#บันทึกการอ่านนวนิยายของฉัน #คุยถึงหนังสือในตู้ #เชลยศักดิ์ #ดวงดาว #เรื่องราวระหว่างบรรทัดจากนวนิยายที่รัก #หนังสือที่รัก
นวนิยายเรื่อง "เชลยศักดิ์" จากบทประพันธ์ของ "ดวงดาว" นามปากกาของหม่อมเจ้าหญิงสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร พระราชธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาแช่ม (กัลยาณมิตร)
พระนิพนธ์ของ "ดวงดาว" เรื่องแรกคือ "คำอธิษฐานของดวงดาว" แต่บทประพันธ์ที่ทำให้พระองค์ทรงมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักนอกจากเรื่องแรกแล้ว ยังมี เรื่อง เชลยศักดิ์, เคหาสน์สีแดง, ผยอง เป็นต้น ส่วนตัวได้มีโอกาสอ่านทั้งสามเรื่องหลัง จะทยอยมาคุยกันและบันทึกในโอกาสต่อไป
ในคำนำหนังสือนวนิยายฉบับตีพิมพ์โดยพิมพ์คำสำนักพิมพ์ กล่าวไว้ว่า นวนิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากตั้งแต่ครั้งแรกที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2499-2500 เพราะเป็นนวนิยายที่ใช้ขนบต่างไปจากเดิมที่นางเอกมักเป็นผู้ถูกกระทำเสมอ แต่นางเอกใน "เชลยศักดิ์" มิได้เป็นเช่นนั้น ผู้เขียนได้เสนอภาพผู้หญิงชนชั้นสูงที่ได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี มีความมั่นใจในตนเอง และมีความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ซึ่งในยุคสมัยนั้นตรงกับยุคแกสบี้ (The Gasby) อันเป็นยุคหลงระเริงในเรื่องแฟชั่นและดนตรีแจซ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้อ่านจะชื่นชม ม.ร.ว.อลิสา สันตติวงศ์ นางเอกซึ่งเป็นภาพจำลองของผู้หญิงตะวันตกที่มีบุคลิกสง่างาม สวยเก๋ ทันสมัย ขณะเดียวกันก็มิได้ทิ้งความเป็นกุลสตรีไทย
นวนิยายเรื่อง "เชลยศักดิ์" เล่าเรื่องความแค้นระหว่างสองตระกูล คือตระกูล "สันตติวงศ์" ที่มีทายาทรุ่นปัจจุบันคือ พันเอก ม.ร.ว.อติศักดิ์ และ ม.ร.ว.อลิสา สันตติวงศ์ และอีกตระกูลคือ "อัศวรัช" ที่มี ร้อยโทโยธิน อัศวรัช เป็นทายาทคนปัจจุบัน
ต้นเหตุความแค้นระหว่างสองตระกูลเกิดขึ้นตั้งแต่รุ่นเสด็จปู่ของคุณชายอติศักดิ์และคุณหญิงอลิสา ในคืนที่คุณหญิงเกิด ก่อนเสด็จปู่สิ้น ท่านได้ขอให้บุตรหลานให้สัตย์สาบานว่าจะแก้แค้นแทนท่าน จากการกระทำของเจ้าพระยาอัศวราชพัลลภ ต้นตระกูลอัศวรัช และเป็นปู่ของร้อยโทโยธิน ที่ได้กล่าวหาให้ร้ายว่าท่านคิดการกบฏเนื่องจากอำนาจทางทหารที่มีมากและถึงพร้อมด้วยเงินและเกียรติยศจึงถูกจ้องทำลายเกียรติยศ
ฉากในนวนิยายส่วนใหญ่คือม่อนผาหลวง เนินเขาย่อมๆของชนบททางภาคเหนือที่กลายมาเป็นที่ประทับของเสด็จปู่หลังถูกกล่าวหาและทรงละทิ้งอำนาจบารมีทั้งหมดมาประทับอยู่ที่นี่ตราบจนวาระสุดท้าย
คุณชายอติศักดิ์ยึดเอาคำสาบานที่ให้ไว้ ตามติดเรื่องราวความเป็นไปในตระกูลอัศวรัช จนถึงในรุ่นปัจจุบันคือพระยาสวามิภักดิ์ราช บิดาของร้อยโทโยธินที่ประสบปัญหาเรื่องธุรกิจและการเงินจนคุณชายอติศักดิ์ยื่นมือเข้าไปช่วยพยุงฐานะและหน้าตาให้ก่อนจะล้มละลาย แลกเปลี่ยนทำสัญญากับพระยาสวามิภักดิ์ราชให้ส่งตัวบุตรชาย ร้อยโทโยธิน เข้ามาอยู่ที่ม่อนผาหลวงในฐานะเชลยเป็นเวลาหนึ่งปี
ร้อยโทโยธิน อัศวรัช นายทหารแห่งกองทัพอังกฤษผู้กล้าหาญหน่วยแรกที่โดดร่มลง ณ ประเทศไทยในนามเสรีไทย ในขณะนั้นมีความสัมพันธ์อยู่กับหญิงสาวคนหนึ่งที่เตรียมตัวจะหมั้นกันอยู่แล้ว นั่นคือ ภิรมยา ธิดาท่านรัฐมนตรีผู้กำลังโดดเด่นกลางวงสังคม
เรื่องราวในนวนิยายคือชีวิตของร้อยโทโยธินที่ม่อนผาหลวง ที่ถูกการกระทำดูหมิ่นจากสองพี่น้องตระกูลสันตติวงศ์ ในขณะเดียวกันมีตัวละครน้อยๆ เด็กชาย "อานนท์" ที่คุณชายและคุณหญิงอุปการะไว้และดูแลรักใคร่เหมือนดั่งน้องชายแท้ๆ เข้ามาเป็นตัวกลางที่เชื่อมความสัมพันธ์ให้คุณหญิงอลิสาและร้อยโทโยธินเป็นไปด้วยดียิ่งๆขึ้น
เส้นเรื่องความรักของทั้งคู่จึงเริ่มต้นจากความเกลียดชังที่มีต้นเหตุจากอดีต รวมทั้งนิสัยของทั้งคู่ที่หยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี ทำให้ช่วงต้นช่วงกลางของเรื่องเต็มไปด้วยการปะทะคารมของทั้งสองคน จนกระทั่งมีจุดพลิกผันในช่วงหลังของเรื่องเมื่อมีตัวละครอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องนั่นคือ เจ้าขวัญฟ้าแห่งเวียงเจ้าฟ้าจากเชียงรัฐที่พาคณะเดินทางของท่านรัฐมนตรีและบุตรสาวคือภิรมยาที่เดินทางจากกรุงเทพมาเที่ยวชมเชียงรัฐและแวะมาเยี่ยมม่อนผาหลวง
นวนิยายเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ได้อ่านหลังได้ชมละครโทรทัศน์ที่ฉายทางช่องเจ็ดในช่วงปี พ.ศ.2534 มีลิขิต เอกมงคล รับบทร้อยโทโยธิน จินตหรา สุขพัฒน์ รับบทคุณหญิงอลิสา และฐาปกรณ์ ดิษยนันทน์ รับบท คุณชายอติศักดิ์ เมื่อมาอ่านนิยายจึงพบว่าละครสร้างตามบทประพันธ์แม้แต่ฉากเปิดเรื่องก็ตรงตามในนิยาย ส่วนตัวประทับใจละครในเวอร์ชั่นแรกมากกว่าเวอร์ชั่นต่อมาที่สร้างโดยไทยทีวีสีช่อง 3 ในปี พ.ศ.2553 ที่มีแอน ทองประสม รับบทคุณหญิงอลิสา และ โฬม พัชฏะ นามปาน รับบทร้อยโทโยธิน
นอกจากสร้างเป็นละครโทรทัศน์แล้ว ทราบว่าก่อนหน้านี้ได้สร้างเป็นภาพยนตร์ถึงสองครั้ง คือในปี พ.ศ.2502 อมรา อัศวนนท์ เป็น ม.ร.ว.อลิสา สันตติวงศ์ ประศาสน์ คุณะดิลก เป็น ร้อยโทโยธิน และในปี พ.ศ.2524 ผลงานกำกับการแสดงของหม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย มีอาพร โทณะวณิก รับบทคุณชายอติศักดิ์ ภคินี อมราพิทักษ์ รับบทคุณหญิงอลิสา และทูน หิรัญทรัพย์ รับบทร้อยโทโยธิน
#โปรยปกหลัง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 สำนักพิมพ์รวมสาส์น (1977) ปี พ.ศ.2537
โยธิน อัศวรัช นายทหารหนุ่มแห่งกองทัพ ต้องมารับผิดชอบเป็นเชลยเพราะความแค้นของบรรพบุรุษระหว่างสองตระกูล ต่อ หม่อมราชวงศ์อลิสา สันตติวงศ์ ราชนิกุลผู้งามสง่า ในความชิงชังที่มีต่อกันนั้น ความรักได้บังเกิดขึ้นโดยที่ทั้งสองไม่รู้ตัว
#โปรยปกหลัง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์พิมพ์คำ ปี พ.ศ.2552
ความแค้นที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ คือสิ่งที่พันเอก ม.ร.ว.อติศักดิ์ และ ม.ร.ว.อลิสา สันตติวงศ์ เฝ้ารอคอยวันที่จะชำระสะสาง โอกาสนั้นมาถึงเมื่อร้อยโทโยธิน อัศวรัช อดีตเสรีไทย ถูกกุมตัวมาเป็นเชลยในม่อนผาหลวง เขาต้องก้มหน้ารับการดูหมิ่นศักดิ์ศรีจากสองพี่น้องราชนิกุล เพื่อปลดเปลื้องหนี้แค้นที่ตนไม่ได้รู้เห็น
ปณิธานของ สันตติวงศ์ คือการทำลายล้าง อัศวรัช ให้ภินท์พัง หากยิ่งนานวัน ความพึงใจต่อร้อยโทหนุ่มที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจ ก็ทำให้ ม.ร.ว.อลิสาลังเลว่า เธอควรจะชำระแค้นให้ถึงที่สุด หรือวางศักดิ์ศรีและความหยิ่งทระนงลงเพื่อทำตามหัวใจของตนดี
ความเป็น "เชลยศักดิ์" ของโยธินจะจบลงที่ใด ในเมื่อเกียรติของเขาถูกหลู่ไม่เหลือชิ้นดี และรักที่รออยู่ข้างหน้าก็มีอุปสรรคหนักหนาขวางกั้น
#ตอนที่ประทับใจ
ฉากเต้นรำด้วยกันครั้งแรกของโยธินและคุณหญิงอลิสา การเต้นรำที่เริ่มต้นด้วยความขัดข้องจำยอม ชอบภาษาการบรรยายอารมณ์ความรู้สึกตัวละครในตอนนี้มาก แม้ภาษาออกจะเก่าแต่งดงามด้วยคำเปรียบเปรยที่เห็นภาพ เป็นการเขียนที่ยากและน้อยมากที่จะเห็นลักษณะการเขียนที่ให้อารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ในวรรณกรรมยุคหลัง
เธอนิ่งแลดูด้วยหัวใจเต้นแรง ขณะที่เห็นชายหนุ่มโน้มตัวลงเก็บช่อดอกไม้นั้นขึ้นมา เธอมิได้คิดจะเอื้อมมือออกรับหรือแม้แต่จะกระดิกร่างกายก็ไม่กล้า เธอเห็นโยธินชำเลืองไปยิ้มอย่างฝืนกับคนรักของเขา แล้วสีหน้ากลับบึ้งปฏิบัติตามหล่อนโดยก้าวเท้าขึ้นมายืนเสมอด้วยเธอ ก้มศีรษะให้ จับมือเธอเดินเข้าสู่ห้องลีลาศ
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนอลิสาไม่สามารถจะลำดับรำลึกได้โดยถี่ถ้วนถูกต้อง มีแต่จะบังคับสติตนเองตามเขาไปด้วยความเคยชิน เสียงทำนองก้องกระหึ่มอย่างหวนโหยและหนักหน่วง ย้ำอย่างหวานซาบซ่านลงไปในจิตสำนึก ร้อนและกล่อมโลหิตในกายให้เย็นลงทีละน้อย แต่ทว่าเวลาเดียวกันก็ช่างทวีความตื่นเต้นขึ้นอย่างเงียบเชียบ ซึ่งเปรียบแล้วก็มิได้ผิดตามความรู้สึกของเธอในขณะนี้
คู่ลีลาศมากมายที่สับสนผ่านไปมา ล้วนมีสีหน้าปลื้มเปรม ศีรษะอิงศีรษะ ปากยิ้มยวน เสียงพึมพำกระซิบกระซาบผ่านเธอไป ฝ่ามือข้างหนึ่งของผู้ชายคนหนึ่งกระหวัดรัดอยู่ตรงเอวเธอ มือต่อมือจับกัน รู้สึกเสมือนอาการแล่นรวดเร็วและรุนแรงของโลหิตแต่ละฝ่ายที่วิ่งวนไหลผ่านลงมาแล้วก็กลับมาหยุดกึกชะงักงันอยู่เพียงปลายนิ้ว ไม่มีวัน ไม่มีเวลาที่จะถ่ายทอดหรือส่งกระแสแห่งดวงจิตอันจะแล่นแลกเปลี่ยนความรู้สึกถึงกันได้
ศัตรูของฉัน! ศัตรูของฉัน! อลิสาแหวกความคิดอันนี้ขึ้นมาได้อย่างเร่งร้อน เพื่อพาตัวเองพ้นจากความงุนงงที่แวดล้อมในใจ เธออยากจะหนีไปเสียให้ไกลแสนไกล แต่กลับเข้ามาใกล้กันอย่างที่สุด โดยที่ไม่กล้าแม้จะเผยอปากโต้แย้ง กายต่อกายอยู่ในระดับชิดเฉลียงจากกันเล็กน้อย เท้าของเธอสาวเท้าตามจังหวะก้าวยาวของเขาโดยดี ทุกขณะที่เขานำเธอไปอย่างว่าง่าย น่าประหลาดมือของศัตรูจับแตะมือเธอไว้ไม่เบาและก็ไม่หนัก ไม่ปรารถนาจะปล่อย และก็ไม่ปรารถนาจะทำให้เตือนความรู้สึกขึ้นในทางใดทางหนึ่ง เหมือนมันคือความจำเป็นของกฎเกณฑ์สักอย่างเท่านั้น หาใช่มือของชายอื่นที่มักใช้มันเป็นสื่อที่จะบีบ และคลายต่างผู้แทนที่จะพูดไม่ได้ของหัวใจ
โดยมิได้พูดจาแม้แต่ประโยคเดียว โดยมิได้ชำเลืองสบสายตาแต่สักแวบเดียว แต่ทั้งสองคนก็รู้สึกเหน็ดเหนื่อยยุ่งยากยิ่งขึ้นเสียกว่าคู่เต้นรำทั้งหลายที่ทำงานหนักมาเกือบครึ่งคืน ก้าวแรกของเขาเต็มไปด้วยความเกลียดชัง เดือดร้อนเพราะถูกบังคับ การถูกเนื้อต้องตัวเป็นไปอย่างถูกขับไสผลักดันเข้าหากัน แต่ก็ไม่มีวันจะปะปนเข้าได้ แม้เสียงดนตรีจะร้อนแรง ความสัมผัสจะใกล้ชิด เวลาปราศจากความหมาย การผสมผสานของแต่ละความคิดย่อมถอยห่างจากกัน ธาตุเหลวก็คือธาตุเหลวที่แยกได้คนละชนิด น้ำย่อมต้องคงสภาพน้ำ และน้ำมันก็ย่อมต้องคงสภาพน้ำมัน แม้ถูกเทรวมลงในภาชนะเดียวกัน มันต่างก็ย่อมรักษาคุณลักษณะของมัน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกลายสภาพเพื่อยอมผสมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
#ตอนที่ประทับใจ #ฉากรักในนวนิยาย ฉากความทุกข์เศร้าของคุณหญิงอลิสาหลังอานนท์เสียชีวิต
หญิงสาวหมุนตัวกลับช้าๆ เมื่อได้ยินเสียงเขา ดวงหน้าขาวซีด ตาทั้งคู่พร่าพราวด้วยประกายน้ำใสๆ ซึ่งเขาแลเห็นแล้วพลอยสะท้อนหัวใจไปด้วยกับเธอ
เขาอึกอัก พูดไม่ออกถึงคำที่จะปลอบเธอ จนต่อมาครู่ใหญ่ ที่ต่างฝ่ายต่างนิ่งจ้องอ่านความทุกข์ของกันและกันอยู่เช่นนี้ เขาจึงเอ่ยขึ้นว่า
"โปรดเชื่อผม ระงับความเศร้าโศกเสียบ้าง เพราะถึงอย่างไรก็จะทำให้เขากลับคืนมาหาเราไม่ได้ นึกเสียว่าอานนท์ไปเป็นสุขแล้ว"
อลิสาตอบเขาอย่างซึมเซาว่า "ฉันจะพยายามเชื่อคุณ แต่…จะตัดใจได้ง่ายๆ อย่างไร มันเหมือนกับฝันร้าย โธ่…อานนท์"
เธอทรุดลงนั่ง ซบหน้าสะอื้นกับเนินดินที่กลบไว้ใหม่ๆ น้ำตาหยดแล้วหยดเล่า ร่วงต้องกลีบดอกอินทนิลสีม่วง เหตุการณ์ที่ประจักษ์ทำให้โยธินงุนงงและวาบหวามหัวใจจนสุดจะทนดูได้ เขาก้มลงประคองกึ่งบังคับดึงเธอให้ยืนขึ้น แล้วก่อนที่จะรู้อะไรเป็นอะไรต่อไป ก็รู้สึกว่าร่างกายของเขากับของ ม.ร.ว.อลิสา ต่างรวบรั้งเข้าหากันอยู่ในโอบกอดของกันและกันเสียแล้ว อาการวิปโยคของสตรีที่อดกลั้นไว้นาน ก็ได้ถ่ายทอดออกเป็นเสียงร่ำไห้อย่างหมดความยับยั้ง เขาลืมตัวปล่อยให้อลิสาพึ่งพิงไหล่และอกของเขาเป็นที่รำพันความทุกข์โศก
……ราวต้องอาถรรพ์แทนการเกลียดชัง เขากลับสงสารเธอ และแทนการสมน้ำหน้า แขนเขากลับรั้งรัดเอากายนั้นเข้ามาแนบชิดอยู่กับอก ยิ่งใกล้ชิด ยิ่งแว่วสำเนียงร่ำพิไรเท่าไร ก็ยิ่งเป็นอำนาจละลายความเข้มแข็งมั่นคงจิตใจเขาเท่านั้น แทนที่จะจำได้ว่าอลิสาคือศัตรูคู่แค้นแล้วผลักกระเด็นไป เขากลับกระหวัดรัดโลมเล้า กลิ่นกายซึ่งไร้น้ำหอมกลับกลายเป็นกลิ่นเย้ายวนอย่างอัศจรรย์ ผิวนิ่มนวลถูกสัมผัสอยู่ใต้ฝ่ามือระคายของเขา ปราศจากคำพูดใดๆ ของคนทั้งสอง ท่ามกลางความเงียบงัน แต่มีความหมายลึกซึ้งประจักษ์แก่ดวงใจ
โยธินรู้สึกตัวคล้ายอยู่ในความฝัน หน้าก้มลงเคล้าคลึงแก้มตลอดจนหน้าผากนวลละเอียด จมูกปากของเขาร้อนรุม แผดเผาด้วยหยาดโลหิต จากความรู้สึกที่ไสส่งขึ้นมาอย่างกะทันหันนั้น เคลื่อนเข้าหาริมฝีปากสีซีดซึ่งแม้จะเผยอเยือกเย็น แต่รอก่อนมิช้าพอได้รับรสบุกรุกอย่างเร่าร้อนจากเขา ก็จะถ่ายทอดให้เกิดความอบอุ่นขึ้นเช่นเดียวกัน
ตะวันฉายแสงลงมาทั่วพิภพ ปลุกมวลชีวิตตลอดจนพฤกษชาติทั้งหลายให้กลับสดชื่น เช่นเดียวกับอำนาจเร้นลับของธรรมชาติระหว่างหญิงชายได้ส่งกระแสเข้าสู่สำนึกของอลิสากับโยธิน เป็นแสงสว่างขับไล่ความฉงนฉงายที่ต่างคนอยู่ในเงามืดอ้างว้าง จิตที่หนาด้วยมารยาและทิฐิกลับอ่อนลง เปรียบธารน้ำจากคนละแควไหลพุ่งมาปะทะกัน ครั้นแล้วก็ไหลรวมเป็นแควเดียว
- เชลยศักดิ์ : ดวงดาว
- ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเดลิเมล์วันจันทร์ ราวปี พ.ศ.2499-2500
- จากข้อมูลเคยมีฉบับพิมพ์รวมเล่มโดยสำนักพิมพ์รวมสาส์น พิมพ์ครั้งที่ 1-5 ในระหว่างปี พ.ศ.2510-2537
- ภาพประกอบคือปกฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยพิมพ์คำสำนักพิมพ์
- ในเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2552
- ราคาปก 450 บาท
- จำนวน 877 หน้า
30 กันยายน 2566
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตาม
กติกา สามารถคลิก
แจ้งปัญหาได้ที่นี่