บันทึกการอ่าน ปริศนา นวนิยายรักชวนฝันสุดคลาสสิก จากบทประพันธ์ของ ว.ณ ประมวญมารค

Books and My Quotes

เพจคุยเรื่องหนังสือ รวมเรื่องราวประทับใจจากหนังสือที่รัก จากแอดมินคนเดียวคนเดิมจากเพจซีรีส์ที่รักค่ะ

          #บันทึกการอ่านนวนิยายของฉัน #คุยถึงหนังสือในตู้ #ปริศนา #วณประมวญมารค #ความทรงจำระหว่างบรรทัดจากหนังสือที่รัก #หนังสือที่รัก
นวนิยาย ปริศนา

          เวลาที่อ่านหนังสือ ส่วนตัวมักจะชอบอ่านคำนำของผู้ประพันธ์หรือผู้แปลหนังสือเล่มนั้น ก่อนอ่านเรื่องราว เพราะมักจะมีเกร็ดที่มาของหนังสือเล่มนั้นๆ มาบอกเล่าให้เรารับรู้และประหลาดใจปนสนุกไปทุกครั้ง อย่างวันนี้อยากจะคุยถึงเกร็ดที่มาของนวนิยายที่รักมากเรื่องหนึ่งค่ะ เป็นงานเล่มแรกในชุดนวนิยายสามเรื่องของ ว.ณ ประมวญมารค
          ชื่อเรื่อง “ปริศนา” ที่เป็นที่รู้จักกันดีของนักอ่านและนักชมละครทีวี เพราะเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นละครหลายครั้งแล้ว
          ว.ณ ประมวญมารค คือนามปากกาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต ทรงเป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส) ที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการหนังสือในพระนาม ‘น.ม.ส.’
          นวนิยายเรื่อง ‘ปริศนา’ นี้ พระองค์หญิงทรงเขียนไว้ในคำนำผู้ประพันธ์ ทรงเล่าว่า
          เรื่อง ‘ปริศนา’ นี้ ข้าพเจ้าเขียนเมื่ออายุได้ถึง 20 ปี คือเมื่อออกจากโรงเรียนมาอยู่บ้านใหม่ๆ เวลานั้นเป็นเวลาสงคราม ประกอบกับข้าพเจ้าไม่ชอบอยู่บ้านเฉยๆ จึงสมัครเป็นเลขานุการของท่าน น.ม.ส. (นามปากกาของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ - พระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส) เขียนตามคำบอกของท่านลงในหน้า 5 หนังสือพิมพ์ประมวญวันทุกวัน ประมวญสารสัปดาห์ละครั้ง และคอยตรวจปรู๊ฟแทนท่านเท่านั้น ดังนี้เราจึงมีเวลาว่างมาก ท่านเริ่มเรื่อง “สามกรุง” ของท่านขึ้น ข้าพเจ้าก็เริ่มเรื่อง “ปริศนา” เรื่องยาวเรื่องแรกของข้าพเจ้า
          ข้าพเจ้าพอจะอวดได้ว่า ข้าพเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่อง “สามกรุง” บ้าง เพราะไม่เว้นแต่ละวัน ท่าน น.ม.ส. ทรงบอกกลอนบ้าง ร่ายบ้าง โคลงบ้าง ฉันท์บ้าง สดๆออกมาให้ข้าพเจ้าจด ส่วนท่านก็มีส่วนในเรื่อง “ปริศนา” ของข้าพเจ้าเช่นเดียวกัน เช่น วันหนึ่งข้าพเจ้าคิดชื่อโรงเรียนที่จะให้ปริศนาไปสอนไม่ออก จึงขอประทานให้ท่านช่วยตั้ง ท่านก็ว่า “ชื่อโรงเรียนหรือ? สิกขาลัยซิ แปลว่าโรงเรียนนี่แหละ ภาษาบาลี” ดังนั้นโรงเรียนในเรื่องนี้จึงมีชื่อว่าโรงเรียนสิกขาลัย
          อีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าทูลถามท่านว่า ถ้าจะพูดเพราะๆใจความว่าผู้ชายรักผู้หญิง เห็นผู้หญิงสวยไปหมด จะว่าอย่างไรดี ท่านก็ท่องออกมาทันทีว่า “พิศรูปก็เลิศลักษณ์ พิศพักตร์ก็เพ็ญผ่อง พิศองค์ลออองค์ พิศมาดสวาดิ์หมาย ไงล่ะ?” ข้าพเจ้าก็รีบจดลงทันที
          ผู้ที่ช่วยข้าพเจ้าในการเขียนเรื่อง “ปริศนา” นี้ อีกคนคือเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกัน อายุท่าจะอ่อนแก่กว่ากันก็ไม่มาก บ้านของเขาอยู่หลังบ้านข้าพเจ้ารั้วเดียวกัน เราติดต่อกันได้โดยไม่ต้องออกถนน และเวลา ‘หวอ’ ขึ้น ข้าพเจ้าก็วิ่งกลับมาบ้านได้โดยเร็ว เกือบทุกเย็น ข้าพเจ้ามักนำเรื่องปริศนาตอนใหม่ที่อยู่ในหัว แต่ยังไม่ได้เขียนไปเล่าให้เขาฟัง ถ้าเขาร้อง “อี๋” ก็เป็นอันว่าตอนนั้นใช้ไม่ได้ ถ้าเขาหัวเราะชอบใจ ข้าพเจ้าก็รีบกลับบ้านมาเขียนต่อ เวลาข้าพเจ้าขี้เกียจเขียนเอง เลยบอกให้เขาเขียนให้ก็มีบ่อยๆ
          ข้าพเจ้าใช้เวลาถึง 3 ปี จึงเขียนเรื่อง “ปริศนา” จบ ท่านเจ้าของโรงพิมพ์ประมวญมารครับไว้ เพื่อลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “ประมวญสาร” อีก 2 อาทิตย์เรื่อง “ปริศนา” จะลงพิมพ์ โรงพิมพ์ประมวญมารคก็ถูกระเบิดเพลิงไฟไหม้หมด ข้าพเจ้าได้เสี่ยงชีวิตวิ่งฝ่าไฟเข้าไปในสำนักงานของโรงพิมพ์ ซึ่งกำลังไฟลุกเพื่อไปเอาต้นฉบับเรื่อง “ปริศนา” ซึ่งอยู่ในนั้น มิฉะนั้น “ปริศนา” ก็คงจะตายเสียในไฟ ไม่มีโอกาสให้ใครได้รู้จักเกิน 4 คน
          ข้าพเจ้าได้เก็บเรื่อง “ปริศนา” เข้าตู้เงียบเสียหลายปี จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2494 จึงได้ให้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ วันจันทร์ เป็นครั้งแรก และได้พิมพ์เป็นเล่มอีก 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4
          ถ้าท่านเห็นว่า “ปริศนา” ตัวสำคัญของเรื่องนี้ออกจะเก่ง ฯลฯ เกินไปบ้าง ท่านจงให้อภัยเถิด เพราะ “ปริศนา” เกิดขึ้นมาด้วยความรู้สึกฝันของผู้ที่จบโรงเรียนมาใหม่ๆ ความคิดความอ่านยังโลดโผน เมื่อเวลาพิมพ์ก็พิมพ์อย่างของเดิมแทบไม่ได้แก้ไขเลย อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าตั้งใจเขียนอย่างเต็มกำลัง ถึงแม้ข้าพเจ้าจะเขียนปริศนาเดี๋ยวนี้หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ก็คงจะเขียนไม่ได้อย่างที่ได้เขียนมาแล้ว เพราะความคิดเห็นของคนเปลี่ยนไปพร้อมกับอายุ
          บทคัดลอกคำนำนี้ นำมาจากคำนำผู้ประพันธ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 ไม่ปรากฏปี พ.ศ. แต่ฉบับพิมพ์ใหม่ในยุคหลังจะนำคำนำนี้ลงตีพิมพ์ทุกครั้ง

ความรู้สึกหลังอ่าน

          ครั้งแรกที่อ่านนวนิยายชุด “ปริศนา” จำได้ว่าน่าจะอ่านในห้องสมุดโรงเรียน อ่านจบก็ชอบมาก ตามประสาที่อ่านนิยายรักในช่วงชีวิตที่ยังเป็นวัยรุ่น ทำให้ชอบเรื่องราวในครอบครัวสี่สาวพี่น้องแห่งบ้านสุทธากุล ได้แก่ อุบล สิรี อนงค์ และ ปริศนา ครอบครัวอบอุ่นที่มีพระวินิจมนตรี ผู้เป็นบิดาที่ล่วงลับไปเมื่อครั้งปริศนายังอยู่ในท้องของคุณนายสมรผู้เป็นมารดา ชอบบรรยากาศหัวหินในยุคเก่าๆที่ผู้เขียนบรรยาย ชอบบรรยากาศชวนฝันในนวนิยายรักที่มีธีมแนวซินเดอเรลล่า มีพระเอกเป็นท่านชายสูงศักดิ์ มีงานเต้นรำ และบรรยากาศชีวิตในวงสังคมคนชั้นสูงของสังคมในยุคหกเจ็ดสิบปีก่อน
          นวนิยายเรื่อง ปริศนา เป็นเล่มแรกในชุดที่มีเรื่องราวต่อเนื่องกันสามเรื่อง คือต่อจากเรื่อง ปริศนา ก็คือ เจ้าสาวของอานนท์ และ รัตนาวดี ตัวละครในนวนิยายชุดนี้เกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน นวนิยายชุดนี้จัดเป็นชุดนวนิยายที่มีเรื่องราวต่อเนื่องกันชุดแรกๆ ที่อ่านแล้วชอบมากติดลำดับต้นๆของนวนิยายไทยเรื่องโปรด ด้วยสำนวนภาษาที่เรียบง่าย เรื่องราวสนุกน่าติดตาม ขนาดบุตรสาวของตนเองที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ยังบอกแม่อย่างฉันว่าชอบอ่านเรื่องปริศนามาก อ่านซ้ำหลายครั้ง จนแม่ต้องมีหนังสือเรื่องนี้เก็บไว้สองปก
นวนิยาย ปริศนา

นวนิยาย ปริศนา

          ในเรื่อง “ปริศนา” เริ่มต้นเรื่องด้วยการกลับมาเมืองไทยของ “ปริศนา” หลังไปอยู่ต่างประเทศกับคุณอาวิรัชที่เป็นข้าราชการสถานทูตไทยในอเมริกาตั้งแต่ 7 ขวบ ในตอนที่กลับมา ปริศนาอายุ 19 ปี ได้มาพบกับแม่ คุณยาย และพี่สาวสามคนที่บุคลิกนิสัยแตกต่างกัน ได้มาพบมิตรใหม่อย่างคุณประวิช ที่นำไปสู่การพบกับหม่อมเจ้าพจนปรีชา เจ้าของตำหนักมโนรมย์ แห่งวังศิลาขาว
          ท่านชายพจน์มีพระขนิษฐาคือท่านหญิงรัตนาวดี เจ้าน้องที่อายุน้อยกว่าถึง 13 ปีเศษ ที่เติบโตขึ้นมาด้วยการดูแลของ “ป้าสร้อย” พระญาติเสด็จในกรม พระบิดา ที่เป็นผู้เลี้ยงดูท่านหญิงรัตนาวดีหลังหม่อมช้อย หม่อมแม่สิ้นลงหลังมีประสูติท่านหญิง เจ้าน้องของท่านชายพจน์องค์นี้เองที่ต่อมากลายเป็นลูกศิษย์หัวโจกในชั้นเรียนเมื่อปริศนาได้งานทำเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสิกขาลัย หรือโรงเรียน “คุณป้าสงวน” และได้พบกับท่านชายพจน์ เมื่อเสด็จไปรับพระขนิษฐาที่โรงเรียน
          เรื่องราวความรักของท่านชายพจน์และปริศนาน่าจะพอรับรู้กันวงกว้าง เพราะนวนิยายเรื่องนี้สร้างเป็นละครหลายครั้ง ในยุคก่อนหน้าที่เป็นที่นิยมและเป็นที่จดจำน่าจะเป็นยุคที่ทางไทยทีวีสีช่องสามสร้างในปี พ.ศ. 2530 มีฉัตรชัย เปล่งพานิช รับบทท่านชายพจนปรีชา และ ลลิตา ปัญโญภาส รับบท ปริศนา
          ต่อมาปี 2543 ทางช่องเจ็ดได้สร้างอีกครั้ง คราวนี้มีเจษฎาภรณ์ ผลดี รับบทท่านชายพจน์ และ เทย่า โรเจอร์ส รับบท ปริศนา สำหรับการสร้างเป็นละครครั้งล่าสุดคือเมื่อปี พ.ศ. 2558 ออกอากาศทางช่อง PPTV มีศรราม เทพพิทักษ์ รับบทท่านชายพจน์ และนักแสดงสาวหน้าใหม่ ที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สร้างคือคุณหญิงแมงมุม ฯ ม.ร.ว.ศรีคำรุ้ง ยุคล รัตตกุล คือ เฟ - สุษมา กิติยากร ณ อยุธยา ผู้ชนะการออดิชั่นแคสบทจากโครงการ ตามหาปริศนา ที่มีสาวๆ เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก
          ส่วนตัวได้ดูละครปริศนาทั้งสามเวอร์ชั่น ถ้าถามว่าชอบเวอร์ชั่นไหนมากที่สุด ขอเรียงลำดับความชอบจากมากที่สุดคือยุคช่องเจ็ดสร้างที่มีติ๊ก เจษฎาภรณ์ เป็นท่านชายพจน์ รองลงมาคือเวอร์ชั่นช่องสามที่มีหมิว ลลิตา เป็นปริศนา และปิดท้ายด้วยละครที่รีเมคครั้งล่าสุด ที่สร้างได้ดีมากทั้งสามเรื่องออกมาคราวเดียวกัน เพียงแต่ในฉบับรีเมคปี 2558 ชอบละครรีเมคในชุดนี้เรื่องเจ้าสาวของอานนท์ กับ รัตนาวดีมากกว่า

โปรยปกหลัง ฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แสงดาว พ.ศ.2563

นวนิยาย ปริศนา

          ปริศนา…หญิงสาวที่มีชาติกำเนิดเป็น “ปริศนา” ในหมู่ญาติฝ่ายบิดา…พระวินิจมนตรี แต่เธอก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นบุตรีของพระวินิจมนตรีแห่งสกุล “สุทธากุล” อย่างแท้จริง
          ปริศนาเป็นหญิงสาวที่เติบโตมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา จึงทำให้เธอเป็นคนเชื่อมั่นในตนเองสูง ขณะเดียวกัน เธอก็มีความสวยทั้งรูปร่างหน้าตาและที่สำคัญมีเรียวขาที่สวย ชอบสวมใส่กางเกงขาสั้น จึงทำให้ทุกคนในฟ้าเมืองไทย ในสังคมยุค 1950's มองเธอเป็นผู้หญิง “เปรี้ยว” แต่เธอก็มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ในวิชาทั้งไทยและต่างประเทศ เล่นกีฬาเก่งแทบทุกชนิด อาทิ ขี่ม้า ว่ายน้ำ เล่นเทนนิส เต้นรำ เป็นต้น จึงทำให้เป็นที่สนใจของชายหนุ่มทุกคน ไม่เว้นแม้แต่นายแพทย์ หม่อมเจ้าพจนปรีชาแห่งวังศิลาขาวที่ทรงมีเนตรดั่งเหยี่ยว และบุคลิกดีเยี่ยมในทุกด้าน ทรงเป็นที่หมายปองของหญิงสาวทุกคนในวงสังคมชั้นสูงแต่พระองค์ทรงวางองค์นิ่งเฉย จนมาพบปริศนาที่มีความพร้อมไม่แพ้พระองค์ ทำให้พระองค์ทรงเกิดความต้องการเอาชนะปริศนาให้ได้ เมื่อเธอมิได้ให้ความสนใจพระองค์…เหมือนหญิงสาวทั่วไป
          หนำซ้ำ ยังมีอานนท์ วิทยาธร ชายหนุ่มมาดดี ไม่แพ้ท่านชายพจนปรีชาและจบมาจากสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปริศนา ได้ลงมาเล่น “เกมรัก” ครั้งนี้ด้วย จึงทำให้เกิดสงคราม “รัก” ย่อยๆ ระหว่างชายสองหญิงหนึ่งขึ้น…นับแต่นั้นเป็นต้นมา
          ซึ่งท่านชายพจนปรีชาไม่ทรงทราบว่า นี่คือแผนการของอานนท์และปริศนา ที่ต้องการให้ท่านชายพจนปรีชาทรงแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาว่า ทรงมีความรู้สึกเช่นไรกับปริศนา

ตอนประทับใจจากนิยายที่รัก

          ความจริงนวนิยายเรื่องนี้มีฉากน่ารักอยู่เต็มไปหมด แต่เมื่อคัดเลือกมาพิมพ์ลงบันทึก ขอคัดลอกตัดตอนนี้มาให้อ่านกันอีกครั้ง เป็นตอนที่ท่านชายพจน์ตรัสเรื่องแต่งงานกับปริศนาเป็นครั้งแรก
          ปริศนารู้สึกมีความสุขมาก มองไปที่ไหนก็ล้วนแต่เห็นสิ่งที่สราญตาสราญใจ ท่านชายนั้นเก๋จนเธอไม่กล้ามองดู ท่านชายเองก็ไม่มองดูปริศนาเหมือนกัน เดินอกตั้งช้าๆ ผ่านพวกที่จ้องดูท่านอย่างไม่เอาทัยใส่กับอะไรทั้งสิ้น แม้แต่ ‘เทพธิดา’ ซึ่งเดินอยู่ข้างๆ
          มีโคลงอังกฤษบทหนึ่ง ซึ่งกวีเขียนไว้ราวกับพูดถึงท่านชายและปริศนาในคืนนี้ว่า

          Are they in love, the two
          Who seem more grave than gay?
          ‘It’s hard’ I think , to say:
          They don’t betray their mind.

          ท่านชายพาปริศนาไปนั่งอยู่ที่แชมเปญบาร์ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ แล้วสั่งแชมเปญ 2 ถ้วย เวลานั้นเผอิญที่ใต้ต้นไทรไม่มีคนอื่นเลย นอกจากท่านชายและปริศนา เพราะใครๆต่างเต้นรำหรือไปอยู่ที่อื่นกันหมด ทั้งคู่ซึ่งนั่งตรงกันข้ามมีโต๊ะกลมอยู่กลาง มองดูแม่น้ำเงียบๆ อยู่ครู่หนึ่ง มหาดเล็กก็เอาแชมเปญมาตั้ง ปริศนามองดูแล้วสั่นศีรษะ
          ท่านชายก็ยิ้มแล้วยุว่า “ไม่ชอบหรือ? จิบนิดเถิดเพื่อความสุข”
          ปริศนาจึงยกถ้วยขึ้นชนกับถ้วยของท่านชาย บอกว่า “เพื่อความสุข” แล้วจิบนิดหนึ่งและเอาถ้วยวางลง แต่ท่านชายเสวยจนหมดถ้วย ลุกขึ้นไปเอาอีกถ้วยแล้วกลับมาประทับที่เก่าพร้อมกับรับสั่งว่า “สบายดีนะที่นี่”
          “ค่ะ ยังกับอยู่ในความฝัน”
          “เธอสนุกมากหรือ?”
          “ค่ะ ทั้งสนุกทั้งสบายใจ ไม่อยากกลับบ้านเลย” ปริศนาว่าแล้วก็ถอนใจยาวด้วยเนตร ‘ซึ้ง’ แล้วก็รับสั่งว่า “ก็อย่ากลับซี อยู่กับฉันเสียที่นี่”
          ปริศนาไม่ทันคิด พูดว่า “อยากอยู่เหมือนกันแหละค่ะ แต่จะอยู่ยังไงล่ะ?” “ก็แต่งงานกับฉันเสียซี จะได้อยู่ได้…ปริศนา เธอจะแต่งงานกับฉันไหม?” หน้าของปริศนาเป็นสีชมพู ทั้งที่ไม่รู้ว่าท่านชายรับสั่งเล่นหรือรับสั่งจริง ครั้นมองดูพักตร์ท่านจะให้รู้แน่ก็มองไม่เห็น เพราะความสว่างไม่พอ จึงนิ่งอึ้งอยู่
          พอดีท่านชายรับสั่งอีกว่า “ว่าไงปริศนา ฉันขอให้เธอแต่งงานกับฉันอย่างไรเล่า?” ปริศนายังพูดไม่ออกเพราะมัวตะลึงอยู่ ท่านชายก็รับสั่งต่อไป “ฉันจะมีความสุขมาก ถ้าเธอแต่งงานกับฉัน ฉันจะให้ความสุขแก่เธออย่างเต็มที่เหมือนกัน ของของฉันทุกอย่างจะเป็นของเธอหมด เธออยากได้อะไร เป็นได้ ฉันมีเงินพอที่จะ…”
          ท่านชายตรัสถึงเพียงนี้ ปริศนานั่งทำตาโตฟังอยู่ก็เปลี่ยนสีหน้า ผุดลุกขึ้นทันที พูดเสียงสั่นว่า “หยุดที! หยุดที! ไม่อยากฟัง”
          ท่านชายเองก็ตกทัยไม่น้อยในกิริยาเปลี่ยนแปลงของปริศนา ลุกขึ้นบ้างแล้วถามว่า “อ้าว ทำไมล่ะ นั่งก่อนซี ฉันยังพูดไม่จบเลย”
          “อย่ามาพูดเลย” ปริศนาร้อง “เงิน เอะอะก็เงิน ท่านเอาเงินของท่านไปโปรยให้คนอื่นเถิด ปริศนาไม่ใช่คนเช่นนั้น ไม่ต้องการเงินของท่าน” ว่าแล้วปริศนาก็ตั้งท่าจะไปเสีย แต่ท่านชายคว้าข้อมือไว้และว่า “ฟังฉันก่อนปริศนา ฟังฉันพูดให้จบก่อนอย่าเพ่อไป” แต่ปริศนาไม่ฟังเสียง สะบัดโดยแรงและผลักท่านชาย ท่านชายไม่ทันรู้องค์ก็เซไปโดนโต๊ะล้ม ถ้วยแชมเปญตกลงมาแตกหมด ท่านชายตั้งองค์ได้ก็รีบเดินจนทัน เพราะปริศนานุ่งกระโปรงยาวรุ่มร่าม ใส่รองเท้าเงินส้นสูงจึงเดินช้า ท่านชายตามทันก็จับข้อมือไว้มั่น ปริศนาสะบัดอีกแต่ไม่หลุด ท่านชายยิ่งโมโหที่ปริศนาอวดดีถึงเพียงนั้น รับสั่งเสียงค่อนข้างแข็งว่า

          “ทำไมเธอกิริยาชั่วเช่นนี้ ฉันจะพูดด้วยดีๆ เธอต้องฟังฉันให้จบเสียก่อนแล้วจะไปไหนก็เชิญไป”
          “ไม่ฟัง ท่านไม่ต้องมาบังคับ”
          “ไม่ฟังก็ตามใจ แต่ฉันตั้งใจแล้วว่าจะพูดให้จบ และจะพูดต่อหน้าเธอ เธอจะฟังหรือไม่นั้นแล้วแต่ เชิญกลับมานั่งที่แชมเปญบาร์สักประเดี๋ยว”

          ท่านชายว่า แล้วปล่อยมือปริศนา ปริศนาฮึดฮัดไม่ยอมทำ แต่ท่านชายทำเสียงแข็งขู่ว่า “เธอจะเอาชนะฉันไม่ได้ดอก ฉันเป็นคนหัวดื้อ ตั้งใจจะทำอะไรแล้วเป็นตายต้องทำให้ได้ เธอคิดว่าเธอหนีฉันพ้นหรือ?
  • ปริศนา : ว.ณประมวญมารค
  • พิมพ์ครั้งแรก : เดลิเมล์วันจันทร์ พ.ศ. 2494
  • ต่อมามีพิมพ์อีกหลายครั้ง เท่าที่มีข้อมูลมี
  • ปี 2536 พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นอ้อ
  • ปี 2544 พิมพ์ครั้งที่ 4 โดยบริษัท อินเตอร์เวิลด์ มัลติมีเดีย จำกัด
  • ในส่วนของสำนักพิมพ์แสงดาว
  • พิมพ์ออกมา ในปี 2554 (ฉบับปรับปรุง-แก้ไข)
  • และในปี 2563 (ฉบับแก้ไข-เพิ่มเติม)
  • ภาพประกอบคือปกหนังสือนวนิยายเรื่อง ปริศนา
  • ฉบับพิมพ์ล่าสุดโดยสำนักพิมพ์แสงดาว ปี 2563
          24 กันยายน 2566
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ Books and My Quotes
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บันทึกการอ่าน ปริศนา นวนิยายรักชวนฝันสุดคลาสสิก จากบทประพันธ์ของ ว.ณ ประมวญมารค อัปเดตล่าสุด 10 มกราคม 2567 เวลา 11:41:20 2,669 อ่าน
TOP