บันทึกการอ่านนวนิยายของฉัน หนังสือที่รัก คุยถึงหนังสือในตู้ "แต่ปางก่อน" แก้วเก้า เรื่องที่ได้ดูละครถึงสามเวอร์ชั่น ความทรงจำระหว่างบรรทัดจากหนังสือที่รัก
นำบันทึกการอ่านที่เคยเขียนไว้มารีรันอีกครั้งค่ะ
"พี่ถวิลที่รัก
ฉันบอกแม่ชีที่วัดว่าถ้าฉันตายลงเมื่อไร ให้นำจดหมายฉบับนี้ ที่ฉันจะใส่ซองจ่าหน้าไว้เรียบร้อย ส่งไปให้พี่ถวิลทางไปรษณีย์ ดังนั้น เมื่อพี่อ่านจดหมายฉบับนี้ ฉันก็คงจะตายไปแล้ว แต่อย่าเศร้าโศกหรือคิดถึงฉันเลย ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัวสำหรับฉัน
ทุกวันนี้ฉันอยู่อย่างสงบ พยายามทำใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน และสวดมนต์ภาวนาปฏิบัติธรรมเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ท่านชายใหญ่ ฉันเชื่อว่าท่านจะได้ส่วนกุศลตามที่ฉันตั้งใจอุทิศให้ทุกประการ
ท่านชายใหญ่เป็นใครนะหรือ? ก็หม่อมเจ้ารังสิธร โอรสเสด็จในกรมฯ ที่พี่เองเป็นคนเอ่ยถึงให้ฉันฟัง ตั้งแต่วันแรกที่ฉันพบพี่ไงล่ะ ฉันพบพระวิญญาณของท่านวนเวียนอยู่ที่ตำหนักริมน้ำ ท่านยังคอยเจ้านางม่านแก้ว เจ้าสาวของท่านอยู่ และเจ้านางก็กลับมาในชาติใหม่อีกครั้งหนึ่งคือฉันเอง
ด้วยเหตุนี้เอง ฉันจึงไม่อาจรับน้ำใจจากคุณชายจิรายุสได้ เธอไม่ใช่คู่ของฉัน ฉันจะทนอยู่กับเธอที่ตำหนักริมน้ำได้อย่างไร ในเมื่อท่านชายใหญ่ก็ยังวนเวียนอยู่แถวนั้น
………ชีวิตคนเราสั้นนัก แต่ในช่วงสั้นๆ นี้ ฉันภูมิใจที่รู้ว่าฉันเกิดมาเพื่ออะไร และถ้ามีทางเดินสองทางเลือกให้ฉัน ฉันจะเลือกทางไหน ฉันได้เลือกแล้วด้วยความมั่นใจ
ชีวิตไม่ได้จบลงสั้นๆ เพียงแค่ความสั้นของอายุขัยของแต่ละคนหรอก ฉันเชื่อเช่นนี้ ฉันยังหวังว่าจะได้พบท่านชายใหญ่อีกไม่วันใดก็วันหนึ่งและถ้าเป็นไปได้… ก็หวังว่าจะได้พบพี่ และตอบแทนความมีน้ำใจของพี่ได้อีกเช่นกัน"
จดหมายจากราชาวดีที่มีถึงถวิล เพื่อนครูรุ่นพี่ที่โรงเรียนกุลนารีวิทยา ในช่วงท้ายของชีวิตของหญิงสาวผู้เป็นบุตรีของเด็กน้อยหัวจุกในอดีต ที่เคยติดสอยห้อยตามเจ้านางม่านแก้ว ในช่วงชีวิตที่อยู่ในวังของเสด็จในกรมฯ
เจ้านางม่านแก้วได้พบรักกับท่านชายรังสิธร ท่ามกลางความขัดแย้งไม่เห็นด้วยและเคียดแค้นชิงชังของหม่อมเพยีย และท่านหญิงแต้ คู่หมั้นหมายของท่านชาย แต่สุดท้ายท่านชายใหญ่ยืนยันมั่นคงในความรักของตนเองที่มีต่อเจ้านางม่านแก้วจนได้เข้าพิธีสมรส
แต่โชคชะตาความรักที่ลิขิตให้มิอาจได้อยู่ร่วมเรียงเคียงหมอน เมื่อเจ้านางม่านแก้วถูกวางยาพิษฆาตกรรมในคืนวันแต่งงาน ทิ้งท่านชายใหญ่ให้โทมนัสและตรอมพระทัยสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา
วิญญาณท่านชายใหญ่ยังคงวนเวียนอยู่ที่ตำหนักริมน้ำเรือนหอของท่าน รอจนเจ้านางม่านแก้วมาเกิดใหม่เป็น ราชาวดี คุณครูสาวแห่งโรงเรียนกุลนารีวิทยา โรงเรียนที่เป็นหนึ่งในทรัพย์สินมรดกตกทอดจากตระกูลของท่านชายใหญ่มาถึงคุณชายจิรายุส หม่อมราชวงศ์หนุ่มที่มาติดพันรักราชาวดีเช่นกันในชาตินี้
นวนิยายเรื่อง "แต่ปางก่อน" เล่าเรื่องราวความรักที่ผ่านกาลเวลาถึงสามช่วงชีวิตมนุษย์ กว่าที่ท่านชายรังสิธร และเจ้านางม่านแก้ว จะได้สมหวังครองคู่อยู่ด้วยกัน ณ ตำหนักริมน้ำสีขาว เรือนหอของทั้งสอง
ในยุคปัจจุบันท่านชายใหญ่มาเกิดเป็น หม่อมหลวงจิราคม บุตรชายของคุณชายจิรายุส ที่หลงรักราชาวดีแต่ไม่อาจสมหวัง เพราะความมั่นคงในรักเดียวของราชาวดีที่มีต่อท่านชายใหญ่ เมื่อราชาวดีมาเกิดใหม่เป็นลูกสาวคนเล็กของ ถวิล เพื่อนรุ่นพี่ที่รักและผูกพัน ในนาม 'อันตรา' เป็นราชาวดีที่ได้ครองคู่สมหวังกับคุณจี หม่อมหลวงจิราคม
ผู้เขียนได้กล่าวถึงนวนิยายเรื่องนี้ว่าเป็นนวนิยายเรื่องแรกที่ได้ส่งให้นามปากกา 'แก้วเก้า' เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ชอบอ่านนวนิยาย และเมื่อมีการนำผลงานเรื่องนี้มาสร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายครั้ง ก็ยิ่งทำให้นวนิยายเรื่องนี้โด่งดังเป็นที่จดจำมากขึ้น
ส่วนตัวฉันประทับใจทั้งนวนิยายและละครโทรทัศน์ตั้งแต่ยุคสร้างครั้งแรก ที่มีฉัตรชัย เปล่งพานิช และ จริยา สรณะคม เป็นนักแสดงนำชายหญิง ได้ไปค้นหาลิ้งค์ละครชุดนี้ยังพอหาชมได้ในยูทูป จึงได้แปะลิ้งค์ไว้ให้ค่ะ
ในปี 2548 บทประพันธ์เรื่องนี้ได้กลับมาเป็นละครโทรทัศน์อีกครั้ง รอบนี้ดารานำคือ ศรราม เทพพิทักษ์ และ แอน ทองประสม ได้ไปค้นหาลิ้งค์ชมละครชุดปี 2548
สำหรับล่าสุดที่ผู้จัดละครนำนวนิยายเรื่องนี้มาสร้างเป็นละครโทรทัศน์คือ เมื่อปี 2560 รอบนี้ดารานำแสดงคือ สน ยุกต์ ส่งไพศาล และ วิว วรรณรท สนธิไชย ยังมีให้ดูในยูทูปทั้งสองเวอร์ชั่นค่ะ
โปรยปกหลัง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9
"พอเลี้ยวโค้งถนน ภาพบ้านสีขาวงามกะทัดรัดปรากฏขึ้นหลังรั้วเหล็กโปร่ง ราวกับมือวิเศษคลี่ฉากแมกไม้สีเขียวออก ให้เห็นปราสาทเทพนิยายที่ซ่อนอยู่ภายใน…
รถจอดลงหน้าประตูเหล็กดัดแบบโบราณ คราวนี้อันตราเปิดประตูลงมาอย่างไม่รู้สึกตัว… หล่อนรู้สึกแต่เพียงว่า…ได้กลับมาสู่บ้านเดิมเก่าแก่ของตน บ้านซึ่งหล่อนจำได้เพียงในความฝันเลือนรางมาเป็นเวลาเกือบตลอดชีวิต
บ้านเก่าแก่…แต่ว่าน่ารักหลังนี้ เหมือนกับว่าจะเปล่งเสียงทักทายหล่อนอย่างยินดีปรีดาเช่นกัน อันตรายืนเกาะรั้ว ความมึนงงวูบขึ้นมาเหมือนกับหล่อนจะเป็นลมไปในชั่วอึดใจ แต่หล่อนก็ยังจำได้…บ้านสีขาว ดูโดดเด่นอยู่กลางสีมรกตของแมกไม้ในยามเย็น ทอทาบด้วยเส้นทองของดวงตะวัน ที่ลอดกิ่งไม้ลงมาเป็นรอยริ้วไหวๆ บนพื้นหญ้าเขียวสด…"
ตอนที่ประทับใจ
คือฉากในยุคปัจจุบัน เมื่อทั้งคู่ได้สมหวังในรักเสียที
อันตราก้าวเข้าไปในห้องอันกว้างใหญ่นั้นอย่างระมัดระวัง……ตรงสุดห้อง ไฟสว่างเป็นวงกลมส่องอยู่บนยกพื้น กระทบแกรนด์เปียโนสีดำเป็นมันปลาบ… เสียงเพลงไทยเดิมกังวานพราวพลิ้วอยู่ในความเงียบของห้อง… ทั้งเยือกเย็น อ่อนหวาน…มีมนต์ขลังจนกระทั่งเท้าที่ก้าวเดินหยุดชะงักไปชั่วขณะ…
หญิงสาวหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น เพลงนั้นทำให้หล่อนเกิดความรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาขึ้นมาอีก … เหมือนกับภาพหนึ่งจะผุดขึ้นมาในความทรงจำ…ภาพหญิงงามแช่มช้อย ผู้ที่เป็นเป้าสายตาผู้ที่พบเห็นอย่างไม่เว้นหน้า…นางผู้ยืนอยู่ในความรางเลือนของอดีตกาล…
หล่อนแทบจะไม่รู้สึกตัวว่าเพลงชะงักลง เมื่อผู้เล่นเงยหน้าขึ้นเห็นหล่อน… หล่อนไม่ทันเห็นสายตาซึ่งมองหล่อนผู้ยืนสงบนิ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของห้อง ภายในเสื้อกระโปรงสีเทาเงิน และทรงผมที่ปล่อยยาวสลวยเคลียบ่า อันตราดูคล้ายกับก้าวออกมาจากภาพวาดยุคโบราณของจิตรกรเอก
เมื่อรู้สึกตัว เพราะเขาผู้นั้นลุกจากม้านั่ง ทำท่าจะเดินลงมาหา อันตราจึงรีบก้าวเข้าไปหามล.จิราคมเสียก่อน ค้านว่า
"ทำไมหยุดเล่นเสียล่ะคะ กำลังเพราะเชียว" ……………
"เล่นให้จบสิคะ" ถ้าไม่หาเรื่องพูดอะไรออกมาบ้าง หล่อนคงจะรู้สึกว่ามือไม้เกะกะมากกว่านี้ "ดิฉันรู้จักเพลงนี้…ขอนึกชื่อก่อนนะคะ…เดี๋ยว…"
จิราคมเลิกคิ้วน้อยๆ อมยิ้มอย่างขบขัน
"คุณไม่รู้หรอกครับ เพลงนี้ไม่ใช่เพลงที่แพร่หลายอะไรเลย มีแต่คนแก่ๆ ไม่กี่คนที่รู้จัก ผมเองก็เพิ่งไปเจอโน๊ตเพลงที่เขียนไว้แบบสากล เมื่อไม่นานมานี้เอง"
"รู้จักซิคะ" อันตรายืนยัน "เพลงลาวม่านแก้วใช่ไหมล่ะคะ นึกชื่อออกแล้ว"
อีกฝ่ายมองหล่อนด้วยความพิศวงอย่างล้นเหลือ อุทานว่า
"คุณรู้จักเพลงนี้ได้อย่างไร ผมนึกว่าไม่มีใคร…ที่เป็นคนภายนอก…รู้จักเพลงนี้เสียอีก"
นวนิยายเรื่อง "แต่ปางก่อน" ของ แก้วเก้า
- ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารขวัญเรือน และรวมเล่มครั้งที่ 1-3 โดยสำนักพิมพ์บำรุงสาส์น (รวมสาส์น) ระหว่างปี พ.ศ. 2527-2535
- พิมพ์รวมเล่มครั้งที่ 4-5 โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ในปี 2538-2539
- พิมพ์รวมเล่มครั้งที่ 6-10 โดยสำนักพิมพ์เพื่อนดี ในปี 2543-2548
- พิมพ์รวมเล่มครั้งที่ 11-15 โดยสำนักพิมพ์ทรีบีส์ ในปี 2551-2560
- พิมพ์ครั้งที่ 16 โดยสำนักพิมพ์อรุณ ในเดือนกันยายน 2563
ภาพประกอบเรื่องจากซ้ายไปขวา
- ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 โดยสำนักพิมพ์เพื่อนดี เดือนพฤษภาคม 2548
- ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 16 โดยสำนักพิมพ์อรุณ เดือนกันยายน 2563
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตาม
กติกา สามารถคลิก
แจ้งปัญหาได้ที่นี่