สองฝั่งคลอง นวนิยายสะท้อนสังคมที่แฝงประวัติศาสตร์การเมืองไทย

Books and My Quotes

เพจคุยเรื่องหนังสือ รวมเรื่องราวประทับใจจากหนังสือที่รัก จากแอดมินคนเดียวคนเดิมจากเพจซีรีส์ที่รักค่ะ

          #บันทึกการอ่านนวนิยายของฉัน #คุยเรื่องหนังสือในตู้ #สองฝั่งคลอง #ววินิจฉัยกุล #ความทรงจำระหว่างบรรทัดจากหนังสือที่รัก #หนังสือที่รัก

สองฝั่งคลอง

          เมื่อครั้งอ่านนวนิยายเรื่อง 'สองฝั่งคลอง' ครั้งแรก ฉันนึกถึงความรู้สึกตอนนั้น นึกภาพตัวเองว่าได้จินตนาการตามคำบรรยายของผู้เขียนถึงสภาพบ้านเมืองย่านคลองสานในสมัยก่อน เทียบกับในปัจจุบัน เหตุเพราะบ้านฉันอยู่พรานนก ต้องผ่านคลองสานทุกครั้งเวลามาที่บ้านสามีที่ราษฎร์บูรณะ ถนนเส้นเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเป็นเส้นทางที่คุ้นเคยเสมอ
          เหมือนที่ผู้เขียนได้บันทึกไว้ในคำนำหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2535 ว่า "ผู้เขียนไม่ทันเห็นความสวยงามร่มเย็นของคลองสาน เพราะเมื่อจำความได้ไปแถวนั้น คลองสานก็เหลือแต่สภาพคูน้ำริมถนนเสียแล้ว แต่ผู้ที่ยังจำได้และเล่าให้ฟังบ่อยๆ จนผู้เขียนพลอยเห็นไปด้วยในมโนภาพก็คือแม่ ซึ่งเป็นชาวคลองสานมาตั้งแต่ พ.ศ.2451 อันเป็นปีที่แม่เกิด
          แม่อยู่ที่คลองสานแห่งนี้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งเรียนจบและไปทำงานเป็นครูที่เชียงใหม่ แต่ก็กลับไปเยี่ยมเยียนคลองสานเป็นครั้งคราวจนกระทั่งปัจจุบันนี้ แม่จึงจำสภาพเดิมของคลองสานและความเปลี่ยนแปลงจากคลองเป็นถนนได้อย่างแม่นยำ
          เช่นเดียวกับผู้สูงวัยอีกหลายคน ความสุขของแม่อยู่ในอดีตสมัยกระโน้นมากกว่าปัจจุบัน แม่ชอบเล่าเรื่องเก่าๆ ไม่ว่าเหตุการณ์หรือชีวิตผู้คนที่ล่วงผ่านกันไปหมดแล้ว ในเมื่อแม่เป็นคนจดจำรายละเอียดต่างๆได้ดี และความทรงจำยังไม่ได้เสื่อมลงไปตลอดช่วง 80 ปีของอายุแม่ อดีตของแม่จึงน่าสนุกและดูมีชีวิตเป็นจริงเป็นจังยิ่งกว่าความเป็นจริงในปัจจุบันเสียอีกด้วยซ้ำ
          คลองสานในอดีตจึงฟื้นขึ้นอีกครั้ง ให้ผู้เขียนถ่ายทอดลงเป็นตัวหนังสือในนวนิยายเรื่อง 'สองฝั่งคลอง' จนจบบริบูรณ์"
          ผู้เขียนอธิบายเพิ่มเติมว่า ตัวละครและเหตุการณ์ล้วนสมมุติขึ้นมาทั้งสิ้นเช่นเดียวกับนวนิยายทั่วไป แต่ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองนั้นมาจากเหตุการณ์จริง ได้อาศัยบันทึกส่วนตัวของแม่ที่อุตส่าห์เขียนเอาไว้เพื่อประโยชน์ของลูกสาวในการแต่งเรื่องนี้
          นอกจากนั้นในคำนำฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 5 โดยสำนักพิมพ์ทรีบีส์ที่ผู้เขียนบันทึกไว้เมื่อวันที่ 29 เดือนธันวาคม ปี 2543 กล่าวถึงแม่ไว้ว่า
          "ตอนแม่ให้กำเนิดลูกสาวคนเดียว แม่อายุ 41 ปี อายุพอจะเป็นยายได้ (เพราะสมัยนั้นผู้หญิงอายุ 20 โดยมากแต่งงานมีลูกกันแล้ว) ชีวิตของแม่จึงเป็นการย้อนอดีตไปราวสองชั่วคน เมื่อบวกกับเรื่องเล่าจากคุณปู่คุณย่าของแม่ ก็เท่ากับเรื่องที่แม่ถ่ายทอดให้ลูกสาวฟังเป็นเรื่องที่เก็บรวบรวมจากสี่ชั่วคนด้วยกัน
          ความสุขของแม่ในวัยเด็กเมื่อ 90 ปีก่อน ในบ้านอันร่มเย็นริมคลองสานฝั่ง ธนบุรี กับคุณปู่และคุณย่า (พลตรีพระยาวิชิตณรงค์ (คืบ สุวรรณทัต) เจ้ากรมยกกระบัตร กระทรวงกลาโหม และคุณหญิงเหลียง) คุณปู่คุณย่าจากไปเมื่อแม่เติบโตเป็นสาว เข้าเป็นนิสิตหญิงในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในยุคที่สามย่านยังเป็นนอกเมือง มีแต่ไร่ผักอยู่แถวโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และมีผู้หญิงเพียง 12 คนในรุ่นที่แม่จบออกมาเป็นบัณฑิตด้วยกัน แต่ความสุขในหนหลังก็ยังเป็นเรื่องตราตรึงในความทรงจำของแม่อย่างถี่ถ้วนแม่นยำจนถึงวาระสุดท้าย
          ……นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แม่รักมากที่สุด แม้ไม่ใช่อัตชีวประวัติของแม่โดยตรง แต่ตัวละครหลายตัวทำให้แม่ย้อนรำลึกถึงบุคคลที่แม่รักและใกล้ชิดในยุคก่อนลูกเกิด ถ้าแม่ได้ล่วงรู้ว่าเรื่องนี้เป็นที่ต้อนรับด้วยดีจากคนรุ่นหลัง จนพิมพ์เป็นครั้งที่ 5 แล้ว วิญญาณของแม่ก็คงโสมนัสอยู่ในดินแดนสุคติที่แม่สถิตอยู่ ณ วันนี้"
          นวนิยายเรื่อง 'สองฝั่งคลอง' ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยายจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ พ.ศ.2534 เป็นนวนิยายที่สะท้อนภาพสังคมไทยสมัยปลายรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 8 เป็นช่วงที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงผันผวนมากที่สุด มีเหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกิดขึ้นช่วงนี้มากมายที่ผู้เขียนนำมาเป็นฉากหลังประกอบเรื่องราวชีวิต
          'สองฝั่งคลอง' เป็นเรื่องราวชีวิตตัวละครเอก "ทับทิม" ตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งแต่งงานกับ "คุณลาน" เป็นชีวิตที่ต้องผ่านเหตุการณ์ความผันผวนในครอบครัว จากวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์พูนสุข ในครอบครัวเจ้าคุณทหาร คุณปู่ของทับทิม จากเด็กที่กำพร้าแม่ตั้งแต่เล็ก พ่อของทับทิมซึ่งเป็นบุตรชายคนเดียวก็แต่งงานใหม่ ทับทิมจึงเป็นหลานปู่คนเดียว ที่เป็นสุดที่รักของปู่กับย่า
          ชีวิตทับทิมที่พึ่งใบบุญคุณปู่คุณย่าต้องประสพกับความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในชีวิตเมื่อเสาหลักในชีวิตล้มลง ชีวิตก็ถึงจุดเปลี่ยน แต่ทับทิมเป็นเด็กที่ใฝ่เรียนรู้ ให้ความสำคัญกับการศึกษาจนเรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเอาตัวรอด สามารถยืนหยัดชีวิตต่อมาด้วยความรู้ที่มี ใช้ประโยชน์จากความรู้ในยามที่ต้องพึ่งพาตนเอง ใช้ความรู้เป็นเครื่องมือพาชีวิตตนเองให้เดินต่อไปข้างหน้า เป็นเรื่องราวชีวิตที่มีคติเตือนใจและน่าเรียนรู้เป็นประสบการณ์สอนใจที่ดีมาก
          สิ่งที่ฉันชอบอีกอย่างในนวนิยายเรื่องนี้ นอกจากเหมือนการอ่านประวัติศาสตร์ผ่านชีวิต นั่นคือผู้เขียนจะยกตอนใดตอนหนึ่งของบทประพันธ์ชั้นครูในอดีตหลายๆท่าน ขึ้นมาประกอบในแต่ละบท เข้ากับเรื่องในแต่ละช่วงชีวิตของตัวละคร เช่น ตอนที่ทับทิมตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ในบ้านเก่าที่พ่อทิ้งไว้ให้เป็นมรดก ทำให้ครอบครัวคุณยี่สุ่นและลูกหลานที่ยึดครองทรัพย์สินมรดกตระกูลไว้ถึงกับไม่พอใจ ผู้เขียนได้ยกตอนหนึ่งของ 'หิโตปเทศ บทประพันธ์ของ เสถียรโกเศศ' นำเรื่องในตอนนี้ว่า
          "บิดามารดาผู้มิได้สั่งสอนบุตรของตน บิดานั้นก็เป็นไพรี มารดาก็เป็นศัตรูของบุตร เพราะจำทำให้บุตรนั้นเข้าที่ประชุมชน ไม่ประเปรียวเฉลียวฉลาดเป็นสง่า ไม่น้อยไปกว่านกยางที่อยู่ในฝูงหงส์"
          นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งในหลายๆเรื่องที่ฉันประทับใจและหยิบมาอ่านซ้ำบ่อยๆ
สองฝั่งคลอง

สองฝั่งคลอง

          #โปรยปกหลัง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วัตสาตรี ปี พ.ศ.2535
          "ฮก ลก ซิ่ว เป็นเครื่องหมายของจีน ถือกันว่าเป็นลายมงคล…ฮกหมายถึงวาสนา ยศ ศักดิ์ ความเป็นใหญ่เป็นโต ลกหมายถึงความร่ำรวย พรั่งพร้อมด้วยแก้วแหวนเงินทองและบริวาร ส่วนซิ่วหมายถึงความแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ อายุยืนนานเหมือนต้นไม้ใหญ่ มนุษย์คนใดมีพร้อมมงคล 3 ประการนี้ ก็นับว่าประเสริฐสุดแล้ว เพราะมงคลทั้งสามนี้ย่อมเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์…ยากที่มนุษย์คนใดจะมีมงคลทั้งสามประการนี้ไปจนตลอดชีวิต พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าทุกสิ่งเป็นอนิจจังนั้นเป็นความจริง
          …ปู่จึงไม่อยากยึดมั่นกับโภคสมบัติให้มากนัก และไม่อยากให้แม่หนูหลงใหลกับมันด้วย สู้มีสติ มีปัญญาและวิชาไว้เลี้ยงตัวไม่ให้อับจนเสียยังดีกว่า"
          "เงินทองก็เหมือนกัน ถึงเวลาคนอื่นเขาก็เอากลับคืนไป เปลี่ยนมือไป ตามธรรมดาโลก อย่างที่เรียกกันว่าสมบัติเป็นของกลางของโลก ใครมีบุญคนนั้นก็ได้ไป เพราะฉะนั้นปู่จะสอนไว้ว่าอย่าไปยึดมั่นอะไรให้มากนัก ชีวิตคนเหมือนดวงดาว อยู่บนฟ้าได้ก็ตกลงมาได้"
          "มงคลสามประการของจีนนั้นหากมนุษย์ใดมีครบได้ก็นับว่าโชคดี แต่ว่าใครเล่าจะมีได้หรือรักษาไว้ได้จนตาย ปู่อยากให้แม่หนูยึดมงคล 38 ประการในพุทธศาสนาไว้มากกว่า ประพฤติตนทั้ง 38 ข้อนั่นแหละคือมงคลชีวิต ถึงเผชิญอุปสรรคอย่างไรก็ตาม ก็ประคองตัวเองเอาไว้ได้ไม่อับจน"
สองฝั่งคลอง

          #โปรยปกหลังฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อรุณ มีนาคม 2561

          "ฉันไม่ได้คิดว่าตัวเองมีสิทธิ์หรือไม่มี"
ทับทิมย่นคิ้วน้อยๆ พยายามถ่ายทอดความนึกคิดออกมา

"ฉันหมายความว่า…ทุกครั้งที่ฉันมองบ้านฟากโน้น ฉันนึกถึงคุณปู่คุณย่า
อย่างน้อยคุณป้าท่านก็รักษาเรือนเอาไว้ ยังมีอะไรเก่าๆให้ฉันจำความหลังได้

แต่ว่าคุณสาครกับคุณเฟื่องเขาคงไม่รักษาเอาไว้แน่
ฉันกลัวความเปลี่ยนแปลงชนิดที่จะทำให้ฉันไม่เห็น
แม้แต่ร่องรอยอดีตอีกเลยต่างหากล่ะคะ"

คุณลานยิ้มให้ภรรยา
"ความเปลี่ยนแปลงเป็นของธรรมดาของโลก
อะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลงเสียอีกกลายเป็นของฝืนโลก
เธอไม่คิดหรือว่าอดีตนั้นจบสิ้นไปแล้ว…
บ้านฟากโน้นจะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด

ขอให้เราสองคนทำบ้านฝั่งนี้ของเราให้ดีก็แล้วกัน"
คำพูดของคุณลานทำให้ทับทิมสบายใจขึ้น
ถึงแม้หล่อนรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงจะมาถึงในไม่ช้านี้

หล่อนก็ยังไม่วายมองอดีตด้วยความอาลัย
แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเข้มแข็งไม่ประมาทปะปนอยู่ในความอาลัยนั้นด้วย

  • สองฝั่งคลอง : ว.วินิจฉัยกุล
  • พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์วัตสาตรี
  • จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ต้นอ้อ ปี พ.ศ.2533
  • ปกภาพประกอบคือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ของสำนักพิมพ์อรุณ
  • เดือนมีนาคม 2561

          รีไรต์มาลงเพจลงกลุ่มอีกครั้งในวันนี้
          17 กันยายน 2566

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ Books and My Quotes
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สองฝั่งคลอง นวนิยายสะท้อนสังคมที่แฝงประวัติศาสตร์การเมืองไทย อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 12:09:33 2,359 อ่าน
TOP