผอบแก้ว แล้วทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศลให้ทุกวัน แต่ก็แปลก เพราะหลังจากบุญทิพย์สมรสกับคุณทรง เข้ามาอยู่ในบ้าน ผอบแก้วก็ไม่เคยปรากฏตัวให้เห็นอีกเลย

โปรยปกหลัง

เรือนนพเก้า

          แหวนที่อยู่ในหีบนั้นเอง แหวนนพเก้าอีกวงหนึ่ง
          รูปทรงเป็นเกล็ดคล้ายลำตัวงูขดเป็นวง
          หัวแหวนแผ่ออกคล้ายพังพานงูใหญ่
          เรียงลำดับด้วยเพชรและพลอยอีกแปดชนิด
          เก่าหมองหลังจากถูกเก็บไว้ในหีบฝังไว้นานค่อนศตวรรษ
          มันถูกเก็บอยู่ในนั้นตามคำสั่งของพระยารัชดาปริวรรตต่อทนายหน้าหอ
          ให้ฝังอาภรณ์ทุกชนิดที่เขาเคยมอบให้ภรรยาไว้ใต้เรือนนพเก้า
          เป็นการฝังความทรงจำ และความหลังไว้ในเรือนหลังนั้นตลอดกาล
          ตลอดเวลา ผอบแก้วไม่ได้ล่วงรู้เลยว่า แหวนทั้งสองที่ผูกพันเธอไว้
          วงหนึ่งถูกนลส่งคืนไปให้อดีตคู่หมั้นของเธอแล้ว
          และอีกวงหนึ่ง ฝังไว้ในเรือนที่พันธนาการดวงวิญญาณของเธอนั้นนั่นเอง
เรือนนพเก้า

เรือนนพเก้า

  • เรือนนพเก้า : แก้วเก้า
  • พิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารสกุลไทย พ.ศ. 2540-2542
  • พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 โดยสำนักพิมพ์ทรีบีส์
  • ปกภาพประกอบเรื่องคือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2550
  • จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทรีบีส์
  • ภาพปก : ฟารุต สมัครไทย
  • ออกแบบปก : สารัตน์ วงศาโรจน์
  • ราคาปก 280 บาท
  • จำนวน 412 หน้า
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ Books and My Quotes
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รีวิวเรือนนพเก้า เรื่องราวของวิญญาณที่ถูกพันธนาการไว้ในบ้านเรือนไทย อัปเดตล่าสุด 27 มิถุนายน 2566 เวลา 11:38:58 3,633 อ่าน
TOP