ครั้งแรกที่อ่านนวนิยายเรื่อง คู่กรรม ภาคแรกคือตอนเรียนมหาวิทยาลัย จำได้ว่าเป็นนวนิยายเรื่องเดียวที่ร้องไห้หลังอ่านตอนจบ หลายปีหลังจากนั้นได้อ่านภาคต่อในวัยผู้ใหญ่สมัยทำงาน ความรู้สึกเศร้าลดลง แต่นิยายเรื่องนี้ก็มีทำให้น้ำตาซึมเป็นช่วงๆ วันนี้ในวันที่ตัวเองเป็นส.ว.ใกล้หกสิบ อ่านอีกทีก็เศร้าน้อยลง แต่ตัวอักษรก็พาให้ซึมซับถึงความเดียวดายอ้างว้าง
#บันทึกการอ่านนวนิยายของฉัน #คุยถึงหนังสือในตู้ #คู่กรรมภาคสอง #ทมยันตี #ความทรงจำระหว่างบรรทัดจากหนังสือที่รัก #หนังสือที่รัก
สมัยก่อนอ่านงานของ "ทมยันตี" หลายเรื่อง ยังไม่เคยเขียนบันทึกไว้เลย แต่เมื่ออยากเขียนถึง กลับอยากเขียนถึงนวนิยายภาคต่อของเรื่องสุดฮิตเรื่องนี้ค่ะ คู่กรรม ภาคสอง เมื่อนำมาอ่านใหม่อีกรอบหลังผ่านไปหลายปี
นวนิยายเรื่อง "คู่กรรม" ภาคสองนี้ ต่อเนื่องจากภาคหนึ่งที่ผู้เขียนมีแรงบันดาลใจเขียนตั้งแต่ปี 2508 และพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร "ศรีสยาม" ต่อมาปี 2512 จึงพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร สำหรับภาคสอง พิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร "โลกวลี" ในปี พ.ศ.2534 และสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในเดือนธันวาคมปีนั้น
ตอนที่อ่านภาคสองเล่มนี้ ยังได้รับบรรยากาศความระลึกถึงและสายใยความรักที่อังศุมาลินมีต่อโกโบริตลอดทั้งเรื่อง โดยเริ่มต้นเรื่องตั้งแต่ช่วงเวลาที่อังศุมาลินคลอดบุตรชาย ฉากหลังคือช่วงสงครามที่ต่อมาญี่ปุ่นแพ้สงคราม เหตุการณ์ผลกระทบหลังสงคราม เรื่อยมาจนถึงตอนท้ายเรื่องคือวันที่อังศุมาลินกลับคืนสู่ "ทางช้างเผือก" เพื่อหวนคืนสู่ที่รักที่รอคอยมานาน โดยมีฉากหลังคือในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ตัวละครหลักต่อเนื่องจากภาคแรกในช่วงต้นยังอยู่ครบ ทั้งอังศุมาลิน แม่อร คุณยาย วนัสที่ไม่ยอมแต่งงาน แต่ยังคอยดูแลครอบครัวอังศุมาลิน ตลอดจนหลวงชลาสินธุราช บิดาของอังศุมาลิน ตาผล ตาบัว ตลอดเรื่อยมาจนบุตรชายอังศุมาลินเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ตัวละครวัยชราก็ค่อยๆจากไปทีละตัวตามวัฏจักรชีวิต
ในช่วงต้นของเรื่องในวันที่บุตรชายของโกโบริและอังศุมาลิน "โยอิจิ" หรือ กลินท์ ชลาสินธ์ุ ยังแบเบาะ ฉากที่บรรยายถึงห้องนอนที่โกโบริเคยนอนร่วมเคียงกัน ก็ทำเอาน้ำตาซึมตั้งแต่ต้นเรื่อง
"ภายในห้อง บนโต๊ะตัวเตี้ยหน้าฉากกรุกระดาษเขียนลวดลายทิวทัศน์ชายทะเลแบบญี่ปุ่น มีตะเกียงหลอดริบหรี่วางคู่กับแจกันสีน้ำตาลเข้ม ที่หน้ามะลิจะปักมะลิซ้อนสีขาวกรุ่น หากบางครั้งจะเปลี่ยนเป็นดอกพุดแรกแย้ม หลังฉากคือที่นอนหนาสองที่บนเสื่อกกที่บัดนี้เลื่อนมาชิดกัน เพราะที่หนึ่งเป็นของเจ้าตัวเล็ก หากเหนือหัวนอนเป็นโต๊ะสี่เหลี่ยมตัวเตี้ยปูผ้าลูกไม้ถักสีขาวรองรับพานแก้วตั้งโถเบญจรงค์โดดเดี่ยว
ชิ้นหนึ่ง คือ กระดูกตรงดวงตาที่จะได้ดูลูก-เมียตลอดกาล ชิ้นหนึ่ง คือกระดูกใกล้หัวใจที่จะกระซิบ…ฮิเดโกะ ผมรักคุณ"
โยอิจิ หรือ กลินท์ ชื่อที่มีความหมายคำว่า "ดวงอาทิตย์" เติบโตเป็นชายหนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ปฏิเสธชาติกำเนิดของตัวเอง กลินท์ทำงานเป็นอาจารย์แห่งคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคที่เด็กหนุ่มสาวนักศึกษาลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น เขาไม่แสดงออกถึงชาติกำเนิดครึ่งหนึ่งที่มี ใช้ชีวิตเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กลุ่มลูกศิษย์ที่ยึดอุดมการณ์ตามยุคสมัย จุดเริ่มต้นจากต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ต่อต้านการประกวดนางงาม เรื่อยมาจนถึงประเด็นสังคมและการเมืองเรื่อยมาจนถึงการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคสิบสี่ตุลา
ชีวิตส่วนตัวในโลกที่บ้านริมคลองบางกอกน้อยของแม่และยายอร ยังเหมือนเดิม สงบนิ่งงดงาม โยอิจิหรือกลินท์เติบโตมาด้วยการต่อต้านปฏิเสธทุกอย่างที่เกี่ยวกับพ่อ ทั้งอาชีพทหาร การใช้ภาษาญี่ปุ่น ซามิเซ็งของพ่อ และแม้แต่สิ่งเล็กๆน้อยๆตัวแทนที่แม่ใช้หวนโหยหาถึงพ่ออย่างปลาตะเพียนสานสีแดงตัวโตตรงซุ้มประตู ที่เก่า สีซีด หากพอถึงวันที่เจ็ด เดือนเจ็ด เทศกาลทานาบาตะ มัตซูริ แม่ก็จะเปลี่ยนปลาตะเพียนตัวใหม่
เหตุการณ์ในนวนิยายช่วงครึ่งหลังจึงเป็นความขัดแย้งในจิตใจของกลินท์ที่มีต่อชาติกำเนิดติดตัวตลอดจนความสัมพันธ์กับหญิงสาวสองคนที่เข้ามาใกล้ชิดเพราะเหตุการณ์ทางการเมือง คนหนึ่งคือ ชิตาภา เพื่อนอาจารย์ร่วมคณะ และ ศราวณี ลูกศิษย์ของกลินท์ที่เป็นคนเปิดเผยเรื่องความเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นของกลินท์ต่อสาธารณะ นำมาสู่การต่อต้านจากกลุ่มลูกศิษย์และกลินท์ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย
ในภาคนี้ไม่เน้นเส้นเรื่องความรักของกลินท์ มีความสัมพันธ์ระหว่างเขากับชิตาภาที่เข้ามาใกล้ที่สุดคือเธอกลายเป็นแขกคนใหม่ของบ้านริมน้ำ และแม่ก็อยากให้เธอคนนี้กลายมาเป็นคนสำคัญแทนแม่ในวันที่แม่จะจากไป แต่เพราะชิตาภาเติบโตมาในครอบครัวร่ำรวย มีสังคมที่แตกต่างและที่สำคัญเธอมีคู่หมั้นชาวอเมริกันอยู่แล้ว เรื่องในตอนท้ายก็จบแบบปลายเปิดว่าหากวันใดที่เธอไม่สามารถไปต่อกับคนรักต่างชาติที่นับวันเธอเริ่มตระหนักถึงความอดทนที่เพิ่มมากขึ้นทุกทีแล้ว เธอจะกลับมายังบ้านริมคลองบางกอกน้อยอีกครั้ง
โดยรวมๆ อ่านเล่มภาคต่อเพื่อระลึกถึงความรักความโหยหาในช่วงชีวิตที่เหลือของอังศุมาลิน โดยครึ่งหลังมีตัวเดินเรื่องคือโยอิจิ และฉากหลังที่ผู้เขียนนำสถานการณ์การเมืองมาใส่ไว้ ส่วนตัวก็ยังชอบพาร์ทชีวิตส่วนตัวที่บ้านริมคลองบางกอกน้อยของตัวละครมากกว่าอยู่ดี
#โปรยปกหลัง
"เหมือนเรากำลังอยู่ในภาวะสงคราม แต่มันไม่เหมือนสงครามที่ผ่านมา
สงครามนั้นมันเรื่องของต่างชาติ เราแยกมิตร แยกศัตรูได้ชัด
เรารู้ว่าเรารบกับใคร แต่ตอนนี้…เรารบกันเอง
ดูเถอะ แค่ความคิดที่แตกต่างกัน คนชาติเดียวกัน แยกพวกฆ่ากัน"
สาระสำคัญของมนุษย์ ไม่ได้อยู่ที่ "ความเป็นคน" อย่างเดียว
"สำนึก" ต่างหากที่ยิ่งใหญ่ มนุษย์ที่แท้มิใช่แค่รูป ลักษณะ
มิใช่ตรงร่ำรวยล้นฟ้า ฤๅตำแหน่งการงานสูงส่ง
หากจิตสำนึกภายในเท่านั้น แยกมนุษย์ที่แท้แตกต่างจากคนอื่น
คำว่า "มนุษย์" เกิดขึ้นก่อน "เชื้อชาติ"
ฉะนั้นใน "ความเป็นมนุษย์" มนุษย์ย่อมเท่าเทียมกัน
หากสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างกันคือ ใครจะทำ "หน้าที่" ของตนได้สมบูรณ์
จงทำหน้าที่ด้วยความรัก
เฉกเช่นในยามรัก ที่เราทำทุกอย่างให้กันด้วยหัวใจ
#ตอนที่ประทับใจ
คือฉากที่โยอิจิกล่าวถึงความในใจที่มีต่อพ่อและสงครามตลอดจนสถานการณ์การเมืองที่มีแต่การสูญเสีย
ชายหนุ่มลูบหน้าตนเอง "ผมได้ความคิดนี้จาก…ความตายของโอโต้ซัง แม่ไม่เคยรู้ว่าทำไมผมเกลียดปลาตะเพียนที่แม่แขวนไว้นั่น" หญิงสาวเหลียวไปดูปลาตะเพียนสานสีซีดระหว่างประตู
"จุดนั้นคือจุดเชื่อมระหว่างหัวใจแม่ที่มีต่อพ่อ พ่อมีความหมายต่อแม่ และถ้าจะพูดไป มีความหมายต่อผมด้วย แต่…พ่อมีความหมายอะไรต่อญี่ปุ่นทั้งในอดีตและปัจจุบันบ้าง?" เสียงหัวเราะในคอขมขื่นยิ่ง
"ไม่ใช่แต่พ่อ…ทหารญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกัน ดัชท์ เยอรมัน ที่ฆ่ากันตามคำสั่ง มีความหมายอะไร คนที่ฆ่ากันโดยไม่เคยรู้จักกัน ไม่เคยเห็นหน้ากัน แม้แต่พูดกันก็แทบไม่รู้เรื่อง นี่ไงดินปืนที่ถูกเผาผลาญ นี่ไงทหารเลว คนพวกนั้นไม่มีความหมายหรอก คนเสวยสุขข้างหลังไม่รู้จักชื่อพวกเขาด้วยซ้ำ เขาเหลือในหัวใจคนที่รักเขาเท่านั้น ความตาย การต่อสู้ เปล่าประโยชน์ ผมถึงว่าโง่!" เขาเน้นคำหนัก
#ตอนที่ประทับใจ
ฉากที่กลินท์เล่นขิม เครื่องดนตรีของแม่ และพูดถึงซามิเซ็งของพ่อ
บนระเบียงของบ้านหลังเก่า ไม่มีความร้อนรุ่มแผ้วพาน ผู้ชายตัวโตคนนั้น ทำตั้งแต่งานหนักจนจับไม้ตีขิมด้วยอาการนุ่มนวลหย่งสวย ยามก้มหน้าอยู่กับเครื่องดนตรี ผมยาวสะบัดปลายปรกถึงหน้าผาก สันจมูกตรง ริมฝีปากสีสด ดวงหน้าสงบละไม ชิตาภามองนิ่ง แม้เมื่อเขาเงยหน้ารวดเร็ว เธอก็มิได้หลบตา
"ธาตุ" ของเธอ ตรงไปตรงมา นิยมคือนิยม เป็นครั้งแรกกระมังที่กลินท์ยิ้มเขินๆ "ผม…เล่นไม่เก่ง พอเล่นได้"
"ผู้ชายน้อยคนจะชอบดนตรีไทย และยิ่งน้อยคนใหญ่ที่จะเล่นได้"
"อาจจะเป็นเพราะแม่จับมือผมหัดตอนเด็กๆ" เขาทำไม้ทำมือประกอบให้รู้ว่า ตอนนั้นเขาตัวเล็กแค่ไหน "ผมเล่นได้เพราะเคยชินมากกว่าชอบ แต่พ่อผมชอบ"
เขาชะงัก ไม่รู้เหมือนกันว่าหลุดปากออกไปได้ยังไง "พ่อเล่นซามิเซ็ง" ไหนๆ บอกแล้วก็บอกให้หมด
"คะ เป็นนายทหารไม่ใช่หรือคะ?"
"ทหารเรือ นายช่างใหญ่" คราวนี้เมื่อเอ่ยถึง "พ่อ" เขาไม่อึดอัด อยากซ่อนเร้น 'ประวัติ' อีกสืบไป เขาคิดว่าเขาภูมิใจในโอโต้ซังเสียด้วยซ้ำ
"พ่อเป็นทหาร เป็นช่าง เป็นนักดนตรี แม่บอกว่าถ้าไม่เกิดสงคราม พ่อคงเป็นอาร์ติสต์ แต่ไม่พบแม่ ไม่มีผม"
กลินท์ไม่รู้ว่า ทำไมเขาชื่นบานที่เอ่ยถึง พ่อ…แม่ ให้ผู้หญิงคนนี้ฟัง
"ส่วนฉันหัดฮาร์ป เพราะรูปวาด"
"ทำไมอย่างนั้น?"
"ฉันเห็นรูปวาดผู้หญิงกรีกเล่นฮาร์ป สวยดี ก็เลยอยากสวยอย่างนั้นบ้าง ลงท้ายเล่นได้ แต่เอาดีไม่ได้ แล้วก็ไม่สวยแบบรูปวาด"
เขาหัวเราะเบาๆ เสียงนุ่มๆ ชิตาภารู้สึกเหมือนอะไรบางอย่างคล้ายเข็มเสียบ ปลาบเข้าไปในความรู้สึก…แสนเสียดาย ใจหาย ไม่วายห่วง ดังศรศักดิ์ ปักช้ำ ระกำทรวง…หญิงสาวลูบหน้า ทั้งละอองชื้นของน้ำ และรอยชื้นที่ขนตา…
#ตอนที่ประทับใจ ฉากสุดท้ายที่กลินท์เล่นขิมให้แม่ฟัง
ไฟคงตกลงอีก เพราะภาพลูกชายเป็นเงาวูบวาบขณะขึ้นสายเครื่องดนตรีทีละชิ้น "โย…คุณอาจารย์เล่นขิมได้หรือยัง?" "คง…ไม่หรอกครับแม่ คงเล่นเครื่องดนตรีฝรั่ง"
เสียงต่างๆ ไม่ค่อยชัด ทำให้จับความผิดปกติของน้ำเสียงไม่ได้
"ทำไมล่ะ?" คำถามง่วงๆ
"ความเหมาะสมครับแม่"
โยเขาหมายความว่าอะไรนะ แต่ช่างเถอะ "แล้วต่อไปใครจะเล่นขิมล่ะ?"
"ก็ผมไง"
"โยต้องเล่นคนเดียว"
"เวลาผมเล่นขิม ผมถือว่าผมเล่นให้แม่ฟัง พอเล่นซามิเซ็ง ผมก็เล่นให้โอโต้ซังฟัง ผมอยู่คนเดียวที่ไหน" "ดี…แม่ก็คงไม่ไปไหน…" ประโยคต่อไปหายอยู่ในอก
อังศุมาลินค่อยๆ สูดลมหายใจแผ่วๆ หัวใจระริกราว……
…เสียงขิมค่อยระรัวเป็นเพลง…ใหม่ๆ ยังขาดๆ เกินๆ ผิดๆ ถูกๆ ต่อนานเข้าจึงกังวานหวาน ……ฟ้าขาวเห็นเป็นทางยาวเหนือทิวไม้ ลมเย็นโชยชายชื่น กลิ่นดอกมะลิลอยกำซาบ
"ดูเหมือนจะทางช้างเผือก"
กลินท์ได้ยินแว่วๆ "แม่พูดถึงเทศกาล ทานาบาตะมัตซูริ หรือจ๊ะ?"
"ใช่ วันที่เจ็ดเดือนที่เจ็ด" ความทรงจำเธอล่องลอย…
"เวลาฉันตาย คุณจะมาอยู่ใกล้ๆไหมคะ?"
"มาซิ มารับคุณไปไว้บนดาวเจ้าหญิงทอหูกไงล่ะ"
"หัวใจคุณเคยบอกอะไรใครมั่งคะ"
"มันบอกว่า ผมรักคุณ ฮิเดโกะ …ผมรักคุณ"
"เวลาคุณจะจากฉัน คุณจะลาฉันไหมคะ?"
"อนาตะ โอ อาอิชิ มาสุ ผมรักคุณเสมอ ฮิเดโกะ รักเสมอ…"
ริมฝีปากซีดขมุบขมิบ "ฉันเล่นซามิเซ็งเพลงนั้นได้แล้ว"
"ผมจะลองเล่นซามิเซ็งดู เล่นให้โอโต้ซัง"
"เขาอยู่ตรงนี้ กำลังฟัง"
เสียงซามิเซ็งระรัววิเวกหวานไปกับสายลม พลิ้วผ่านยอดพฤกษ์ ละลิบลิ่วสู่ทิพยากาศ ไกลไปอีกฟากของทางช้างเผือก ดวงดาวหนึ่งกะพริบไหว เพื่อรอรับดาริกาที่พุ่งผ่านขึ้นมา…
…สายน้ำ รินผ่าน แก่งหิน
ยังถวิล อำลา อาวรณ์หวาม
สายฝนพรำ ยังอำลา เมฆาคราม
ฤๅเธอยาม จากไกล ไร้วาจา…
ดาวสองดวงเคลื่อนมาใกล้กัน แสงกะพริบพราวเจิดจรัส
And if you stay up yonder,
Then I shall meet thee there.
Ah...
ละอองเย็นจากน้ำตาดาวกระเซ็นซ่าน แสงกะพริบเสมือนดวงตาสองคู่ จะเฝ้ามองลงมาอ่อนโยน ประโลมประเล้าคนที่เดียวดาย… หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย ล้วนลอยเลยลิบลับ ฤๅกลับคืน…
- คู่กรรม ภาคสอง : ทมยันตี
- แรงบันดาลใจเขียน พ.ศ. 2508
- พิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร "โลกวลี" ปี พ.ศ. 2534
- พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม เดือนธันวาคม 2534
- พิมพ์รวมเล่มครั้งที่ 2-11 ระหว่างปี 2535-2558
- ภาพประกอบคือฉบับพิมพ์รวมเล่มครั้งที่ 9 เดือนกรกฎาคม 2552
1 ตุลาคม 2566
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตาม
กติกา สามารถคลิก
แจ้งปัญหาได้ที่นี่