#บันทึกการอ่านนวนิยายของฉัน #คุยถึงหนังสือในตู้ #รักประกาศิต #กสุรางคนางค์ #หนังสือที่รัก #ความทรงจำระหว่างบรรทัดจากหนังสือที่รัก
วันนี้รื้อตู้อีกแล้วค่ะ หยิบนวนิยายเก่าที่รักอีกเรื่องมาพลิกอ่าน แล้วก็คิดไปถึงละครที่เคยได้ดูตั้งแต่ยังเด็ก ทันดูตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกทางช่อง 9 ที่พิศาล อัครเศรณี เป็นพ่อเลี้ยงภูชิชย์ และศันสนีย์ สมานวรวงศ์ รับบทนริศรา หรือ นิด นีรนาท และจนมาถึงรอบล่าสุดที่แอฟ ทักษอร เป็นนริศรา ป๋อ ณัฐวุฒิ เป็นพ่อเลี้ยงภูชิชย์
ส่วนตัวหลงรักเรื่องราวนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ชมละคร เมื่อมีหนังสือก็ไม่พลาดเช่นกันค่ะ
นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวความรักระหว่าง นริศรา สุริยรักษ์ หญิงสาวที่ออกจากบ้านไปหางานทำ ได้งานที่ไร่สุพัฒนา จังหวัดลำพูน เธอปิดบังเรื่องราวส่วนตัว ใช้ชีวิตในนาม นิด นีรนาท มาทำงานเป็นผู้จัดการไร่ แทนคุณเล็ก สุพัฒนาที่ป่วยเป็นโรคประสาท จนได้พบรักกับพ่อเลี้ยงภูชิชย์ เจ้าของไร่
นริศรา สุริยรักษ์ เป็นหญิงสาวที่เติบโตมาในครอบครัวทหาร เธอต้องบินกลับจากต่างประเทศในขณะที่ยังเรียนเลขานุการไม่จบ หลังเรียนได้สองปี ยังไม่ทันจบได้รับคุณวุฒิทางการศึกษา เนื่องจากบิดาเสียชีวิต
เธอจำเป็นต้องมาอยู่ภายใต้การดูแลของครอบครัวพี่ชาย พันตรีณรงค์ สุริยรักษ์ และลัคนา พี่สะใภ้ที่คอยเข้มงวด จนสุดท้ายนริศราตัดสินใจออกจากบ้านเพื่อหางานทำเลี้ยงตัวเองได้ หลังจากทะเลาะกับพี่สะใภ้ที่ไม่อยากรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเธอ ในขณะที่พี่ชายยังรับราชการทูตทหารอยู่ที่ต่างประเทศ ในที่สุดหลังหางานทำ เธอได้งานที่ไร่สุพัฒนา ที่มีเจ้าของคือสามพี่น้อง ภูชิชย์ พี่ชายคนโต และน้องอีกสองคน ชายหนึ่งหญิงหนึ่ง วิทวัสและสุพัฒนา
ความวุ่นวายและเรื่องราวมากมายเกิดจาก สุพัฒนา น้องสาวคนเล็กของภูชิชย์ที่ถูกตามใจจนเสียคน คอยขวางทุกคนที่จะเข้ามาแย่งความรักจากพี่ชายของเธอ และหวงไม่ให้พี่ชายสองคนแต่งงาน
นวนิยายเรื่องนี้มีเสน่ห์ที่บรรยากาศเกือบทั้งเรื่องอยู่ในไร่ อาจเป็นเพราะเรื่องราวและฉากหลักส่วนใหญ่ของเรื่อง จึงทำให้เรื่องราวสนุก มีเกร็ดรายละเอียดชีวิตในไร่ รวมถึงตัวละครเสริมอื่นๆ เช่น นิพนธ์ ผู้จัดการไร่คนเดิม และเจ้าดาริกา หรือเจ้าน้อย อดีตคนรักของพ่อเลี้ยง ที่ทำให้เรื่องราวสนุกสนานน่าติดตามตลอดเรื่อง ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ของนริศรากับภูชิชย์ที่เริ่มต้นด้วยความขัดแย้ง จากนิสัยส่วนตัวของทั้งสอง ด้วยนริศราไม่ใช่ผู้หญิงอ่อนหวาน ความที่เธอโตมาในครอบครัวทหาร ทำให้เธอมีนิสัยเด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง อดทน ในขณะที่ภูชิชย์ ในฐานะพี่ชายคนโตผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว ทำให้เขาเป็นคนมีนิสัยค่อนข้างเคร่งเครียด มีความรับผิดชอบสูง บ้างาน ดุดัน จนเป็นที่ยำเกรงของบรรดาบริวารลูกน้องในไร่
โปรยปกหลัง
ในความขัดแย้ง ในการกระทำภายนอก ภูชิชย์-นริศราคือคู่กัด
ที่ฝีมือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
แต่ยามนั้น ใครเลยจะรู้ ลึกลงไปกว่านั้นทั้งสองแอบซ่อนสิ่งใดไว้
เมื่อความในใจ ก่อประสานเป็นความรักที่เหนียวแน่น
ผูกพันคนสองคนไว้อย่างสุดที่จะหลีกหนี
“…รู้ไหม ฉันรักเธอตั้งแต่เมื่อไหร่”
เมื่อนริศราตอบอุบอิบกับอกเขาว่า “ไม่ทราบ”
อ้อมแขนแข็งแรงก็กอดกระชับ…ความรักอบอุ่นเช่นนี้เอง
“ตั้งแต่เธอลาไปพักที่บ้านบัวแก้ว
ตอนนั้น ฉันรู้ว่าชีวิตนี้จะขาดเธอไม่ได้เสียแล้ว”
นริศราอมยิ้มอยู่ในอ้อมกอดนั้น
เขาไม่ยักย้อนถามเธอบ้างในคำถามเดียวกัน และเธอก็จะตอบว่า
“เราใจตรงกัน นิดรู้สึกเหมือนกันในตอนนั้นว่า
ชีวิตนริศรา จะขาดภูชิชย์ไม่ได้เลย”
นั่นแหละชีวิตของเขาและเธอ “ที่ไหนมีภูชิชย์ ที่นั่นต้องมีนริศรา”
รักที่เกิดจากประกาศิตของหัวใจ ย่อมเป็นรักแท้เสมอ
ตอนประทับใจจากนวนิยายที่รัก
ตอนที่คัดลอกมาลงไว้เป็นตอนที่ภูชิชย์เอาแบบแปลนบ้านมาให้นริศราดู ภูชิชย์ตัดสินใจแล้วว่าจะแต่งงานกับเธอ จะสร้างเรือนหอหลังใหม่ เพียงแต่ภูชิชย์ข้ามขั้นตอนไปจนทำให้นริศราตามไม่ทันความคิดเขา คือภูชิชย์ยังไม่ได้สารภาพความในใจ คิดว่าผู้หญิงคงจะรู้เอง แต่กลับมาคุยข้ามขั้นจนเกิดความเข้าใจผิด คู่นี้ก็เป็นแบบนี้แหละค่ะ กว่าจะเข้าใจกัน คนอ่านก็อ่านยาวเลย
“… ผู้อำนวยการจะดื่มอะไรไหมคะ ชาหรือกาแฟ”
เป็นครั้งแรกเหมือนกันที่ได้ยินหญิงผู้นี้ถามอย่างเอาใจและอ่อนโยน เขาเงยหน้าขึ้นสบตา ยิ้มนิดๆ เมื่อปฏิเสธว่า
“ขอบใจ ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ประพจน์เขาพาไปเลี้ยงข้าวตอนกลางวันเสียอิ่ม เขาถามถึงเธอว่าค่อยยังชั่วหรือยัง”
“ดิฉันเป็นหนี้พระคุณ คุณประพจน์อยู่มาก”
“ฉันคิดว่า เราควรจะลืมเรื่องเก่าๆ และเริ่มต้นชีวิตกันใหม่ จะไม่นั่งลงก่อนรึ มีงานจะต้องปรึกษานิดหน่อย” พลางคลี่กระดาษพิมพ์เขียวนั้นออกกางบนโต๊ะ
นิดลังเลใจเหมือนกัน แต่ในที่สุดก็นั่งลงที่เก้าอี้อีกมุมหนึ่ง ถามว่า “นั่นแปลนอะไรคะ”
“แปลนบ้าน วันนี้ประพจน์เขาพาไปหานายช่างสถาปนิกที่ออกแบบบ้าน ฉันกับตาวิทปรึกษากันว่า จะปลูกบ้านที่อยู่ใหม่ คราวนี้แยกออกจากที่ทำงาน คือที่ทำงานแห่งหนึ่ง และบ้านอาศัยแห่งหนึ่ง วันนี้ก็เลยไปแวะหานายช่างออกแบบ เขาเอาแบบนี้ออกมาให้ดู เป็นของคนอื่น เห็นว่าเข้าที ก็เลยขอเขามา เราอาจจะแก้ไขเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยให้เป็นบ้านถาวรเลย นี่เป็นตึกทันสมัยสองชั้น นี่แปลนชั้นบน มีห้องนอนสามห้อง…”
ตลอดเวลาที่เขาชี้แจงอย่างเอาการเอางาน นิดนึกว่า เหตุใดผู้อำนวยการจึงมาปรึกษาเธอ แต่ก็ยังไม่กล้าแย้ง มองดูบนแปลนตามมือที่เขาชี้
“นี่ห้องนอนใหญ่ มีห้องน้ำชั้นบนสองห้อง แยกกันใช้ได้สะดวก มีห้องนอนเล็กสองห้อง แล้วยังมีห้องพระนั่น นี่ห้องโถง” หยุดแล้วหันมาถาม “มันจะใหญ่โตเกินไปไหม”
นิดขมวดคิ้ว “ทำไมผู้อำนวยการไม่ปรึกษาคุณวิทวัสล่ะคะ ถามดิฉัน ดิฉันไม่สามารถจะให้ความเห็นอะไรได้ ดิฉันเป็นใคร เป็นเพียงผู้จัดการเล็กๆ เท่านั้น ผู้อำนวยการก็ทราบ”
“อ้าวก็เธอบอกกับคุณเล็กว่า” ตาอันกร้าวมีความหมายจับอยู่ที่ใบหน้าของผู้จัดการสาว คล้ายจะหยั่งความรู้สึกต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใน
ไม่ทันให้เขาพูดจบเธอก็เข้าใจ หน้าแดงลุกขึ้นทันที
“เรื่องนั้นดิฉันพูดไปยังงั้นเอง ไม่ได้ถือว่าเป็นคำพูดที่จริงจังอะไร ผู้อำนวยการไม่ควรจะเอามาผูกมัดทึกทักว่าเป็นจริงไปเสียหมด” เสียงสั่นและน้ำตาคลอ
“ดิฉันกำลังโมโหกำลังโกรธที่ถูกกล่าวหาอย่างไร้ความจริง”
“แต่ฉันเข้าใจว่า เธอคงจะพูดออกมาอย่างจริงใจ เธอบอกว่าเธอจะแต่งงานกับพี่ชายคนใดคนหนึ่งของสุพัฒนา จะเปลี่ยนชื่อไร่เป็นไร่นริศรา เธอพูดเช่นนั้นไม่ใช่หรือ ฉันยังบอกเธอว่า ตาวิทเขาแต่งงานแล้ว มีลูกคนหนึ่งด้วยซ้ำ เหลือแต่ฉันคนเดียว ไม่เห็นเธอค้าน” เขาพูดหน้าตาเฉย
“ผู้อำนวยการจะมาซ้อมค้างทึกทักแบบนั้น ไม่เป็นเรื่องที่สมควรเลย จำได้ไหมคะว่า ผู้อำนวยการเกลียดดิฉัน เหมือนเห็นดิฉันเป็นกิ้งกือไส้เดือน ไม่ปรารถนาด้วยซ้ำที่จะรับดิฉันไว้ทำงานที่นี่ ทั้งพยายามทุกอย่าง ที่จะไล่ดิฉันออกทางอ้อม และถากถางดิฉันด้วยวาจา หาว่าเป็นนักขุดทอง เป็นนักปฏิวัติสารพัดจะว่า”
น้ำตาที่คลออยู่ไหลเป็นทาง
“ซ้ำยังมีคนอื่น เช่น เจ้าน้อย คุณสุพัฒนา พลอยดูถูกเหยียดหยามดิฉันซ้ำเติมอีก จนดิฉันสำนึกตัวได้ว่า ต่ำต้อย ไม่มีดีอะไรเลย ไม่สมควรด้วยซ้ำ ที่คุณภูชิชย์ พ่อเลี้ยงภู หรือผู้อำนวยการจะลดตนลงมาหาและมานั่งอยู่นี่อย่างนี้ แม้แต่สักนิดเดียว”
“ที่เธอว่า มีคนอื่นบางคนพลอยดูถูกดูหมิ่นเธอนั้น ขอค้านว่าไม่ใช่เพราะการกระทำของฉันแน่ มันเกิดจากตัวบุคคลของแต่ละคนไปต่างหาก”
“จริง ฉันยอมรับว่าเคยเข้าใจผิดพลาด ก็จะให้เข้าใจดีกันยังไงได้ ในเมื่อเรายังไม่รู้จักกันดี และถ้าเธอเป็นคนช่างสังเกต จะเห็นว่า ตั้งแต่ฉันกลับจากกรุงเทพฯ รู้เรื่องของเธอจากหลวงราชแล้ว ฉันเข้าใจเธอดีตลอดมาดีกว่าที่เคยเข้าใจคนอื่นๆ มาแล้วด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นที่เธอพูดว่าฉันไม่เคยเลยที่จะคิดถึงเธอในแง่ดีแม้สักนิดเดียว ก็เป็นการกล่าวหาที่ไม่ตรงความจริงเหมือนกัน”
เขาหยุดนิดหนึ่ง ในขณะที่นิดใช้ผ้าเช็ดเล็กๆ ซับน้ำตาที่อาบแก้ม และพูดต่อไปว่า
“ความเข้าใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบพูดออกมา พูดแล้วพูดอีกซ้ำซาก บางคนก็เก็บไว้ในใจ ยากที่จะพูดออกมาได้”
“เมื่อเธอไม่สบายฉันเวียนมาดู มาถามอาการหลายครั้งด้วยความเป็นห่วง เธอมีไข้สูงและเพ้อถึงพี่ชาย ฉันก็นั่งอยู่ใกล้ๆ เธอคงไม่มีโอกาสจะได้รู้หรอกว่าฉันได้แสดงความเสียใจ ที่เธอพลอยได้รับบาดเจ็บเพราะฉัน พลอยรับเคราะห์ไปกับฉันด้วย”
“ที่มานั่งที่นี่ขอคำปรึกษาหารือ ก็เพราะคิดว่าเมื่อโชคร้ายได้พัดผ่านพ้นไปแล้ว บางทีจะมีโชคดีกับเขาบ้าง โดยที่มีใครสักคนที่ฉันคิดว่าฉันเข้าใจเขาดีแล้วนั้น เข้าใจฉันตอบ และเราก็จะสร้างบ้านตามแบบแปลนนี้ขึ้นมาใหม่”
เขาใช้มือลูบบนแปลนบ้านพิมพ์เขียว ที่คงกางวางอยู่บนโต๊ะนั้น ประกอบคำอธิบายที่แช่มช้า ระคนเศร้า
“แต่ถ้าเขาผู้นั้นพยายามจะทำเป็นไม่เข้าใจ ก็ช่วยไม่ได้ นอกจากเสียใจ และขอโทษ” ก้มศีรษะเนิบๆ มองดูหญิงสาวแวบหนึ่ง ก่อนลงบันไดบ้านพักผู้จัดการไป โดยทิ้งแบบพิมพ์เขียวไว้บนโต๊ะอย่างเดิม
นิดมองดูแปลนบ้าน แล้วใจหายวาบ แต่ก็หมดปัญญาที่จะค้าน แม้แต่จะเรียกชื่อเขาออกมาสักคำ ก็เรียกไม่ได้ เธอเริ่มจะเข้าใจรางๆว่า “ความเข้าใจ” ที่เขาเน้นพูดถึงสองสามครั้งนั้น มีความหมายกว้างใหญ่ไพศาลแก่หัวใจน้อยๆ ที่ว้าเหว่ อ้างว้างของเธออย่างไร และเมื่อทบทวนคำพูดของภูชิชย์ทุกประโยคแล้ว ก็รู้สึกสำนึกว่าเป็นความจริง
กลับจากกรุงเทพฯ ครั้งนั้น เขามีของฝากมาให้เธอด้วย ชวนแกมบังคับให้ไปเที่ยวสวนเพิ่มผล ที่เหมืองแม่แฝก เขามานั่งขัดสมาธิอยู่ใกล้ๆ ดูเป็นกันเองดีขึ้น เฉพาะประโยคที่ว่า “เธอมีไข้สูงและเพ้อถึงพี่ชาย ฉันก็นั่งอยู่ใกล้ๆ” ทำให้ไม่สบายใจ เพราะไม่รู้ตัวว่า เธอเพ้อถึงเขาบ้างหรือเปล่า
และที่เขาบอกว่า “ฉันได้แสดงความเสียใจ โดยที่เธอคงไม่มีโอกาสจะได้รู้นั้น” เขาแสดงอย่างไร? นี่ซิเป็นปัญหาที่ข้องใจมาก………มากเหลือเกิน
ก. สุรางคนางค์ นามปากกาของ กัณหา (บูรณปกรณ์) เคียงศิริ ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) ประจำปีพุทธศักราช 2529
นวนิยายเรื่อง รักประกาศิตนี้ ก. สุรางคนางค์ แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 บทประพันธ์เรื่องนี้มีภาคต่อในนวนิยายเรื่อง ภูชิชย์-นริศรา และเรื่องราวของพ่อเลี้ยงภูกับนิด นีรนาท หรือ นริศรา สุริยรักษ์ ก็ถูกนำมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์รวม 5 ครั้ง
- ปี 2520 เป็นละครทางช่อง 9 อสมท พิศาล อัครเศรณี รับบท ภูชิชย์ – ศันสนีย์ สมานวรวงศ์ รับบท นริศรา
- ปี 2523 ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย พิศาล อัครเศรณี พิศาล อัครเศรณี รับบท ภูชิชย์ – เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ รับบท นริศรา
- ปี 2531 เป็นละครทางไทยทีวีสีช่อง 3 กำกับการแสดงโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์ ฉัตรชัย เปล่งพานิช รับบท ภูชิชย์ – ลลิตา ปัญโญภาส รับบท นริศรา
- ปี 2543 เป็นละครทางช่อง 7 สี สร้างโดยบริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น กำกับการแสดงโดย องอาจ สิงห์ลำพอง ศรราม เทพพิทักษ์ รับบท ภูชิชย์ – กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา รับบท นริศรา
- ปี 2555 เป็นละครทางไทยทีวีสีช่อง 3 กำกับการแสดงโดย ยุทธนา ลอพันธ์ุไพบูลย์ ณัฐวุฒิ สกิดใจ รับบท ภูชิชย์ – ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ รับบท นริศรา
รักประกาศิต – ภูชิชย์ นริศรา : ก. สุรางคนางค์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2509 จัดเป็นนวนิยายที่ยาวที่สุดจากผลงานนวนิยายของผู้เขียนทั้งหมดร่วม 50 เรื่อง
- พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก โดย สำนักพิมพ์บำรุงสาส์น พ.ศ. 2511
- สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ พิมพ์รวมเล่ม ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2531
- สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ พิมพ์รวมเล่ม ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2543
- สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม พิมพ์รวมเล่ม ครั้งที่ 1 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2546
- สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม พิมพ์รวมเล่ม ครั้งที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
- สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม พิมพ์รวมเล่ม ครั้งที่ 3 เดือนกันยายน พ.ศ. 2551
- ภาพประกอบคือปกฉบับสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม พิมพ์ครั้งที่ 4 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตาม
กติกา สามารถคลิก
แจ้งปัญหาได้ที่นี่